Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การแก้ไขปัญหาผู้เรียนที่มีความก้าวร้าว

Posted By Plook Teacher | 27 ส.ค. 62
45,550 Views

  Favorite

นรรัชต์  ฝันเชียร

 

            ความก้าวร้าว (Aggression) คือพฤติกรรม” ที่มี “เจตนา” ในการทำร้ายหรือทำลายผู้อื่นด้วยวิธีการต่างๆ ที่ทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บทางร่างกายหรือทางจิตใจ เป็นพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อทั้งตัวเองและคนรอบข้าง ซึ่งมักจะมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสม

 

            ปัจจุบันนี้ ในชั้นเรียนเรามักพบนักเรียนที่มีความก้าวร้าวเพิ่มมากขึ้น เพราะด้วยรูปแบบครอบครัวและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป รวมไปถึงการรุกคืบของสื่อต่างๆที่ไม่ผ่านการกลั่นกรอง สิ่งเหล่านี้ทำให้ปัญหาความก้าวร้าวของนักเรียนกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องได้รับการแก้ไขตั้งแต่เนิ่น ๆ เป็นอย่างยิ่ง เพราะภาวะความก้าวร้าวรุนแรงนั้น ถ้าไม่ได้รับการแก้ไข เมื่ออายุมากขึ้นอาจไปแสดงความก้าวร้าวกับผู้อื่นในระดับที่ก่อให้เกิดอันตรายได้ เช่น ทำร้ายร่างกายกันจนเสียชีวิต หรือ ขับรถชนบุคคลอื่นเนื่องจากไม่พอใจกัน เป็นต้น  

ลักษณะของนักเรียนที่มีความก้าวร้าวนั้น นักเรียนแต่ละคนอาจมีการแสดงพฤติกรรมและอารมณ์แตกต่างกัน โดยส่วนใหญ่จะเป็นการทำร้ายสัตว์ ทำร้ายตัวเองและผู้อื่น ทำลายข้าวของ แสดงความรุนแรงทางวาจา อาละวาดขว้างปาสิ่งของ เจ้าอารมณ์ และมักจะมีเรื่อง ชกต่อยกับเพื่อนอยู่เป็นประจำ

 

สำหรับสาเหตุที่ทำให้นักเรียนเป็นคนก้าวร้าวนั้น มีสาเหตุได้จากหลายปัจจัย อันได้แก่

            1. พัฒนาการตามวัย ซึ่งปกติแล้วเด็กในวัย 2 ขวบขึ้นไป มักจะแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวให้เห็นตามธรรมชาติ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติแต่อย่างไร โดยมากแล้วจะสามารถจัดการกับสภาวะอารมณ์ของตัวเองได้ดีขึ้น เมื่อเข้าวัย 4-5 ขวบ

            2. ภาวะความบกพร่องทางสมอง ซึ่งภาวะความบกพร่องทางสมองนี้ เป็นความผิดปกติในสมองส่วนที่ส่งผลต่อการควบคุมอารมณ์ทำให้เด็กเกิดพฤติกรรมก้าวร้าวโดยไม่รู้ตัวหรือควบคุมตัวเองไม่ได้ เช่น โรคสมาธิสั้น หรือ โรคลมชัก เป็นต้น 

            3. ภาวะจิตใจที่ไม่ปกติ เป็นสาเหตุของปัญหาที่มักจะเกิดในช่วงวัยเด็กถึงวัยรุ่นที่ขาดวุฒิภาวะทางอารมณ์ เนื่องจากความกังวล ความเครียดและแรงกดดันต่างๆ จนอาจระบายออกมาเป็นความก้าวร้าวด้วยการใช้กำลังและคำพูดได้

            4. พื้นฐานครอบครัว ซึ่งเกี่ยวกับการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม ขาดระเบียบวินัย รักที่จะทำตามใจตนเอง ซึ่งเมื่อต้องมาใช้ชีวิตร่วมกันในสังคมที่มีกฎระเบียบเมื่อความสงบเรียบร้อย จะรู้สึกต่อต้านและแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว เพื่อปฏิเสธการร่วมกติกาในสังคมนั้น

            5. สภาพแวดล้อม เด็กที่เกิดมาท่ามกลางครอบครัวที่มีปัญหา พ่อแม่ตีกัน ด่าทอใส่กันเป็นประจำ มีแนวโน้มที่จะแสดงความก้าวร้าวมากกว่าเด็กที่ครอบครัวอบอุ่น 

            6. การเลียนแบบจากสื่อ ปัจจุบันทุกคนสามารถเข้าถึงสื่อได้ง่ายขึ้น แม้จะเป็นสื่อที่มีลักษณะไม่เหมาะสมก็ตาม การเข้าถึงได้ง่ายนี้ ทำให้ทุกคนมีโอกาสซึบซับและเลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเหล่านั้น ยิ่งพบเห็นสื่อที่แสดงถึงความก้าวร้าวรุนแรงมากเท่าไหร่ สภาพเช่นนี้ก็จะกลายเป็นตัวหล่อหลอมพฤติกรรมให้ผู้ชมจดจำและกระทำตามจนกลายเป็นพฤติกรรมไม่ดีติดตัว

 

            พฤติกรรมความก้าวร้าว สามารถแบ่งได้ตามเจตนา เป็น 2 ลักษณะคือ ความก้าวร้าวแบบที่เป็นการโต้ตอบ (reactive aggression) หมายถึง ความก้าวร้าวที่บุคคลแสดงออกเนื่องมาจากต้องการตอบโต้หรือแก้แค้น กับ ความก้าวร้าวแบบที่เป็นเครื่องมือไปสู่เป้าหมาย (instrumental aggression) หมายถึง พฤติกรรมที่แสดงออกถึงความก้าวร้าว ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้สิ่งที่ตนต้องการ

 

            สำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหานักเรียนที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวนั้น คุณครูต้องใช้ความรู้ทางจิตวิทยาเพื่อช่วยในการปรับพฤติกรรมของนักเรียนค่อนข้างมาก เพราะปัญหานักเรียนก้าวร้าวนั้นส่วนใหญ่เกิดจากการที่นักเรียนไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ ทำให้แสดงออกมาด้วยความรุนแรง ซึ่งวิธีป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กก้าวร้าวตามแนวคิดของผู้เขียนนั้น มีแนวทางดังนี้

            1. เมื่อพบเห็นพฤติกรรมก้าวร้าว คุณครูควรหยุดการแสดงออกทางพฤติกรรมนั้นโดยทันที แต่ไม่ควรหยุดพฤติกรรมโดยวิธีรุนแรง เช่น การตีหรือต่อว่าเพราะจะเป็นการกระตุ้นความก้าวร้าวในตัวนักเรียนและอาจจะทำให้นักเรียนเลียนแบบ ควรแยกนักเรียนออกจากสถานการณ์ เพื่อให้สงบลง ก่อนที่จะสอบถามหาสาเหตุและสั่งสอน

            2. แนะนำแนวทางการปฏิบัติตนที่เหมาะสมในสถานการณ์นี้ให้นักเรียนทราบ เช่น ถ้านักเรียนมีปัญหากับเพื่อน ควรที่จะเดินมาบอกครู เพื่อให้ช่วยเป็นตัวกลางแก้ไขข้อพิพาท ไม่ควรที่จะใช้กำลังแก้ไขปัญหาซึ่งไม่เป็นผลดีและเกิดผลเสียกับตัวเอง 

            3. ในช่วงที่นักเรียนยังอยู่ในอารมณ์หรือพฤติกรรมก้าวร้าว ไม่ควรสั่งสอน ยื่นเงื่อนไขหรือต่อรองใดๆกับนักเรียน เพราะนอกจากจะนักเรียนไม่ได้จดจำแล้ว ยังเป็นการวางเงื่อนไขทางพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องอีกด้วย คุณครูควรตอบสนองความต้องการของเขา เฉพาะในช่วงที่อารมณ์สงบ และมีพฤติกรรมที่เหมาะสมแล้วเท่านั้น

            4. ไม่เอาใช้วิธีรุนแรงเช่น การตีหรือด่าทอในการลงโทษนักเรียนในการกระทำความผิดที่เกิดจากการก้าวร้าว มันจะเป็นสิ่งที่ดีกว่าถ้าแยกนักเรียนออกมาอยู่ลำพัง (Time Out) เพื่อให้ทบทวนตัวเองถึงสิ่งที่ปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสม และควรให้นักเรียนรับผิดชอบต่อการกระทำที่ไม่เหมาะสมนั้นของตนเอง เช่น ซ่อมแซมของที่ชำรุดเสียหายจากผลของการกระทำของตัวเอง เป็นต้น

            5. พึงระลึกไว้เสมอว่า การปรับพฤติกรรมนักเรียนที่ก้าวร้าวนั้น เป็นเรื่องของการช่วยเหลือ ไม่ใช่การเอาชนะ ดังนั้นหลีกเลี่ยงการตอบโต้พฤติกรรมก้าวร้าวด้วยวิธีการรุนแรง และเมื่อจัดการกับความก้าวร้าวของนักเรียนเรียบร้อยแล้ว ไม่ควรที่จะนำเรื่องนี้ไปกล่าวอ้างหรืออ้างอิงในเหตุการณ์หรือพฤติกรรมอื่นๆที่เกิดขึ้นกับนักเรียนอีก เช่น เมื่อเราจัดการกับปัญหานักเรียนก้าวร้าวแล้ว แม้นักเรียนคนนั้นจะแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวในครั้งต่อๆไป ก็ไม่ควรยกเหตุการณ์เดิมมาต่อว่านักเรียน ซึ่งนอกจากจะไม่เกิดประโยชน์แล้ว ยิ่งทำให้พฤติกรรมของนักเรียนแย่ลงไปอีกด้วย

            6. ถ้าพบว่านักเรียนมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวรุนแรงเกินกว่าปกติ โรงเรียนควรต้องประชุมเพื่อช่วยกันหาแนวทางแก้ไขปัญหา โดยมีผู้ปกครอง ตัวนักเรียน ผู้บริหาร ครูประจำชั้น ครูแนะแนว และอาจจะมีผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับจิตวิทยาเด็กเข้ามาร่วมด้วย เพื่อช่วยกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาหรืออาจจำเป็นต้องส่งต่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อวินิจฉัยและหาแนวทางรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป  

 

ภาพ : shutterstock.com

 

            การแก้ไขปัญหานักเรียนที่มีความก้าวร้าวนั้น นอกจากจะเป็นการช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาวแล้ว ยังช่วยให้ชั้นเรียนมีความราบรื่น ไม่ต้องสะดุดลงเนื่องจากเอาเวลาไปจัดการกับปัญหาความก้าวร้าวต่างๆของนักเรียนบ่อยครั้ง ทำให้เราสามารถส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

 

            อย่างไรก็ดี การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ คุณครูจำเป็นต้องมีความเข้าใจในหลักจิตวิทยาสำหรับเด็ก ซึ่งผู้เขียนเชื่อมั่นว่าทุกท่านน่าจะผ่านการเรียนหรือการอบรมเกี่ยวกับจิตวิทยาเด็กกันมาพอสมควร มันถึงเวลาแล้วครับ ที่ต้องนำความรู้มาใช้ประโยชน์แบบจริงๆจังๆกันเสียที ก่อนที่ปัญหานี้จะส่งผลให้นักเรียนบางคนอาจต้องล้มเหลวในชีวิตเนื่องจากความก้าวร้าวของตัวเองนี้ก็เป็นได้ 

 

 

เอกสารอ้างอิง

https://www.m-culture.go.th/surveillance/ewt_news.php?nid=824&filename=index

http://taamkru.com/th/%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7/

http://abnormalbehaviorchild.com/%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%9A%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%93%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%81%E0%B8%97%E0%B8%B5/

https://www.gotoknow.org/posts/395509

 
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow