นรรัชต์ ฝันเชียร
กลุ่ม Baby Boomer (Generation B)
คือผู้ที่เกิดในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2489 – 2507 เป็นยุคที่มีอัตราการเกิดมาก เพราะเป็นช่วงหลังสงคราม และแต่ละประเทศต้องการแรงงานในการพัฒนาประเทศ จึงมีการสนับสนุนให้ประชาชนแต่งงานและมีบุตร โดยคนในกลุ่มนี้จึงทุ่มเทกับการทำงาน เคร่งครัดต่อกฎระเบียบและประเพณี มีความอนุรักษ์นิยม และมองว่าระเบียบในสังคมนั้นมีความสำคัญ เนื่องจากเคยผ่านความทุกข์ยากมาก่อน ปัจจุบันประชากรในกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุทั้งหมด
กลุ่ม Generation X
คือผู้ที่เกิดในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2508-2523 เป็นยุคที่สังคมโลกส่วนใหญ่มีความสงบและมั่นคง จึงทำให้คนในยุคนี้มีความผ่อนคลายมากขึ้น แต่กลับประสบปัญหาเรื่องทรัพยากรเนื่องจากการเกิดของประชากรที่มากผิดปกติ จึงทำให้ยุคนี้ให้ความสำคัญในเรื่องของการคุมกำเนิด ส่งผลให้คนในยุคนี้มีบุตรน้อยลงและแต่งงานช้า ให้ความสำคัญกับชีวิตครอบครัวพอ ๆ กับการทำงาน ชอบทำงานคนเดียว มีความคิดของตัวเอง ใช้ทักษะในการทำงานมากขึ้น และด้วยความอยู่ในยุคที่เริ่มมีสิ่งอำนวยความสะดวก ทำให้ไม่ชอบพิธีรีตองและผ่อนปรนในเรื่องจารีตประเพณีหลายอย่าง ปัจจุบันกำลังอยู่ในวัยกลางคนและย่างเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
กลุ่ม Generation Y
คือผู้ที่เกิดในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2523 – 2537 เป็นประชากรที่เกิดในยุคของที่เริ่มมีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี และเป็นโลกดิจิตอลเต็มรูปแบบ และจากผลของการคุมกำเนิด ทำให้ครอบครัวมีญาติพี่น้องน้อย เป็นยุคที่ได้รับการศึกษาที่ดี และมีการเติบโตของโลกออนไลน์และเทคโนโลยี จึงมีการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการทำงานและดำเนินชีวิตค่อนข้างมาก มีความคิดสร้างสรรค์ ให้ความสำคัญกับผลงานมากกว่าวิธีการ เป็นตัวของตัวเองสูง มีอิสระทางความคิด ไม่เชื่อในสิ่งที่ไม่เป็นเหตุเป็นผล ให้ความสำคัญในการรักษาสิ่งแวดล้อม ชอบทำงานที่ไม่เคร่งครัดในกฏระเบียบ ปัจจุบันคือประชากรหลักในการขับเคลื่อนประเทศ เพราะเป็นกลุ่มที่เป็นแรงงานในระบบการทำงานทั้งหมด
กลุ่ม Generation Z
คือผู้ที่เกิดในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2538-2552 เป็นยุคที่เติบโตมาพร้อม ๆ กับเทคโนโลยีและสังคมออนไลน์ ทำให้สามารถใช้เทคโนโลยีได้คล่อง ให้ความสำคัญโซเชีบลมีเดีย รับรู้ข่าวสารได้เร็ว ให้ความสำคัญกับตัวเอง ไม่ชอบการรอคอย มีความมั่นใจในตัวเองสูง ชอบโชว์ชอบแสดงออก เพราะมีสื่ออยู่ในมือ และมักจะอ้างอิงทุกอย่างจากสถิติ ปัจจุบันกลุ่มนี้คือเยาวชนและวัยรุ่นที่กำลังเริ่มออกสู่ระบบแรงงาน
กลุ่ม Generation Alpha
คือผู้ที่เกิดในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2553 เป็นต้น เป็นกลุ่มที่เกิดมาในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว มีเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต และเนื่องจากอัตราการเกิดที่ลดลงทำให้กลุ่ม Generation Alpha จะเป็นศูนย์กลางของครอบครัว และเป็นเหตุผลหลักในการใช้จ่ายของพ่อแม่ มีความคิดเป็นของตัวเอง และยอมรับในความหลากหลายซึ่งมาจากการเลี้ยงดูและสภาพแวดล้อม และคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ปัจจุบันกลุ่มนี้คือเด็กและเยาวชน ที่กำลังก้าวเข้าสู๋ระบบการศึกษา
สำหรับในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตอนนี้วัยเรียนประกอบด้วยกลุ่มเด็กที่อยู่ในช่วงของ Generation Z และ Generation Alpha ซึ่งทั้งสอง Generation มีความคล้ายคลึงกันคือการให้ความสำคัญกับเรื่องของเทคโนโลยีต่าง ๆ สำหรับ Generation Z เนื่องจากเป็นที่เข้ามาในระบบการศึกษามาพอสมควรแล้ว ทำให้ปัจจุบันมีรูปแบบของการศึกษาที่เหมาะสมรองรับพอสมควร แต่สำหรับ Generation Alpha เราอาจต้องมาค้นหาแนวการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกันใหม่ เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยและสถานการณ์
รูปแบบของการศึกษาในยุค Generation Alpha นั้น การศึกษาจะมีความเป็นปัจเจกมากขึ้น คือมีความเฉพาะบุคคลและเฉพาะทาง โดยพวกเขาสามารถที่จะศึกษาหาความรู้ได้จากโลกออนไลน์ตามความสนใจโดยไม่จำเป็นต้องเรียนรู้แค่ในห้องเรียน ซึ่งถ้าตามแนวคิดนี้ การศึกษาแบบ Home school จะได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะนอกจากจะได้เรียนรู้ตามความสนใจของแต่ละบุคคลแล้ว ผู้ปกครองยังรู้สึกเบาใจเพราะเด็กจะไม่ได้รับผลกระทบที่ไม่เหมาะสมจากระบบโรงเรียน แต่อย่างไรก็ดี แม้รูปแบบการศึกษาจะเปลี่ยนไป แต่ก็ยังมีปัญหาที่ต้องพบเจอสำหรับเด็กใน Generation นี้ เช่น โรคสมาธิสั้นเทียมที่เกิดจาการใช้เทคโนโลยีอย่างไม่เหมาะสม หรือการมีศีลธรรมบกพร่อง อันเป็นผลจากการเรียนรู้ด้วยตัวเอง โดยไม่ผ่านการกลั่นกรองหรือชี้แนะ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่คุณครูจะต้องเตรียมตัวรับมืออย่างเหมาะสม
สำหรับการสอนเด็ก Generation Alpha รศ. นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเลี้ยงดูเด็ก Generation นี้ไว้ เป็นแนวทางแบบบันได 3 ขั้น ซึ่งสามารถอธิบายในเชิงของการส่งเสริมด้านการเรียนการสอนได้ดังนี้
ขั้นที่ 1 รับฟังความคิดเห็นและความรู้สึกของเด็ก คุณครูต้องเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็นหรือความรู้สึกของตัวเองต่อเหตุการณ์หรือเนื้อหาความรู้ต่าง ๆ เพื่อให้ได้ทราบถึงสิ่งที่นักเรียนรู้หรือความรู้สึกของนักเรียนต่อเหตุการณ์นั้น ๆ
ขั้นที่ 2 สะท้อนความรู้สึกของเราเอง หลังจากที่นักเรียนได้แสดงความคิดเห็นแล้ว คุณครูต้องสะท้อนความคิดเห็นของตัวเองลงไปประกอบด้วย เพื่อให้นักเรียนได้พิจารณาเปรียบเทียบและเลือกเฟ้นหาแนวทางที่เหมาะสมด้วยตัวของนักเรียนเอง
ขั้นที่ 3 ให้โจทย์ปัญหาแก่เด็กได้ลองคิด และแก้ไขจากมุมของตัวเด็กเอง สิ่งนี้คือแบบฝึกหัด เมื่อนักเรียนได้แสดงความคิดเห็นและความรู้สึกของตัวเองควบคู่กับการสะท้อนของครูแล้ว การให้โจทย์ปัญหาหรือเหตุการณ์สมมุติง่าย ๆ จะช่วยให้นักเรียนรู้จักคิดและพิจารณาด้วยตัวเองจากองค์ความรู้ที่มี
นอกจากนี้ ผู้เขียนมองว่ายังมีทักษะและองค์ความรู้สำคัญที่ควรสอดแทรกไว้ในเนื้อหาหลักสูตรเรียน เพื่อส่งเสริมการศึกษาให้กับนักเรียนในยุค Generation Alpha ซึ่งพิจารณาจากองค์ความรู้สำคัญ 2 เรื่องที่กำลังได้รับความสนใจในปัจจุบัน นั้น คือ เรื่องของ ทักษะ EF (Executive Functions) และทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ซึ่งคุณครูสามารถส่งเสริมนักเรียนได้ดังนี้
- ส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักคิดอย่างเป็นกระบวนการ มีวิจารณญาณ รู้จักคิด วิเคราะห์ แยกแยะ และเน้นให้นักเรียนมีความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ รู้จักแก้ปัญหาด้วยตัวเอง โดยเพิ่มเติมความรู้ในโลกความเป็นจริง เพื่อให้เกิดแนวคิดที่เป็นไปได้
- ส่งเสริมให้นักเรียนมีคุณธรรมจริยธรรมในการดำเนินชีวิต มีจิตสาธารณะ รักความยุติกรรม และให้ความสำคัญต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม
- ส่งเสริมให้นักเรียนมีทักษะในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างสร้างสรรค์ และรู้เท่าทันสื่อ
- ส่งเสริมให้นักเรียนทำความเข้าใจและรู้จักปรับตัวตามสถานการณ์ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ที่รวดเร็วและไม่แน่นอน
- ส่งเสริมให้นักเรียนมีทักษะทางภาษาที่เหมาะสม สามารถใช้ประโยชน์และสื่อสารได้ ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาอื่น ๆ ตามความสนใจ
- ส่งเสริมให้นักเรียนเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติอย่างเป็นระบบ และเน้นการทำงานแบบร่วมมือ
เอกสารอ้างอิง
https://hilight.kapook.com/view/83492
https://www1.si.mahidol.ac.th/Healtygamer/information/article/85385
https://th.theasianparent.com/%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%84-%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B8%99-%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%A5%E0%B8%9F%E0%B9%88%E0%B8%B2-gen-alpha