Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

กลยุทธ์การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสถานศึกษากับชุมชน (Strategies to Improve School and Community Relationships)

Posted By Plook Teacher | 02 พ.ย. 59
91,770 Views

  Favorite

 

 

ประสงค์ ถึงแสง

 

       สถานศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน โดยที่ชุมชนมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาและความสำเร็จของสถานศึกษา ขณะเดียวกันโรงเรียนก็มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชน ดังนั้น นอกจากการบริหารงานสถานศึกษาในด้านวิชาการและการบริหารจัดการแล้ว ผู้บริหารสถานศึกษาจึงมีอีกหนึ่งบทบาทสำคัญในการสร้างกลไกการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน พัฒนาความสัมพันธ์แบบเกื้อกูลกันกับชุมชน เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน เพื่อพัฒนาโรงเรียนให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของชุมชน และเพื่อได้รับความร่วมมือสนับสนุนจากชุมชนในกิจกรรมสร้างสรรค์พัฒนาต่างๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งโรงเรียนและชุมชนอย่างยั่งยืน

 

หลัก 3S’s ในการสร้างความร่วมมือและการสนับสนุนจากชุมชน 


       S –Shared Vision คือการสร้างให้ชุมชนมีวิสัยทัศน์ร่วมกันกับสถานศึกษา ในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้และพัฒนาตนเองของนักเรียน ให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ เป็นคนเก่ง คนดี สามารถทำคุณประโยชน์ให้กับชุมชน และประเทศชาติ โดยมีผู้บริหารสถานศึกษา ครู และสมาชิกชุมชนเป็นต้นแบบที่ดี ร่วมมือให้ความช่วยเหลือสนับสนุนในทุกๆ ด้าน

 

       S- Synergy คือการรวมพลังประสานความร่วมมือกับชุมชนให้ทำงานร่วมกับสถานศึกษา โดย เอาจุดแข็งและความพร้อมของบุคคลและทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนมาสร้างสรรค์จนเกิดเป็นประโยชน์สูงสุดโดยมุ่งผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ

 

       S-School Based Activities การสร้างสถานศึกษาให้เป็นแหล่งความรู้ ศูนย์กลางพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของชุมชน โดยการดึงผู้ปกครองและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาคุณภาพสถานศึกษารวมไปถึงการหรือการจัดฝึกสอนฝึกอบรมตามที่ชุมชนต้องการ หรือ เปิดโอกาสให้สมาชิกชุมชนที่มีความรู้ ความสามารถมาเป็น "ผู้ถ่ายทอดภูมิความรู้ ” เช่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น ครูชาวบ้าน สร้างเครือข่ายการเรียนรู้แหล่งเรียนรู้ เป็นศูนย์การเรียนรู้ทั้งภาครัฐและธุรกิจเอกชน นอกจากนี้ ยังสามารถใช้สถานศึกษาเป็นศูนย์กลางการจัดกิจกรรมต่างๆ ในชุมชน โดยการให้ชุมชนใช้ อาคาร สถานที่ อุปกรณ์ต่างๆ เป็นต้น


หลักการสร้าง Trust เพื่อพัฒนาสู่ความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน

       ความสัมพันธ์ที่ดีมีพื้นฐานมาจาก ความเชื่อมั่นและไว้วางใจ (Trust) โดยการ เข้าใจ เข้าถึง เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และชื่นชมยกย่องให้เกียรติคนในชุมชน 

กลยุทธ์และเครื่องมือที่ใช้ในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสถานศึกษาและชุมชน

1. การวิเคราะห์ศักยภาพของโรงเรียน 

       การใช้เครื่องมือวิเคราะห์ต่างๆ เพื่อประเมินสถานการณ์ ความพร้อมของโรงเรียนเช่นการใช้เครื่องมือพื้นฐานอย่าง SWOT เพื่อวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของโรงเรียน ที่มาจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอก 

       จากตัวอย่าง การวิเคราะห์SWOT จะได้รายการของหัวข้อที่เป็นจุดอ่อน จุดแข็ง โอกาสและอุปสรรค ความเสี่ยง ซึ่งสามารถลำดับตามความสำคัญและผลกระทบที่จะเกิดกับสถานศึกษาได้เมื่อทราบถึงจุดแข็ง หรือโอกาสจะสามารถนำจุดแข็งและโอกาสไปพัฒนาต่อยอดเป็นกิจกรรมที่ก่อเกิดประโยชน์กับชุมชนได้อย่างเต็มที่ หรือเมื่อพบจุดอ่อนหรือความเสี่ยงที่มีจะมีผลกระทบที่ต้องรีบแก้ไขหรือหามาตรการป้องกันก็สามารถดึงชุมชนเข้ามารับรู้และมีส่วนร่วมในการแก้ไขได้

 

2. การวิเคราะห์ต้นทุนชุมชน (Community Capital Analysis)

       เป็นเครื่องมือที่จะช่วยในการวิเคราะห์ ประเมินความพร้อมและศักยภาพชุมชน โดยพิจารณาจากต้นทุนชุมชนทั้ง 7 ด้าน เพื่อเข้าใจและสามารถนำต้นทุนที่ชุมชนมีอยู่มาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ตาราง และตัวอย่างการวิเคราะห์ต้นทุนชุมชน


หลักการวิเคราะห์ผล :
คะแนน 3 และ 4 คือต้นทุนที่มีความพร้อมและศักยภาพสูง
สามารถนำไปพัฒนาต่อยอด หรือนำไปใช้เพื่อการพัฒนาชุมชนได้ก่อน จากตัวอย่างข้างต้น จะเห็นว่าต้นทุนที่มีความพร้อม มีศักยภาพสูงที่สุด (คะแนน 4) คือ

 

- ต้นทุนทางสังคม แสดงถึง ความสามัคคีของคนในชุมชน การมีน้ำใจช่วยเหลือกัน การจัดกิจกรรมหรือแสวงหาความร่วมมือจากชุมชนจึงเป็นเรื่องไม่ยากนักสำหรับชุมชนนี้ สามารถการจัดกิจกรรมที่เป็นประจำสม่ำเสมอ เช่น การประชุมชุมชนประจำเดือน การจัดงานบุญ ประเพณีประจำปี การจัดตั้งกลุ่มจิตอาสาเพื่อพัฒนาชุมชน เป็นต้น


- ต้นทุนมนุษย์ แสดงถึงชุมชนมีผู้มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอยู่มาก ซึ่งสามารถนำความรู้ความเชี่ยวชาญมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น การจัดสอน อบรมเรื่องการเกษตรการจัดอบรมหลักสูตร ความปลอดภัยในการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม หรือการสอนอาชีพทางเลือกต่างๆ เป็นต้น

 

คะแนน 1 หรือ 2 คือต้นทุนที่มีความพร้อมน้อย ยังต้องการการพัฒนาปรับปรุงเพื่อให้สามารถเป็นต้นทุนที่เข้มแข็งสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้มากกว่านี้ จากตัวอย่าง ต้นทุนที่มีความพร้อมน้อยหรือน้อยที่สุด (คะแนน 1 หรือ 2) คือ

 

- ต้นทุนทางการเงิน ต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม และต้นทุนทางวัฒนธรรม (คะแนน 2) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ชุมชนยังขาดความพร้อมในด้านต่างๆ เหล่านี้ ยังไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ อาจต้องระมัดระวังในการมีกิจกรรมที่จะเกี่ยวข้องกับต้นทุนดังกล่าว ทั้งนี้ ชุมชนอาจพิจารณาเพิ่มเติมว่า ต้นทุนเหล่านี้ความสำคัญจำเป็นหรือมีความเป็นไปได้ในการพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้นหรือไม่ เป็นความสำคัญเร่งด่วนหรือไม่ มีผลกระทบต่อชุมชนและมีแนวโน้มเป็นปัญหาของชุมชนหรือไม่ เพื่อหาแนวทางสร้างความร่วมมือในการพัฒนาต่อไป 

 

หลักการหาจุดร่วมระหว่าง การวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของสถานศึกษากับต้นทุนชุมชน
SWOT Mapping with Community Capital

 

จุดอ่อนจุดแข็งของสถานศึกษาและต้นทุนความพร้อมของชุมชน สามารถเป็นส่วนเติมเต็มซึ่งกันและกันได้ดี ดังนั้นเมื่อทำการวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็ง และวิเคราะห์ต้นทุนองค์กรแล้ว จึงควรนำมาหาจุดร่วมเพื่อผสานพลัง (Synergy)ระหว่างสถานศึกษาและชุมชน โดยมีหลักการพื้นฐานดังแผนผังต่อไปนี้

 

ชุมชนที่มีปัจจัยต้นทุนความพร้อมสูง (คะแนน 3 หรือ 4) จะสามารถใช้เป็นต้นทุนในการพัฒนาชุมชนหรือพัฒนาโรงเรียนในข้อที่เป็นจุดอ่อนหรือความเสี่ยงของโรงเรียนได้เป็นอย่างดี

 

- ตัวอย่างการ Mapping หาจุดร่วมเพื่อเติมเต็มให้กับสถานศึกษา

ผลการวิเคราะห์ SWOT พบว่า โรงเรียนมีจุดอ่อนในเรื่องการประชาสัมพันธ์เพื่อการมีส่วนร่วมและการสนับสนุนจากผู้ปกครอง และผลการวิเคราะห์ต้นทุนชุมชน พบว่าต้นทุนทางสังคมมีความพร้อมและความเข้มแข็งมาก มีคณะกรรมการชุมชนที่มีการประชุมสม่ำเสมอ มีสื่อกระจายเสียงประจำหมู่บ้าน ทางโรงเรียนสามารถขอการสนับสนุนและความร่วมมือจากชุมชนในการใช้สื่อกระจายเสียงของหมู่บ้านในการประชาสัมพันธ์ถึงผู้ปกครอง หรือร่วมเป็นสมาชิกในคณะกรรมการชุมชนเพื่อหาโอกาสประชาสัมพันธ์กิจกรรมกับชุมชนในวงกว้าง

 

หากเป็นต้นทุนที่มีความพร้อมน้อย(คะแนน 1 หรือ 2) ก็สามารถพิจารณาใช้จุดแข็งหรือโอกาสที่โรงเรียนมีมาช่วยพัฒนาปรับปรุงได้

 

- ตัวอย่างการ Mapping หาจุดร่วมเพื่อเติมเต็มให้กับชุมชน

ผลการวิเคราะห์ต้นทุนชุมชน พบว่าต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมของชุมชนมีน้อย เริ่มมีปัญหาเรื่องการกำจัดขยะ ในขณะที่ ผล SWOT พบว่า โรงเรียนมีจุดแข็งด้านเทคโนโลยีและต้นแบบที่ดีโดยเฉพาะการจัดการขยะ น้ำเสีย ผู้บริหารสถานศึกษาสามารถริเริ่มรณรงค์และให้ความรู้กับชุมชนในเรื่องการกำจัดขยะ

 

อีกหนึ่งตัวอย่าง คือ ต้นทุนชุมชนด้านการเงินมีความพร้อมน้อย ส่วนมากยังมีอาชีพรับจ้างรายได้ปานกลางถึงต่ำ ขณะที่โรงเรียน มีจุดแข็งที่มีบุคลากรครูที่มีศักยภาพสูง หลายด้าน ทางโรงเรียนอาจจัดสอนวิชาชีพเพื่อเป็นทางเลือกให้กับท้องถิ่น เป็นต้น

 

3. การวิเคราะห์บุคคลที่มีผลต่อความสำเร็จของกิจกรรมในชุมชนตามปัจจัยอำนาจที่มีในชุมชน (Power ActorAnalysis)

       ในการจัดการโครงการหรือกิจกรรมใดๆ กระบวนการในการวิเคราะห์ผู้มีบทบาทสำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จของกิจกรรมในชุมชน เป็นขั้นตอนที่จะช่วยให้เราสามารถบ่งชี้ และประเมินความพร้อมของสมาชิก เพื่อคัดสรรเข้าร่วมกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ หรือโครงการพัฒนาต่างๆ และสามารถมอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ตารางวิเคราะห์ ผู้มีผลต่อความสำเร็จของกิจกรรมในชุมชนตามปัจจัยอำนาจในชุมชน

วิธีการใช้เครื่องมือ

เริ่มจากการระบุรายชื่อผู้มีอำนาจตามปัจจัยแต่ละด้านในชุมชนออกมา (สามารถระบุรายชื่อได้มากน้อยเท่าที่กิจกรรมหรือโครงการนั้นๆ ต้องการ ) แล้วพิจารณาให้คะแนนทั้งด้านศักยภาพ ความพร้อม และด้านความสัมพันธ์กับโรงเรียน จากนั้นรวมคะแนนทั้งของรายบุคคล และคะแนนรวมของ บุคคลในกลุ่มผู้มีอำนาจแต่และด้านซึ่งการใช้ตารางวิเคราะห์และให้คะแนนนี้จะทำให้สามารถระบุบุคคลที่มีผลต่อความสำเร็จของโครงการได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นครอบคลุมทุกปัจจัยที่จะมีอิทธิพลต่อความสำเร็จ

 

การวิเคราะห์ผล:
       1. คะแนนรวมรายบุคคล คือระดับความสามารถและความสัมพันธ์ที่ดีกับโรงเรียนของบุคคลผู้มีปัจจัยอำนาจในแต่ละด้าน โดยที่ผู้ได้คะแนนรวมรายบุคคลมากที่สุดในแต่ละกลุ่มปัจจัยอำนาจคือผู้ที่มีทั้งศักยภาพและโอกาสที่จะช่วยเหลือสนับสนุนกิจกรรมหรือโครงการใดๆ มากที่สุด และไล่คะแนนลงมาตามลำดับ (สามารถเลือกตามลำดับและคัดจำนวนได้ตามลักษณะของกิจกรรม ) ซึ่งหากสามารถชักชวน โน้มน้าวกลุ่มบุคคลนี้ให้มาเป็นสมาชิกและขับเคลื่อนโครงการหรือดำเนินกิจกรรมในชุมชนก็จะมีโอกาสที่จะสำเร็จสูง

 

       2. คะแนนรวมรายกลุ่มปัจจัยอำนาจ คือคะแนนรวมทั้งหมดของบุคคลในแต่ละกลุ่ม บ่งบอกถึงความพร้อมและความแข็งแกร่งของปัจจัยอำนาจแต่ละด้าน จากตัวอย่างตามตาราง จะเห็นได้ว่าปัจจัยอำนาจจากความเชี่ยวชาญ (Expertise power) เป็นปัจจัยที่ได้คะแนนสูงที่สุด (23 คะแนน) แสดงถึงการมีบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถมากเหมาะแก่การถ่ายทอดและสร้างเสริมความรู้เหล่านั้นให้กระจายสู่ชุมชนในวงกว้าง

 

4. การจัดตั้งคณะทำงานและกำหนดบทบาทสมาชิกโดยใช้ตารางหน้าที่ราซี่ (RASI Chart) 

       เมื่อได้รายชื่อบุคคลผู้มีปัจจัยอำนาจด้านต่างๆ และสามารถเรียนเชิญโน้มน้าวให้บุคคลเหล่านั้นเข้ามามีส่วนร่วมเป็นคณะทำงานในกิจกรรมต่างๆ ของชุมชนได้สำเร็จแล้ว สิ่งสำคัญลำดับต่อมาคือ การจัดสรรมอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบให้กับแต่ละท่านให้ได้ใช้ศักยภาพที่มีได้อย่างเต็มที่เพราะจะทำให้สมาชิกที่ได้รับมอบหมายเกิดความรับผิดชอบและความผูกพันกับกิจกรรมหรือโครงการที่จัดทำขึ้นจนกว่าโครงการจะสำเร็จลุล่วง

 

หลักการมอบหมายบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบราซี่ (RASI) ที่สอดคล้องกับผู้มีปัจจัยอำนาจ Power Actor

       แผนผังหน้าที่ราซี่ เป็นเครื่องมือที่มักใช้ในการบริหารโครงการ โดยจะใช้ควบคู่ไปกับการวางแผนปฏิบัติกิจกรรม (Action Plan) เพื่อให้งานแต่ละส่วนมีผู้รับผิดชอบดำเนินการ เป็นที่รับทราบเพื่อการติดตามประสานงานอย่างเป็นระบบ ซึ่งช่วยลดความสับสนและความขัดแย้งในการดำเนินการกิจกรรมต่างๆ ในชุมชนได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ การมอบหมายหน้าที่ต้องพิจารณาถึงปัจจัยอำนาจ (Power Actor) ของผู้เข้าร่วมด้วย โดยสามารถประยุกต์ใช้หลักการดังต่อไปนี้ 

 

ข้อพึงพิจารณาในการประยุกต์ใช้กลยุทธ์พัฒนาความสัมพันธ์กับชุมชน

       กิจกรรมเพื่อพัฒนาและสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนส่วนมากมักเป็นกิจกรรมที่ใช้จิตอาสา และเป็นความสัมพันธ์เชิงระนาบ ไม่มีใครมีอำนาจบังคับโดยหน้าที่ ดังนั้น จึงเป็นศาสตร์และศิลป์ของผู้บริหารที่จะกระตุ้น โน้มน้าว จูงใจ สมาชิกและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการตามแผนจนบรรลุเป้าหมาย ทั้งนี้รูปแบบการดำเนินกิจกรรม ควรเป็นไปอย่างไม่เป็นทางการ เน้นการกระตุ้น สร้างแรงจูงใจ และเสียสละต่อประโยชน์ส่วนรวมแต่จำเป็นต้องมีแผนงาน และการจัดการอย่างมีระบบ และควรกำหนดระยะเวลาของโครงการหรือกิจกรรมให้แน่นอน เพื่อให้สมาชิกในชุมชนจัดการและวางแผนได้ และเป็นช่วงเวลาที่ไม่ขัดต่อวิถีชุมชน เช่นช่วงเวลาเก็บเกี่ยว กิจกรรมต้องจัดเวลาที่สมาชิกส่วนใหญ่สะดวกที่สำคัญคือ มีการสื่อสารสม่ำเสมอ ในรูปแบบที่เหมาะสม

 

       สิ่งสำคัญคือ การติดตามผล แลกเปลี่ยน รายงานผลและให้ข้อมูลย้อนกลับเพื่อปรับปรุงอยู่เสมอให้ Feedback กับสมาชิกในชุมชนบอกผลลัพธ์ของความคืบหน้า โดยการประชุมจัดกิจกรรมและสื่อสาร เพื่อให้สมาชิกในชุมชนมีส่วนร่วมในผลลัพธ์นั้นและเพื่อการรับข้อเสนอแนะปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

 

คำถามที่นำไปสู่ Action Learning
1. สถานศึกษาของท่าน มีความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนในเรื่องใดและความสัมพันธ์กับชุมชนในเรื่องใดที่ท่านคิดว่ายังไม่ดี และท่านคิดว่ามีความจำเป็นในการปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด
2. จากการวิเคราะห์ต้นทุนชุมชน (Community Capital Analysis) ท่านคิดว่าต้นทุนชุมชนด้านใดมีศักยภาพ และท่านคิดว่าจะสามารถนำมาใช้ในการพัฒนาความสัมพันธ์กับชุมชนได้อย่างไร
3. จากการวิเคราะห์ผู้มีอำนาจตามปัจจัย (Power Actor Analysis)ท่านคิดว่าผู้ใดมีอำนาจปัจจัยที่โดดเด่นน่าสนใจ และท่านจะนำผู้มีอำนาจนั้นมาใช้ในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนอย่างไร
4. ให้ท่านเขียน โครงการและแผนงานพัฒนาความสัมพันธ์กับชุมชน โดยประยุกต์ใช้เครื่องมือที่ได้รับในบทเรียนนี้

 

KPIs
1. ผู้บริหารสถานศีกษา สามารถวางแผนกลยุทธ์การสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน โดยประยุกต์ใช้กรอบความคิดและเครื่องมือในหลักสูตร โดย ส่งแผนโครงการ ภายใน 2 เดือน หลังจากได้รับการอบรม
2. แผนโครงการที่นำส่งจะต้องได้รับผลประเมินระดับ ผ่าน
3. แผนโครงการที่ผ่านต้องนำไปสู่การปฏิบัติจริง โดยจะมี การติดตามความคืบหน้าและประเมินผล ตามกรอบเวลาและเป้าหมายที่วางไว้ เกณฑ์ความคืบหน้าต้องไม่น้อยกว่า 50% เทียบกับแผนงานที่วางไว้
4. ภายหลังโครงการ มีการวัดผลสำรวจความพึงพอใจของชุมชน โดยได้คะแนนความพึงพอใจเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า กว่า 60%

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow