Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การจัดการเรียนรู้แบบโครงการ(Project Approach)

Posted By Plook Teacher | 29 ต.ค. 62
38,938 Views

  Favorite

นรรัชต์  ฝันเชียร

        แนวการจัดการเรียนรู้ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก สำหรับรูปแบบการศึกษาในยุคปัจจุบัน คือ แนวการจัดการเรียนรู้ที่เน้นที่ตัวผู้เรียนเป็นสำคัญ เพื่อให้ผู้เรียนเรียนรู้และเกิดองค์ความรู้ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งหนึ่งในแนวการเรียนรู้ในลักษณะนี้ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดแนวทางหนึ่งคือ การจัดการเรียนรู้แบบโครงการ (Project Approach)

        การจัดการเรียนรู้แบบโครงการ (Project Approach) เป็นการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงการเป็นตัวดำเนินกิจกรรม ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 และด้วยความคิดริเริ่มของ วิลเลียม เฮิร์ด คิลแพทริค (William Heard Kilpatrick) ครูสอนภาษาที่เป็นบุคคลสำคัญในขบวนการพัฒนาการศึกษาในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งเขาได้ขยายรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบโครงการนี้ โดยนำแนวคิดของ จอห์น ดูอี  (John Dewey) นักปฏิรูปการศึกษาคนสำคัญ ซึ่งให้ความสำคัญกับประสบการณ์ของเด็ก ส่งเสริมการเรียนรู้เป็นกลุ่มปฏิบัติการ ฝึกคิด ฝึกปฏิบัติอย่างเป็นกระบวนการ และมุ่งให้เด็กเรียนรู้และเกิดองค์ความรู้ด้วยตัวเอง เข้ามาร่วมด้วย ทำให้กลายเป็นรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก

 

        หลักการสำคัญของการจัดการเรียนรู้แบบโครงการนั้น คือ การส่งเสริมให้เด็กศึกษาสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยความลุ่มลึกตามความสนใจ ผ่านกระบวนการคิดและแก้ปัญหาจากตัวของเด็กเอง จนได้คำตอบที่ต้องการเพื่อนำเสนอสิ่งที่เรียนรู้นำเสนอต่อผู้อื่น โดยมีระยะเวลาในการดำเนินการเท่ากับปริมาณเนื้อหาและเพียงพอต่อความสนใจของเด็ก  ส่งผลให้เด็กเกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันโดยมีครูเป็นผู้แนะนำและอำนวยความสะดวก

การจัดการเรียนรู้แบบโครงการนั้น ประกอบด้วย กิจกรรมสำคัญ 5 กิจกรรม อันได้แก่

        1. การพูดคุยอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ทั้งกลุ่มเล็กและกลุ่มใหญ่
        2. การศึกษานอกห้องเรียนและนอกสถานที่
        3. การนำเสนอประสบการณ์การเดิมของเด็กผ่าน การวาดภาพ การเขียน การใช้สัญลักษณ์และการเล่นบทบาทสมมุติ เป็นต้น
        4. มีการสืบค้นและค้นคว้าผ่าน สื่อการเรียนรู้ แหล่งการเรียนรู้ และเรียนรู้จากวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญ
        5. การนำเสนอโครงการด้วยรูปแบบที่หลากหลาย

ซึ่ง กิจกรรมสำคัญทั้ง 5 กิจกรรมนี้จะสอดแทรกอยู่ในวิธีการดำเนินกิจกรรมตามแนวการเรียนรู้แบบโครงการ ซึ่งมีการดำเนินการ เป็น 3 ระยะ คือ

ระยะเริ่มต้นโครงการ

        เป็นขั้นที่เด็กและครูผู้สอนร่วมกันอภิปรายเพื่อหาหัวข้อที่จะทำการศึกษา โดยต้องเป็นหัวข้อตามความสนใจ สามารถบูรณาการได้ ส่งเสริมให้เกิดการทำงานร่วมกัน และเด็กได้ลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง ซึ่งเมื่อกำหนดหัวข้อได้แล้ว จึงกำหนดวัตถุประสงค์ ขอบเขตเนื้อหา และระยะเวลาในการศึกษาในหัวข้อนั้น ๆ เพื่อวางแผนการดำเนินโครงการอย่างเหมาะสม โดยนำประสบการณ์เดิมของนักเรียนที่แสดงออกผ่านผลงานต่าง ๆ มาเป็นข้อมูลในการพิจารณา

ซึ่งในขั้นนี้มีการดำเนินการ 2 ขั้นตอน คือ

        - กำหนดหัวข้อที่จะศึกษา

        - กำหนดวัตถุประสงค์ ขอบเขตเนื้อหา และระยะเวลาในการศึกษา

ระยะดำเนินการ

        เป็นขั้นของการดำเนินกิจกรรมตามแผนที่ได้วางไว้ โดยเน้นให้เด็กร่วมมือกันในการเรียนรู้ เน้นให้เด็กได้ปฏิบัติจริงผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 โดยมีประสบการณ์จากสื่อการเรียนรู้ แหล่งการเรียนรู้และวิทยากรหรือผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีคุณครูคอยให้คำแนะนำและคอยดูแลอย่างใกล้ชิด

        สำหรับขั้นนี้มีการดำเนินการ 4 ขั้นตอน คือ

        - กำหนดปัญหาหรือสิ่งที่อยากรู้ตั้งสมมุติฐาน

        - ค้นคว้าเพื่อหาคำตอบ (ผ่านสื่อการเรียนรู้ แหล่งการเรียนรู้และวิทยากรหรือผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ)
        - ทดสอบสมมติฐาน

ระยะสรุปผลโครงการ

        เป็นขั้นของการนำผลที่ได้จากการดำเนินการมาแสดง ผ่านการนำเสนอในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การจัดนิทรรศการ การเล่านิทาน  การแสดง หรือ การอภิปราย ซึ่งเด็กจะต้องเป็นผู้เลือกวิธีการ และดำเนินการนำเสนอด้วยตัวเอง ซึ่งทำให้ได้ทบทวนแนวทางในการปฏิบัติ และทบทวนถึงองค์ความรู้ที่ได้จากการดำเนินการตามโครงการอีกด้วย

ในชั้นนี้มีการดำเนินงานอยู่ 2 ขั้นตอน คือ

        - สรุปผลที่ได้จากการศึกษา

        - นำเสนอผลการศึกษาที่ได้

ในการจัดการศึกษารูปแบบนี้ อาจไม่จำเป็นต้องให้แล้วเสร็จใน 1 วัน เราอาจจะจัดกิจกรรมทั้งสัปดาห์ หรือในหัวข้อที่มีเนื้อหามาก เราอาจจะจัดทั้งเดือนเลยก็ได้ ขึ้นอยู่กับเนื้อหาการเรียนการสอนและคำนึงถึงความสนใจของผู้เรียนเป็นสำคัญ

 

        การจัดการเรียนรู้แบบโครงการ นับว่ามีประโยชน์อย่างมากต่อการจัดการศึกษาปฐมวัย เพราะตามปกติแล้ว ในการจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัยตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย ปี พ.ศ.2560 ได้กำหนดให้เด็กปฐมวัยเรียนรู้เป็นหน่วยการเรียนรู้ ซึ่งรูปแบบนี้เอื้อประโยชน์ให้สามารถจัดการเรียนรู้แบบโครงการได้ง่าย เพราะในแต่ละหน่วยการเรียนรู้ เราสามารถสอดแทรกกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงการลงไปได้ เช่น ในการจัดประสบการณ์ หน่วย ผลไม้ เราอาจให้เด็กช่วยกันคิดว่าอยากจะเรียนรู้ผลไม้ชนิดใดเป็นพิเศษ แล้วนำผลไม้ชนิดนั้นมาเป็นหัวข้อในการเรียนรู้ เป็นต้น อย่างไรก็ดี แม้ว่าการจัดการเรียนรู้แบบโครงการจะถูกกล่าวถึงอย่างมากในการศึกษาปฐมวัย แต่ก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในระดับอื่น ๆ ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามความสนใจมากยิ่งขึ้น

 

        การจัดการเรียนรู้แบบโครงการ นอกจากจะทำให้ผู้เรียนสนุกกับการเรียนรู้ เพราะได้เรียนรู้ในเรื่องที่ตนเองสนใจแล้ว ยังช่วยให้ครูรู้สึกผ่อนคลายในการจัดการเรียนรู้อีกด้วย เพราะไม่จำเป็นต้องบังคับหรือยัดเยียดให้ผู้เรียนเรียนรู้ในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งถ้าสามารถดำเนินการรูปแบบการเรียนรู้นี้ได้อย่างเหมาะสมแล้ว ผู้เรียนจะช่วยกันเรียนรู้และเกิดองค์ความรู้ได้ด้วยตัวเอง โดยครูแค่แนะนำและอำนวยความสะดวกเท่านั้น นอกจากนี้แนวการจัดการเรียนรู้รูปแบบนี้ ยังช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนมีทักษะกระบวนการคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนในโลกยุคปัจจุบันอีกด้วย

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow