Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การจัดการเรียนรู้แบบไฮ/สโคป

Posted By Plook Teacher | 11 มี.ค. 62
75,826 Views

  Favorite

นรรัชต์ ฝันเชียร

             การจัดการเรียนรู้แบบไฮ/สโคป (High Scope) นั้น   เป็นการจัดการเรียนรู้ที่เน้นการลงมือทำผ่านมุมกิจกรรมที่หลากหลาย ที่มีสื่อและการจัดกิจกรรมที่เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กเป็นตัวช่วย โดยปล่อยให้เด็กเป็นผู้ริเริ่มการเล่นหรือกิจกรรมต่าง ๆ อย่างอิสระด้วยตัวเอง มีพื้นฐานแนวคิดมาจากทฤษฎีของเพียเจท์ (Piage’s Theory) ที่ว่าด้วยการพัฒนาทางสติปัญญา ที่เน้นการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติ ซึ่งเด็กสามารถสร้างความรู้ได้เองโดยใช้กระบวนการสร้างสรรค์การเรียนรู้ (Constructive process of learning) ผ่านการกระทำของตน และการประเมินผลงานอย่างมีแบบแผน

 

             ที่มาของการจัดการเรียนรู้แบบไฮ/สโคปนั้น เริ่มต้นจากการที่ ดร.เดวิด ไวคาร์ท (Dr.David Weikart) ประธานมูลนิธิวิจัยการศึกษาไฮ/สโคป (High Scope Educational Research Foundation) ได้ร่วมทำงานกับคณะวิจัย อาทิเช่น แมรี่ โฮแมน (Mary Hohmann) และ ดร.แลรี่ ชไวฮาร์ต (Dr.Larry Schweinhart) เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบไฮ/สโคป ซึ่งใช้พื้นฐานจากโครงการเพอรี่ พรี สคูล (Perry Preschool Project) ที่มีมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2505 โดยมีจุดมุ่งหมาย เพื่อช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสให้มีการศึกษาที่เหมาะสม และประสบความสําเร็จในชีวิต

 

             ในการศึกษาวิจัยในครั้งนั้น มูลนิธิได้ศึกษาเปรียบเทียบเด็ก 3 กลุ่ม ประกอบด้วยกลุ่มที่ได้รับการสอนจากครูโดยตรง (Direct Instruction) กลุ่มเนอร์สเซอรี่แบบดั้งเดิม (Traditional Nursery) และกลุ่มที่ได้รับประสบการณ์โปรแกรมไฮ/สโคป ซึ่งจากการศึกษาติดตามเด็กเหล่านี้ตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงอายุ 29 ปี พบว่ากลุ่มที่เรียนด้วยโปรแกรมไฮ/สโคปนั้น มีปัญหาพฤติกรรมทางสังคม-อารมณ์ เช่น การถูกจับข้อหาลักขโมย ทำร้ายผู้อื่น บกพร่องทางอารมณ์ และล้มเหลวในชีวิตน้อยกว่าอีก 2 กลุ่มขั้นต้น จึงอนุมานได้ว่า โปรแกรมนี้มีผลดีต่อการเรียนรู้ของเด็กและการเติบโตของเขาในอนาคต

 

ภาพ : shutterstock.com

 

หัวใจของไฮ/สโคป

             หลักปฏิบัติสำคัญที่ถือเป็นหัวใจของการจัดการเรียนรู้แบบไฮ/สโคปนั้น  ประกอบด้วยกระบวนการ 3 กระบวนการ อันได้แก่

             1. การวางแผน (Plan) เป็นการให้เด็กกำหนดแนวทางการปฏิบัติ หรือการดำเนินงานตามงานที่ได้รับมอบหมายหรือตามสิ่งที่ตัวเองสนใจ โดยคุณครูจะต้องเปิดโอกาสให้เด็กสนทนากับครู หรือสนทนาระหว่างเพื่อนด้วยกัน เพื่อวางแผนการทำงานอย่างเหมาะสม ว่าจะทำอะไร อย่างไร การวางแผนกิจกรรมนี้เด็กต้องมีโอกาสเลือกและตัดสินใจ ซึ่งอาจจะบันทึกด้วยภาพหรือสัญลักษณ์ประจำตัวเด็กหรือบอกให้ครูช่วยบันทึกก็ได้ ซึ่งกระบวนการนี้จะช่วยส่งเสริมความรู้สึกเชื่อมั่นในตนเองของเด็กและความรู้สึกในการควบคุมตนเอง ทําให้เด็กสนใจในกิจกรรมที่ตนเองได้วางแผนไว้

             2. การปฏิบัติ (Do) คือ การให้เด็กลงมือทำกิจกรรมตามแผนที่วางไว้อย่างอิสระตามเวลาที่กำหนด โดยเน้นให้เด็กได้ช่วยกันคิด ทดลองและแก้ปัญหาร่วมกันอย่างมีจุดมุ่งหมาย ได้เรียนรู้ตามประสบการณ์ ค้นพบความคิดใหม่ๆ โดยคุณครูจะทำหน้าที่เป็นผู้ชี้แนะและให้คำแนะนำ มากกว่าจะลงไปจัดการด้วยตัวเอง การทบทวน

             3. (Review) คือกระบวนการที่ให้เด็กสะท้อนผลงานของตัวเองที่ได้ลงมือทำผ่านการพูดคุยหรือแสดงผลต่างๆ เพื่อทบทวนว่าตนเองนั้นได้ปฏิบัติงานตามแผนที่ได้วางไว้หรือไม่ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เด็กได้เชื่อมโยงแผนการปฏิบัติงานกับผลงานที่ทำ รวมถึงการเล่าประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ได้ลงมือทำด้วยตนเอง

 

องค์ประกอบของการเรียนรู้แบบไฮ/สโคป

             องค์ประกอบของการเรียนรู้แบบไฮ/สโคปที่นับว่าเป็นจุดเด่นของการจัดการเรียนรู้รูปแบบนี้ และทำให้เป็นรูปแบบการเรียนรู้นี้แตกต่างจากแนวการจัดการเรียนรู้รูปแบบอื่น ๆ นั้น จำเป็นจะต้องมีองค์ประกอบที่ต้องคำนึงถึง 6 องค์ประกอบด้วยกัน จึงจะทำให้การจัดการเรียนรู้แบบไฮ/สโคปประสบความสำเร็จและมีประสิทธิภาพ ซึ่งองค์ประกอบทั้ง 6 ข้อ มีดังนี้

             1. เปิดโอกาสให้เด็กเป็นผู้ริเริ่มในการเลือกและตัดสินใจทำกิจกรรมและใช้เครื่องมือต่างๆตามความสนใจของตัวเอง ซึ่งจะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้มากกว่าได้รับการบอกต่อความรู้จากผู้ใหญ่

             2. จัดเตรียม สื่อและวัสดุอุปกรณ์ ในห้องเรียนให้มีความหลากหลาย และเหมาะสมกับอายุของเด็ก เพื่อให้เด็กมีโอกาสเลือกวัสดุอุปกรณ์อย่างอิสระ และควรมีการจัดเก็บอย่างเหมาะสม เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งานของเด็ก ซึ่งองค์ประกอบนี้ช่วยให้เด็กรู้จักการเชื่อมโยงการกระทำต่าง ๆ การเรียนรู้ในเรื่องของความสัมพันธ์ และมีโอกาส ในการแก้ปัญหามากขึ้น

             3. พื้นที่และเวลาในห้องเรียนแบบไฮ/สโคป ต้องมีพื้นที่เพียงพอต่อการทำกิจกรรมของเด็ก ทั้งการทำกิจกรรมคนเดียวและการทำกิจกรรมเป็นกลุ่ม รวมถึงมีการจัดมุมประสบการณ์ต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านการเล่น ผ่านบทบาทสมมุติในมุมประสบการณ์ต่าง ๆ และควรจัดสรรเวลาในการดำเนินกิจกรรมในแต่ละวันให้เพียงพอ โดยไม่มากหรือน้อยเกินไป ซึ่งจะช่วยให้เด็กรู้จักการรักษาเวลาอีกด้วย

             4. เน้นให้เด็กใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ในการเรียนรู้ เพื่อให้เด็กคุ้นเคยกับวัตถุและนำไปสู่การเรียนรู้เรื่องความสัมพันธ์ และความเกี่ยวข้องของวัตถุนั้นได้ด้วยตัวเอง

             5. ภาษาจากเด็ก เป็นสิ่งที่เด็กสะท้อนประสบการณ์และความเข้าใจของเด็กออกมาเป็นคำพูด ซึ่งเด็กมักจะเล่าว่าตนเอง กําลังทําอะไร หรือทําอะไรไปแล้วในแต่ละวัน เมื่อเด็กมีอิสระในการใช้ภาษาเพื่อสื่อความคิด เด็กจะรู้จักรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น และมีความเชื่อมั่นในตนเองมากขึ้น

             6. ครูคือผู้สนับสนุนและชี้แนะ ซึ่งครูในรูปแบบของการจัดการเรียนรู้แบบไฮ/สโคปนั้น จะต้องเป็นบุคคลที่คอยรับฟังและส่งเสริมให้เด็กคิด ทําสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง และเป็นผู้สร้างสรรค์ห้องเรียนเพื่อให้เด็กได้พบกับประสบการณ์สําคัญมากมาย ในชิวตประจำวันอย่างเป็นธรรมชาติ

 

ภาพ : shutterstock.com

 

             การจัดการเรียนรู้แบบ ไฮ/สโคป (High Scope) นั้น ถือเป็นแนวการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็ก โดยเฉพาะในเด็กปฐมวัย ซึ่งเป็นแนวทางที่น่าสนใจมากแนวทางหนึ่ง และในปัจจุบันกำลังได้รับความสนใจจากสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการในการเผยแพร่แนวการจัดการเรียนรู้รูปแบบนี้ โดยเห็นได้จากมีโครงการนำแนวการจัดการเรียนรู้แบบไฮ/สโคปนี้ ไปนำร่องพัฒนาห้องเรียนอนุบาลใน 82 โรงเรียนทั่วประเทศ เพื่อให้เป็นโรงเรียนต้นแบบก่อนขยายสู่โรงเรียนอนุบาลอื่น ๆ

             นวัตกรรมจัดการศึกษาปฐมวัยตามแนวคิดไฮ/สโคปนั้น นับได้ว่าเป็นรูปแบบหนึ่งที่ตอบโจทย์ของการจัดการศึกษาที่มีที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นการเรียนรู้แบบ Active Participatory Learning คือ การให้เด็กมีประสบการณ์ตรงกับคน สิ่งของ เหตุการณ์ และความคิด ซึ่งนับว่าเป็นทักษะที่สำคัญในโลกยุคสมัยนี้เป็นอย่างยิ่ง

 

เอกสารอ้างอิง

https://mgronline.com/qol/detail/9620000001088

https://sites.google.com/site/learningdiscoverytoyou/hnwy-kar-reiyn-ru-thi-1/naew-kar-sxn-baeb-hi-skhop

https://th.theasianparent.com/%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81-%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%AE%E0%B8%AA%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%9B-%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%97%E0%B8%B3

http://www.rakluke.com/school-zone/11/56/1362/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%84%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B9%84%E0%B8%AE%E0%B8%AA%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%9B-high-scope

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow