Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เน้นความต้องการของเด็กเป็นสำคัญไปกับแนวการเรียนรู้แบบเรกจิโอ เอมิเลีย

Posted By Plook Teacher | 13 มิ.ย. 62
15,133 Views

  Favorite

นรรัชต์  ฝันเชียร

 

                หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ในปี พ.ศ. 2488 ท่ามกลางซากปลักหักพังของหมู่บ้านวิลลา เซลลา (Villa Cella) ที่ตั้งอยู่ห่างจากเมืองเรกจิโอ เอมิเลีย ไปประมาณ 2-3 ไมล์  ลอริส มาลากุซซี่ (Loris Malaguzzi) นักการศึกษาผู้มีชื่อเสียง ได้รวมกลุ่มผู้ปกครอง และอาสาสมัครที่ห่วงใยในเรื่องการศึกษาของบุตรหลาน ได้ร่วมกันศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการจัดการศึกษาให้กับเด็ก หลังจากที่ระบบการศึกษาเดิมต้องหยุดชะงักลงในระหว่างสงคราม จนนำมาสู่การก่อตั้งโรงเรียนภายในหมู่บ้านขึ้น ซึ่งนั่นคือจุดเริ่มต้นของแนวคิดการจัดการเรียนรู้แบบเรกจิโอ เอมิเลีย

 

                นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้แบบเรกจิโอ เอมิเลีย ได้รับรองจากทางการท้องถิ่นของอิตาลีในปีพ.ศ. 2506  และได้กลายเป็นต้นแบบของการจัดการในเมืองเรกจิโอ เอมิเลีย ซึ่งภายหลังจึงกลายมาเป็นชื่อเรียกของแนวการจัดการเรียนรู้รูปแบบนี้ และยังนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายในระบบการศึกษาปฐมวัยของอิตาลี ก่อนจะเริ่มเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในยุโรปและอเมริกา ในปี พ.ศ. 2523 

 

ภาพ : shutterstock.com

 

หลักการที่สำคัญของการจัดการเรียนรู้แบบเรกจิโอ เอมิเลียนั้น มีหลักการสำคัญอยู่ 7 ส่วนอันได้แก่


                1. มุมมองที่มีต่อเด็ก 

                การเรียนรู้แบบเรกจิโอ เอมิเลียเชื่อว่า เด็กทุกคนสามารถที่จะเรียนรู้ได้มาตั้งแต่กำเนิด และมีวิธีในการพัฒนาการ การเรียนรู้ที่เปลี่ยนไปตามวัย เด็กทุกคนมีความปรารถนาที่จะพัฒนาตนเอง มีความอยากรู้อยากเห็น และต้องการที่จะปฏิสัมพันธ์และสื่อสารกับผู้อื่น ผ่านการแสดงออกทางร่างกาย สีหน้า หรือการพูดคุยต่าง ๆ ซึ่งเป็นทักษะการสื่อสารนี้ ในการจัดการเรียนรู้แบบเรกจิโอ เอมิเลียเชื่อว่าเป็นทักษะที่มีความสำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็กเป็นอย่างมาก เพราะเป็นทักษะเพื่อดำรงไว้ซึ่งความอยู่รอดและคงไว้ซึ่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของเผ่าพันธุ์


                2. โรงเรียนเป็นสถานที่ ที่มีความหลากหลาย 

                ในการจัดการเรียนรู้แบบเรกจิโอ เอมิเลียนั้น มองโรงเรียนคือสิ่งก่อสร้างที่มีครูและเด็กจำนวนมากอยู่ร่วมกันและมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ซึ่งรูปแบบของการใช้ชีวิตในโรงเรียนของเด็กนั้นจะขยายไปสู่ครอบครัวของเด็กได้อีกด้วย ดังนั้น ครอบครัวจึงต้องมีส่วนร่วมในการดำเนินชีวิตของเด็กในโรงเรียน ควบคู่กับชุมชนที่ต้องรับรู้ถึงการดำเนินการของโรงเรียนด้วยเช่นกัน

 

                3. จัดการเรียนรู้ตามความต้องการของเด็ก 

                แนวการจัดการเรียนรู้แบบเรกจิโอ เอมิเลียนั้น ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้มากกว่าการสอน ก่อนเริ่มเรียน จะต้องทำความเข้าใจสิ่งที่เด็กกำลังกระทำอยู่ ณ ขณะนั้น เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมาจัดการเรียนรู้เพื่อตอบสนองความต้องการของเด็ก จัดสิ่งแวดล้อมและให้โอกาสเด็กได้คิด ประดิษฐ์และค้นพบด้วยตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับแนวทางที่ครูวางไว้ก่อน 

 

                4. เรียนรู้อย่างลุ่มลึกจากงานโครงการ

                การเรียนรู้แบบโครงการเป็นการเรียนรู้อย่างลุ่มลึกตามแนวคิดการจัดการเรียนรู้แบบเรกจิโอ เอมิเลีย โดยเริ่มต้นจากการที่คุณครูในโรงเรียนประชุมกันเพื่อหาหัวข้อที่คาดว่าเด็กจะสนใจ สำหรับการจัดเตรียมและออกแบบกิจกรรม โดยจะมีทั้งโครงการระยะสั้นและระยะยาว แล้วให้เด็กช่วยกันดำเนินกิจกรรมตามที่วางไว้ด้วยตัวเอง โดยมีครูเป็นผู้ช่วยเหลือ อย่างไรก็ดี แม้จะมีการระบุหัวข้อเอาไว้ แต่ถ้าความต้องการของเด็กแตกต่างไปจากหัวข้อที่กำหนด ครูก็ต้องสามารถปรับกิจรรมให้สอดคล้องกับความต้องการของเด็กได้ 

 

                5. หน้าที่ของครู 

                ครูแบบเรกจิโอ เอมิเลีย ต้องเป็นผู้ที่ช่างสังเกต รู้จักค้นคว้าวิจัย เป็นผู้ประสานงาน และจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็ก เป็นผู้ให้คำปรึกษา เสนอแนะแนวทาง สนับสนุนการเรียนรู้ และนอกจากนี้ ครูยังมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กเกิดจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงต้องเคารพสิทธิ์ในการเรียนรู้ของเด็ก คือต้องคำนึงถึงความต้องการของเด็ก ณ ขณะนั้นเป็นสำคัญอยู่เสมอ

                6. ศิลปะคือการแสดงออกของเด็ก

                ในการจัดการเรียนรู้แบบเรกจิโอ เอมิเลีย เราจะให้ความสำคัญกับงานศิลปะที่เด็กทำ เพราะสิ่งที่แสดงออกมาในผลงานเป็นการสื่อสารแบบอุปมาอุปไมยในลักษณะที่เรียกว่า “ร้อยภาษา” (The Hundred Languages of Children) ซึ่งงานศิลปะนี้เป็นสิ่งที่เด็กสามารถใช้สื่อสารให้คนรอบข้างรับรู้ได้ ทำให้เข้าใจถึงกระบวนการคิด ตลอดจนจินตภาพของเด็กที่มีต่อข้อมูลความรู้ที่เด็กได้รับมา ซึ่งในการดำเนินกิจกรรมนี้ครูมีหน้าที่แค่จัดเตรียมอุปกรณ์ต่างๆให้กับเด็ก และให้เด็กได้แสดงผลงานที่หลากหลายผ่านกรรมวิธีต่างๆด้วยตัวเอง โดยไม่เร่งรัดและไม่เป็นการคัดลอกหรือลอกเลียนแบบจากครู และเมื่อเด็กทำผลงานเสร็จแล้ว ครูจะต้องเรียนรู้จากผลงานของเด็กเพื่อให้เข้าถึงศักยภาพที่แท้จริงของเขา และจะต้องมีพื้นที่ให้เด็กนำผลงานของตัวเองไปจัดแสดงเป็นนิทรรศการ อันจะทำให้เด็กภาคภูมิใจและมองเห็นคุณค่าของตัวเอง

 

                7. การบันทึกข้อมูลสาระการเรียนรู้

                 การจัดบันทึกข้อมูลสาระการเรียนรู้ของเด็กเป็นสิ่งที่สำคัญมากอย่างหนึ่งของแนวคิดนี้ การบันทึกข้อมูลสาระการเรียนรู้จะครอบคลุมถึงกิจกรรมทุกด้านตลอดเวลาที่เด็กอยู่ในการจัดประสบการณ์ โดยเฉพาะในช่วงเวลาของการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมต่าง ๆ ครูผู้สอนจะมีบทบาทสำคัญในการบันทึกเหตุการณ์เด่น ๆ ที่สะท้อนถึงการทำงานและการเรียนรู้อย่างตั้งใจของเด็ก

 

ภาพ : shutterstock.com

 

                จะเห็นได้ว่า จากหลักการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดเรกจิโร เอมิเลีย สาระสำคัญส่วนใหญ่จะอยู่ที่ความต้องการของเด็กเป็นหลัก และพยายามจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อความต้องการของเขา ซึ่งกิจกรรมที่เน้นหนักสำหรับรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบนี้คือ เรื่องของการทำโครงการและการแสดงออกทางงานศิลปะของเด็ก 

 

จากข้อมูลเหล่านี้ ถ้าเราจะนำแนวคิดนี้มาประยุกต์ใช้ เราจะสามารถดำเนินกิจกรรมให้สอดคล้องกับแนวคิดนี้ได้ดังนี้

                1. สร้างเครือข่ายการเรียนรู้ระหว่างครู ผู้ปกครองและชุมชน

                2. ครูและเด็กร่วมกันคิดหาหัวข้อในการจัดการเรียนรู้ โดยมองที่ความต้องการของเด็กเป็นหลัก

                3. ส่งเสริมการเรียนรู้และจัดสภาพแวดล้อม โดยใช้ความต้องการของเด็กเป็นฐานในการออกแบบ

                4. ส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้แบบโครงการด้วยหัวข้อที่เด็กต้องการ

                5. สนับสนุนให้เด็กได้แสดงออกด้านศิลปะตามแต่ความสนใจผ่านกรรมวิธีที่หลากหลายและจัดเตรียมพื้นที่สำหรับการแสดงผลงานของเด็ก

                6. คุณครูสังเกตบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจกรรมเพื่อเป็นผลการประเมิน

 

                จะเห็นได้ว่า แนวคิดแบบเรกจิโอ เอมิเลียนี้ ให้ความสำคัญกับความต้องการของเด็กค่อนข้างมาก เพราะเป็นแนวคิดที่ต้องการให้เด็กนั้นได้เกิดทักษะความคิดและองค์ความรู้ได้ด้วยตัวเองมากกว่าจะถูกป้อนโดยครูผู้สอน การนำเอาแนวคิดนี้ไปประยุกต์ในการจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัยจึงนับว่าเป็นแนวทางที่ดีอย่างมาก เพราะเป็นการตอบโจทย์การศึกษาไทย ที่ต้องการมุ่วเน้นในเรื่องของการเรียนรู้แบบเด็กเป็นศูนย์กลาง ซึ่งการเรียนรู้แบบเด็กเป็นศูนย์กลางนี้ จะส่งผลให้เด็กเป็นผู้รู้จักคิด รู้จักปฏิบัติและรู้จักสร้างองค์ความรู้ต่างๆด้วยตัวเอง ซึ่งนั่นคือคุณสมบัติสำคัญอย่างหนึ่งที่เด็กไทยในยุคสมัยนี้ควรจะมีเป็นอย่างยิ่ง...จริงไหมล่ะครับ  

 

อ้างอิงข้อมูล

http://admin.e-library.onecapps.org/Book/416.pdf

http://taamkru.com/th/%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B9%82%E0%B8%AD-%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B8%A2/

http://janinnovation104.blogspot.com/2016/09/reggio-emilia-loris-malaguzzi.html

https://www.gotoknow.org/posts/499272

https://www.nadaroon.ac.th/reggio-emilia/

 
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow