Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

8 เทคนิคช่วยให้นักเรียนมีความจำดี

Posted By Plook Teacher | 13 มิ.ย. 62
12,986 Views

  Favorite

นรรัชต์  ฝันเชียร

 

          ความจำเป็นทักษะที่สำคัญอย่างหนึ่งของมนุษย์ เป็นทักษะที่เกิดจากจดจำการตอบสนองต่อสิ่งเร้า เพื่อเก็บเป็นข้อมูล และสามารถนำออกมาใช้ตอบสนองกับกิจกรรม เหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่คล้ายคลึงหรือเหมาะสม

 

          ทักษะความจำของมนุษย์เรานั้น ประกอบด้วยกระบวนการ 3 กระบวนการ อันได้แก่

          การเข้ารหัส (encoding) เป็นการที่เรารับรู้และตอบสนองต่อสิ่งเร้า แปลผล และรวบรวมเป็นข้อมูล การจัดเก็บ (storage) เป็นการที่เราบันทึกข้อมูลที่ได้เข้ารหัสแล้วอย่างถาวร และ การค้นคืน (retrieval หรือ recollection) คือการระลึกถึง เป็นการค้นหาข้อมูลที่ได้บันทึก เพื่อนำออกมาใช้ในพฤติกรรมหรือกิจกรรมอะไรบางอย่าง

 

          ประเภทของความจำนั้น แบ่งออกตามระยะได้ 3 ระยะคือ

          1. ความจำทันที(immediate memory) เป็นความจำที่เกิดขึ้นทันทีที่มีการตอบสนองต่อสิ่งเร้า และจะหายไปในเวลาไม่นาน ถ้าไม่ได้ตั้งใจจดจำหรือทบทวน

          2. ความจำระยะสั้น(short-term memory) เป็นความจำที่เกิดขึ้นเมื่อมีการตอบสนองต่อสิ่งเร้าอย่างตั้งใจในช่วงเวลาหนึ่ง ทำให้สามารถจดจำข้อมูลเหล่านั้นได้ในระยะเวลาพอสมควร และจะหายไปถ้าไม่ได้มีการทบทวนอย่างต่อเนื่อง

          3. ความจำระยะยาว (long-term memory) เป็นความจำที่เราตอบสนองต่อสิ่งเร้าและทบทวนอยู่เสมอ ทั้งจากความตั้งใจ เช่น การทบทวนหนังสือวิชา หรือ การท่องจำ หรือการไม่ตั้งใจ เช่น การหวนคิดถึงเรื่องเจ็บปวดในอดีต ความจำระยะยาวนี้ เป็นการพัฒนามาจากความจำระยะสั้น ซึ่งอาจอยู่ได้นานเป็นปี หรือตลอดชีวิตก็ได้

 

          จะเห็นได้ว่าความจำนั้น มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์เราอย่างมาก และโดยเฉพาะในการเรียนรู้ มนุษย์ต้องใช้การจำเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีขึ้น การเป็นคนที่มีทักษะการจำที่ดีจะทำให้ช่วยเราให้สามารถจดจำสาระและรายละเอียดของข้อมูลหรือเนื้อหาต่างๆได้อย่างแม่นยำ และสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นออกมาใช้ได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องฝึกฝนทักษะความจำของเรา ให้สามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดตามแต่ศักยภาพของแต่ละคน

 

          สำหรับเทคนิคที่ช่วยให้มีทักษะความจำที่ดีนั้น Dr. John Grohol ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Psych Central เว็บไซต์ส่งเสริมด้านสุขภาพจิตที่เก่าแก่ที่สุดในอินเทอร์เน็ต ได้เขียนบทความเรื่องเกี่ยวกับ 8 เคล็ดลับสำหรับการพัฒนาความจำของคุณ (8 Tips for Improving Your Memory) ซึ่งนับเป็นบทความที่นำเสนอเคล็ดลับในการส่งเสริมความจำที่น่าสนใจ ควรที่จะศึกษาและส่งเสริมให้นักเรียนได้นำไปใช้เป็นอย่างยิ่ง จึงถือโอกาสเรียบเรียงข้อมูลให้เข้าใจง่าย เพื่อสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ดังนี้

 

ภาพ : shutterstock.com

 

          1. มุ่งเน้นไปที่สิ่งเหล่านั้น คือ การมีสมาธิตั้งใจกับเรื่องที่เรียนทีละเรื่อง ไม่ทำอะไรหลายอย่างปะปนกัน การทำอะไรหลายอย่างพร้อมกันนั้น นำไปสู่การเรียนรู้แบบไม่โฟกัส ส่งผลให้เกิดการหลงลืมได้ง่าย เนื่องจากสมองของคนเราจำเป็นที่จะต้องใช้เวลาในการเข้ารหัสข้อมูลที่ถูกต้อง การเรียนรู้หรือทำอะไรหลายอย่างในเวลาเดียวกันจะทำให้ขาดสมาธิและไม่มีเวลามากพอที่ข้อมูลในสมองจะถูกแปรเปลี่ยนเป็นความทรงจำที่เหมาะสม

          2. ได้กลิ่น สัมผัส ลิ้มรส ได้ยินและเห็นสิ่งเหล่านั้น คือ การใช้ประสาทสัมผัสเข้ามาช่วยในเรื่องของความจำ ยิ่งใช้ประสาทสัมผัสในแต่ละด้านเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้มากเท่าไหร่ เราจะสามารถจดจำเนื้อหาความรู้ได้มากขึ้นเท่านั้น

          3. ทำสิ่งเหล่านั้นซ้ำ ๆ คือการฝึกฝนทำซ้ำเพื่อให้เราสามารถจดจำวิธีการ แนวทาง และเนื้อหาความรู้นั้นได้ การฝึกฝนทำซ้ำนับเป็นเทคนิคพื้นฐานในการเรียนรู้ เพราะช่วยให้ข้อมูลในสมองของเราคงทนแข็งแกร่งมากขึ้นและสามารถนำออกมาใช้ได้ดีขึ้น

          4. รวมสิ่งเหล่านั้น คือ การจับกลุ่มข้อมูลเพื่อให้เราสามารถที่จะจดจำข้อมูลเหล่านั้นได้ง่ายขึ้น เช่น แทนที่เราจะจำเบอร์โทรศัพท์ทีละตัว เราสามารถเลือกที่จะแบ่งตัวเลขทีละ 3-4 หลัก เพื่อทำให้ข้อมูลง่ายต่อการจดจำมากขึ้นได้ เป็นต้น

          5. จัดระเบียบสิ่งเหล่านั้น คือการจัดระเบียบข้อมูลเพื่ออำนวยความสะดวกในการจดจำ เพราะธรรมชาติของสมองเรานั้นชอบที่จะจัดระเบียบข้อมูลให้สามารถเรียกใช้ข้อมูลที่บันทึกไว้ได้อย่างสะดวก เราจึงควรจัดระเบียบข้อมูลที่จะศึกษาให้ดีและรอบคอบ จะช่วยให้เราจดจำได้ง่ายขึ้น นี่คือเหตุผลว่าทำไมหนังสือเรียนถึงต้องออกแบบเนื้อหาเป็นบทๆ เพราะช่วยให้เราเรียนรู้ให้ง่ายขึ้นนั่นเอง

          6. ใช้อุปกรณ์ช่วยในการจำ คือ การใช้ตัวย่อ บทคำคล้องจอง เพลงหรือแม้แต่การใช้บัตรคำ เพื่อช่วยในเรื่องของการจำ วิธีนี้จะช่วยให้เราสามารถจำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น นักเรียนแพทย์อาจท่องจำกระดูกในร่างกายหรืออาการของโรคต่างๆ เป็นประโยคโดยใช้ตัวอักษรตัวแรกของแต่ละคำที่กล่าวถึงเรื่องดังกล่าว มาร้อยเรียงเป็นประโยค เป็นต้น

          7. เรียนรู้วิธีที่เหมาะกับตัวเอง คือ การเลือกใช้วิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตัวเอง หลายคนมักจะจมอยู่กับการคิดที่ว่ามีรูปแบบการเรียนรู้อยู่เพียงแบบเดียวสำหรับการจดจำเนื้อหาใหม่ แต่นั่นคือสิ่งที่ผิด เพราะมีรูปแบบการเรียนรู้มากมายที่ทั้งเหมาะสมและไม่ได้เหมาะสมสำหรับทุกคน จงหาสไตล์ที่เหมาะกับตัวเอง แม้ว่าวิธีนั้นจะไม่ใช่วิธีที่คนส่วนใหญ่เรียนรู้ก็ตาม

          8. เชื่อมต่อจุดต่างๆ คือ การเชื่อมโยงเนื้อหาความรู้เข้าด้วยกัน เพื่อให้สามารถจดจำข้อมูลได้ง่าย การวิจัยแสดงให้เห็นว่าความจำของเราจะแข็งแกร่งขึ้น เมื่อเราสามารถเชื่อมโยงความรู้ใหม่เข้ากับความรู้เดิมได้ เพราะความรู้ใหม่นั้นจะไปช่วยปรับปรุงความรู้เดิมให้เหมาะสมและมีข้อมูลจากความรู้ใหม่เพิ่มเข้าไปด้วยทำให้เรามีข้อมูลในสมองที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

ภาพ : shutterstock.com

 

          จะเห็นได้ว่าเทคนิคการส่งเสริมความจำจากบทความของ Dr. John Grohol นั้น ไม่ได้เป็นเรื่องที่ทำกระทำได้ยากเลย เราสามารถฝึกฝนตัวเองผ่านการทำงาน และส่งเสริมให้นักเรียนได้ใช้เทคนิคเหล่านี้ผ่านการเรียนตามปกติได้ ซึ่งถ้าคุณครูสามารถใช้เทคนิคเหล่านี้ในการส่งเสริมความจำของนักเรียนได้ ก็น่าเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการศึกษาของเราเลยทีเดียว

 

เอกสารอ้างอิง

https://psychcentral.com/blog/8-tips-for-improving-your-memory

http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=108

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%88%E0%B8%B3

 

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow