นรรัชต์ ฝันเชียร
สำหรับใครที่คิดจะเริ่มต้น วันนี้ผู้เขียนมีกลยุทธ์ที่น่าสนใจมานำเสนอไว้เป็นแนวทางในการสร้างสรรค์ชั้นเรียน เพื่อให้เกิดการจัดการชั้นเรียนที่มีคุณภาพ ดังนี้
1. เริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
ต้องยอมรับว่า สองสามวันแรกของปีการศึกษา คือตัวกำหนดทิศทางของชั้นเรียนที่สำคัญ ถ้าเราวางกฎระเบียบและแสดงให้เห็นถึงความคาดหวังของเราที่มีต่อตัวผู้เรียนได้ชัดเจน จะช่วยให้เราสามารถจัดการชั้นเรียนได้เหมาะสม ในทางกลับกันถ้าเราล้มเหลวในการดำเนินดังกล่าว เราอาจสูญเสียความน่าเชื่อถือไปและเป็นเรื่องยากมากที่จะได้ความน่าเชื่อถือกลับมาในเร็ววัน
2. ตั้งเป้าหมายให้สูงอย่างเหมาะสม
ในฐานะที่เป็นครู เราควรจะมีความคาดหวังในนักเรียนที่ดูแล พยายามถ่ายทอดความคาดหวังของเราให้กับพวกเขาได้รับรู้ โดยกำหนดเป้าหมายที่ตั้งอยู่บนความเป็นจริงและสามารถเข้าถึงได้ง่าย เป้าหมายเหล่านี้ควรท้าทายนักเรียนทั้งรายบุคคลและในชั้นเรียน และต้องมีความคาดหวังสำหรับทุกสิ่งรวมถึงการเตรียมความพร้อมด้านวิชาการและพฤติกรรมของนักเรียนทั้งในและนอกห้องเรียนด้วย
3. ให้ความสำคัญกับการรับผิดชอบของนักเรียน
ควรเน้นให้นักเรียนทุกคนรับผิดชอบต่อการกระทำทุกอย่างของตัวเอง โดยพยายามที่จะไม่ผ่อนปรนต่อกฎเกณฑ์ใด ๆ พยายามกระตุ้นให้นักเรียนเป็นคนดี และส่งเสริมให้พวกเขาปรับตัวตามแบบแผนที่ได้วางไว้ และเวลาที่เกิดปัญหาขึ้น ครูก็ควรที่จะจัดการกับปัญหาเหล่านั้นทันที และเน้นให้นักเรียนมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น โดยไม่ปล่อยให้พวกเขาหนีหรือหลีกเลี่ยง อันมาซึ่งพฤติกรรมไม่ดีที่จะสร้างปัญหาส่งผลกระทบรุนแรงมากต่อเขาในอนาคต อย่างไรก็ดีทุกอย่างควรตั้งอยู่บอกเหตุและผล ครูควรรับฟังสิ่งที่นักเรียนพูดและ ใช้คำติชมเพื่อสร้างห้องเรียนที่ดีที่สุด
4. จากง่ายไปหายาก
การจัดการชั้นเรียนไม่จำเป็นต้องทำให้เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก เพราะอย่างไรเสียคุณครูก็ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อที่จะเอาชนะนักเรียนของตัวเองอยู่แล้ว เพียงคุณครูเลือกหยิบกฎและความคาดหวังขั้นพื้นฐานเพียงไม่กี่อย่างที่มีประสิทธิภาพ มาพูดคุยหรือฝึกฝนนักเรียนในแต่ละวันจะช่วยให้ห้องเรียน เข้าถึงเป้าหมายในการจัดการชั้นเรียนได้ง่ายขึ้น อย่าตั้งเป้าหมายกับนักเรียนทั้งหมดในคราวเดียว ควรจะเริ่มที่ละอย่างและต่อยอดไปเพื่อให้นักเรียนมีความมั่นใจ ภูมิใจในความสำเร็จ และมีแนวโน้มที่จะไปยังเป้าหมายที่สูงขึ้น
5. เตรียมพร้อมที่จะปรับปรุงเป้าหมายอยู่เสมอ
แม้ว่าครูจะตั้งคาดหวังกับนักเรียนไว้สูงเสมอ แต่อย่างไรก็ตามมันเป็นสิ่งสำคัญที่สุดคือนักเรียนทุกคนนั้นมีความแตกต่างกัน ครูควรมีการเตรียมพร้อมที่จะปรับความคาดหวังของตัวเองหากนักเรียนหรือกลุ่มนักเรียนไม่สามารถไปถึงได้ตามเป้าหมาย การที่ครูตั้งเป้าหมายที่สูงเกินไป เป็นความเสี่ยงที่จะทำให้นักเรียนรู้สึกผิดหวังและยอมแพ้ การปรับปรุงเป้าหมายของคุณให้เหมาะสมกับสภาพของนักเรียนแต่ละคน จะช่วยให้คุณจัดการชั้นเรียนได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
6. อย่าเป็นคนเจ้าเล่ห์
นักเรียนมักจะมองคุณครูเป็นแบบอย่าง ดังนั้นสิ่งสำคัญของคุณครู ต้องใช้ชีวิตให้เป็นแบบอย่างนักเรียน เพื่อนักเรียนจะได้ทำตามแบบอย่างที่ดี ยกตัวอย่างเช่น หากครูไม่อนุญาตให้นักเรียนใช้โทรศัพท์มือถือในห้องเรียน ตัวครูก็ไม่ควรที่จะทำเช่นนั้นด้วย หรือการให้นักเรียนมีการเตรียมตัวก่อนมาโรงเรียน แต่ถ้าคุณครูกลับไม่มีการเตรียมความพร้อมในการสอนเลย ก็ยากที่จะทำให้เด็กเชื่อถือหรือปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่ตั้งไว้ได้ ดังนั้นครูจึงควรเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับนักเรียนเพื่อนักเรียนจะได้ทำตามคำแนะนำของคุณครู
7. สร้างชื่อเสียงที่ดี
เรื่องนี้สำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณครูที่เข้าปฏิบัติหน้าที่ในปีแรก ๆ ซึ่งมักจะพบเจอกับความยากลำบากในการจัดการชั้นเรียนให้เหมาะสม เพราะจำเป็นต้องลองผิดลองถูกในหลากหลายวิธี เพื่อหาวิธีที่เหมาะสมกับตัวเองและตัวผู้เรียนมากที่สุด แต่เมื่อเรามีประสบการณ์ในการจัดการชั้นเรียนมากขึ้น การจัดการชั้นเรียนในปีต่อ ๆ ไป ก็จะเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น ซึ่งถ้าเราสามารถจัดการชั้นเรียนได้ดีมาโดยตลอด นักเรียนที่เราเคยสอนจะแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพการสอนของเราจนกลายมาเป็นชื่อเสียงที่ติดตัวเรามา ซึ่งจะทำให้เราทำงานได้ง่ายขึ้นในทุกๆปี
ทั้งหมดนี้คือ กลยุทธ์การจัดการชั้นเรียน ที่สรุปออกมาจากบทความที่น่าสนใจของ Derrick Meador ผู้เชี่ยวชาญของ ThoughtCo เว็บไซต์อ้างอิงด้านการศึกษาชั้นนำ ซึ่งได้นำเสนอไว้ในบทความที่มีชื่อว่า Basic Strategies for Providing Structure in the Classroom ซึ่งผู้เขียนหวังว่า น่าจะมีประโยชน์กับเพื่อนครูที่เชื่อมั่นและศรัทธาในการพัฒนาชั้นเรียนไม่น้อยเลยทีเดียว
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.thoughtco.com/strategies-for-structure-in-the-classroom-4169394