นรรัชต์ ฝันเชียร
การเรียนรู้สิ่งใหม่เป็นส่วนสำคัญของชีวิตคนเรา เราต้องใช้ความพยายามและเวลาในการศึกษาเรียนรู้สิ่งต่างๆ แต่เราสามารถเร่งกระบวนการเรียนรู้ได้ โดยใช้ความรู้ทางประสาทซึ่งจะช่วยให้สมองสามารถดำเนินการเก็บข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด และนี่คือ 10 วิธีที่พิสูจน์แล้วว่า ช่วยให้สมองของเราเรียนรู้ได้เร็วขึ้น
1. การจดบันทึกด้วยปากกาและกระดาษ
แม้ว่าการพิมพ์บันทึกย่อบนเครื่องมือเทคโนโลยีจะสะดวกสบาย แต่มันกลับไม่ช่วยให้เราเรียนรู้ได้ดีขึ้น การศึกษาใหม่โดยนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตันและยูซีแอลได้แสดงให้เห็นว่านักเรียนที่จดบันทึกด้วยมือทั่วไปเก็บข้อมูลได้ดีกว่านักเรียนที่พิมพ์บันทึกของพวกเขาผ่านทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งการวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าผู้ที่พิมพ์ผ่านอุปกรณ์ต่างๆนั้น สามารถเก็บข้อมูลในระดับที่ต่ำกว่าผู้ที่จดบันทึกด้วยมือ ทั้งนี้เพราะการเขียนจะช่วยส่งเสริมความเข้าใจและการเก็บรักษา ซึ่งจะช่วยให้คุณเก็บข้อมูลได้นานขึ้นนั่นเอง
2. การมีทักษะในการจดบันทึกที่มีประสิทธิภาพ
ยิ่งมีทักษะในการจดบันทึกมากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งเรียนรู้ได้เร็วขึ้นเท่านั้น ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องเรียนรู้เทคนิคและทักษะในการจดบันทึกอย่างละเอียดและถูกต้องในหลากหลายวิธี ซึ่งจะช่วยให้คุณเข้าใจและจดจำแนวคิดหรือเนื้อหาที่กำลังเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ แม้ว่าเทคนิคในการจดบันทึกนั้นจะมีหลากหลายวิธี แต่พาเทลก็ได้บอกถึงเคล็ดลับพื้นฐานสำหรับการจดบันทึกที่เสมือนเป็นแกนหลักของทุก ๆ วิธี ไว้ดังนี้
- ฟังและจดบันทึกในคำพูดของตัวเอง
- เว้นช่องว่างและบรรทัดระหว่างแนวคิดหลักเพื่อให้คุณสามารถกลับมาใหม่ได้ในภายหลังและเพิ่มข้อมูล
- พัฒนาระบบที่สอดคล้องกันของตัวย่อและสัญลักษณ์เพื่อประหยัดเวลา
- เขียนเป็นวลีไม่ใช่ประโยคที่สมบูรณ์
- เรียนรู้การดึงข้อมูลที่สำคัญและไม่สนใจข้อมูลที่ไม่สำคัญ
3. แบ่งการฝึกฝนเป็นช่วง ๆ (Distributed Practice)
วิธีนี้เกี่ยวข้องกับการแจกจ่ายการฝึกฝนหลายครั้ง หรือก็คือการแบ่งการเรียนรู้ออกเป็นตอน ๆ โดยใช้เวลาในการเรียนรู้แต่ละตอนไม่นานนัก และคั่นด้วยการพักหรือการทบทวน ซึ่งอาจใช้เวลาในการเรียนรู้เนื้อหาทั้งหมดเป็นเวลานานกว่าการเรียนรู้แบบอัดความรู้ในระยะเวลาอันสั้น (เหมือนการกวดวิชา) แต่วิธีนี้จะส่งผลดีต่อการเรียนรู้มากกว่า และมีผลดีต่อแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ เพราะทำให้เนื้อหาดูไม่หนักและยากเกินไป
4. นอนหลับให้เพียงพอ
การนอนหลับที่เพียงพอส่งผลดีอย่างมาก ต่อประสิทธิภาพการทำงานของสมองซึ่งจะช่วยให้เราจดจำและประมวลผลสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น การนอนหลับนั้นจะช่วยเสริมสร้างความทรงจำได้ดี หากการนอนหลับเกิดขึ้นภายใน 12 ชั่วโมง หลังจากเรียนรู้ข้อมูลใหม่ นอกจากนี้การนอนหลับยังส่งผลดีต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตซึ่งมีผลต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเราอีกด้วย
5. ปรับวิธีฝึกฝนเล็กน้อย
หากเรากำลังเรียนรู้ทักษะอย่าทำสิ่งเดียวกันซ้ำไปซ้ำมา การเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในระหว่างการฝึกซ้อม จะช่วยให้คุณเชี่ยวชาญทักษะได้เร็วกว่าการทำแบบเดียวกันทุกครั้ง เช่น การทำโจทย์คณิตศาสตร์ แทนที่เราจะทำโจทย์เดิมๆซ้ำๆ อาจลองทำโจทย์ที่เปลี่ยนค่าตัวเลขแต่ยังเป็นโจทย์ในลักษณะแบบเดิม ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถจดจำวิธีทำโจทย์คณิตศาสตร์ในลักษณะนี้ได้ดีขึ้น ให้จำไว้ว่าวิธีนี้ใช้ได้เฉพาะการปรับเปลี่ยนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น การปรับเปลี่ยนขนาดใหญ่จะไม่ช่วยในการจดจำ เช่น การเปลี่ยนไปทำโจทย์คณิตศาสตร์ในลักษณะของสมการที่แตกต่างออกไปจากเดิม ไม่ช่วยให้เราจดจำวิธีการทำโจทย์คณิตศาสตร์ในสมการเดิมได้ เป็นต้น
6. ใช้อุปกรณ์ช่วยจำ
หนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการจดจำข้อมูลจำนวนมากได้อย่างรวดเร็วคือการใช้อุปกรณ์ช่วยในการจำ เช่น การใช้การ์ดช่วยจำ การทำเรื่องราวให้เป็นบทเพลงหรือบทกลอน เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราจดจำเนื้อหาความเรียนที่มากมายได้รวดเร็วและดีมากยิ่งขึ้น
7. พักสมองเสียบ้าง
อาการสมองเบลอเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ เมื่อเราต้องใช้สมองในการทำงานอย่างหนัก ซึ่งอาการสมองเบลอนี้ รวมถึงภาวะความเครียดและความวิตกกังวล ล้วนเป็นอุปสรรคอย่างมากต่อประสิทธิภาพการทำงานของสมองและส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ ดังนั้นการหยุดพักสมองโดยนั่งหลับตาทำสมาธิสักพัก ทำกิจกรรมผ่อนคลายความเครียด หรือการปลีกตัวไปทำกิจกรรมอื่นชั่วคราว ก่อนที่จะกลับมาเริ่มต้นใหม่นั้น จึงเป็นแนวทางที่ดีในการช่วยบรรเทาอาการเหนื่อยล้าของสมองและทำให้เรากลับมาเรียนรู้ได้ดีขึ้นอีกครั้ง
8. การดื่มน้ำ
การดื่มน้ำ นอกจากจะดีต่อร่างกายของเราแล้ว ยังเป็นกุญแจสำคัญในการส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานของสมองอีกด้วย ช่วยให้สมองของเราทำงานได้ดีขึ้น ในทางกลับกันการขาดน้ำอาจส่งผลเสียต่อการทำงานของสมอง รวมถึงสภาพจิตใจของเรา เพราะเมื่อเราไม่ดื่มน้ำสมองของเราก็จะต้องทำงานหนักขึ้นกว่าเดิม
9. เรียนรู้ข้อมูลจากหลายวิธี
การเรียนรู้ไม่จำเป็นจะต้องมาจากสื่อสิ่งเดียว ในการเรียนรู้เรื่องต่างๆ เราสามารถเรียนรู้ผ่านสื่อที่หลากหลายได้ เช่น การอ่านหนังสือ ฟังบทสัมภาษณ์ ชมวีดิทัศน์ หรือค้นหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต การเรียนรู้ผ่านสื่อที่หลากหลายนี้จะช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองที่มีหลายฟังก์ชั่น และทำให้เราเรียนรู้ได้ดีและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
10. เชื่อมโยงสิ่งที่เรียนรู้กับสิ่งที่คุณรู้
จากหนังสือ Make It Stick ของปีเตอร์ ซี. บราวน์ และ มาร์ก เอ. แมคเดเนียล กล่าวไว้ว่า "ยิ่งคุณสามารถเชื่อมโยงแนวคิดใหม่เข้ากับแนวคิดที่คุณเข้าใจอยู่มากเท่าไหร่ คุณก็จะสามารถเรียนรู้ข้อมูลใหม่ได้เร็วขึ้นมากเท่านั้น (The more you can relate new concepts to ideas that you already understand, the faster the you’ll learn the new information)
การเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับเรื่องราวที่รับรู้แล้วก่อนหน้านี้ จะช่วยให้เราเข้าใจเรื่องราวที่ซับซ้อนได้ง่ายขึ้น และช่วยให้เราได้ข้อมูลเพิ่มเติมในเนื้อหาใหม่ ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยให้เราเข้าใจพื้นฐานของข้อมูลต่างๆ และสามารถเรียกใช้สิ่งที่เรียนรู้แล้วได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น และทั้งหมดนี้คือเทคนิคที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ช่วยทำให้เราสามารถเรียนรู้ได้ดีและรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งถ้าคุณครูอย่างพวกเราสามารถนำเทคนิคเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้กับการทำงานของตัวเองหรือแนะนำนักเรียนให้สามารถใช้เทคนิคเหล่านี้ในการเรียนได้อย่าวคล่องแคล่วแล้ว ก็จะช่วยให้ทั้งตัวเราและนักเรียนมีทักษะการเรียนรู้ที่ดีมากยิ่งขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อภาพรวมด้านการศึกษาของประเทศไทยมากเลยทีเดียว
เอกสารอ้างอิง