นรรัชต์ ฝันเชียร
การบริหารเวลา (Time management) คือ ทักษะ เครื่องมือ หรือเทคนิคที่ใช้ในการจัดการงาน โครงการ หรือเป้าหมายให้สำเร็จในเวลาที่กำหนด ซึ่งถือเป็นเทคนิคที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ช่วยให้บุคคลสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม ผู้ที่สามารถบริหารจัดการเวลาได้ดี จะสามารถทำกิจกรรมอย่างมีประสิทธิภาพต่าง ๆ ได้มากขึ้นและในขณะเดียวกันก็มีเวลาเพียงพอในการดูแลตัวเองและพักผ่อนอย่างเหมาะสม ดังนั้นการบริหารเวลาที่ดีจึงไม่ใช่การที่เอาแต่ทำงานเป็นบ้าเป็นหลัง แต่ต้องรู้จักจัดสัดส่วนระหว่างการทำงานและการดูแลตัวเองให้สมดุลด้วย
ในหนึ่งวัน เรามีเวลายี่สิบสี่ชั่วโมงเท่ากัน แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะบริหารเวลาได้เหมือนกัน ด้วยข้อแตกต่างในภาระงาน การดำเนินชีวิต ข้อจำกัดเรื่องสุขภาพ รวมไปถึงแรงผลักภายใน เช่น ความขยันหมั่นเพียรและความรับผิดชอบ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นตัวแปรที่ทำให้แต่ละคนมีทักษะในการบริหารเวลาไม่เท่ากัน และยิ่งถ้าทักษะนี้ไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสมมาตั้งแต่ในวัยเรียน ก็อาจส่งผลให้ผู้เรียนเติบโตขึ้น เป็นผู้ใหญ่ที่อืดอาด เรียงลำดับความสำคัญของกิจกรรมต่าง ๆ ไม่เป็น ไม่รู้ว่าควรจะทำอะไรก่อนหลัง ส่งผลให้การทำงานขาดประสิทธิภาพจนนำไปสู่ความล้มเหลวในการทำงานและการดำเนินชีวิตได้ ดังนั้นเราจึงควรสอนให้ผู้เรียนรู้จักที่จะบริหารเวลาให้เป็น ตั้งแต่วัยเริ่มแร เมื่อชีวิตเริ่มก้าวเข้าสู่รั้วโรงเรียน กิจวัตรประจำวันของเด็ก ก็จำเป็นต้องมีการจัดระเบียบให้เหมาะสมตามวัย ในระดับปฐมวัย เราได้จัดให้เด็กมีเวลาเล่น เวลาเรียนรู้ และเวลาสำหรับการพักผ่อน
ดไวท์ ดี ไอเซนฮาวร์ (Dwight D. Eisenhower) ประธานาธิบดีคนที่ 34 ของสหรัฐอเมริกา ผู้เคยเป็นถึงนายพลที่นำทัพสัมพันธมิตรรบชนะการรบในสงครามโลกครั้งที่สอง แบ่งการทำงานจากความสำคัญและความเร่งด่วน เขาได้นำเสนอ ไอเซนฮาวร์ แมทริกซ์ ตารางการจัดลำดับความสำคัญของงาน (Eisenhower’s Matrix) หรือที่เรียกว่า ตารางการจัดการเวลา (Time Management Matrix) ซึ่งประกอบด้วยตารางขนาด 2x2 ที่มีคีย์เวิร์ด 2 คำ คือ สำคัญ (Important) และเร่งด่วน (Urgent) มาเป็นเกณฑ์ในการแบ่งประเภทของงานว่าควรทำสิ่งใดก่อนสิ่งใดหลัง ซึ่งมีการจัดแบ่งดังนี้
ช่องแรก คือ งานสำคัญ/เร่งด่วน (Important & urgent) ไอเซนฮาวร์ แทนภาระงานที่อยู่ในช่องนี้ ด้วยคำว่า Do it now! คือทำทันที เป็นสิ่งที่ต้องทำเป็นลำดับแรกสุดของการทำงานทั้งหมด ซึ่งได้แก่งานในภาระหน้าที่ที่มีกำหนดเวลากระชั้นชิด เช่น การบ้านที่ต้องส่งในวันรุ่งขึ้น เป็นต้น
ช่องที่สอง คือ งานสำคัญแต่ไม่เร่ง (Important, but not urgent) ) ไอเซนฮาวร์จัดภาวะงานส่วนนี้ไว้อยู่ในหมายกำหนดการ (Decide to Schedule) ที่ต้องเริ่มลงมือทำเป็นระยะเพื่อให้ประสบความสำเร็จ
ช่องที่สาม คือ ไม่สำคัญแต่เร่งด่วน (Urgent, but not important) สำหรับช่องนี้ ไอเซนฮาวร์ เลือกที่จะทำเป็นอันดับสาม หรือไม่ก็มอบหมายให้คนอื่นทำแทน
ช่องสุดท้ายช่องที่สี่ ไม่สำคัญและไม่เร่งด่วน (Not important, not urgent) ไอเซนฮาวร์ ยกให้ภาระงานที่อยู่ในช่องเป็นเรื่องไร้สาระ ควรทำเมื่อมีเวลาว่าง หรือทิ้งมันไปเสีย
จะเห็นว่าการบริหารเวลาแบบไอเซนฮาวร์นี้ จะช่วยให้เราแกยแยะงานอย่างถูกต้อง และสามารถทำมันเหล่านั้นได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ และยังช่วยให้เรามีเวลาเหลือมากพอในการดูแลครอบครัวหรือดูแลตัวเองอีกด้วย ซึ่งเราสามารถนำนวัตกรรมนี้มาประยุกต์ใช้ให้ผู้เรียนรู้จักการบริหารเวลาอย่างมืออาชีพก็จะช่วยเพิ่มพูนทักษะนี้ในการใช้ชีวิตของเขาต่อไปในอนาคตได้
และนี้คือ 8 ข้อในการส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้จักการบริหารเวลา ที่เกิดการจากวิเคราะห์และรวบรวมจากข้อมูลต่างๆ ซึ่งสรุปออกมาจากดังนี้
1. เริ่มต้นทุกอย่างจากการตื่นนอนแต่เช้า การตื่นนอนแต่เช้าคืออุปนิสัยที่ดีที่ช่วยให้ผู้เรียนมีความตื่นตัวและยังแสดงถึงความรับผิดชอบอีกด้วย ซึ่งการที่คนเราจะตื่นนอนแต่เช้าได้นั้น นอกจาการบังคับตัวเองให้ตื่นเช้าแล้ว การพักผ่อนและรับประทานอาหารให้เป็นเวลา ก็ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยสำคัญในการตื่นนอนของมนุษย์ เราจึงควรเน้นย้ำให้ผู้เรียนรับประทานและพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อช่วยให้เขาสามารถตื่นนอนแต่เช้า มาโรงเรียนทันเวลา และพร้อมสำหรับการเรียนรู้ต่างๆ ในแต่ละวัน
2. ส่งเสริมให้นักเรียนบันทึกสิ่งที่ต้องทำทุกอย่างลงในบันทึกช่วยจำ เช่น บันทึกลงในสมุดหรืออุปกรณ์อิเล็กโทนิคส์ต่าง ๆ โดยเน้นย้ำในเรื่องการใส่ข้อมูล ที่ควรใส่ให้ครบถ้วน เช่น กิจกรรมอะไร ต้องทำอะไร มีรายละอียดอย่างไร และกำหนดเวลาเมื่อไหร่ เป็นต้น ซึ่งข้อมูลตรงนี้จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถแยกแยะภาระงานได้อย่างเหมาะสมนั่นเอง
3. แยกแยะลักษณะงานตามหลักการตารางการจัดลำดับความสำคัญของงาน (Eisenhower’s Matrix) ซึ่งจะให้ผู้เรียนเลือกทำกิจกรรมแต่ละอย่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่อย่างไรก็ดี การจะดำเนินการเช่นนี้ได้ ผู้เรียนจะต้องมีทักษะในการแยกแยะงานตามข้อมูลของกิจกรรมนั้นๆให้ได้เสียก่อน ดังนั้นจึงควรสอนให้ผู้เรียนรู้จักแยกแยะความสำคัญของกิจกรรมต่างๆ ว่าควรจัดสรรกิจกรรมแต่ละกิจกรรมให้อยู่ในช่องใด ซึ่งอาจจะให้ผู้เรียนลองเขียนกิจกรรมต่างๆที่คิดว่าจะต้องทำในหนึ่งวัน ลงในกระดาษ แล้วลองให้เด็กแยกแยะตามหลักของไอเซนฮาวร์ดู และอาจกำหนดสีในแต่ละช่อง ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถแยกแยะกิจกรรมได้ดีขึ้น
4. พยายามส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถดำเนินกิจกรรมตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ อย่างเป็นลำดับขั้นต่อ คือเริ่มจากสิ่งสำคัญเร่งด่วน จนไปถึงสิ่งที่ตัดทิ้งได้อย่างกิจกรรมที่ไม่สำคัญและไม่เร่งด่วน
5. ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีแผนสำรอง บางครั้งในการทำกิจกรรมต่าง ๆ อาจจะมีอุปสรรคที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้ ซึ่งอาจจะส่งผลให้การดำเนินกิจกรรมนั้นๆ บรรลุเป้าหมายได้ไม่ทันตามกำหนดเวลา การส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้จักวางแผนสำรอง เผื่อเหตุการณ์ฉุกเฉินจะช่วยให้ผู้เรียนรู้จักแก้ไขปัญหาได้อย่างดี
6. ให้แรงเสริมทางบวกกับผู้เรียนเมื่อเขาสามารถบริหารเวลาในกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างดี ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนอยากทำเช่นนี้ต่อไปเรื่อย ๆ
7. ผู้สอนควรจัดกิจรรมต่างๆ ให้ผู้เรียนอย่างชัดเจน บ่อยครั้งที่เรามักจะเบียดบังเวลาของผู้เรียนด้วยการสอนที่เกินเวลาหรืองานที่เร่งด่วน กิจกรรมเหล่านี้ล้วนทำให้การบริหารเวลาของนักเรียนยุ่งเหยิง จึงควรงดเว้นการกระทำเช่นนั้น แต่ถ้ามันป็นเรื่องที่จำเป็น การควรพูดคุยกับผู้เรียนว่าควรจะจัดกิจกรรมนั้นในกลุ่มของอะไรถึงจะเหมาะสม
8. ควรจัดสรรเวลาให้ผู้เรียนได้มีโอกาสได้พักบ้าง การให้งานเยอะจนเกินความจำเป็นอาจส่งผลเสียมากกว่าผลดี เพราะอย่าลืมว่าผู้เรียนก็ยังเป็นผู้เยาว์ที่ควรจะได้มีเวลาส่วนตัวเพื่อค้นหาตัวเองและพักผ่อน ดังนั้นการให้งานต่างๆ ผู้สอนควรคำนึงถึงภาระที่ผู้เรียนได้รับด้วยว่ามากหรือน้อยเกินไปหรือไม่ เพราะจะส่งผลต่อการปฏิบัติของผู้เรียนด้วย
จะเห็นได้ว่าการบริหารเวลาที่เหมาะสมนั้น พวกเราในฐานะครูควรปลูกทักษะนี้ให้เกิดขึ้นภายในอุปนิสัยของผู้เรีบนตั้งแต่ระดับชั้นเล็กๆ จนไปถึงระดับปัญญาชนเลยทีเดียว เพราะถ้าผู้เรียนสามารถใช้ทักษะนี้ได้อย่างชำนาญแล้ว จะช่วยผู้เรียนทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามกำหนดและมีประสิทธิภาพ ทักษะนี้จะช่วยยกระดับอุปนิสัยของผู้เรียนให้เป็นคนที่รักษาเวลา มีความรับผิดชอบ ไม่ผัดวันประพรุ่งซึ่งเป็นบ่อเกิดของความขี้เกียจ อันจะส่งผลให้ผู้เรียนเติบโตเป็นบุคคลที่ดีและเหมาะสมต่อสังคมไทยต่อไปในอนาคตนั่นเอง
เอกสารอ้างอิง
https://www.familynetwork.or.th/node/15412
https://www.thansettakij.com/content/294307