ก่อนที่เราจะเข้าสู่เส้นทางแห่งการเป็นครูอย่างเต็มตัว อย่างแรกเราต้องเรียนหลักสูตรครู 5 ปี ในสถาบันที่ได้รับการรับรองจากคุรุสภาเมื่อจบแล้วให้เรายื่นคำขอเพื่อสอบขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เฉพาะหลักสูตรทางการศึกษาที่ได้รับรองจากคุรุสภา เมื่อเราได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพมาแล้วนั้น ขั้นแรกก็คือ การสอบครูผู้ช่วยซึ่งใน 1 ปีจะมีการสอบ 2 รอบ คือตำแหน่งครูผู้ช่วยทั่วไปและตำแหน่งครูผู้ช่วยกรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ หรืออาจมีการเพิ่มรอบการเปิดรับสมัครตามความต้องการของเขตพื้นที่การศึกษาที่ร้องขอนั่นเอง
แล้วจะมีวิธีการสอบและขั้นตอนอย่างไรนั้นเรามีแบ่งออกเป็นข้อให้เห็นอย่างชัดเจน ดังนี้
1. การสอบแข่งขัน แบ่งเป็นภาค ก ภาค ข และภาค ค
2. ผู้ดำเนินการสอบแข่งขัน
- ภาค ก ให้ ก.ค.ศ. หรือส่วนราชการ หรือหน่วยงานอื่นที่ ก.ค.ศ. มอบหมาย เป็นผู้ดำเนินการสอบ
- ภาค ข และ ภาค ค ให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) หรือ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้งแล้วแต่กรณี เป็นผู้ดำเนินการสอบ
3. กำหนดวันเวลาในการสอบ
- ภาค ก ให้ ก.ค.ศ. หรือส่วนราชการ หรือหน่วยงานอื่นที่ ก.ค.ศ. มอบหมาย เป็นผู้กำหนดวันเวลาในการสอบ
- ภาค ข และ ภาค ค ให้ส่วนราชการ เป็นผู้กำหนดวันเวลาในการสอบ
4. คุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์สมัครสอบ
- ภาค ก
1) ต้องมีคุณสมบัติทั่วไปตามมาตรา 30
2) ต้องมีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งตามมาตรฐานตำแหน่ง ครูผู้ช่วย
3) ต้องมีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการศึกษาหรือทางอื่น ที่ได้รับการรับรองจาก ก.ค.ศ. ไม่หลังวันรับสมัครวันสุดท้าย
- ภาค ข และ ภาค ค กำหนดเหมือนภาค ก แต่เพิ่มอีก 1 ข้อ คือ "ต้องมีหนังสือรับรองผลการสอบผ่าน ภาค ก ที่ยังไม่ครบอายุการขึ้นบัญชี"
5. หลักสูตรการสอบแข่งขัน แบ่งออก เป็น 3 ภาค
- ภาค ก ความรอบรู้ ความสามารถทั่วไป และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคุณธรรม จริยธรรม และอุดมการณ์ของความเป็นครู มาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษา และความรู้อื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่
- ภาค ข ความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง
- ภาค ค ความเหมาะสมกับตำแหน่งและวิชาชีพ
6. ค่าธรรมเนียมในการสมัคร
- ภาค ก ค่าธรรมเนียม 200 บาท
- ภาค ข และ ภาค ค ค่าธรรมเนียม 300 บาท
7. การดำเนินการสอบ ภาค ก ภาค ข และ ภาค ค
1) ประกาศรับสมัครไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ
2) รับสมัครสอบแข่งขันไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ไม่เว้นวันหยุดฯ ด้วยการยื่นสมัครด้วยตนเองหรือยื่นสมัครทางอิเล็กทรอนิกส์
3) กำหนดให้มีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสาร คุณสมบัติฯ
4) ให้ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบแข่งขัน
5) ผู้ดำเนินการสอบฯ อาจตั้งคณะกรรมการและเจ้าหน้าที่รับผิดชอบได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม
8. เกณฑ์การตัดสิน
- ภาค ก ใช้เกณฑ์ “ผ่าน” โดยต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละหกสิบ จึงจะออกหนังสือรับรองผลการสอบผ่านให้
- ภาค ข และ ภาค ค ต้องได้คะแนนแต่ละภาคไม่น้อยกว่าร้อยละหกสิบ จึงจะถือว่าเป็นผู้สอบแข่งขันได้
9. การประกาศรายชื่อ
- ภาค ก ให้ประกาศรายชื่อผู้สอบผ่าน โดยต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละหกสิบ และให้ออกหนังสือรับรองผลให้แก่ผู้สอบผ่าน เพื่อนำไปใช้เป็นหลักฐานประกอบการสมัครสอบ ภาค ข และ ภาค ค
- ภาค ข และ ภาค ค ให้ประกาศรายชื่อเฉพาะผู้ที่ได้คะแนนแต่ละภาคไม่ต่ำกว่าร้อยละหกสิบ โดยให้เรียงลำดับที่จากผู้ที่ได้คะแนนรวมทั้ง 2 ภาค จากมากไปหาน้อย
10. อายุหนังสือรับรองผลการสอบ ภาค ก
หนังสือรับรองผลการสอบผ่าน ภาค ก ให้ใช้ได้ไม่เกินห้าปี นับแต่วันที่ประกาศรายชื่อผู้สอบผ่าน หากได้รับการบรรจุและแต่งตั้งฯแล้ว หนังสือรับรองผลการสอบผ่าน ภาค ก ทุกฉบับ ที่ออกก่อนวันบรรจุและแต่งตั้งเป็นอันยกเลิก
11. อายุการขึ้นบัญชี
บัญชีผู้สอบแข่งขันได้ ให้เป็นไปตามประกาศการขึ้นบัญชีฯ
12. การเรียกตัวเพื่อบรรจุและแต่งตั้ง
1) ครั้งแรก ให้ใช้ประกาศขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ เป็นการเรียกตัวผู้มีสิทธิ์ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งตามลำดับที่ที่ประกาศผลการสอบแข่งขัน ก่อนการเปิดภาคเรียนไม่น้อยกว่า 15 วัน
2) ครั้งต่อๆ ไป ให้ผู้ดำเนินการสอบแข่งขัน ทำหนังสือเรียกตัวผู้สอบแข่งขันได้โดยตรงเป็นรายบุคคล ก่อนวันรายงานตัวไม่น้อยกว่าสิบวัน