Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

มารู้จักกลยุทธ์ห้องเรียนพลิกกลับกันเถอะ

Posted By Plook Teacher | 23 ธ.ค. 62
11,777 Views

  Favorite

    ห้องเรียนที่มีครูเป็นผู้สอนและมีผู้เรียนนั่งเรียนกันอยู่ในห้อง คือรูปแบบตามปกติของห้องเรียนโดยทั่วๆไป ผู้เรียนจำเป็นต้องมาโรงเรียนและเข้าเรียนในชั้นเรียนเพื่อเรียนรู้สิ่งต่างๆ ทำให้การศึกษาที่ผ่านมานั้น ผู้เรียนต้องเป็นฝ่ายวิ่งเข้าหาเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ แต่ในสังคมทุกวันนี้ ผู้เรียนไม่ได้มีโลกที่สมบูรณ์แบบกันทุกๆคน ผู้เรียนบางคนจำเป็นต้องเสียสละเวลาเพื่อช่วยเหลือทางบ้าน บางคนอาจมีภารกิจอื่นที่นอกเหนือจากการเรียน ซึ่งผู้เรียนเหล่านี้ไม่สามารถที่จะเข้าเรียนในชั้นเรียนตามปกติได้ พวกเขาจึงขาดโอกาสทางการเรียนรู้ที่เหมาะสมเป็นอย่างมาก ดังนั้นแทนที่เราจะรอให้ผู้เรียนมาเรียนรู้แต่เฉพาะในห้องเรียน ทำไมเราไม่ทำให้ห้องเรียนวิ่งไปให้ผู้เรียนเพื่อให้พวกเขาสามารถเรียนรู้ได้ในทุกที่และทุกเวลาแทนล่ะ และนี่เองคือที่มาของกลยุทธ์ทางการศึกษาที่เรียกกันว่า “ห้องเรียนพลิกกลับ”

 

ห้องเรียนพลิกกลับ หรือ ห้องเรียนกลับด้าน (Flipped Classroom) เป็นกลยุทธ์การจัดการเรียนรู้ ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือในการจัดการเรียนการสอน ซึ่งแต่เดิมนั้น วิธีการเรียนรู้จะเกิดขึ้นแต่ในห้องเรียน คือ ครูสอนผู้เรียนในห้องเรียน ผู้เรียนเรียนตามที่คุณครูสอน จากนั้นกลับไปทำการบ้านและนำมาส่งครูในวันรุ่งขึ้นหรือตามวันเวลาที่กำหนด ซึ่งวิธีนี้อาจไม่ตอบสนองกับผู้เรียนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกับผู้เรียนบางคนที่ขาดเรียนจากหลายสาเหตุ เช่น เจ็บป่วย มีธุระทางบ้าน หรือต้องทำกิจกรรมต่าง ๆ ดังนั้น จึงได้มีแนวคิดห้องเรียนพลิกกลับขึ้น โดยการใช้เทคโนโลยี เช่น ครูอัดคลิปการสอนลงในเครือข่ายสังคมออนไลน์ หรือแจ้งข่าวให้ผู้เรียนค้นคว้าจากแหล่งการเรียนรู้ทางออนไลน์ต่าง ๆ ล่วงหน้า และสงวนเวลาในห้องเรียนไว้สำหรับการวิเคราะห์และอภิปราย รวมถึงให้คุณครูอธิบายในจุดที่ไม่เข้าใจเพิ่มเติม

 

โจนาธาน  เบิร์กแมน  และแอรอน  แซมส์ (Jonathan Bergman & Aaron Sams) คือผู้ริเริ่มแนวคิดห้องเรียนพลิกกลับนี้ เมื่อปี ค.ศ. 2007 ซึ่งเขาทั้งสองสอนที่โรงเรียนมัธยมวู้ดแลนด์ พาร์ค (Woodland Park High School) รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา และพบว่ามีผู้เรียนจำนวนหนึ่งของพวกเขาที่ไม่สามารถเข้าเรียนในเวลาปกติได้ พวกเขาจึงอัดคลิปวีดีโอการสอนของตัวเองไว้สำหรับผู้เรียนที่ขาดเรียนเพื่อให้พวกเขาสามารถศึกษาจากที่ไหนก็ได้ ก่อนที่คลิปวีดีโอการสอนของพวกเขาจะได้รับความนิยม และกลายมาเป็นแนวคิดห้องเรียนพลิกกลับที่แพร่หลายเป็นวงกว้างในเวลาต่อมา

จากการดำเนินการห้องเรียนพลิกกลับของ โจนาธาน  เบิร์กแมน  และแอรอน  แซมส์ นั้น สามารถถอดขั้นตอนการจัดดำเนินออกมาได้เป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่

          1. พิจารณาเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อจะนำมาใช้กับผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้แม้อยู่นอกห้องเรียน ในเวลาว่างและในสถานที่ใดก็ได้ โดยเรียนรู้ผ่านอุปกรณ์สื่อสาร เช่น คอมพิวเตอร์, แท็บเล็ต หรือสมาร์ทโฟน เป็นต้น

          2. ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการสื่อสาร เช่น รับส่งอีเมลกับผู้เรียนเพื่อตอบข้อสงสัยหรือตั้งคำถาม หรือใช้ระบบแชทกลุ่มเพื่อแจ้งให้ผู้เรียนสืบค้นในเรื่องที่ต้องการ เป็นต้น

          3. ใช้ประโยชน์จากเวลาห้องเรียนที่เพิ่มขึ้นจากการไม่ต้องอธิบายเนื้อหาทั่วไปให้กับผู้เรียน ในการส่งเสริมความเข้าใจ ผ่านการสร้างสรรค์กิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ เช่น การวิพากวิจารณ์ การอธิปราย หรือการอธิบายเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจองค์ความรู้มากยิ่งขึ้น

 

ห้องเรียนพลิกกลับนับได้ว่าเป็นนวัตกรรมการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นมา เนื่องจากความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี และถูกคาดการณ์ว่าจะเป็นรูปแบบของห้องเรียนในอนาคต เพราะเป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่ทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้สะดวกสบายมากขึ้นกว่าเดิม สามารถเรียนรู้จากที่ไหนและเวลาใดก็ได้ เพียงแค่มีอุปกรณ์สื่อสารที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้อยู่กับตัว ทำให้การศึกษาจึงไม่จำเป็นต้องเน้นแค่เฉพาะในห้องเรียนเหมือนที่เคยเป็นมา ทำให้แทนที่ในห้องเรียนครูจะต้องสอนเนื้อหาต่าง ๆ เราอาจใช้เวลาในห้องเรียนในการวิพากวิจารณ์ วิเคราะห์และอภิปรายรวมถึงอธิบายสิ่งต่าง ๆ เพิ่มเติมได้ และทำให้ครูสามารถสร้างสรรค์และส่งเสริมการเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ ได้ง่ายและตอบสนองกับผู้เรียนได้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากไม่ต้องเสียเวลาสอนเนื้อหาทั่วไปกับผู้เรียน เพราะได้ให้ผู้เรียนศึกษาเนื้อหาต่าง ๆ จากข้อมูลในอินเตอร์เน็ตมาก่อนแล้ว

สำหรับชั้นเรียนที่เหมาะสมกับรูปแบบของห้องเรียนพลิกกลับนี้ ผู้เขียนมองว่าในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายและในระดับอุดมศึกษาคือช่วงที่เหมาะสมกับวิธีการเรียนรู้ในรูปแบบนี้มากที่สุด เนื่องจากว่าเป็นช่วงที่ผู้เรียนมีความรับผิดชอบและมีวินัยในตัวเองมากพอ เพราะต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองก่อนที่จะไปเรียนรู้เพิ่มเติมในห้องเรียน และนอกจากนี้ ผู้เรียนยังต้องมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสมเพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ต่าง ๆ อีกด้วย ซึ่งในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและในระดับอุดมศึกษามีความพร้อมในเรื่องนี้มากกว่าในระดับอื่น ๆ

อย่างไรก็ดี แม้รูปแบบการเรียนรู้แบบห้องเรียนพลิกกลับจะมีประโยชน์อย่างมาก และนับเป็นอนาคตของโลกการศึกษา แต่ปัจจุบันกลับมีข้อกำจัดมากมาย ซึ่งอาจทำให้แนวคิดนี้ยังไม่ใช้วิธีที่สามารถใช้ได้กับทุกที่ เช่น การใช้กลยุทธ์แบบห้องเรียนพลิกกลับนี้ ครูผู้สอนรวมถึงผู้เรียนจะต้องมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีในระดับหนึ่ง คือ รู้จักที่จะใช้ประโยชน์จากสังคมออนไลน์ สามารถสืบค้น หรือทำคลิปวีดีโอ เพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาได้ และในขณะเดียวกัน ครูผู้สอนและผู้เรียนจะต้องมีอุปกรณ์สื่อสารเพื่อจัดทำสื่อและสามารถเข้าถึงสื่อต่าง ๆ ในโลกอินเตอร์เน็ต และสามารถเฟ้นหาข้อมูลที่ดีและเหมาะสมได้ นอกจากนี้ ความรับผิดชอบและวินัยของผู้เรียนก็นับเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะถ้าผู้เรียนขาดวินัยขาดความรับผิดชอบ ไม่สืบค้นหรือศึกษาตามที่ครูผู้สอนได้ชื้แนะ ห้องเรียนแบบพลิกกลับก็ไม่มีประโยชน์อันใดเลยและไม่มีความแตกต่างจากการเรียนรู้ในห้องเรียนปกติ

จะเห็นได้ว่าห้องเรียนพลิกกลับนั้น อาจไม่ได้มีรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่แตกต่างจากห้องเรียนปกติเท่าไหร่นัก เพียงแต่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีทำให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้จากทุกที่ทุกเวลา และสามารถทบทวนได้เท่าที่ต้องการ นอกจากนี้ยังสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการสื่อสาร เพื่อให้ครูผู้สอนสามารถถามตอบกับนักเรียนได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น และใช้ประโยชน์จากเวลาที่เหลือในห้องเรียนเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ให้ผู้เรียนมีความเข้าใจและมีองค์ความรู้ที่คงทนมากยิ่งขึ้น

 

เรียบเรียงโดย : นรรัชต์  ฝันเชียร

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow