นรรัชต์ ฝันเชียร
การสร้างให้นักเรียนรู้สึกอยากมีส่วนร่วมในชั้นเรียนนั้น ครูคือตัวแปรที่สำคัญที่สุด เพราะต้องเป็นทั้งผู้ปรับเปลี่ยนตัวตน จากที่เคยเป็นผู้สอนที่จัดการทุกอย่างด้วยตัวเอง ก็ต้องเปิดใจยอมรับในตัวนักเรียน และเปิดโอกาสให้พวกเขามีส่วนร่วมในการดำเนินการต่าง ๆ ตามความเหมาะสม ซึ่งก่อนจะถึงขั้นนั้นได้ ครูจะต้องเผชิญกับบททดสอบมากมาย และหนึ่งในนั้นคือ การทำอย่างไรให้นักเรียนรู้สึกว่าอยากมีส่วนร่วมในชั้นเรียน และนี่คือ 7 กลยุทธ์ที่น่าสนใจที่จะช่วยให้ครูเข้ากับนักเรียนได้มากขึ้น โดยสรุปจากบทความที่มีชื่อว่า 7 MEANINGFUL CLASSROOM ENGAGEMENT STRATEGIES FOR STUDENT CONNECTION นำเสนอโดย เว็บไซต์ Wabisabilearning.com ซึ่งรายละเอียดมีดังนี้
1. เรียนรู้วัฒนธรรมของนักเรียน
ต้องยอมรับว่าปัจจุบันนี้คนในแต่ละช่วงวัยเหมือนอยู่บนโลกที่มีความแตกต่างกัน สิ่งที่เป็นความบันเทิงหรือเรื่องราวยอดนิยมล้วนเป็นบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมสำหรับพวกเขาซึ่งบางครั้งก็แตกต่างกันสิ่งที่เราสนใจโดยสิ้นเชิง ครูจึงควรที่จะเรียนรู้วัฒนธรรมของนักเรียน เกี่ยวกับสิ่งที่เขาสนใจหรือชื่นชอบและพยายามทำความเข้าใจว่าทำไมสิ่งเหล่านี้จึงมีความสำคัญต่อพวกเขา
2. แบ่งปันเรื่องราวของคุณ
หนึ่งในกลยุทธ์การมีส่วนร่วมในชั้นเรียนที่น่าอัศจรรย์คือการเล่าเรื่องเกี่ยวกับตัวคุณเองให้นักเรียนฟัง บ่อยครั้งที่ครูคาดหวังกับจุดมุ่งหมายในการจัดการชั้นเรียนมากเกินไป จนกลายเป็นอุปสรรคที่รุนแรงในการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีของนักเรียน ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดแรงกดดันดังกล่าว ครูควรส่งเสริมให้ชั้นเรียนมีความผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในวิธีการสร้างความผ่อนคลายที่ดีนั้นคือการเลือกเล่าเรื่องราวที่ขำขันเกี่ยวกับตัวคุณเองหรือเรื่องราวจากสิ่งที่คุณพบเจอ เพื่อให้นักเรียนรู้สึกสนใจ และเห็นว่าเบื้องหลังของตัวครูก็ไม่ต่างจากมนุษย์ธรรมดาเหมือนกับที่เขาเป็น
3. อุ่นเครื่องใน 5 นาทีแรก
5 นาทีแรกในชั้นเรียนควรจะถูกนำมาใช้เป็นการอุ่นเครื่องมากกว่าที่จะกระโดดเข้าไปสู่บทเรียนในทันที ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้พวกเขารู้สึกเป็นตัวของตัวเองก่อนที่ครูจะเริ่มต้นสร้างเป้าหมายในการเรียนรู้ให้กับพวกเขา โดยเราสามารถใช้เวลา 5 นาทีแรกในการพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่นักเรียนทำเมื่อคืนก่อน ข่าวล่าสุดที่น่าสนใจ ตอบคำถามและฟังเรื่องราวของพวกเขา เชื่อเถอะว่ามันเป็นกิจกรรมที่ใช้เวลามากพอจนแทบไม่ทันรู้ตัวว่า 5 นาทีที่กำหนดให้นั้นได้หมดลงแล้วและทุกคนก็พร้อมที่จะเริ่มเรียน
4. จัดการกับปัญหาด้วยกัน
การพูดคุยกันถึงปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างนักเรียนกับครู จะทำให้นักเรียนรู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้อยู่คนเดียว บางครั้งปัญหาทั้งในและนอกห้องเรียนที่เกิดขึ้นกับนักเรียนจำเป็นที่จะต้องมีวิธีการทำงานร่วมกัน บทบาทของครูในทุกวันนี้ได้เปลี่ยนไปจากการเป็นผู้ป้อนความรู้และจัดการกับการแก้ปัญหาทั้งหมด ตอนนี้เราควรเป็นผู้แนะนำและให้คำปรึกษา รวมถึงเป็นผู้สนับสนุนให้นักเรียนรู้จักค้นหาตัวตนของตัวเองด้วยตัวเอง จุดยืนของเราในเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญในการที่จะส่งเสริมให้นักเรียนประสบความสำเร็จในการทำงานร่วมกัน ครูจึงควรเต็มใจที่จะทำงานร่วมกับปัญหาต่าง ๆ ในฐานะส่วนหนึ่งของสมาชิกในห้องเรียนมากกว่าที่จะแก้ไขสิ่งเหล่านั้นด้วยคำว่าครู
5. แสดงออกถึงความใส่ใจนักเรียนอย่างเหมาะสม
การแสดงออกถึงความใส่ใจนักเรียน ไม่ได้หมายความว่า จะต้องให้เวลากับนักเรียนทั้ง 24 ชั่วโมง พยายามเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของเขา หรือเข้าไปอยู่ร่วมในวัฒนธรรมของพวกเขา แต่ควรที่จะเป็นผู้ฟังที่ดี ยอมรับในตัวของเขา อดทนและให้อภัยต่อพฤติกรรมที่ไม่ดีของพวกเขา และพูดคุยทักทายกับพวกเขาตามความเหมาะสมจึงนับเป็นแนวทางที่เหมาะสมกว่า
6. อย่ามัวนึกถึงแต่อดีต
การนั่งโหยหาถึงวันวานในสมัยก่อน เมื่อชั้นเรียนเปลี่ยนไปตามยุคสมัย นับว่าเป็นเรื่องที่อันตราย เพราะเมื่อเราติดค้างอยู่ในวังวนของอดีตเราไม่สามารถจับตาดูปัจจุบันและอนาคตได้ ทำให้เรามองไม่เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์และความฉลาดที่ส่องประกายของนักเรียนที่อยู่กับเราในปัจจุบัน
ต้องเข้าใจก่อนว่าไม่มีอะไรที่จะอยู่เหมือนเดิม มันถึงเวลาแล้วสำหรับการค้นพบสิ่งใหม่และความท้าทายของสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในการศึกษา พยายามเรียนรู้สิ่งนั้น และสิ่งนั้นจะมีประโยชน์กับเรา
7. ยิ้มเข้าไว้
การยิ้มทำงานได้ดีด้วยเหตุผลหลายประการ มันเป็นมากกว่า การแสดงออกทางสังคมที่สุภาพ มันสร้างความรู้สึกในเชิงบวกที่แท้จริงทั้งในผู้ให้และผู้รับ นอกจากนี้การยิ้มยังแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งในเวลาที่ยากลำบาก เป็นการสร้างความมั่นใจให้นักเรียนเห็นว่าคุณเต็มใจที่จะแสดงความกล้าหาญแบบนั้น แม้กับปัญหาที่หนักหนาแค่ไหนก็ตาม
กลยุทธ์เหล่านี้ นับเป็นวิธีการง่ายๆที่ช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนักเรียนกับครู และช่วยให้นักเรียนอยากมีส่วนร่วมในชั้นเรียนมากขึ้น ซึ่งถ้าผู้อ่านสามารถนำไปปรับใช้เพื่อพัฒนาตัวเองในการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพและสอดคล้องกับแนวการศึกษาแบบใหม่ได้ ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อทั้งตัวของครูและกับนักเรียนในความดูแลเป็นอย่างยิ่ง
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.wabisabilearning.com/blog/7-meaningful-classroom-engagement-strategies