Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การต่างประเทศสมัยรัตนโกสินทร์

Posted By Plookpedia | 05 ก.ค. 60
24,322 Views

  Favorite

เราทุกคนต้องมีเพื่อน 

เรามีเพื่อนบ้าน เรามีเพื่อนที่โรงเรียน และเราอาจจะมีเพื่อนอื่นๆ ที่อยู่ไกลออกไป 

ประเทศชาติก็เช่นเดียวกัน 

ประเทศไทยมีประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว พม่า เขมรหรือกัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินเดีย

มีมิตรประเทศที่อยู่ห่างออกไปในทวีปอื่นๆ อีกมากมายหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี ออสเตรเลีย เป็นต้น

เมื่อเราคบกับเพื่อนบ้าน หรือเพื่อนที่โรงเรียน เราไปมาหาสู่กันพูดคุยกัน เล่นด้วยกัน หรือเขียนจดหมายถึงกัน เมื่อเพื่อนอยู่ห่างไกล
ประเทศต่างๆ ก็คบกันด้วยการส่งผู้แทนไปติดต่อกัน ซื้อ ขาย แลกเปลี่ยนสินค้ากัน ช่วยเหลือกัน

เพื่อความสะดวกต่างก็ส่งผู้แทนไปประจำอยู่ตามประเทศต่างๆ ที่เป็นมิตร

การติดต่อคบหากันเช่นนี้เรียกว่าการต่างประเทศ

ในสมัยนี้ นอกจากประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ไทยยังติดต่อกับมิตรประเทศอื่นๆ ในโลกอีกหลายประเทศด้วยกัน

บางครั้งคนไทยก็ไปเที่ยว หรือไปเรียนหนังสือในประเทศอื่น และบางครั้งชาวต่างประเทศก็เข้ามาเที่ยว ค้าขาย หรือทำงาน ในเมืองไทย

ประเทศต่างๆ มีความจำเป็นที่จะต้องติดต่อกัน เพื่อการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าการศึกษาความรู้ การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ประเทศไทยเรามีความสัมพันธ์ฉันมิตรกับนานาประเทศมาตั้งแต่สมัยโบราณ เราได้ค้าขายกับประเทศ จีน อินเดีย และประเทศใกล้เคียงอื่นๆ ครั้งถึงสมัยที่ชาวยุโรปเดินทางมาค้าขาย และผูกไมตรีกับชาวตะวันออก ในสมัยกรุงศรีอยุธยา พระมหากษัตริย์ไทยก็ทรงรับไมตรีต่างประเทศ และยังได้ส่งราชทูตไทยไปเชื่อมสัมพันธไมตรีอีกด้วย เช่น ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ไทยได้ส่งราชทูตไปเจริญพระราชไมตรี กับพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ และฝรั่งเศสก็ส่งราชทูตมายังกรุงศรีอยุธยา ครั้งสิ้นสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแล้ว พระเพทราชา กษัตริย์องค์ต่อมา ไม่มีนโยบายจะคบฝรั่ง ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับประเทศในยุโรป จึงสิ้นสุดลง

หมอแดน บีช บรัดเลย์

 

ชาวยุโรปเริ่มเข้ามาติดต่อกับไทยอีกครั้งหนึ่ง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรตุเกสเป็นฝรั่งชาติแรกที่เข้ามาขอทำสัญญาค้าขาย และขอตั้งสถานกงสุล (คือตัวแทนประเทศ คอยดูแลผลประโยชน์ และคนในบังคับของประเทศของตนในเมืองไทย) เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๖ อังกฤษเป็นชาติที่สองที่เข้ามาเจรจา ขอทำสัญญาทำนองเดียวกัน ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่สองประเทศหลังนี้ไม่ได้รับอนุญาตให้ตั้งสถานกงสุล การค้าระหว่างไทยกับประเทศตะวันตกในระยะต้นนั้น มีข้อที่ชาวตะวันตกไม่พอใจ เช่น เรื่องการเก็บภาษีหลายชั้น และการผูกขาด ของพระคลังสินค้า แม้จะได้เปลี่ยนแปลงอัตราภาษีบ้างในสัญญาที่ทำกันในรัชกาลที่ ๓ คือ คิดแต่ภาษีปากเรืออย่างเดียว แต่พอค้าต่างประเทศก็ยังกล่าวว่า ภาษีสูงเกินไป ในรัชกาลที่ ๓ นั้นเอง ไทยยอมให้ชาวยุโรปเข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนา ศาสนาจารย์อเมริกันได้นำเอาวิธีรักษาโรคแผนใหม่มาใช้ในเมืองไทย เช่น การปลูก และฉีดวัคซีนป้องกันโรค เป็นต้น

หมอแซมมวล เฮาส์

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงความจำเป็น และประโยชน์ที่จะได้จากการประนีประนอมตามความต้องการของชาวยุโรป ไทยจึงได้ยอมทำสัญญาใหม่กับทุกประเทศ ยกเลิกการผูกขาดของพระคลังสินค้า และคิดภาษีสินค้าขาเข้าเพียงร้อยละ ๓ เลิกภาษีปากเรือ และยอมให้ตั้งศาลกงสุลในเมืองไทย (ศาลกงสุลคือ ศาลที่มีผู้พิพากษาชาวต่างประเทศ เป็นผู้ตัดสินใจคดีที่เกิดขึ้น ระหว่างชาวต่างประเทศด้วยกัน หรือระหว่างชาวต่างประเทศกับคนไทย) นอกจากนี้ สัญญานี้ยังไม่กำหนดเวลา นับว่า ไทยเสียเปรียบเป็นอย่างมาก แต่เมื่อเทียบกับประเทศใกล้เคียง ที่ต้องเสียเอกราช ให้แก่มหาอำนาจตะวันตกแล้ว ก็จะเห็นว่า เอกราชของชาตินั้น สำคัญกว่าข้อเสียเปรียบทั้งหลายเหล่านี้
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดเหตุการณ์รุนแรงระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ระยะนั้นฝรั่งเศสได้เวียดนาม และเขมรหรือกัมพูชาไว้ในอำนาจแล้ว ประสงค์จะได้ดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง (ส่วนใหญ่ของประเทศลาวปัจจุบัน) อ้างว่า ดินแดนนี้เคยเป็นของเวียดนาม ได้เกิดการปะทะกันระหว่างไทยกับเรือรบฝรั่งเศส ที่ปากแม่น้ำ ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ ฝรั่งเศสประกาศปิดอ่าวไทย ในที่สุดไทยต้องยอมตามความ ประสงค์ของฝรังเศส และทำสัญญาเมื่อเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ยกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ให้แก่ฝรั่งเศส ฝรั่งเศสเข้ายึดเมืองจันทบุรีไว้ ใน พ.ศ. ๒๔๔๗ ไทยต้องทำสัญญาอีกฉบับหนึ่ง ยกดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงตรงข้ามเมืองหลวงพระบาง และทางใต้ตรงข้ามเมืองปากเซให้แก่ฝรั่งเศส เพื่อให้ทหารฝรั่งเศส ถอยออกจากจันทบุรี แต่ฝรั่งเศสก็เข้ายึดเมืองตราดไว้แทน ใน พ.ศ. ๒๔๕๐ ไทยต้องยอมยกพระตะบอง เสียมราฐและศรีโสภณ ให้ฝรั่งเศส แลกกับการถอนทหารฝรั่งเศสออกจากตราด และฝรั่งเศสยอมให้มีศาลต่างประเทศแทนศาลกงสุล (ในศาลต่างประเทศ ผู้พิพากษาเป็นคนไทย แต่กงสุลมีสิทธินั่งฟังการพิจารณาด้วย หากไม่พอใจอาจถอนคดีไปพิจารณาในศาลกงสุลได้) และใน พ.ศ. ๒๔๕๒ ไทยทำสัญญายกเมืองไทรบุรี ปะลิส กลันตัน ตรังกานู ให้แก่อังกฤษ เพื่อแลกกับศาลต่างประเทศ เช่นเดียวกัน

หมอสตีเฟน แมททูน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงความจำเป็น ที่จะต้องพัฒนาประเทศ ได้เสด็จประพาสต่างประเทศที่เจริญแล้ว ทั้งในเอเชีย และยุโรป ทรงส่งพระราชโอรส พระเจ้าน้องยาเธอ และนักเรียนไทยไปศึกษาวิชา ณ ประเทศต่างๆ ในยุโรป ทรงจ้างครูและที่ปรึกษาชาวยุโรป และอเมริกัน มาสอนหนังสือ และเป็นที่ปรึกษาในการปรับปรุงประเทศทั้งในด้านการศึกษา การแพทย์ การศาล การเกษตร การคมนาคม และอื่นๆ

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ ในยุโรป ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๕๗-๒๔๖๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่า เยอรมนีเป็นฝ่ายรุกราน ได้ตัดสินพระทัยประกาศสงครามกับเยอรมนี และออสเตรีย-ฮังการี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ โดยไทยได้ส่งกองทหารไปสมทบกับฝ่ายสัมพันธมิตร ครั้นเมื่อเยอรมนีแพ้สงครามไทยจึงได้ชื่อว่า เป็นฝ่ายชนะครามด้วย เป็นผลให้ไทยได้พยายามเจรจาขอแก้ไขสัญญาต่างๆ ที่ทำกับต่างประเทศ และผูกมัดไทยมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๙๘ โดยเฉพาะในเรื่องอำนาจศาล กงสุล และการเก็บภาษีสินค้าขาเข้า ปรากฏว่า ได้รับความสำเร็จบ้างในเรื่องภาษีอากร จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๘๐ เมื่อไทยมีกฎหมายตามแบบสากลครบถ้วนแล้ว ไทยจึงได้ทำสัญญาใหม่กับประเทศต่างๆ จากสัญญาเหล่านี้ ไทยได้อำนาจศาลคืนมาโดยสมบูรณ์

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสอิตาลี

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อฝรั่งเศสทำสัญญาสงบศึกกับเยอรมนีแล้ว ได้หันมารุกรานชายแดนด้านที่ติดต่อกับอินโดจีน เกิดรบพุ่งกับไทยเป็นสงครามอินโดจีนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓ ญี่ปุ่นอาสาเข้าไกล่เกลี่ย ในที่สุดฝรั่งเศสคืนดินแดนที่ได้ไปจากไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๗ และ พ.ศ. ๒๔๕๐ ต่อมาในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ญี่ปุ่นส่งทหารขึ้นบกที่หัวเมืองชายทะเลของไทยหลายแห่ง ขอเดินทัพผ่านไทยไปยังพม่าและมลายูของอังกฤษ เหตุการณ์บังคับให้ไทยต้องเข้าร่วมกับฝ่ายญี่ปุ่นในสงครามครั้งนี้ แต่คนไทย ในสหรัฐอเมริกา และยุโรปไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลไทย จึงได้ก่อตั้งเป็นขบวนการเสรีไทยขึ้น ร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตร ดังนั้น เมื่อสงครามโลกสงบลง ด้วยความช่วยเหลือของสหรัฐอเมริกา ฝ่ายสัมพันธมิตรจึงมิได้ปฏิบัติต่อไทย เหมือนประเทศที่แพ้สงครามอื่นๆ และไทยก็ได้ร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตรเท่าที่จะทำได้ ไทยได้เข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๘ และได้เป็นสมาชิกขององค์การระหว่างประเทศอื่นๆ อีก เช่น องค์การป้องกันร่วมกันแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ส.ป.อ.) เป็นต้น และไทยก็ได้พยายามดำเนินนโยบายต่างประเทศ อันจะนำมาซึ่งความสงบสุขของชาวไทย และของมนุษยชาติทั้งหลายในโลกตลอดมา

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow