Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

7 เทคนิคในการส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับเด็กสมาธิสั้น

Posted By Plook Teacher | 27 ก.ย. 62
42,761 Views

  Favorite

นรรัชต์  ฝันเชียร

 

โรคสมาธิสั้น (ADHD-Attention Deficit Hyperactivity Disorder) คือ ภาวะผิดปกติทางจิตเวชที่ส่งผลให้ผู้ป่วยมีสมาธิที่สั้นกว่าปกติ เพราะสมองส่วนหน้าซึ่งเป็นส่วนที่ทำหน้าที่ในการควบคุมสมาธิและการยับยั้งชั่งใจทำงานน้อยกว่าปกติ พบได้มากในเด็กที่มีช่วงอายุระหว่าง 3 - 7 ปี โดยสาเหตุแท้จริงนั้นตอนนี้ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด

 

              อาการของโรคสมาธิสั้นนั้น เนื่องจากสมองส่วนหน้าของผู้ป่วยทำงานผิดปกติ ทำให้ผู้ป่วยจึงขาดความรับผิดชอบ ควบคุมตัวเองได้ไม่ดี มีอาการซุกซน วอกแวกง่าย อยู่ไม่นิ่ง ไม่ตั้งใจฟังผู้อื่นพูดและเก็บรายละเอียดไม่ค่อยได้ ซึ่งการที่จะวินิจฉัยว่าใครเป็นหรือไม่เป็นโรคสมาธิสั้นนั้น ผู้ที่สามารถวินิจฉัยได้จะต้องเป็นจิตแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น ไม่สามารถระบุได้จากแบบทดสอบหรือการประเมินโดยบุคคลอื่น ปัจจุบันอาการสมาธิสั้นนั้น มีทั้งแบบที่เป็นผลมาจากโรคสมาธิสั้นโดยตรง หรือที่เรียกว่า สมาธิสั้นแท้ กับแบบที่เกิดจากการเลี้ยงดูในสิ่งแวดล้อมที่ต่างไปจากปกติ เช่น การเลี้ยงดูโดยปล่อยให้เด็กอยู่กับสื่อโทรทัศน์ แท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟนมากเกินไป หรือไม่มีการอบรมสั่งสอนอย่างเหมาะสม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กมีอาการสมาธิสั้น หรือ ที่เรียกว่าสมาธิสั้นเทียมได้ โดยทั้งสองแบบนั้น มีการรักษาหรือดูแลแตกต่างกัน สำหรับสมาธิสั้นเทียม เด็กอาจจะหายได้ เมื่อได้รับการปรับพฤติกรรมอย่างเหมาะสม ส่วนสมาธิสั้นแท้นั้น ยังไม่มีการรักษาที่ทำให้หายขาด แต่มีการให้รับประทานยาเพื่อควบคุมอาการ ซึ่งในกรณีที่มีภาวะไม่มากนัก อาการของโรคอาจจะลดน้อยลงเมื่อโตขึ้นได้   

 

ภาพ : shutterstock.com

 

              ปัจจุบันนี้มีเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น ทั้งที่วินิจฉัยและยังไม่ได้รับการวินิจฉัยอยู่ในระบบโรงเรียนมากมาย ซึ่งพวกเขาเหล่านั้น ส่วนใหญ่เรียนร่วมอยู่ในชั้นเรียนปกติ และมักที่จะประสบปัญหาด้านการเรียนหรือมีปัญหาพฤติกรรม ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาตัวเอง ดังนั้นเพื่อให้พวกเขาสามารถเรียนรู้ได้ตามศักยภาพ ต่อไปนี้คือเทคนิคง่าย ๆ ที่ช่วยให้นักเรียนที่เป็นโรคสมาธิสั้นสามารถเรียนรู้ในชั้นเรียนได้อย่างมีความสุข

ลดสิ่งเร้า

              ห้องเรียนส่วนใหญ่นั้น มักจะมีการจัดที่สำหรับแสดงสื่อการเรียนการสอนไว้ให้นักเรียนได้สังเกต ซึบซับและสามารถหยิบใช้ได้ง่าย รวมไปถึงห้องเรียนที่มีเสียงดังเกินไปหรือมีสีที่ฉูฉฉาด สิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลทำให้สมาธิของนักเรียนลดน้อยลง โดยเฉพาะกับนักเรียนที่เป็นโรคสมาธิสั้น ดังนั้นคุณครูควรจัดหาพื้นที่ในห้องเรียนที่ห่างจากสิ่งเร้าเหล่านี้สำหรับกลุ่มเด็กดังกล่าว เพื่อให้พวกเขามีสมาธินานขึ้น

กระตุ้นเตือน

              ระหว่างที่ดำเนินการสอน คุณครูควรสังเกตพฤติกรรมของนักเรียนอยู่เสมอว่า พวกเขาแสดงออกอย่างไรต่อการเรียน  โดยเฉพาะนักเรียนที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นสมาธิสั้น ซึ่งต้องคอยกระตุ้นเตือนเมื่อพบว่านักเรียนมีอาการเหม่อ หรือเริ่มเสียสมาธิไปกับสิ่งอื่น ซึ่งวิธีการอาจจะเดินมาใกล้ ๆ แล้วแตะตัวเบา ๆ หรือเรียกชื่อเขาก็ได้ ซึ่งจะช่วยดึงสมาธิของนักเรียนให้กลับมาที่สิ่งที่กำลังจะสอนได้

ชื่นชม

              การชื่นชมนักเรียน เมื่อเขามีพฤติกรรมที่ดี จะช่วยหนุนจิตใจของเขาให้แสดงพฤติกรรมที่ดีนั้นมากขึ้น ซึ่งตรงกันข้ามกับการตำหนิติเตียน ที่จะทำให้นักเรียนหมดกำลัใจ รู้สึกไม่ดีและทำให้ไม่รู้จักที่จะเคารพตัวเอง และยิ่งสำหรับนักเรียนที่เป็นสมาธิสั้น ซึ่งมีอัตราการทำสิ่งต่าง ๆ ให้ประสบความสำเร็จนั้นน้อยอยู่แล้ว ก็จะยิ่งส่งผลเสียมากขึ้นไปอีก ดังนั้นพยายามชื่นชมเขาในพฤติกรรมดี และพูดคุยอย่างมีเหตุผล โดยมุ่งให้เขาได้คิดไตร่ตรองด้วยตัวเอง ในกรณีที่เขาแสดงพฤติกรรมที่ไม่ดี จะทำให้นักเรียนเหล่านั้นพัฒนาตัวเองได้ดีขึ้น

ให้รางวัล

              เมื่อเราวางเป้าหมายให้นักเรียนเดินทาง เมื่อเหล่านักเรียนสามารถเดินทางไปถึงยังจุดหมายที่เราตั้งไว้ได้แล้ว เราก็ควรมอบรางวัลในความพยายามของเขาตามแต่ที่ตกลงไว้ก่อนตั้งแต่เริ่มวางเป้าหมาย  ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้นักเรียนมีแรงจูงใจที่จะพัฒนาตัวเองมากขึ้น สำหรับวิธีนี้เราสามารถนำมาใช้กับนักเรียนที่มีภาวะสมาธิสั้นได้ โดยการวางเป้าหมายให้เขาไปถึงทีละขั้น แล้วมอบรางวัลในแต่ละขั้นให้เมื่อเขาสามารถมาถึงเป้าหมายได้ เช่น จะให้ขนมเมื่อนักเรียนสามารถทำงานที่มอบหมายให้เสร็จเรียบร้อย เป็นต้น โดยอาจใช้ควบคู่กับการลงโทษ เช่น การตัดคะแนนหรือไม่ให้รางวัล เมื่อเขาแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม แต่ควรเน้นวิธีการให้รางวัลมากกว่าที่จะลงโทษ

ไม่กล่าวโทษ

              คุณครูไม่ควรกล่าวโทษ หรือแสดงกริยาที่ไม่พอใจในพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของนักเรียนที่เป็นสมาธิสั้น เพราะนักเรียนที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมาธิสั้นนั้น หมายความว่ามีความผิดปกติในการทำงานของสมองทำให้ส่งผลต่อพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเขา ถ้าคุณครูมองเห็นในจุดนี้ เราจะมองพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเขาอย่างเข้าใจและให้อภัยมากขึ้น เพราะสิ่งที่เขากระทำนั้นไม่ใช่มาจากความต้องการของเขาเอง แต่มาจากความผิดปกติที่ทำให้เขาควบคุมตัวเองไม่ได้

มองหาสิ่งดี

              เมื่อคุณครูมีความเข้าใจในเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นแล้ว การเลือกที่จะมองเขาในด้านที่ดี จะช่วยให้คุณครูมองข้ามพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเขา ซึ่งจะส่งผลให้คุณครูดำเนินการสอนได้อย่างสบายใจ ไม่กดดัน และไม่มีความเครียดในการดูแลหรือให้ความช่วยเหลือนักเรียนที่เป็นโรคสมาธิสั้น

จัดทำตารางเวลาและสิ่งที่ต้องทำ

              คุณครูควรสอนให้นักเรียน โดยเฉพาะนักเรียนที่มีภาวะสมาธิสั้นรู้จักจัดตารางเวลาของตัวเอง โดยการให้พวกเขาจดสิ่งต่าง ๆ ที่ต้องทำลงในสมุด แล้วจูงใจให้เขาทำตามสิ่งที่จดนั้นโดยอาจเป็นการชมเชยหรือให้รางวัลเมื่อเขาสามารถทำได้จนครบ วิธีนี้คือการวางเงื่อนไขให้เขาจดจ่อกับงานหรือสิ่งที่ต้องทำมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เขามุ่งมั่นและรับผิดชอบมากยิ่งขึ้น

 

              เทคนิคทั้ง 7 ข้อที่กล่าวมานี้ เป็นเทคนิคง่ายๆที่คุณครูสามารถนำไปปรับใช้ได้ ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นนักเรียนที่เป็นโรคสมาธิสั้นเท่านั้น สำหรับนักเรียนปกติทั่วไปก็สามารถใช้เทคนิคนี้ในการส่งเสริมพัฒนาให้นักเรียนมีสมาธิและความรับผิดชอบในการเรียนมากยิ่งขึ้นได้เช่นเดียวกัน

 

เอกสารอ้างอิง

https://www.bangkokhospital.com/th/disease-treatment/adhd-disorder

https://www.thaihealth.or.th/Content/41130-7%20%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%84%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%81%20'%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%99'.html

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow