ก.ค.ศ.เห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย โดยสรุปสาระสำคัญ ดังน
ในการเปิดสอบแข่งขันฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปี พ.ศ.2561 จะมีการเปิดสอบใน 74 จังหวัด และสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) รวมทั้งสิ้น 98 กลุ่มวิชา (โดยจังหวัดที่ไม่ประสงค์เปิดสอบได้แก่ จังหวัดพะเยา อำนาจเจริญ และสงขลา)
สำหรับสาขาวิชาที่ขาดแคลนและมีความจำเป็น สพฐ.ได้ทำการสำรวจข้อมูลจากสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ต่าง ๆ แล้ว พร้อมทั้งจัดประชุมสัมมนาร่วมกับประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย ผู้แทนจากคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์จากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ได้ข้อสรุปร่วมกันว่า สาขาวิชาขาดแคลน หมายถึง 1) เปิดสอบแล้วไม่มีผู้สมัคร 2) เปิดสอบแล้วมีสมัครน้อย 3) สถาบันอุดมศึกษาไม่เปิดสอนในหลักสูตรระดับปริญญาตรี 5 ปี หรือเปิดสอนแต่ยังไม่มีผู้สำเร็จการศึกษาในหลักสูตรระดับปริญญาตรี 5 ปี ดังนี้
1. กลุ่มวิชา หรือทาง หรือสาขาวิชาเอกที่ไม่เปิดสอนในหลักสูตรครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ระดับปริญญาตรี 5 ปี หรือเปิดสอนแต่ยังไม่มีผู้สำเร็จการศึกษาในหลักสูตรระดับปริญญา 5 ปี จำนวน 32 กลุ่มวิชา ได้แก่ ภาษาสเปน ภาษาเกาหลี ภาษาพม่า ภาษาเขมร ภาษาเวียดนาม ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ การพยาบาล ดนตรีพื้นเมือง ออกแบบนิเทศศิลป์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมไฟฟ้า อุตสาหกรรมศิลป์ อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรม (ก่อสร้าง) อุตสาหกรรมศิลป์ (ช่างยนต์) อุตสาหกรรมไฟฟ้า ช่างโลหะ การจัดการงานก่อสร้าง โสตทัศนศึกษา การเงินและบัญชี การเงินและการบัญชี การเงิน/บัญชี การเงินบัญชี การเงินการบัญชี ธุรกิจการเงินการบัญชี ธุรกิจ (การเงิน) ธุรกิจ (พัสดุ) พัสดุ กายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด จิตวิทยาคลินิก
2. กลุ่มวิชา หรือทาง หรือสาขาวิชาเอกที่ขาดแคลนและมีความจำเป็นต่อการจัดการเรียนการสอน จำนวน 10 กลุ่มวิชา ได้แก่ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเยอรมัน ภาษาจีน ดนตรี ดนตรีศึกษา ดนตรีไทย ดนตรีสากล ดุริยางคศิลป์ ทัศนศิลป์ ซึ่งมีความขาดแคลนซ้ำซาก เปิดสอบแล้วไม่มีคนมาสอบ หรือเปิดสอบแล้วไม่มีผู้สอบได้ ซึ่งจะพิจารณาเป็นรายจังหวัด ไม่ใช่เป็นความขาดแคลนภาพรวม