ห้องเรียนเสมือน (Virtual Classroom) คือ การจัดการเรียนรู้โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการส่งเสริมการเรียนการสอนผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ โดยใช้ช่องทางในระบบสื่อสารและอินเตอร์เน็ต ซึ่งช่วยให้ผู้เรียนเข้าถึงบทเรียนและเนื้อหาต่าง ๆ ได้โดยใช้คอมพิวเตอร์หรือเครื่องมือสื่อสารต่าง ๆ ได้ทุกที่ทุกเวลา ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะคือ
1. การสตรีมมิ่งหรือการถ่ายทอดสด คือ การถ่ายทอดสัญญาณภาพและเสียงจากการจัดการเรียนการสอนตามปกติ ลงในระบบโทรคมนาคมและเครือข่ายคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เรียนที่อยู่นอกห้องเรียนได้รับชม
2. การจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ คือไม่จำเป็นต้องมีห้องเรียนเป็นต้นแบบในการกระจายสัญญาณผู้สอนสามารถสอนผ่านระบบออนไลน์ได้เลยบนเว็บไซต์ ซึ่งผู้เรียนสามารถเข้ามารับชมได้ตามความต้องการของผู้เรียนเอง
ห้องเรียนเสมือน เป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมและจัดประสบการณ์ให้กับผู้เรียน เสมือนกำลังเรียนอยู่ในห้องเรียน โดยอาศัยศักยภาพด้านเทคโลยีในการส่งเสริมและพัฒนา ผ่านซอฟแวร์ต่าง ๆ ที่ช่วยจัดการและควบคุมการทำงาน ส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน หรือระหว่างผู้เรียนด้วยกันในลักษณะของความร่วมมือแบบต่างเวลา คือ ไม่จำเป็นต้องสื่อสารกันต่อหน้า อาจใช้อีเมลล์หรือระบบแชท ช่วยให้สามารถติดต่อกันได้แม้มีเวลาว่างไม่ตรงกัน ด้วยจุดเด่นของห้องเรียนเสมือนนี้ ทำให้ผู้เรียนไม่จำเป็นต้องเดินทางมาเรียน สามารถเรียนรู้ได้จากอุปกรณ์สื่อสารผ่านการเชื่อมต่อตามความต้องการของตัวเอง
สำหรับประโยชน์ของห้องเรียนเสมือนนั้น มีดังนี้
- เปิดโอกาสให้เกิดการเรียนรู้ในวงกว้าง สามารถรองรับนักเรียนได้มากขึ้น
- ไม่มีข้อจำกัดด้านสถานที่ เพราะใช้ประโยชน์จากเครือข่ายออนไลน์แทน
- ลดการเดินทางของทั้งครูผู้สอนและผู้เรียน เพราะสามารถสอนหรือเรียนผ่านเครือข่ายออนไลน์จากที่ใดก็ได้
- มีความยืดหยุ่นด้านเวลา คือ ไม่จำเป็นต้องกำหนดให้นักเรียนเข้าเรียนตามตารางเรียน เพราะนักเรียนสามารถเข้าไปเรียนรู้ผ่านเครือข่ายตามความสนใจได้ในเวลาที่ตัวเองเลือกเอง
- ส่งเสริมให้ครูผู้สอนและผู้เรียน มีความคุ้นชิน เห็นประโยชน์และมีทัศนคติที่ดีต่อการใช้เทคโนโลยี ซึ่งจะช่วยพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีของทั้งครูผู้สอนและนักเรียนได้มากขึ้น
- เมื่อทุกอย่างสามารถดำเนินการได้ผ่านเครือข่ายออนไลน์ เราก็ไม่จำเป็นต้องใช้เอกสารที่เป็นกระดาษจำนวนมาก ความยุ่งยากด้านเอกสารก็จะลดลง
ห้องเรียนเสมือนนี้ นับว่าเป็นนวัตกรรมหนึ่งที่ตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหาด้านการศึกษาโดยเฉพาะ ในเรื่องของสัดส่วนระหว่างครูผู้สอนและผู้เรียน เพราะช่วยขจัดข้อจำกัดด้านพื้นที่ภายในห้องเรียนและแก้ปัญหาจำนวนครูไม่เพียงพอกับจำนวนนักเรียน อีกทั้งยังช่วยให้นักเรียนสามารถจัดสรรเวลาในการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองและสามารถส่งเสริมการเรียนรู้ได้กว้างขวางกว่าแค่ในห้องเรียน แต่อย่างไรก็ดี แม้ว่าห้องเรียนเสมือนนั้นจะเป็นแนวทางที่มีประโยชน์ แต่ก็มีข้อจำกัดที่ต้องพิจารณาอยู่หลายประการ อันได้แก่
- ทักษะการใช้เทคโนโลยีของผู้เรียนและผู้สอนอาจไม่เพียงพอต่อการดำเนินการแบบห้องเรียนเสมือน
- อุปกรณ์และซอฟแวร์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมีความซับซ้อนและมีราคาสูง ทำให้มีต้นทุนในการจัดการเรียนการสอนมาก
- ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนและผู้เรียนลดน้อยลง และใช้เวลานานในการรอข้อมูลย้อนกลับ เช่น การสอบถามถึงเรื่องที่สงสัย อาจต้องใช้เวลานาน เพราะการเรียนออนไลน์ ไม่จำเป็นว่าผู้เรียนและผู้สอนจะต้องอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน
- วินัยและความรับผิดชอบของผู้เรียนส่วนใหญ่ ยังไม่ตอบสนองต่อการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ที่ต้องจัดสรรเวลาเรียนด้วยตัวเอง
- การเรียนรู้ด้วยตัวเอง ผู้เรียนจำเป็นต้องมีทักษะการอ่าน การเขียน และทักษะในการคิดวิเคราะห์แยกแยะ เพียงพอ เพื่อให้สามารถเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้เขียน : นรรัชต์ ฝันเชียร