Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การฆ่าตัวตายในเด็ก ปัญหาที่ควรใส่ใจ

Posted By Plook Teacher | 13 มิ.ย. 62
9,769 Views

  Favorite

นรรัชต์ ฝันเชียร

 

            การฆ่าตัวตาย (SUICIDE) หรือภาษาทางการเรียกว่า การก่ออัตวินิบาตกรรม เป็นการกระทำด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้ตนเองถึงแก่ความตายอย่างตั้งใจ เป็นพฤติกรรมเบี่ยงเบนจากสังคมประเภทหนึ่ง ซึ่งมีความขัดแย้งต่อบรรทัดฐานในสังคมของหลาย ๆ ประเทศ และโดยเฉพาะขัดกับบทบัญญัติในศาสนาต่าง ๆ ที่ได้กล่าวว่าการฆ่าตัวตายนั้น เป็นการกระทำที่ไม่สมควรในการปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง

 

            การฆ่าตัวตาย เป็นความผิดในเชิงจริยธรรม เพราะเป็นข้อห้ามในหลักศาสนาโดยทั่วไป และหลายประเทศก็ยังระบุว่าการฆ่าตัวตายนั้นเป็นความผิดทางกฎหมาย เนื่องจากเป็นการกระทำความผิดต่อรัฐ เพราะประชาชนถือว่าเป็นทรัพยากรที่สำคัญต่อรัฐ การฆ่าตัวตายเหมือนกับทำให้รัฐเสียหาย แต่อย่างไรก็ดีด้วยสภาพสังคมโลกที่เปลี่ยนไปหลายประเทศก็เริ่มผ่อนปรนกฎหมายเกี่ยวกับการกระทำความผิดเช่นนี้ลง และเปลี่ยนเป็นลักษณะของการเยียวยาและป้องกันแทน เช่น ประเทศอังกฤษจากที่เคยมีกฎหมายว่าด้วยเรื่องการฆ่าตัวตายนั้น มีความผิดเทียบเท่ากับการฆาตกรรม ก็ได้มีการออกกฎหมายใหม่ที่ระบุว่าการฆ่าตัวตายไม่เป็นความผิด แต่การยุยงสนับสนุนให้ผู้อื่นฆ่าตัวตายนั้นยังคงเป็นความผิดอยู่ และได้มีการแต่งตั้งรัฐมนตรีดูแลในเรื่องของการป้องกันการฆ่าตัวตายโดยเฉพาะซึ่งนับเป็นชาติแรกที่ดำเนินการเช่นนี้

            

            สำหรับประเทศไทย ในแง่กฎหมายของประเทศไทยนั้นไม่ได้ระบุถึงความผิดของผู้ที่ฆ่าตัวตายหรือการพยายามฆ่าตัวตายเลย ดังนั้นถ้ามองในแง่กฎหมายของประเทศไทยการฆ่าตัวตายจึงไม่เป็นความผิด แต่อย่างไรก็ดีกฎหมายของประเทศไทยก็ยังถือว่าการช่วยเหลือ ยั่วยุ สนับสนุน หรือส่งเสริมให้ผู้อื่นฆ่าตัวตายนั้นเป็นความผิด เช่นมาตรา 293 ผู้ใดช่วยหรือยุยงเด็กอายุยังไม่เกินสิบหกปี หรือผู้ซึ่งไม่สามารถเข้าใจว่าการกระทำของตนมีสภาพหรือสาระสำคัญอย่างไร หรือไม่สามารถบังคับการกระทำของตนได้ ให้ฆ่าตนเอง ถ้าการฆ่าตนเองนั้นได้เกิดขึ้นหรือได้มีการพยายามฆ่าตนเอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และแม้แต่การที่ถ้าพบเห็นเหตุการณ์การฆ่าตัวตาย แต่ไม่ยอมเข้าไปช่วยเหลือก็ถือว่าเป็นความผิดด้วย เพราะ มาตรา 374 ระบุว่า ผู้ใดเห็นผู้อื่นตกอยู่ในภยันตรายแห่งชีวิตซึ่งตนอาจช่วยได้โดยไม่ควรกลัวอันตรายแก่ตนเองหรือผู้อื่นแต่ไม่ช่วยตามความจำเป็น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้แม้แต่ในทางแพ่ง ก็พยายามจะไม่เอื้อให้เกิดการฆ่าตัวตาย ยกตัวอย่างเช่น เรื่องของหนี้สิน การหนีหนี้ด้วยการฆ่าตัวตายนั้น ไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ เพราะหนี้ไม่สูญและครอบครัวที่อยู่ข้างหลังต้องเป็นผู้ใช้หนี้แทน หรือในเป็นต้น

 

            การฆ่าตัวตาย (SUICIDE) หรืออัตวินิบาตกรรมนั้นแตกต่างจากการการุณยฆาต (Euthanasia) เพราะการการุณยฆาตนั้นเป็นการกระทำโดยแพทย์ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากผู้ป่วยหรือญาติในการจะจบชีวิตตัวเอง เนื่องจากสภาวะโรคภัยที่เกินกว่าการเยี่ยวยารักษา ซึ่งมีสองลักษณะคือ Active Euthanasia คือ การใช้ยาเพื่อให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบ กับ Passive Euthanasia ที่เป็นการการหยุดรักษาหรือเยียวยาตามความต้องการของญาติหรือผู้ป่วย แล้วปล่อยให้ผู้ป่วยจากไปตามวาระชีวิตด้วยตัวเอง อย่างไรก็ดีในประเทศไทยได้ระบุเรื่องของการรักษาในเชิงการุณยฆาตไว้ในพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 12 ซึ่งระบุว่า บุคคล มีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียง เพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ แม้ว่าการออกพระราชบัญญัตินี้จะยังไม่ใช่การรับรองเรื่องของการทำการุณยฆาตในประเทศไทย แต่ก็ถือว่ามีการผ่อนปรนในเรื่องนี้พอสมควร

 

            ปัญหาการฆ่าตัวตายนี้ เกิดได้กับทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นเด็กเยาวชน วัยรุ่น ผู้ใหญ่ หรือแม้แต่ผู้สูงอายุ โดยในประเทศไทย มีอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 16 คนต่อประชากร 1 แสนคน ซึ่งช่วงอายุที่พบว่าฆ่าตัวตายมากที่สุด คือช่วงอายุ 30-60 ปี รองลงมาเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ(60 ปีขึ้นไป) และวัยรุ่น ( ตามลำดับ (ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต ปี 2560) โดยมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย อันได้แก่

          1. การเลียนแบบ บุคคลใกล้ชิดที่มีประวัติฆ่าตัวตาย เลียนแบบตามข่าวหรือเรื่องราวเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย ซึ่งอาจชักชวนให้เด็กหรือวัยรุ่นเลียนแบบพฤติกรรมฆ่าตัวตายดังกล่าว

          2. เป็นโรคจิตเภท โรคซึมเศร้า หรือมีความผิดปกติทางชีวภาพในสมองเป็นผลให้เกิดสภาวะที่ควบคุมตัวเองไม่ได้ สภาพจิตใจไม่ปกติ ขาดการยับยั่งชั่งใจ เห็นสิ่งผิดเป็นสิ่งถูก ทำให้อาจมีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตายได้ง่าย

          3. การตั้งครรภ์และภาวะหลังคลอด เป็นสภาวะความแปรปรวนทางอารมณ์ของผู้หญิงระหว่างการตั้งครรภ์และภายหลังจากการคลอดแล้ว ซึ่งถ้าไม่ได้การตอบสนองที่เหมาะสมจากบุคคลใกล้ชิด ก็มีความเสี่ยงที่จะคิดสั้นได้

          4. มึนเมาและติดสารเสพติด ทำให้ทำอะไรขาดสติสัมปชัญญะ ซึ่งถ้ามีสิ่งมีกระทบกระเทือนจิตใจอาจจะเกิดความรู้สึกอยากฆ่าตัวตายได้ง่าย

          5. ปัญหาสุขภาพ ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพที่หนักมาก และที่สภาพจิตใจไม่แข็งแรง อาจหาทางออกของชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย เพื่อไม่ให้ตนเองทรมานจากโรคภัยหรือไม่อยากให้ครอบครัวต้องมาดูแลรักษา

          6. สภาพเศรษฐกิจของครอบครัว ที่ยากจน และเป็นหนี้เป็นสิน อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้สมาชิกในครอบครัวเลือกที่จะหนีปัญหาโดยการฆ่าตัวตาย และมีแนวโน้มที่จะกระทำกับบุคคลใกล้ชิดด้วย

          7. ภาวะความเครียดและความกดดัน จากสังคม สภาพแวดล้อม ครอบครัวหรือเพื่อนฝูง ปรับตัวไม่ได้ มีความพึงพอใจในตัวเองต่ำ ความผิดหวังจากที่สิ่งคาดหวังต่างๆ ซึ่งถ้าไม่ได้รับการบำบัดที่เหมาะสมจะส่งผลให้ภาวะดังกล่าว แปรเปลี่ยนเป็นโรคทางจิตเภทที่มีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตายได้

          8. ความเหงา อ้างว้าง มักเป็นสาเหตุการฆ่าตัวตายในกลุ่มผู้สูงอายุ ที่มักใช้ชีวิตอยู่คนเดียว ไม่มีญาติมิตร เพื่อนฝูง หรือ ลูกหลานไม่ค่อยมาเยี่ยมเยียน

          9. การฆ่าตัวตายประชด คือ การทำการฆ่าตัวตายเพื่อให้บุคคลอื่นหรือคู่กรณีได้รับรู้ มักพบเห็นการฆ่าตัวตายแบบนี้ ผ่านการใช้สื่อออนไลน์ ซึ่งนับเป็นปัญหาใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นในโลกยุคดิจิตอล

 

            สำหรับปัญหาการฆ่าตัวตายในเด็กและเยาวชนนั้น อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นมา เพราะมีหลายๆประเทศที่กำลังประสบปัญหาในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง เช่น ประเทศญี่ปุ่นที่มีอัตราการฆ่าตัวตายของประชากรในประเทศค่อนข้างสูง ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการของประเทศญี่ปุ่นได้ระบุว่า มีเด็กและเยาวชนตั้งแต่ประถมศึกษาจนถึงระดับมัธยมศึกษาฆ่าตัวตาย ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2559/60 จนถึงเดือนมีนาคม มีจำนวนถึง 250 คน ซึ่งสูงสุดในรอบ 30 ปี โดยสาเหตุส่วนใหญ่ของเด็กและเยาวชนที่มีแนวโน้มจะฆ่าตัวตายนั้น ส่วนใหญ่จากความเครียดที่เกิดจากการกดดันภายในครอบครัว การโดนกลั้นแกล้งจากที่โรงเรียน มีภาวะซึมเศร้า รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า และมีแนวโน้มประชดสังคม ซึ่งในหลายๆประเทศรวมถึงประเทศไทย อัตราการฆ่าตัวตายของกลุ่มเด็กและเยาวชนมีอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างน่ากลัว และควรเข้ามาดูแลแก้ไขอย่างเร่งด่วน

 

            การแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายในเด็กและเยาวชนที่เหมาะสมนั้นคือการสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจให้กับเด็กและเยาวชน รวมถึงสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้แน่นเฟ้น เราอาจต้องเข้าใจก่อนว่า สภาพจิตใจและภูมิคุ้มกันเกี่ยวกับการรับมือกับปัญหาต่างๆของเด็กและเยาวชนนั้น ไม่เหมือนกับผู้ใหญ่ เพราะลำพัง แม้กับผู้ใหญ่เอง ก็ไม่ได้มีการแก้ปัญหาที่ดีได้ทั้งหมด การรับฟังเขาอย่างจริงใจคือการเปิดโอกาสให้เขาแชร์ปัญหาที่กำลังแบกรับอยู่ หลายครอบครัวมักเอาความคาดหวังไปลงไว้ที่ลูก โดยไม่คำนึงว่าความคาดหวังนั้นมันใหญ่เกินกว่าที่เขาจะแบกรับได้หรือไม่ สำหรับในเรื่องนี้ ถ้าเกี่ยวข้องกับการเรียน หรือการดำเนินชีวิตในโรงเรียน คุณครูควรเป็นตัวกลางสำคัญในการสร้างความเข้าใจอันดีให้กับผู้ปกครองของเด็กเพื่อให้เขายอมรับสภาพที่แท้จริงของลูกหลาน และส่งเสริมเขาอย่างเหมาะสม นอกจากนี้คุณครูก็ควรทำหน้าที่สอดส่องดูแลพฤติกรรมที่ผิดปกติของเด็กและเยาวชน เช่น แยกตัวจากเพื่อน ปลีกตัวออกมาอยู่คนเดียว จิตใจหม่นหมอง เริ่มไม่สนใจการเรียนอย่างผิดสังเกต เพื่อรายงานให้คนในครอบครัวรวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องทราบเพื่อหาทางช่วยเหลือหรือแก้ไขก่อนที่พฤติกรรมเหล่านั้นจะกลายเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าตามมา

 

            อย่างไรก็ดีแม้แต่การปฏิบัติของครู ก็อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กและเยาวชนมีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตายได้เช่นกัน เพราะการกระทำหรือคำพูดของคุณครูที่เป็นไปในเชิงดูถูกเหยียดหยามและถากถางนั้น อาจส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของพวกเขา การกระทำกระทำเช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและควรปรับเปลี่ยนเป็นอย่างยิ่ง เราอาจคิดว่าสมัยก่อนที่เรายังเป็นนักเรียน เราเคยโดนก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร แต่อย่าลืมว่ายุคสมัยเปลี่ยนไป สภาพสังคมก็เปลี่ยนไปคนเรารับกับสภาวะต่างๆได้แตกต่างไปจากเดิม เราจึงไม่ควรเอาบรรทัดฐานของเราไปใช้วัดพวกเขา เพราะถ้าเราจะเป็นครูยุคใหม่ที่แท้จริงแล้ว เรื่องนี้ก็ควรทิ้งไว้ในอดีต ไม่ควรใช้พูดคุยกับเด็กและเยาวชนหรือแม้แต่จะให้คำปรึกษาเพื่อช่วยเหลือเขาในเรื่องนี้ด้วยซ้ำ

 

            นายแพทย์ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต ได้นำเสนอวิธีการปฐมพยาบาลทางจิตใจ เพื่อช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตาย ซึ่งน่าจะนำมาใช้เป็นแนวทางในการตรวจสอบนักเรียนโดยทั่วไปได้ ซึ่งวิธีปฐมพยาบาลทางจิตใจ มีหลักการสำคัญ 3 ประการ ดังต่อไปนี้

          1. สอดส่งมองหา ผู้ที่มีสัญญาณของการฆ่าตัวตาย คือ ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า ผู้ที่มีประวัติการฆ่าตายตาย และผู้ที่แสดงถึงความต้องการฆ่าตาย

          2. ใส่ใจรับฟัง คนรอบข้างที่มีความเสี่ยง อย่าคิดว่าพวกเขาไม่ทำจริง เมื่อคุยแล้วจะทำให้รู้ถึงความรุนแรงของปัญหาของพวกเขา ซึ่งจะนำไปสู่ประการที่ 3

          3. ส่งต่อเชื่อมโยง ให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตช่วยดูแล หากการพูดคุยเจรจากับผู้มีความเสี่ยงไม่ได้ผล

 

            ปัญหาการฆ่าตัวตายในเด็กและเยาวชน เป็นสิ่งที่ควรใส่ใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะสมองของเขายังไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้ถี่ถ้วน จึงไม่ควรปล่อยให้เขาแบกรับปัญหาที่หนักหนาเหล่านี้ไปแก้ไขด้วยตัวเองตามลำพัง เราไม่อยากให้เด็กหรือเยาวชนคนใด ต้องมาเสียชีวิตไปก่อนวัยอันควรด้วยการฆ่าตัวตายใช่ไหมครับ ดังนั้นเราควรช่วยกันสอดส่องดูแลพวกเขา และช่วยเหลือเขาอย่างถูกวิธี เพื่อไม่ให้ปัญหานี้กลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศที่ยากต่อการแก้ไขในอนาคต

 

เอกสารอ้างอิง

https://guru.sanook.com/4368/

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%86%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A2

https://www.babybbb.com/news_detail.php?nid=39

https://mgronline.com/qol/detail/9620000025002

https://www.bbc.com/thai/international-46104077

https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99/90932

https://teen.mthai.com/variety/166271.html

https://www.khaosod.co.th/around-the-world-news/news_1786418

https://dmh.go.th/report/suicide/

https://thestandard.co/world-population-review-suicide-stat-2018/

https://staytalk.com/body-mind/post/%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%95%E0%B8%B8-%E0%B8%86%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A2

https://www.bbc.com/thai/thailand-39704317

https://dmh.go.th/download/politic_crisis/techno/%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%86%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A2.pdf

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow