Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เทคนิคการทำวิจัยในชั้นเรียนอย่างเป็นกระบวนการ

Posted By Plook Teacher | 08 ต.ค. 62
28,123 Views

  Favorite

นรรัชต์  ฝันเชียร

 

         วิจัยในชั้นเรียน Classroom Action Research ถือเป็นเครื่องมือส่งเสริมการศึกษาอย่างหนึ่งที่ช่วยคุณครูได้ทราบถึงแนวทางในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่เกิดกับตัวผู้เรียนในชั้นเรียน เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพในการเรียนการสอน การทำวิจัยในชั้นเรียนอย่างมีประสิทธิภาพจะทำให้ครูได้ข้อมูลของปัญหาที่เกิดขึ้นและแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสม ซึ่งสามารถเอาไปเป็นแบบอย่างในการแก้ไขปัญหาในลักษณะเดียวกันได้ ดังนั้นคุณครูจึงควรมีการจัดทำวิจัยในชั้นเรียนอย่างน้อย ภาคเรียนละ 1 ครั้ง ซึ่งจะช่วยให้การจัดการเรียนการสอนของครูมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

         การจัดทำวิจัยในชั้นเรียนนั้น มีประโยชน์อย่างมากในการส่งเสริมและพัฒนาการศึกษา สามารถช่วยแก้ไขและพัฒนาผู้เรียนในชั้นเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหาหรือส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียน นอกจากนี้ยังเป็นผลงานของครูในการเสนอพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนหรือขอเลื่อนวิทยฐานะ และเป็นส่วนหนึ่งในการประเมินมาตรฐานการศึกษาของโรงเรียนอีกด้วย

 

ภาพ : shutterstock.com

 

         เนื่องจากกิจกรรมการเรียนการสอนมีองค์ประกอบมากมายที่มีบทบาทต่อการจัดการเรียนรู้ที่ส่งผลต่อความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของการจัดการศึกษา ทำให้คุณครูสามารถเลือกแนวทางในการทำวิจัยในชั้นเรียนได้หลากหลายรูปแบบ ซึ่งเราสามารถแยกตามลักษณะของความเกี่ยวเนื่องได้ดังนี้

                  1. เป็นการศึกษาเกี่ยวกับวิธีการหรือรูปแบบเพื่อการพัฒนาการเรียนการสอน ซึ่งการวิจัยด้านนี้มุ่งศึกษาเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยน และพัฒนาวิธีการสอน โดยการค้นหาและทดลองสอนด้วยเทคนิควิธีการต่าง ๆ  การสร้างแบบฝึกทักษะ เพื่อส่งเสริมทักษะด้านต่าง ๆ ให้กับผู้เรียน และหาแนวทางในการแก้ไขข้อบกพร่องที่เกิดกับผู้เรียน

                  2. เป็นการศึกษาเกี่ยวกับองค์ประกอบของการเรียนการสอน ซึ่งการวิจัยด้านนี้มุ่งศึกษาเกี่ยวกับ ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเรียนรู้และพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน  วิเคราะห์หลักสูตรเพื่อการนำไปใช้ และศึกษาประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการวัดและประเมินผล

                  3. เป็นการศึกษาเกี่ยวกับลักษณะ และรูปแบบของหลักสูตร ซึ่งเป็นการวิจัยที่มุ่งศึกษาเกี่ยวกับ การติดตามและประเมินผลการพัฒนาและการใช้หลักสูตร  พัฒนาเทคนิคการวัดและประเมินผล และวิเคราะห์ความเหมาะสมของรายวิชาต่าง ๆ

                  4. เป็นการศึกษาเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน โดยการวิจัยด้านนี้มุ่งศึกษาเกี่ยวกับ การติดตามและประเมินผลการใช้แผนการสอน และการสร้างสื่อ แบบฝึกหัด ชุดการสอน หรือนวัตกรรม เพื่อจัดการเรียนการสอนและทดลองใช้

                  5. เป็นการศึกษาเกี่ยวกับเทคนิค วิธีการ และรูปแบบของการวัดและประเมินผล สำหรับการวิจัยด้านนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างและพัฒนาแบบทดสอบและวิเคราะห์หาคุณภาพของแบบทดสอบ และหาความสัมพันธ์และเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน

                  6. เป็นการศึกษาเกี่ยวกับสื่อ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งการวิจัยด้านนี้มุ่งศึกษาเกี่ยวกับ การเปรียบเทียบ พัฒนาและหาประสิทธิภาพของสื่อการเรียนการสอน  รวมถึงศึกษาผลของการนำเทคโนโลยีมาใช้และนวัตกรรมมาใช้ในการเรียนการสอน

 

         การจัดทำวิจัยในชั้นเรียนอย่างมีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นที่จะต้องดำเนินการตามกระบวนการให้ครบองค์ประกอบ เพื่อให้การวิจัยในชั้นเรียนมีความสมบูรณ์และเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้เรียนและตัวครูผู้สอน ซึ่งเราสามารถดำเนินขั้นตอนการทำวิจัยในชั้นเรียนตามกระบวนการได้ดังนี้

         1.เลือกปัญหาที่ต้องการศึกษา คือหาหัวข้อที่เราจะดำเนินการวิจัยภายในชั้นเรียนของเรา ซึ่งควรพิจารณาจาก

            (1) ปัญหาที่เกิดกับตัวนักเรียน อาจจะเป็นปัญหาพฤติกรรมหรือปัญหาในด้านการเรียนรู้ของนักเรียน

            (2) ปัญหาที่เกิดระหว่างการจัดการชั้นเรียน การสอน ปัญหาเกี่ยวกับการใช้สื่อการเรียนการสอนรวมถึงการวัดและประเมินผลต่าง ๆ

            (3) ปัญหาที่เกิดจากความต้องการของครูที่จะพัฒนาคุณภาพการสอนให้ดียิ่งขึ้น

 

         2. การเลือกเฟ้นปัญหาในการทำวิจัยในชั้นเรียนนั้น สำคัญที่สุดคือการคำนึงถึงสิ่งที่ผู้เรียนจะได้ประโยชน์ และเป็นสิ่งที่การสอนแบบเดิม ๆ นั้น ไม่อาจพัฒนาหรือส่งเสริมให้ผู้เรียนดีขึ้นได้ และต้องเป็นการวิจัยที่คุณครูสามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเอง โดยการ วิเคราะห์ปัญหา คือ การดำเนินการเพื่อให้คุณครูเข้าใจในปัญหาที่ต้องการนำมาทำวิจัยในชั้นเรียน ซึ่งมีสิ่งที่ต้องวิเคราะห์ ดังนี้

            (1) วิเคราะห์สภาพปัญหาว่าเป็นอย่างไร เกิดกับผู้เรียนทั้งชั้นเรียนเป็นส่วนใหญ่หรือเพียงแค่บางส่วน ซึ่งเราสามารถได้ข้อมูลเหล่านี้ จากการสังเกตหรือผลการประเมินต่าง ๆ เป็นต้น

            (2) วิเคราะห์สาเหตุของปัญหา คือ การพิจารณาถึงปัจจัยที่เป็นเหตุหรือต้นตอของปัญหา ซึ่งต้องพิจารณาให้รอบด้านและในทุกมิติ เพื่อให้ได้มาซึ่งแนวทางในการแก้ไขปัญหา โดยคุณครูสามารถเห็นถึงสาเหตุของปัญหาได้จาก การสังเกต การพูดคุย และการแสดงออกทางผลงานของผู้เรียน

 

             ปัญหาที่วิเคราะห์ได้อย่างชัดเจนจะทำให้คุณครูได้แนวทางในการแก้ไขปัญหาซึ่งจะช่วยให้คุณครูดำเนินการวิจัยในชั้นเรียนได้อย่างมีเป้าหมายไม่หลงทาง โดยมีวิธีการดำเนินการทำวิจัยในชั้นเรียน ดังนี้

                  1. หาแนวทางแก้ปัญหาหรือพัฒนาการเรียนรู้ คือ การนำสาเหตุและสภาพของปัญหาที่วิเคราะห์ได้มาหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาการเรียนรู้ อาจจะมาจากการสังเกตของครูผู้สอนที่ค้นพบว่ากิจกรรมบางอย่างอาจช่วยในการแก้ไขและพัฒนาตรงนี้ หรืออาจจะได้จากการศึกษางานวิจัยอื่นที่เกี่ยวข้องและนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับชั้นเรียนของเราก็ได้

                  2. กำหนดชื่อเรื่องวิจัย คำถามวิจัย และวัตถุประสงค์การวิจัย คือการกำหนดทิศทาง ขอบเขต และจุดมุ่งหมายในการทำวิจัยในชั้นเรียน เปรียบเสมือนเป็นพิมพ์เขียวที่ช่วยให้คุณครูดำเนินการวิจัยได้ถูกต้อง 

                  3. ระบุชื่อเรื่องวิจัยให้ชัดเจน ระบุให้ชัดถึงเรื่องที่จะแก้ปัญหาหรือพัฒนา กลุ่มเป้าหมาย และวิธีที่จะนำมาใช้แก้ปัญหาหรือพัฒนา เช่น ผลของการจัดกระบวนการเรียนรู้โดยใช้เกมการศึกษาในการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3/1 เป็นต้น

                  4. กำหนดคำถามนำทางในการวิจัย เพื่อให้สามารถดำเนินการวิจัยให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งเราสามารถกำหนดได้มากกว่า 1 ข้อ เช่น เราสามารถใช้เกมการศึกษาส่งเสริมทักษะการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3/1 ได้อย่างไร ? หรือ เกมการศึกษาส่งผลต่อทักษะการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3/1 อย่างไร ? เป็นต้น

                  5. กำหนดวัตถุประสงค์การวิจัยให้สอดคล้องกับชื่อเรื่องวิจัยว่าต้องการทำวิจัยในชั้นเรียนเพื่ออะไร เช่น เพื่อพัฒนาทักษะการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3/1 หรือ เพื่อศึกษาผลการใช้เกมการศึกษาในการพัฒนาทักษะการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3/1 เป็นต้น

                  6. วางแผนการดำเนินการแก้ปัญหาหรือพัฒนาการเรียนรู้ โดยคุณครูต้องเขียนงานวิจัยให้สามารถมองเห็นภาพของการดำเนินงานได้อย่างชัดเจน ซึ่งจะต้องระบุเครื่องมือในการวิจัย ทั้งเครื่องมือที่ใช้ในการแก้ปัญหาหรือพัฒนาการเรียนรู้ที่เป็นส่วนของนวัตกรรม และเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูลที่เป็นส่วนในการวิเคราะห์และประเมินผล โดยที่เครื่องมือในการเก็บข้อมูลของการวิจัยในชั้นเรียนนั้น ให้ระบุว่าจะใช้เครื่องมือใดในการเก็บรวบรวมข้อมูล ในช่วงเวลาใด และเก็บอย่างไร โดยไม่จำเป็นจะต้องหาคุณภาพเครื่องมือเฉกเช่นเดียวกับงานวิจัยตามปกติ

                  7. ลงมือปฏิบัติตามแผน เก็บรวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งจะต้องมีการใช้สถิติเข้ามาเกี่ยวข้อง สำหรับการวิจัยในชั้นเรียนนั้น เราจะใช้ค่าสถิติที่หาได้ง่ายและไม่ต้องใช้การคำนวณที่ยากนัก ซึ่งส่วนใหญ่ จะใช้การหาค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เป็นต้น

                  8. สรุปผลการวิจัย โดยจะต้องสรุปผลการวิจัยตามวัตถุประสงค์ที่ได้กำหนดไว้ และนำเสนอข้อมูลอย่างเป็นระบบ ซึ่งอาจนำเสนอออกมาในรูปแบบของตาราง แผนภูมิ แผนภาพ หรือการเขียนบรรยาย

                  9. อภิปรายผล คือการนำผลสรุปของงานวิจัยมาอภิปรายกล่าวถึงว่า จากผลการวิจัยนี้เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้หรือไม่ เพราะเหตุใด สอดคล้องกับสิ่งที่ผู้อื่นทำไว้ก่อนหน้านี้หรือไม่ หรือผู้วิจัยมีแนวคิดอะไรเพิ่มเติมจากการทำวิจัยในครั้งนี้บ้าง

 

         เมื่อคุณครูดำเนินการในข้อที่ 1-9 แล้ว เราก็จะเอาทั้งหมดนั้นมาเขียนเป็นรายงานการวิจัยในชั้นเรียน ซึ่งการเขียนตามขั้นตอน 1-9 นี้จะช่วยให้คุณครูสามารถเขียนได้ง่ายและเข้าใจได้เร็ว แต่อย่างไรก็ดี ไม่ได้มีรูปแบบวิจัยที่ตายตัวสำหรับงานวิจัยในชั้นเรียน เราอาจจะหาแนวทางในการเขียนวิจัยในชั้นเรียนที่เข้ากันเราในการนำเสนอก็ได้

 

ภาพ : shutterstock.com

 

         จะเห็นได้ว่างานวิจัยในชั้นเรียนนั้นเป็นเรื่องที่ง่ายและไม่ซับซ้อนมากนัก แต่กลับมีประโยชน์ในด้านการศึกษาอย่างมหาศาล เพราะเกิดผลดีทั้งกับตัวผู้เรียน ตัวผู้สอน และรวมถึงโรงเรียนก็ได้ประโยชน์จากงานวิจัยในชั้นเรียนนี้ด้วย ดังนั้นจึงอยากรณรงค์ให้คุณครูตั้งใจทำวิจัยในชั้นเรียนเพื่อพัฒนาตัวเองและเป็นประโยชน์ต่อนักเรียน อันเป็นการส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาของไทยให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow