นรรัชต์ ฝันเชียร
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าวัยรุ่น เป็นวัยที่มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างมากมาย ทั้งในด้านสรีระร่างกาย รวมไปถึงอารมณ์จิตใจ ซึ่งเป็นธรรมชาติโดยทั่วไปที่เราต้องประสบพบเจอจากวัยรุ่นที่กำลังเจริญเติบโต การเปลี่ยนแปลงในวัยรุ่นอาจเติบโตขึ้นอย่างช้า ๆ หรือไม่ก็เป็นแบบรวดเร็วราวกับพายุพัดโหมกระหน่ำ ซึ่งบางครั้งก็ทำให้ผู้ใหญ่อย่างเราตกอกตกใจต่อพฤติกรรมของพวกเขาไม่มากก็น้อย นอกจากพ่อแม่ผู้ปกครองแล้ว คุณครูก็ถือเป็นบุคคลใกล้ชิดอีกกลุ่มหนึ่งที่ควรจะต้องเข้าใจธรรมชาติของพวกเขา
ทุกวันนี้เราสอนให้เด็กวัยรุ่นเรียนรู้เกี่ยวกับความรักที่สร้างสรรค์ การป้องกันเรื่องเพศสัมพันธ์ รวมไปถึงการรู้จักควบคุมอารมณ์ให้สมกับผู้ที่มีวุฒิภาวะที่โตขึ้น แต่เราให้ความรู้กับพวกเขาในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงภายในสมองของเขามากน้อยแค่ไหน ทั้ง ๆ ที่การเปลี่ยนแปลงในสมองเหล่านั้นคือบ่อเกิดพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปราวกับหน้ามือเป็นหลังมือของเขา แต่เรากลับให้ความรู้กับเขาในเรื่องเหล่านี้น้อยมาก และในขณะเดียวกันเราเองก็แทบจะไม่เข้าใจความสำคัญของมันเลย จนบางครั้งทำให้เรามักจะมองว่าพฤติกรรมที่แย่ ๆ ของวัยรุ่นคือนิสัยที่แก้ไขอะไรไม่ได้ไปเสียอย่างนั้น
เมื่อก้าวเข้าสู่วัยรุ่น ส่วนของสมองที่เติบโตขึ้นอย่างเด่นชัดที่สุดคือ สมองส่วนระบบลิมบิก (limbic system) ซึ่งเป็นกลุ่มของสมองที่อยู่ตามแนวโค้งระหว่างทาลามัสกับซีรีบรัล คอร์เท็กซ์ กินพื้นที่กว่า ร้อยละ 20 ของสมอง สมองส่วนลิมบิกนี้ จะมีการเติบโตที่รวดเร็วมาก ในช่วงอายุ 10 ถึง 12 ปี ซึ่งเป็นผลจากการที่ แอกซอน (Axon) เส้นใยของเซลล์ประสาทที่มีลักษณะเรียวยาว มีเยื่อไขมันที่เรียกว่า เยื่อไมอีลิน (Myelin sheath) ห่อหุ้มอยู่ค่อนข้างหนา ทำให้เซลล์ประสาทสามารถส่งสัญญาณได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งช่วยให้สมองส่วนลิมบิกพัฒนาได้เร็วขึ้นเช่นเดียวกัน สมองส่วนนี้ จะประกอบด้วยส่วนสำคัญ 4 ส่วน อันได้แก่
1. ทาลามัส (Thalamus) ที่คอยเป็นเลขานุการของสมอง คอยรับส่งข้อมูลจากประสาทและไขสันหลังไปยังสมอง และรับความรู้สึกเจ็บปวดที่เกิดจากอาการช็อกในการบาดเจ็บรุนแรง
2. ไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) ที่เป็นเสมือนศูนย์กลางการดูแลสมดุลของสภาพร่างกาย มีส่วนสำคัญในการควบคุมระบบร่างกายที่สำคัญต่างๆ เช่น การเต้นของหัวใจ สมดุลน้ำ ความหิว การพักผ่อนรวมไปถึงอารมณ์และความรู้สึกต่างๆ และเป็นส่วนสำคัญในการสร้างฮอร์โมนประสาทที่ส่งไปควบคุมการหลั่ง ฮอร์โมนของต่อมใต้สมองส่วนหน้าอีกด้วย
3. ฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) เป็นศูนย์ควบคุมการเรียนรู้และความจำ ทำหน้าที่ในการจัดระบบข้อมูลต่างๆซึ่งมีความจำเป็นอย่างมากต่อความจำระยะสั้นและระยะยาวของเรา
4. อะมิกดาลา (Amygdala) อยู่บริเวณสมองส่วนกลีบขมับ มีรูปร่างเหมือนเมล็ดอัลมอนด์ เป็นศูนย์กลางของอารมณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะความรู้สึกพื้นฐาน เช่น ความกลัว และมักตอบสนองต่อความกลัวด้วยการแสดงความก้าวร้าว รวมทั้งทำหน้าที่ในการจัดระบบข้อมูลด้านความรู้สึก ซึ่งในวัยรุ่นสมองส่วนนี้จะทำงานมากที่สุดซึ่งส่งผลให้การแสดงออกทางอารมณ์ของวัยรุ่น จึงมักออกมาในลักษณะหุนหันพลันแล่นและรุนแรงนั่นเอง
สมองส่วนระบบลิมบิก (limbic system) จะพัฒนาอย่างมากในช่วยวัยรุ่น ทำให้การกระทำต่าง ๆ ที่ประกอบด้วยอารมณ์ของพวกเขา มักจะเป็นการตอบสนองอย่างอัตโนมัติ โดยไม่ได้ผ่านการคิดไตร่ตรองให้รอบคอบ ทำให้ข้อมูลเหล่านั้น ยังไม่ได้เดินทางผ่าน พรีฟรอนทอลคอร์เท็ก (Prefrontal cortex) ที่มีหน้าที่สำคัญในการบริหารจัดการข้อมูลต่าง ๆ ทำให้พรีฟรอนทอลคอร์เท็ก (Prefrontal cortex) ซึ่งอยู่บริเวณส่วนหน้าของสมองกลีบหน้าผาก มีหน้าที่ในการช่วยเราวิเคราะห์ ไตร่ตรอง ให้เหตุผล และเลือกสิ่งที่ควรหรือไม่ควร ทำให้เราสามารถควบคุมตัวเอง และตัดสินใจได้อย่างเหมาะสมในการตอบสนองต่อสภาวะต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบ ซึ่งในช่วงวัยรุ่นนั้น ส่วนนี้ยังพัฒนาได้ช้าและไม่ดีนัด และถ้ายิ่งไม่ได้รับการพัฒนาด้วยแล้วก็ยิ่งส่งผลต่อการแสดงออกทางอารมณ์ของเขาต่อไปในอนาคตอีกด้วย และนี่เองคือสาเหตุหลักว่า ทำไมเด็กวัยรุ่นจึงมักที่จะทำอะไรตามใจตนเองโดยไม่ได้คิดหน้าคิดหลังให้ดี
ทักษะ EF (executive function) มีความสำคัญอย่างมากในการพัฒนา พรีฟรอนทอลคอร์เท็ก (Prefrontal cortex) ซึ่งทักษะ EF นี้จะช่วยให้ข้อมูลต่าง ๆ วิ่งผ่าน พรีฟรอนทอลคอร์เท็ก (Prefrontal cortex) มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เราคิดไตร่ตรองอย่างเหมาะสมก่อนที่จะตอบสนองต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ซึ่งนับว่าความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional intelligence) และเรียกได้ว่ามีวุฒิภาวะอย่างแท้จริง
ปัจจุบันมีการส่งเสริม EF ตั้งแต่ระดับปฐมวัย เพื่อเป้าหมายในการสร้างพลเมืองที่ดีแก่สังคมในอนาคต โดยให้ รู้จักการพยากรณ์ผลที่จะเกิดขึ้นว่าทำแล้วจะดีหรือไม่ดี ส่งเสริมให้มีความมุ่งหวังในการกระทำ มีเป้าหมาย และรู้จักยืดหยุ่น รวมไปถึงสามารถควบคุมตนเองในสังคมได้อย่างเหมาะสม ซึ่งถ้าเราสามารถส่งเสริมทักษะ EF เหล่านี้ให้กับวัยรุ่นแต่เนิ่น ๆ ได้ ก็จะช่วยให้เขามีการตอบสนองทางด้านอารมณ์ได้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น
ด้วยเหตุนี้ ถ้าเราเข้าใจการเปลี่ยนแปลงในสมองของวัยรุ่นแล้ว เราจะเข้าใจพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เขาได้กระทำ ทั้งที่เหมาะสมและไม่เหมาะสม แทนที่เราจะไปแสดงความไม่พอใจต่อเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ของเขา เราควรจะทำความเข้าใจและสอนเขาให้รู้ถึงการเปลี่ยนแปลงนั้น สะท้อนให้เขาเห็นว่าสิ่งที่เขาได้กระทำเป็นอย่างไร และส่งผลกระทบอย่างไร ในโลกของวัยรุ่นนั้น มีความผิดพลาดมากมายที่เขาต้องเรียนรู้อีกมาก เราไม่ควรเอาความผิดพลาดของเขาไปตีตราเขาว่าเป็นเด็กอย่างนั้นอย่างนี้ เพียงเพราะเขาไม่ทำตามสิ่งที่ถูกที่ควร ก็ในเมื่อสมองของเขายังอยู่ในขั้นพัฒนา เราก็ควรสอนให้เขาพัฒนามันอย่างเหมาะสมจริงไหมครับ
ข้อมูลอ้างอิง
https://thematter.co/byte/what-inside-the-teenage-brain/32370
https://www.tci-thaijo.org/index.php/Ratchaphruekjournal/article/download/91887/72046/
https://th.wikipedia.org/wiki/Executive_functions