นรรัชต์ ฝันเชียร
การวัดและประเมินตามสภาพจริง มีกระบวนการวัดผลการเรียนรู้ตามแนวทาง 3 ประการ คือ
1. วัดครบถ้วนตามจุดประสงค์การเรียนรู้ได้จริง วัดความสามารถทางความรู้ ความคิดได้จริง (Cognitive Ability) วัดความสามารถในการปฏิบัติได้จริง (Performance/Practice Ability) และวัดคุณลักษณะทางจิตใจได้จริง (Affective Characteristics)
2. วัดได้ตรงความเป็นจริง คือ สิ่งที่วัดได้นั้นเป็นข้อมูล เป็นการแสดงพฤติกรรมที่สะท้อนความสามารถที่แท้จริงของผู้เรียน ทั้งความสามารถทางความรู้ ความคิด ความสามารถในการปฏิบัติและคุณลักษณะทางจิตใจ มีความคลาดเคลื่อนผิดพลาดน้อยที่สุด ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ด้อยความสามารถได้คะแนนสูง ตัดความผิดพลาดที่ผู้มีความสามารถสูงกลับได้คะแนนน้อย
3. เลือกสรร คิดค้นเครื่องมือและเทคนิคการวัดผลที่เป็นการวัดพฤติกรรมที่แท้จริงที่แสดงออกซึ่งความสามารถของผู้เรียน (Ability to do) ซึ่งอาจได้จากการสังเกตุพฤติกรรมผู้เรียน สังเกตจากการปฏิบัติภาระงาน (Tasks) ที่จัดให้ปฏิบัติในสถานการณ์ที่ผู้สอนจะกำหนด สังเกตจากร่องรอยหลักฐานผลการปฏิบัติภาระงานของผู้เรียน เป็นต้น
ต่อไปนี้คือเทคนิควิธีการประเมินตามสภาพจริงที่น่าสนใจ 7 วิธี ซึ่งจะช่วยให้การวัดและการประเมินผลตามสภาพจริงมีประสิทธิภาพ ซึ่งได้แก่
การสังเกต เป็นการเก็บข้อมูลพฤติกรรมด้านการใช้ความคิด การปฏิบัติงาน อารมณ์ ความรู้สึก และลักษณะนิสัย โดยสามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา ทั้งในห้องเรียน นอกห้องเรียน หรือในสถานการณ์อื่นนอกโรงเรียน ซึ่งมีวิธีดำเนินการอยู่สองลักษณะคือ การสังเกตทำได้โดยตั้งใจ กับการสังเกตที่ทำโดยไม่ตั้งใจ การสังเกตโดยตั้งใจหรือมีโครงการสร้างหมายถึงการที่ครูกำหนดพฤติกรรมที่ต้องสังเกต รวมถึงช่วงเวลาและวิธีการสังเกต ส่วนการสังเกตแบบไม่ตั้งใจ หรือไม่มีโครงสร้างนั้น หมายถึงไม่มีกำหนดรายการสังเกตไว้ล่วงหน้า ครูอาจมีกระดาษแผ่นเล็ก ๆ ติดตัวไว้ตลอดเวลาเพื่อบันทึกเมื่อพบพฤติกรรมการแสดงออกที่มีความหมาย
การสัมภาษณ์ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ใช้เก็บข้อมูลพฤติกรรมของนักเรียนในด้าน ความคิดสติปัญญา ความรู้สึก กระบวนการขั้นตอนในการทำงาน และวิธีแก้ปัญหาต่างๆได้ดี ซึ่งเป็นวิธีที่อาจใช้ประกอบการสังเกตเพื่อให้ได้ข้อมูลที่มั่นใจมากยิ่งขึ้น โดยก่อนที่ครูจะสัมภาษณ์นั้น ควรหาข้อมูลเกี่ยวกับภูมิหลังของนักเรียนและเตรียมชุดคำถามล่วงหน้าเสียก่อน เพื่อทำให้การสัมภาษณ์เจาะตรงประเด็นและได้ข้อมูลเพิ่มมากขึ้น และขณะสัมภาษณ์ครูควรใช้วาจา ท่าทาง น้ำเสียงที่อบอุ่นเป็นกันเอง เพื่อนักเรียนรู้สึกปลอดภัย และมีแนวโน้มจะให้ข้อมูลต่างๆ ควรสัมภาษณ์นักเรียนด้วยคำถามที่เข้าใจง่าย และอาจใช้การสัมภาษณ์กัลบุคคลใกล้ชิดนักเรียนร่วมด้วยเพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับนักเรียนเพิ่มเติม
การตรวจงาน เป็นการวัดและประเมินผลที่เน้นการนำผลการประเมินไปใช้ทันทีใน 2 ลักษณะ คือ เพื่อการช่วยเหลือนักเรียนและเพื่อช่วยปรับปรุงการสอนของครู จึงเป็นการประเมินที่ควรดำเนินการตลอดเวลา และควรมีลักษณะที่ครูสามารถประเมินพฤติกรรมระดับสูงของนักเรียนได้ เช่น การตรวจแบบฝึกหัด ผลงานภาคปฏิบัติ โครงการ/โครงงานต่างๆ เป็นต้น
การรายงานตนเอง เป็นการให้นักเรียนเขียนบรรยายหรือตอบคำถามสั้น ๆ หรือ ตอบแบบสอบถามที่ครูสร้างขึ้น เพื่อสะท้อนถึงการเรียนรู้ของนักเรียนทั้งความรู้ ความเข้าใจ วิธีคิด วิธีทำงานความพอใจในผลงาน ความต้องการพัฒนาตนเองให้ดียิ่งขึ้น
การใช้บันทึกจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เป็นการรวบรวมข้อมูลความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับตัวนักเรียนผลงานนักเรียน โดยเฉพาะความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของนักเรียนจากแหล่งต่าง ๆ เช่น จากเพื่อนครูหรือผู้ปกครอง เป็นต้น
การใช้ข้อสอบแบบเน้นการปฏิบัติจริง คือการใช้แบบทดสอบเพื่อวัดสิ่งที่นักเรียนได้ปฏิบัติจริง ซึ่งข้อสอบนั้นจะต้องมีความหมายต่อผู้เรียน เลียนแบบสภาพความเป็นจริง ครอบคลุมความสามารถของผู้เรียนและเนื้อหาตามหลักสูตร เน้นให้มีหลายคำตอบและหลายวิธีหาคำตอบ และมีเกณฑ์การให้คะแนนที่ชัดเจน
การประเมินโดยใช้แฟ้มสะสมงาน แฟ้มสะสมงานหมายถึง สิ่งที่ใช้สะสมงานของนักเรียนอย่างมีจุดประสงค์ อาจเป็นแฟ้ม กล่อง แผ่นดิสก์ หรืออัลบั้ม ก็ได้ แฟ้มสะสมผลงานนี้ จะเป็นหลักฐานสะท้อนให้เห็นถึงความพยายาม ความก้าวหน้า และผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน
วิธีการประเมินตามสภาพจริงที่ได้กล่าวแล้วนั้น ถ้าจะให้ได้มาซึ่งผลการเรียนรู้ที่แท้จริงของนักเรียนนั้น ครูควรจะใช้วิธีการเก็บข้อมูลหลายๆ วิธีรวมกัน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่หลากหลาย และครอบคลุมพฤติกรรมทุกด้าน รวมถึงมีเกณฑ์การประเมินชัดเจน และมีจำนวนมากเพียงพอที่จะประเมินผลที่เกิดขึ้นในตัวนักเรียนอย่างมั่นใจจึงจะถือว่าเป็นการวัดและประเมินผลตามสภาพจริงอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถนำไปอ้างอิงได้นั้นเอง
เอกสารอ้างอิง
https://www.moe.go.th/main2/article/article-sagob/assess.htm
https://www.ipecp.ac.th/ipecp/cgi-binn/dacha50/unit7/content5.htm
https://www.gotoknow.org/posts/551020