โดย นายนรรัชต์ ฝันเชียร
การสอบนั้น มีองค์ประกอบที่สำคัญอยู่ 4 องค์ประกอบด้วยกัน นั้นคือ
1. ตัวบุคคลที่เป็นผู้ถูกวัดหรือถูกประเมินผล
2. ตัวข้อสอบที่เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการวัด
3. การดำเนินการสอบที่ควรสร้างให้เกิดความยุติธรรม เสมอภาค และบรรยากาศเงียบสงบที่เอื้อต่อการใช้ความคิดของผู้สอบ
4.ผลการสอบที่แสดงผลความสามารถของผู้สอบออกมาเป็นค่าคะแนนเพื่อวัดผลได้
สำหรับรูปแบบของข้อสอบนั้น เราสามารถแบ่งประเภทของข้อสอบได้หลายลักษณะ แต่ถ้าแบ่งตามลักษณะของการทำข้อสอบแล้ว เราสามารถแบ่งออกได้ดังนี้
คือข้อสอบที่เน้นให้ผู้สอบ เขียนคำตอบตอบออกมาเป็นความเรียงโดยเสรีตามทักษะภาษาและความคิดเห็นของแต่ละคน ซึ่งในการออกข้อสอบแบบอัตนัยนั้น มีหลักการหรือเทคนิคในการดำเนินการดังนี้
1. เขียนคำถามและคำชี้แจงเกี่ยวกับการทำข้อสอบ เช่น ลักษณะการตอบคำถาม เวลาที่ใช้ และคะแนนของคำถามให้ชัดเจน
2. ควรใช้ข้อสอบแบบอัตนัยในการวัดเกี่ยวกับการอภิปรายข้อวิจารณ์หรือการแสดงความคิดเห็น ไม่ควรใช้วัดเรื่องของความรู้ความจำ
3. ในการออกข้อสอบอัตนัย ควรตั้งคำถามที่กระชับ รัดกุม ไม่คลุมเครือ
4. การออกข้อสอบอัตนัย ควรพุ่งประเด็นไปที่จุดสำคัญของเรื่องที่ต้องการวัดที่วางไว้ในการวิเคราะห์หลักสูตร
5. ไม่ควรออกข้อสอบให้มากข้อ ควรกำหนดจำนวนข้อสอบให้สัมพันธ์กับเวลา เพราะต้องเผื่อเวลาให้ผู้สอบวิเคราะห์และเขียนคำตอบ
6. ไม่ควรกำหนดข้อสอบให้มีหลายข้อแล้วให้ผู้สอบเลือกตอบเป็นบางข้อ เพราะแต่ละข้อนั้นมีความยากง่ายไม่เท่ากัน จะส่งผลให้การวัดไม่มีประสิทธิภาพ
7. ในตรวจข้อสอบ ผู้ตรวจต้องมีชุดคำตอบที่กำหนดไว้ เพื่อเปรียบเทียบกับคำตอบของผู้สอบ
8. ผู้ตรวจต้องตรวจด้วยใจที่เป็นกลาง และควรมีคนตรวจมากกว่าหนึ่งคน เพื่อให้เกิดความยุติธรรม
เป็นลักษณะของข้อสอบแบบถามตอบที่มีการกำหนดตัวเลือกคำตอบไว้ล่วงหน้าแล้ว ผู้สอบมีหน้าที่ในการเลือกคำตอบที่ถูกต้อง ซึ่งมีหลายลักษณะ ตามแนวทางในการทำข้อสอบ คือ
- แบบถูก-ผิด (true- false) คือลักษณะข้อสอบปรนัยที่มีแค่สองตัวเลือก โดยเน้นให้ผู้สอบพิจารณ์ข้อคำถามแล้วให้คำตอบว่า ถูกหรือผิด ใช่หรือไม่
- แบบเติมคำ (completion) คือลักษณะข้อสอบปรนัยที่เน้นให้ผู้สอบเขียนตอบสั้นๆ ในส่วนที่เว้นว่างไว้ในข้อสอบ
- แบบจับคู่(matching) คือลักษณะของข้อสอบปรนัยที่ให้เลือกคำตอบจากชุดคำตอบที่กำหนด ไปใส่ในข้อคำถามที่ถูกต้อง
- แบบเลือกตอบ (multiple choice) คือลักษณะของข้อสอบปรนัยที่มีคำถามและตัวเลือกคำตอบให้ 3-5 ข้อ แล้วให้ผู้สอบเลือกคำตอบที่ถูกต้องจากตัวเลือกที่กำหนด
ซึ่งหลักการและเทคนิคในการออกข้อสอบแบบปรนัยนั้น สามารถสรุปโดยรวมคร่าวๆดังนี้
1. การออกข้อสอบปรนัยต้องระบุคำชี้แจงในการทำข้อสอบให้ชัดเจน ถึงวิธีการทำ เวลาที่ใช้ และคะแนนที่ได้ในแต่ละข้อ
2. ใช้คำถามที่สั้นกระชับไม่ใช้คำฟุ้มเฟือย ไม่คลุมเครือ
3. ควรมีตัวเลือกคำตอบหรือให้ตอบคำถามที่ถูกต้องตายตัวแน่นอน
4. ไม่ควรสร้างข้อสอบให้เกิดการแนะคำตอบ เช่น ข้อแรกถามว่าเมืองหลวงของประเทศไทยคือข้อใด และข้อถัดถามว่า กรุงเทพฯที่เป็นเมืองหลวงของประเทศไทยมีกี่เขต เป็นต้น
5. ควรใช้ข้อสอบแบบปรนัยกับการวัดในเรื่องความรู้ความจำ
6. ควรออกข้อสอบให้ครอบคลุมเนื้อหาที่ได้สอนไปแล้ว ไม่ควรออกข้อสอบในเนื้อหานอกเหนือจากที่สอน
7. กำหนดจำนวนข้อสอบให้สัมพันธ์กับเวลาในการทำและความเข้มข้นของเนื้อหา เช่น วิชาคณิตศาสตร์อาจกำหนดข้อสอบไว้เพียง 20 ข้อต่อการทำข้อสอบ 1 ชั่วโมง ในขณะที่ วิชาสังคมศึกษาอาจกำหนดข้อสอบได้ถึง 60 ข้อต่อการทำข้อสอบ 1 ชั่วโมง เป็นต้น
จากการออกข้อสอบตามแต่ละลักษณะนั้น แม้ว่าเรื่องของหลักการหรือเทคนิคจะเป็นสำคัญมาก แต่เรื่องคุณภาพของข้อสอบหรือแบบทดสอบ ก็เป็นเรื่องที่สำคัญที่ผู้ออกข้อสอบต้องคำนึงถึงด้วยเช่นเดียวกัน โดยคุณลักษณะของข้อสอบที่ดีนั้น จะต้องประกอบด้วย
1. ต้องมีความเที่ยงตรง (Validity) คือข้อสอบนี้ต้องสามารถวัดความรู้ ความเข้าใจ หรือทักษะต่างๆ ได้ถูกต้องตรงตามเนื้อหา
2. ต้องมีความเชื่อมั่น (Reliability) คือข้อสอบนี้จะต้องมีความคงเส้นคงวาในการวัดแต่ละครั้ง
3. ต้องมีความเป็นปรนัย (Objectivity) คือข้อสอบต้องมีความชัดเจนในความหมายของคำถาม และสามารถตรวจและแปลผลคะแนนได้ตรงกัน
4. ต้องมีความยากง่าย (Difficulty) คือข้อสอบควรมีมีระดับความยากง่ายอย่างเหมาะสม
5. ต้องมีอำนาจจำแนก (Discrimination) คือข้อสอบต้องสามารถแบ่งเด็กเก่งและเด็กอ่อนได้
6. ความมีประสิทธิภาพ (Efficiency) คือ การที่ข้อสอบสามารถวัดผลได้ถูกต้องน่าเชื่อถือ
7. ต้องมีความยุติธรรม (Fair) คือการที่ข้อสอบจะต้องไม่ทำให้ผู้สอบได้เปรียบหรือเสียเปรียบกว่าคนอื่น
จะเห็นได้ว่า ในการออกข้อสอบทั้งแบบอัตนัยและปรนัยนั้น ผู้ออกข้อสอบจะต้องมีทักษะความรู้ในการเขียนพอสมควร รวมถึงจะต้องมีความรู้ความเข้าใจอย่างดีในเรื่องที่จะต้องออกข้อสอบ เพื่อให้ข้อสอบนั้นมีคุณภาพสามารถวัดผลได้ตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตร นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญนอกเหนือจากเรื่องทักษะของผู้ออกข้อสอบนั้น ก็คือ เรื่องของอารมณ์ความรู้สึกของผู้ออกข้อสอบเอง ที่ต้องตั้งมั่นอยู่บนความยุติธรรม ไร้ซึ่งอคติ ไม่ลำเอียง เพราะถ้าผู้ออกข้อสอบมีความลำเอียงในการออกข้อสอบแล้วไซร์ ก็มีแนวโน้มจะเลือกออกข้อสอบที่ส่งผลให้ผู้เรียนได้เปรียบและเสียเปรียบได้โดยง่าย ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น เราจะต้องมีการสอบเพื่ออะไร เพราะมันคงไม่มีประโยชน์อันใดเลยกับผู้เรียน
อ้างอิงข้อมูลจาก
บทความ ลักษณะของแบบทดสอบที่ดี http://www.ipecp.ac.th/ipecp/cgi-binn/webpili/unit8/level8-1.html
บทความ ประเภทของแบบทดสอบ https://piladda.files.wordpress.com/2012/06/e0b89be0b8a3e0b8b0e0b980e0b8a0e0b897e0b882e0b8ade0b887e0b981e0b89ae0b89ae0b897e0b894e0b8aae0b8ade0b89a1.pdf