Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

นักเรียนเขินอาย ทำอย่างไรดี ?

Posted By Plook Teacher | 23 ธ.ค. 62
9,431 Views

  Favorite

มนุษย์เราแต่ละคนนั้น ล้วนมีนิสัยใจคอที่แตกต่างกัน ตามลักษณะทางพันธุกรรม การเลี้ยงดู และสภาพแวดล้อม ตลอดจนประสบการณ์ชีวิตที่แต่ละคนมีไม่เหมือนกัน สิ่งเหล่านี้ต่างหล่อหลอมให้เรามีลักษณะที่เป็นแบบเฉพาะของตัวเอง ความจริงนี้อธิบายได้ทั่วไป ไม่เว้นแม้แต่นักเรียนในชั้นเรียนของเราเอง

 

โดยทั่วไปแล้ว ครูประจำชั้นมักจะเป็นคนแรก ๆ ที่สังเกตเห็นนิสัยใจคอของนักเรียนแต่ละคน บางคนกล้าคิดกล้าแสดงออก แต่บางคนก็ไม่ชอบทำเช่นนั้น ความเขินอาย หรือ ความประหม่า เป็นพฤติกรรมตามธรรมชาติส่วนบุคคลที่เกิดขึ้นจากการแสดงออกโดยขาดความมั่นคงทางจิตใจและขาดทักษะในการเข้าสังคม ซึ่งตามทฤษฎีพฤติกรรมนิยมมองว่า เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจากความกลัว เนื่องจากไม่ได้รับการฝึกฝนทักษะการเข้าสังคม หรือมีประสบการณ์ความล้มเหลวในการฝึกฝนทักษะทางสังคมมาตั้งแต่แรก ซึ่งโดยปกติแล้ว ความเขินอายเป็นธรรมชาติที่อยู่ในตัวเราทุกคน เพราะเป็นการแสดงออกเบื้องต้นต่อสถานการณ์ที่เราไม่คุ้มเคย ทำให้เราเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์นั้น ๆ ซึ่งระดับของความเชินอายนั้น เราสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระดับดังนี้

ระดับต้น

คือ มีความเขินอายและความประหม่า เฉพาะกับสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย เช่น การพูด หรือการออกไปแสดงหน้าชั้นเรียน โดยมีแค่ความรู้สึกเขินอายในช่วงแรก ๆ แต่สามารถดำเนินกิจกรรมได้ตามปกติ

ระดับปานกลาง

คือ มีอาการบ่งบอกขึ้นความเขินอายและประหม่า เช่น หัวใจเต้นเร็ว มือชุ่มเหงื่อ ตัวสั่น เสียงสั่น แต่ยังสามารถคุมสถานการณ์ ให้ดำเนินกิจกรรมจนเสร็จสิ้นได้แต่อาจไม่ดีนัก

ระดับสูง

คือ มีอาการที่แสดงขึ้นความเขินอายมากจนไม่สามารถทำกิจกรรมได้ เช่น เป็นลม พูดจาไม่รู้เรื่อง ไม่มีสติ จนถึงขั้นปัสสาวะหรืออุจจาระราด เป็นต้น

ระดับรุนแรง

เป็นระดับความเขินอายที่เข้าข่ายเป็นโรคกลัวการเข้าสังคม หลีกเลี่ยงการพบปะผู้คน ไม่กล้าออกนอกบ้าน ไม่กล้าเผชิญหน้า จนไม่อาจใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้

** สำหรับระดับต้นและระดับปานกลางอาจใช้แนวทางในการปรับพฤติกรรมเพื่อช่วยเหลือได้ แต่ในระดับสูงและรุนแรง ควรพบจิตแพทย์เพื่อหาแนวทางรักษาอย่างเหมาะสม

 

สาเหตุของความเขินอายของแต่ละบุคคลนั้น มีหลายสาเหตุ อันได้แก่

        1. มาจากการเลี้ยงดูในครอบครัวที่เข้มงวด และถูกวิพากวิจารณ์ตลอดเวลา จนขาดความมั่นใจในตัวเอง
        2. มีความล้มเหลวในการเข้าสังคม หรือทำกิจกรรมในที่สาธารณะมาก่อน
        3. มองตัวเองในแง่ลบ ขาดความมั่นใจ มองไม่เห็นข้อดีหรือคุณค่าในตัวเอง
        4. เกิดจากพันธุกรรมและการเปลี่ยนของสารเคมีในสมอง ทำให้เกิดความประหม่าหรือมีความวิตกกังวลได้ง่าย
        5. อ่อนไหวต่อคำวิพากวิจารณ์ กลัวตัวเองจะเป็นที่อับอายต่อสังคม กลัวถูกหัวเราะเยาะ

 

ความเขินอายนั้น ในกรณีที่มีความรุนแรง เราอาจมีแนวทางในการรักษา โดยแบ่งเป็นการรักษาด้านจิตใจ และ การรักษาด้านร่างกาย โดยการรักษาด้านจิตใจนี้ เราอาจใช้แนวทางพฤติกรรมบำบัด การปรับวิธีคิด หรือการบำบัดจิต ส่วนในด้านร่างกาย อาจจำเป็นต้องใช้ยา ในกลุ่มยาต้านเศร้าหรือกลุ่มยาคลายความกังวล เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์

สำหรับนักเรียน ความเขินอายนั้นเป็นที่สิ่งพบได้โดยทั่วไป โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่กดดันและต้องแสดงออกในที่สาธารณะ ซึ่งความเขินอายนี้แม้ว่าจะไม่ใช่ปัญหาอะไรมากนัก แต่ถ้านักเรียนสามารถเผชิญหน้าและจัดการกับความเขินอาย โดยสามารถลดความประหม่าภายในตัวเองได้เร็ว จะทำให้เขาแสดงออกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นผลดีกับตัวนักเรียนเอง

 

ซึ่งแนวทางที่ครูผู้สอนจะส่งเสริมให้นักเรียนขจัดความเขินอายภายในตัวเองได้นั้น มีดังนี้

       - เน้นให้นักเรียนในชั้นเรียนทำกิจกรรมกลุ่มด้วยการแบ่งกลุ่มที่หลากหลาย

การทำกิจกรรมกลุ่มเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ผู้เรียนเกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน แต่หลายครั้งที่คุณครูมักหลงลืมไปว่าช่องโหว่สำคัญที่ทำให้การทำกิจกรรมกลุ่มไม่ประสบความสำเร็จหรือไม่เป็นไปตามเป้าหมายนั้นคือ การจับกลุ่ม เพราะปกตินักเรียนจะเลือกจับกลุ่มเฉพาะกับเพื่อนที่สนิท ดังนั้นนักเรียนที่มีลักษณะขี้อายและไม่ค่อยมีเพื่อน จึงมักไม่ถูกเลือก ซึ่งถ้าต้องการใช้กิจกรรมกลุ่มเพื่อแก้ปัญหานักเรียนเขินอาย การจับกลุ่มที่ดี อาจใช้วิธีการกำหนดสมาชิก เช่น ใช้การนับเลข 1-5 เรียงกันไปเรื่อย ๆ จนครบ หรือใช้การจับฉลาก แทนการให้นักเรียนจับกลุ่มกันเอง

       - เน้นให้นักเรียนทำกิจกรรมหน้าชั้นเรียน

การทำกิจกรรมหน้าชั้นเรียน เช่น การแสดงละคร การอธิปราย หรือการบอกเล่าประสบการณ์ของตัวเองหน้าชั้นเรียน คือ การฝึกฝนการแสดงออกต่อหน้าบุคคลอื่นในที่สาธารณะ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีต่อการแสดงออกในที่สาธารณะในระดับที่ใหญ่ขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ต้องกำชับให้นักเรียนทุกคนเข้าใจและตอบสนองต่อการแสดงออกของเพื่อนนักเรียนอย่างเหมาะสม เช่น ตั้งใจฟัง หรือปรบมือชื่นชม และไม่ควรแสดงท่าทางล้อเลียนหรือหัวเราะเพื่อน แม้เพื่อนจะทำได้ไม่ดีนักก็ตาม

       - คำพูดและแสดงออกของครูคือพลัง

การที่ครูผู้สอนชมเชยและแสดงให้นักเรียนเห็นว่าสิ่งที่เขาสื่อและแสดงออกมานั้นมีความหมายคือสิ่งสำคัญที่ช่วยให้นักเรียนมีความมั่นใจในตัวเองมากยิ่งขึ้น ช่วยสร้างให้นักเรียนรู้สึกมีคุณค่าและเป็นส่วนหนึ่งในชั้นเรียน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นอาวุธสำคัญที่ช่วยให้นักเรียนเผชิญหน้ากับความประหม่าเขินอายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

       - ยอมรับและเข้าใจ

ไม่ใช่ว่านักเรียนทุกคนจะชอบการแสดงออก ดังนั้นการบังคับให้นักเรียนทุกคนต้องแสดงออกหน้าชั้นเรียนตลอดเวลาจึงไม่ใช่แนวทางที่ดี เราอาจให้นักเรียนมาทำกิจกรรมหน้าชั้นเรียนได้บ้างโดยสลับกับกิจกรรมอื่น ๆ และควรหมุนเวียนให้นักเรียนทุกคนในชั้นเรียนได้แสดงออกอย่างทั่วถึง

 

ความเขินอายและความประหม่าของนักเรียนอาจเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต เพราะด้วยวัยแห่งการเรียนรู้ ทำให้พวกเขาไม่ได้มีประสบการณ์ในการจัดการเรื่องของการแสดงออกทางสังคมในลักษณะต่าง ๆ มากนัก เขาจึงต้องเผชิญกับสถานการณ์ทางสังคมบางอย่างโดยที่ไม่มีประสบการณ์มากก่อนเลย ดังนั้น ในเมื่อเขากล้าเผชิญกับสถานการณ์เหล่านั้น แม้ว่าจะออกมาดีหรือไม่ดี การยอมรับและชื่นชมคือกำลังใจสำคัญที่ช่วยขจัดความประหม่าเขินอายของนักเรียนออกไปทีละน้อย และช่วยให้พวกเขารับมือกับสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันนี้ได้ดีขึ้นในอนาคต ตรงกันข้าม ถ้าการกระทำนั้นถูกล้อเลียน ติเตียน ความประหม่าเขินอายของนักเรียนก็จะยิ่งขมวดปมแน่นเข้าจนอาจทำให้เขากลายเป็นโรคหวาดกลัวสังคมไปเลยก็เป็นได้

 

เรียบเรียงโดย : นรรัชต์  ฝันเชียร

 

     

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow