Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

แนวทางรับมือเมื่อนักเรียนกลายเป็นเด็กเลี้ยงแกะ

Posted By Plook Teacher | 27 พ.ค. 62
5,953 Views

  Favorite

นรรัชต์ ฝันเชียร

 

        ใครที่เคยได้ยินนิทานเรื่องเด็กเลี้ยงแกะ ก็คงทราบดีว่าลักษณะของนักเรียนที่เป็นเด็กเลี้ยงนั้นเป็นอย่างไร หรือถ้าใครไม่เคยฟัง เนื้อเรื่องก็ประมาณว่า มีเด็กเลี้ยงแกะคนหนึ่ง ทุก ๆ วันจะต้อนฝูงแกะออกมากินหญ้าในทุ่ง อยู่ ๆ ก็นึกสนุกจึงตะโกนบอกชาวบ้าน ว่ามีหมาป่ามากินแกะ ชาวบ้านจึงรีบออกมาช่วย แต่ปรากฎว่าเป็นเรื่องโกหก จึงโกรธมากและพากันเดินจากไปปล่อยให้เด็กเลี้ยงแกะนั่งหัวเราะกับสิ่งที่เกิดขึ้น จนมาวันหนึ่งหมาป่าก็ลงมากินแกะจริง ๆ เด็กเลี้ยงแกะตะโกนขอความช่วยเหลือเท่าไหร่ก็ไม่มีใครออกมาช่วย เพราะคิดว่าคงเป็นเรื่องโกหกอีกตามเคย สุดท้ายหมาป่าก็กินแกะจนหมด จากเรื่องนี้ทำให้ตัวละครเด็กเลี้ยงแกะกลายมาเป็นตัวแทนของคนที่พูดไม่จริง โกหก ไปโดยปริยาย

 

ธรรมชาติของการโกหก

        การโกหก แท้จริงเป็นธรรมชาติของมนุษย์ โดย ซิสเซลา บ็อก นักจริยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวว่า การโกหก เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นไม่นานหลังภาษาถือกำเนิดขึ้น ความสามารถในการใช้ประโยชน์จากบุคคลอื่นโดยไม่ต้องใช้กำลังขู่บังคับน่าจะเอื้อประโยชน์ต่อการแย่งชิงทรัพยากรและคู่ครอง “การโกหกเป็นเรื่องง่ายมาก เมื่อเทียบกับวิธีแสวงหาอำนาจอื่น ๆ”

 

        การโกหกไม่ใช่โรค แต่เป็นพฤติกรรม โดย นายแพทย์ อภิชาติ จริยาวิลาศ จิตแพทย์โรงพยาบาลบํารุงราษฎร์ กล่าวว่า ในทางจิตวิทยานั้น การโกหก เป็นเสมือนพัฒนาการอย่างหนึ่ง ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงวัย และในแต่ละช่วงอายุ  มีจุดมุ่งหมายใน 4 ลักษณะคือ เพื่อปกปิดความจริงหรือความผิดต่าง ๆ เพื่อรักษาผลประโยชน์ เพื่อความอยู่รอด และเพื่อรักษาสถานภาพของตัวเอง

 

        มนุษย์เริ่มโกหกตั้งแต่เด็ก ซึ่งเป็นสิ่งที่ยืนยันว่า  สมองส่วนการคิดของพวกเขากำลังพัฒนา โดย ลี่คัง นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยโทรอนโต กับเพื่อนร่วมงานได้ศึกษาพฤติกรรมโกหกในเด็กโดยใช้การทดลองง่าย ๆ พวกเขาขอให้เด็ก ๆ ทายชื่อของเล่นที่ซ่อนอยู่จากเสียงบอกใบ้ โดยเริ่มจากข้อง่าย ๆ ที่เด็กสามารถตอบได้ทันที จนไปสู่ข้อที่มีความซับซ้อน ซึ่งส่งผลต่อการตอบคำถามของเด็ก จากนั้นผู้ทำการทดลองจะแกล้งเดินออกจากห้อง โดยกำชับว่าห้ามเด็กๆแอบดู เมื่อกลับเข้ามา พวกเขาจะถามเด็ก ๆ ว่าได้แอบดูหรือเปล่า โดยจากกล้องที่ซ่อนอยู่ หลี่กับทีมวิจัยพบว่า เด็กส่วนใหญ่อดใจไม่ไหวที่จะแอบดู อัตราร้อยละของเด็กที่แอบดูและโกหกขึ้นอยู่กับอายุ โดยในกลุ่มเด็กสองขวบที่แอบดู  มีเพียงร้อยละ 30 ที่พูดไม่จริง ส่วนเด็กสามขวบพูดไม่จริงเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 50 และพออายุแปดขวบ เด็กที่อ้างว่าไม่ได้แอบดูมีสูงถึงร้อยละ 80 เลยทีเดียว สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า ยิ่งเด็กมีอายุมากขึ้นก็จะมีความช่ำชองในการโกหกมากขึ้นตามไปด้วย

 

ภาพ : shutterstock.com

 

รับมืออย่างไรกับปัญหาการโกหกของเด็ก

        นพ.กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล จิตแพทย์โรงพยาบาลสมิตเวช ได้ให้ข้อแนะนำกับพ่อแม่ผู้ปกครองถึงการช่วยเด็กไม่ให้เป็นคนโกหก ซึ่งเมื่อนำมาประยุกต์ในมองมุมของครูแล้ว เราจะได้แนวทางในการแก้ไขปัญหานักเรียนที่ชอบโกหกได้ ดังนี้

        1. สร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นกับนักเรียน เปิดโอกาสให้นักเรียนปรึกษา และสามารถเข้าหาได้เมื่อเขาทำความผิด ไม่ใช่สร้างให้เขาหวาดกลัวจนต้องใช้วิธีการโกหก

        2. ไม่ควรตำหนิ หรือ ดุด่าในผลของความผิดนั้น แต่ควรใช้เหตุผลพูดคุยกัน เพราะบางทีการที่ถูกตำหนิบ่อยครั้ง อาจเป็นผลทำมห้นักเรียนมีมีพฤติกรรมชอบโกหกได้       

        3. ไม่ควรตั้งหน้าตั้งตาจับผิดนักเรียน การไต่สวน ด้วยความรู้สึกที่ไม่ไว้วางใจเสมือนเขาเป็นผู้กระทำความผิด จะส่งผลให้นักเรียนใช้วิธีการโกหกเพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์ดังกล่าวได้

        4. การทำโทษไม่ใช่วิธีการที่ดีในการปรับพฤติกรรม ถ้านักเรียนทำผิดและถูกจับได้ว่าโกหก ควรพูดคุยกับเขาถึงสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อหาเหตุผลของการกระทำของเขาแล้วร่วมกันแก้ไขให้ถูกจุด มากกว่าที่จะทำโทษซึ่งเป็นการหยุดพฤติกรรมที่ปลายเหตุ       

        5. บางครั้งอาการป่วยก็มีผลกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของนักเรียน พยายามสังเกตนักเรียนว่าปัญหาเหล่านี้หรือไม่ เช่น โรคซึมเศร้า โรคเกี่ยวกับความผิดปกติในทางสมอง การบกพร่องทางสติปัญญา หรือมีปัญหาในการใช้ภาษา เป็นต้น อาการจากโรคเหล่านี้ อาจส่งผลให้นักเรียนมีอาการโกหกได้  ซึ่งถ้าพบว่านักเรียนคนใดมีปัญหาดังกล่าว ควรทำความเข้าใจและแนะนำให้ผู้ปกครองพานักเรียนไปพบแพทย์เพื่อรักษา ก่อนที่จะส่งผลเสียต่อเขาในอนาคต

 

        ต้องเข้าใจก่อนว่า การโกหกในเด็กนั้น ยังไม่นับว่าเป็นพฤติกรรมที่เลวร้าย เพราะแท้จริงแล้ว ธรรมชาติเองสร้างให้เขามาเป็นแบบนั้น แต่แค่การโกหกนั้น คือจุดเริ่มต้นของพฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดปัญหาได้ในอนาคต เพราะยิ่งติดการโกหกมากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตมากขึ้นเท่านั้น จึงควรอย่างยิ่งที่จะต้องปรับพฤติกรรมดังกล่าว ให้นักเรียนรู้เท่าทันตัวเอง เพื่อไม่ให้โกหกจนเป็นนิสัยและกลายเป็นการเสพติดการโกหกไป สิ่งนี้ต่างหากที่เป็นพฤติกรรมเลวร้าย ที่ไม่ควรให้เกิดขึ้นกับนักเรียนคนใดเลยอย่างแท้จริง

 

เอกสารอ้างอิง

https://ngthai.com/science/2360/the-reason-why-we-lie/

https://www.springnews.co.th/infographic/345073

https://www.thairath.co.th/content/28244

 
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow