นรรัชต์ ฝันเชียร
The Seven Habits of Highly Effective People หรือที่มีชื่อเป็นไทยว่า “7 อุปนิสัยพัฒนาสู่ผู้มีประสิทธิผลสูง” เป็นหนังสือวิชาการแนวจิตวิทยา เล่มหนึ่งที่ได้รับนิยมอย่างมากทั่วโลก มีการแปลในภาษาต่าง ๆ แล้วมากกว่า 34 ภาษา และจำหน่ายไปแล้วกว่า 20 ล้านเล่ม เขียนขึ้นโดย สตีเฟน อาร์. โคว์วีย์ นักจิตวิทยา โดยในประเทศไทย จัดพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2541
The Seven Habits of Highly Effective People เป็นหนังสือแนวจิตวิทยาในการพัฒนาอุปนิสัย ที่ว่าด้วยอุปนิสัยต่าง ๆ ทั้ง 7 ของมนุษย์ที่จะช่วยให้มนุษย์เป็นผู้ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งมักใช้ในการอ้างอิงของหมู่นักจัดการ นักวิชาการ นักจิตวิทยา และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในองค์กรต่าง ๆ มากมาย
ต่อไปนี้คือหลักของ 7 อุปนิสัย ที่ สตีเฟน อาร์. โคว์วีย์ได้เขียนในหนังสือ The Seven Habits of Highly Effective People ซึ่งสามารถอธิบายและประยุกต์ใช้ในการพัฒนานักเรียนได้ดังนี้
1. ต้องเป็นฝ่ายเริ่มต้นทำก่อน (Be Proactive)
อุปนิสัยนี้คือการที่ตัวเราเป็นผู้กำหนด ริเริ่ม ลงมือทำ รวมถึงตัดสินใจเลือกสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเองอย่างมีสติ ซึ่งเวลาที่คนเราต้องการอะไร หรือต้องการจะเริ่มต้นทำอะไรสักอย่าง คนที่มีความคิดแบบ Proactive จะมีสติในการเฟ้นหาการเลือกที่เหมาะสมที่สุดและพร้อมจะรับกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการตัดสินใจในขณะที่คนที่มีความคิดแบบ Reactive จะตอบสนองต่อสิ่งเร้า หรือเรื่องที่มากระทบโดยไม่ได้คิดให้ดี คือปล่อยไปตามอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งจะส่งผลเสียต่อตัวเองในอนาคต ดังนั้นจึงควรส่งเสริมนักเรียนให้เป็นผู้มีความคิดริเริ่ม พร้อมลงมือทำและตัดสินใจเลือกด้วยความมีสติ รู้จักคิดวิเคราะห์แยกแยะถึงสิ่งนั้น ก่อนที่จะตัดสินใจที่จะปฏิบัติกับสิ่งเหล่านั้นอย่างเหมาะสมที่สุด และพร้อมจะรับผิดชอบถึงผลที่จะตามมา
2. เริ่มต้นด้วยจุดมุ่งหมายในใจ (Begin with the End in Mind)
นำผลลัพธ์ที่เราต้องการเป็นตัวตั้ง เพื่อสร้างภาพความสำเร็จในใจให้ชัดเจน ซึ่งเมื่อเราสร้างภาพความสำเร็จในใจอย่างชัดเจนแล้ว เราจะสามารถวางเส้นทางและวิธีการที่จะไปให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้ได้โดยง่าย เพราะจะทำให้เราเห็นถึงสิ่งใดเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม สิ่งใดเกี่ยวเนื่องหรือไม่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวเนื่องรวดเร็วยิ่งขึ้น การให้นักเรียนรู้จักการวางเป้าหมายในการเรียนรู้อย่างรายละเอียดในการเรียนหรือทำโครงการต่าง ๆ นับเป็นแนวทางที่ดีในการส่งเสริมให้นักเรียนมีอุปนิสัยในด้านนี้ ลองให้พวกเขาเขียนเป้าหมายในชีวิตการเรียนของเขาอย่างละเอียด ว่าพวกเขาอยากจะเป็นอะไรอย่างไร แล้วให้พวกเขามองว่าสิ่งนี้เป็นภารกิจและเข็มทิศชีวิตที่ต้องไปให้ถึง ยิ่งนักเรียนเขียนออกมาได้มีรายละเอียดมากเท่าไหร่ก็จะทำให้เห็นเส้นทางไปสู่เป้าหมายนั้นชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น
3. ทำตามลำดับความสำคัญ (Put First Things First)
ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของคนเรา จะแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ (1)งานและกิจกรรมที่เป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน (2)งานและกิจกรรมที่เป็นเรื่องสำคัญแต่ไม่เร่งด่วน (3)งานและกิจกรรมที่เป็นเรื่องไม่สำคัญแต่เร่งด่วน และ(4)งานและกิจกรรมที่เรื่องไม่สำคัญและไม่เร่งด่วน ซี่งจำเป็นต้องจัดสรรเวลาให้ดี โดยเรียงลำดับเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการก่อนและหลัง ในการส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักแบ่งเวลา มีการจดบันทึกสิ่งต่าง ๆ ที่ต้องทำ และแยกแยะสิ่งเหล่านั้นตามความสำคัญและความเรียงด่วน ซึ่งจะทำให้นักเรียนสามารถวางแผนได้ว่าควรจะทำสิ่งใดก่อนและหลังอย่างเหมาะสม
4. คิดแบบ ชนะ-ชนะ (Think Win-Win)
ปกติคนเรามักจะมองว่า เมื่อมีคนได้ ก็ต้องมีคนเสีย มีผู้แพ้และก็มีผู้ชนะ แต่สำหรับแนวคิดแบบ 7 อุปนิสัย กลับมองว่า การสร้างสรรค์ให้เกิดข้อตกลงในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพื่อให้ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย คือสิ่งที่พึงกระทำ มากกว่าที่จะหาผู้แพ้หรือผู้ชนะ สิ่งนี้คือการคิดแบบชนะ-ชนะ พยายามเน้นกิจกรรมที่ให้นักเรียนร่วมมือกันในการทำกิจกรรม มากกว่ากิจกรรมที่เน้นแต่การเอาชนะ จะช่วยให้พวกเขาเรียนรู้ที่จะแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์
5. เข้าใจคนอื่นก่อนจะให้คนอื่นเข้าใจเรา (Seek First to Understand, Then to be Understood.)
ก่อนบอกความต้องการหรือสิ่งที่เราคิดแล้วอยากให้ผู้อื่นยอมรับ เราต้องให้ความสำคัญและเข้าใจมุมมองของผู้อื่นต่อเรื่องนั้น ๆ อย่างลึกซึ้งก่อน เพื่อลดการปะทะกัน สิ่งนี้นับว่าเป็นกุญแจสำคัญในการติดต่อสื่อสารระหว่างบุคคลที่มีประสิทธิภาพ การติดต่อสื่อสารถือเป็นทักษะที่สำคัญที่สุดในชีวิต ซึ่งเราใช้เวลาหลายปีในการเรียนรู้วิธีการอ่าน การเขียน และการพูด แต่ทักษะที่สำคัญที่สุดที่ทำให้การติดต่อสื่อสารนั้นประสบความสำเร็จมากที่สุด กลับเป็นเรื่องของการฟัง ซึ่งการฟังในที่นี้หมายถึงการฟังเพื่อแสวงหาความเข้าใจ ส่งเสริมให้นักเรียนให้มีทักษะการฟังให้มากขึ้น โดยการให้ฟังเรื่องราวต่าง ๆ จากการอ่านของครูหรือฟังเรื่องราวบุคคลจากวีดีทัศน์ แล้วให้นักเรียนสรุปสาระสำคัญของสิ่งที่ได้ฟัง วิธีนี้จะช่วยให้นักเรียนได้พัฒนาทักษะการฟังมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีอย่างมากในการติดต่อสื่อสาร
6. ประสานพลังสร้างสิ่งใหม่ (Synergize)
การเข้าใจความแตกต่างระหว่างบุคคล มองเห็นจุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเองและผู้อื่น แล้วสามารถนำสิ่งเหล่านั้นมาผสานสัมพันธ์กันให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพ คืออุปนิสัยที่สำคัญที่จะช่วยในการทำงานและลดความขัดแย้งการทำงานกลุ่ม คือการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้มีปฏิสัมพันธ์และเรียนรู้ระหว่างกัน การให้งานกลุ่มจะช่วยให้พวกเขาได้เรียนรู้ความแตกต่างระหว่างบุคคลและร่วมกันหาแนวทางว่าทำอย่างไรถึงจะประสบความสำเร็จ
7. ลับเลื่อยให้คมอยู่เสมอ (Sharpen the saw)
เป็นอุปนิสัยแห่งการฝึกฝน คือฝึกฝนทักษะต่าง ๆ อยู่เป็นประจำ เพื่อที่จะสามารถนำมาใช้ได้อย่างชำนาญและมีประสิทธิภาพการจัดให้มีกิจกรรมส่งเสริมให้นักเรียนเกิด 7 อุปนิสัยตามหนังสือเล่มนี้อยู่เป็นประจำ จะช่วยฝึกฝนให้นักเรียนมีอุปนิสัยและทักษะที่เหมาะสมและมีความชำนาญ สามารถนำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
และทั้งหมดนี้คือการพัฒนาอุปนิสัยทั้ง 7 ประการ ตามหนังสือ The Seven Habits of Highly Effective People ซึ่งเมื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน จะพบว่า เราสามารถใช้กิจกรรมต่างๆ โดยทั่วไปในการส่งเสริมให้นักเรียนมีอุปนิสัยเช่นนี้ได้ ขึ้นอยู่กับคุณครูจะสามารถสร้างสรรค์กิจกรรมให้ไปถึงเป้าหมายและหัวใจของอุปนิสัยทั้ง 7 นี้ได้มากแค่ไหน แต่แม้จะน้อยหรือมาก การส่งเสริมให้นักเรียนมีอุปนิสัยเช่นนี้ก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดีอย่างมาก เพราะยิ่งสังคมโลกเปลี่ยนไป การมีบุคคลดีที่มีความคิดริเริ่มลงมือทำ และประสานสัมพันธ์ดีจะช่วยให้สังคมโลกยังดำรงไว้ซึ่งความปกติสุขและสามารถเติบโตต่อไปได้ในอนาคตนั้นเอง
เอกสารอ้างอิง
http://habit-srisupan.blogspot.com/2012/07/7_06.html
http://habit-srisupan.blogspot.com/
https://bingobook.co/book-summary/the-7-habits-of-highly-effective-people/