โดย ณัฐพงศ์ จันทนะศิริ และบุญฤทธิ์ บุญมา
สถานศึกษาแต่ละแห่งย่อมมีบริบทแวดล้อมที่แตกต่างกัน ผู้บริหารที่ดีควรศึกษา รับทราบ และตระหนักถึงความสำคัญของบริบทแวดล้อมเหล่านั้น เพื่อจะได้นำมาสู่แนวทางในการบริหารสถานศึกษาให้ตรงตามความต้องการและประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทั้งนี้ผู้บริหารจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและถี่ถ้วน ให้องคาพยพต่าง ๆ ของสถานศึกษาได้ปรับเปลี่ยนและพัฒนาไปพร้อมกัน โดยประการแรก การบริหารจัดการโดยปรับใช้แนวคิดและทฤษฎีต่าง ๆ ในการบริหารงานในสถานศึกษา ประการต่อมาคือ การสื่อสารทั้งภายในและระหว่างองค์กร โดยการสื่อสารภายในเพื่อการสร้างความเข้าใจในแนวทางการบริหารสถานศึกษาที่ถูกต้อง และนำไปสู่การปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ ส่วนการสื่อสารระหว่างองค์กรนั้นเพื่อเพิ่มโอกาส และลดอุปสรรคในการบริหารสถานศึกษา ประการสุดท้ายคือ การสร้างความร่วมมือของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับสถานศึกษา เช่น ชุมชน องค์กรเอกชน บริษัท ห้างร้านต่าง ๆ
ผู้บริหารต้องตระหนักว่า สถานศึกษาคือชุมชนแห่งการเรียนรู้ จึงจำเป็นต้องมีทีมงานในการบริหารจัดการสิ่งต่าง ๆ ผู้บริหารต้องมีมุมมองและแนวคิดต่อสถานศึกษาที่เป็นระบบ เนื่องจากการมองงานในสถานศึกษาแยกส่วนแล้ว อาจทำให้ไม่อาจบรรลุวัตถุประสงค์ในการพัฒนาได้ เนื่องจากขาดความเชื่อมโยง ความต่อเนื่อง และความสอดคล้องที่จะให้ครู นักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชนรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของร่วม (Sense of belonging) และความเป็นหนึ่งเดียว (Unity) สถานศึกษาในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้จะสามารถพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าสถานศึกษาที่ทำหน้าที่เพียงบอก สอน และผลิตเพียงผู้สำเร็จการศึกษาเท่านั้นการประสานงานร่วมมือกันในส่วนการบริหารต่าง ๆ ย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะให้ชุมชนเข้ามาร่วมพัฒนาได้ทั้งนี้สถานศึกษาจะต้องช่วยเหลือชุมชนเป็นการตอบแทนเช่นกัน เช่น อาจดึงปราชญ์ชาวบ้านมาร่วมในการจัดการเรียนรู้ให้แก่นักเรียน ขณะเดียวกันก็อาจจะมีการนำผลิตภัณฑ์ที่เป็นภูมิปัญญามาขายในโรงเรียนเพื่อส่งเสริมให้ผู้คนที่มีภูมิปัญญาเหล่านั้นอยู่ได้ หรือจัดงาน (Event) ต่าง ๆ ในช่วงเทศกาลสำคัญเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างโรงเรียนกับชุมชน เป็นต้น
แม้ว่าการบริหารงานแบบร่วมมือทุกส่วนจะสำคัญ แต่ผู้บริหารต้องไม่ละเลยที่จะพัฒนาสถานศึกษาในส่วนของระบบงานต่าง ๆ ด้วย เนื่องจากแต่ละด้านย่อมมีความแตกต่างในบริบทการบริหารสถานศึกษา รวมถึงรายละเอียดที่ผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องในด้านต่าง ๆ จะพิจารณา
ด้านการบริหาร
ผู้บริหารจะต้องเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของครู นักเรียน และชุมชน ผู้บริหารที่มีดีควรรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกในองค์กรและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย และพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจ เน้นการมีส่วนร่วมทั้งทางความคิดและการปฏิบัติ ไม่ใช้เพียงคำสั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติตามเท่านั้น โดยผู้บริหารจะต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนา โดยเริ่มจากทัศนคติของคนในสถานศึกษาก่อนต้องชี้ให้เห็นถึงความสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสถานศึกษา ชี้ให้เห็นความสำคัญของการร่วมมือกันพัฒนาชี้ให้เห็นความสำคัญของการสร้างนักเรียนที่มีคุณภาพ ดังนั้นผู้บริหารยุคใหม่จะต้องเปิดกว้าง ยอมให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ ยอมรับความคิดเห็นใหม่ ๆ ที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาองค์กร และตระหนักเสมอว่า ทุกปัญหานั้นต้องให้ทุกฝ่ายได้ร่วมเสนอแนวทางแก้ไข
ด้านวิชาการ
ภารกิจหลักและสำคัญของสถานศึกษาคงหนีไม่พ้นด้านงานวิชาการหากแต่ผลงานทางวิชาการโดยเฉพาะผลการประเมินในรูปแบบต่าง ๆ กลับกลายเป็นปัญหาระดับชาติ ทุกครั้งที่มีการสอบวัดความรู้คะแนนเฉลี่ยในภาพรวมจะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ ผู้บริหารต้องเรียนรู้ที่จะนำแนวทางของข้อสอบแต่ละครั้งมาสร้างเป็นคลังข้อสอบภายในสถานศึกษาเพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ อาจให้มีการร่วมเฉลยระหว่างครูและนักเรียนเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน แต่ทั้งนี้ภาระงานของครูนั้นควรเน้นไปที่กิจกรรมการจัดการเรียนรู้มากกว่างานด้านอื่น ๆ เพื่อให้ครูได้สามารถพัฒนานักเรียนได้อย่างเต็มที่ ให้ครูมีเวลาในการสืบค้นหาข้อมูลใหม่ ๆ มากกว่าการที่ต้องพิจารณางานเอกสารของสถานศึกษา นอกจากนี้การส่งนักเรียนเข้าร่วมแข่งขันทางวิชาการในรายการต่าง ๆ ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้ครูและนักเรียนได้พัฒนาทักษะและกระบวนการในการเรียนรู้เพื่อยกระดับความรู้ความสามารถขององค์กรต่อไป
ด้านการจัดการเรียนรู้
การจัดการเรียนรู้เป็นส่วนหนึ่งของงานด้านวิชาการ แต่กระนั้นก็เป็นหนึ่งในกระบวนการที่ทำให้นักเรียนได้เกิดการเรียนรู้ เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามที่สถานศึกษาต้องการอย่างแท้จริง ดังนั้นการจัดการเรียนรู้จะต้องมุ่งเน้นกระบวนการให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้และมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้อย่างแท้จริง ซึ่งองค์ความรู้ที่ครูถ่ายทอดควรเป็นองค์ความรู้ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตแระจำวันของนักเรียนได้ จะทำให้นักเรียนเห็นคุณค่าของการเรียนรู้มากยิ่งขึ้น โดยผู้บริหารและครูควรมีบทบาทในการสร้างสภาพแวดล้อมและบรรยากาศการเรียนรู้ที่เหมาะสม ส่งเสริมให้นักเรียนสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันและกันทั้งในและนอกห้องเรียน ทั้งกิจกรรมวิชาการ กิจกรรมนันทนาการ รวมไปถึงกิจกรรมอื่น ๆ ที่โรงเรียนหรือชุมชนจัดขึ้น
ด้านอาคารสถานที่และสภาพแวดล้อม
อาคารสถานที่และสภาพแวดล้อม นับว่าเป็นอีกปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่จำเป็นจะต้องพัฒนา โดยอาคารสถานที่และสภาพแวดล้อมต้องมีความปลอดภัย และส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน โดยอาคารสถานที่สำหรับนักเรียนระดับปฐมวัย ต้องมีที่ที่เด็กได้ลงมือทำ มีพื้นที่วิ่งเล่น มีเครื่องเล่น มีของเล่น ที่ต้องมีมาตรฐานและปลอดภัย ลักษณะอาคารต้องน่าดึงดูด เป็นส่วนตัว มีส่วนที่เป็นที่รับรองผู้ปกครอง และส่วนที่ครูจะต้องดูแลนักเรียนโดยปราศจากบุคคลภายนอกห้องน้ำต้องมีสุขภัณฑ์สำหรับเด็กเล็ก ห้องเรียนต้องเต็มไปด้วยผลงานนักเรียน ขณะที่ในระดับประถมศึกษา จะต้องเริ่มมีห้องสมุด มีห้องให้นักเรียนได้อ่านหนังสือมากขึ้น สถานที่ก็จะมุ่งเน้นการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นระเบียบมากขึ้น เริ่มมีมุมที่นักเรียนสามารถแสดงผลงานของตัวเองได้ด้วยการออกแบบ ส่วนระดับมัธยมศึกษาจะต้องเป็นทางการมากขึ้น ส่งเสริมให้นักเรียนเรียนรู้ได้อย่างดี มีอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีที่มากกว่าระดับชั้นอื่น มีห้องปฏิบัติการในบางรายวิชา มีห้องสมุดที่มากขึ้นเพื่อส่งเสริมนิสัยการค้นคว้าหาความรู้
ตัวอย่างลักษณะของการวางอาคารสถานที่เพื่อความเหมาะสม ต้องพิจารณาองค์ประกอบด้านภูมิศาสตร์เป็นสำคัญ เช่น การสร้างอาคารต่าง ๆ ควรให้มีลมหมุนเวียน จึงต้องพิจารณาลมของประเทศไทยที่จะมีลมประจำอยู่สองด้าน คือ ลมจากด้านตะวันออกเฉียงเหนือ และลมจากด้านตะวันตกเฉียงใต้ ดังนั้นการสร้างให้อาคารสร้างให้สามารถเปิดรับลมจากด้านเหล่านี้ย่อมทำให้สิ้นเปลืองพลังงานในการเปิดพัดลมและเครื่องปรับอากาศค่อนข้างน้อยกว่าอาคารที่มีลักษณะทึบและอับลมรวมถึงการใช้แสงธรรมชาติมาช่วยให้เกิดความสว่างในห้อง หน้าต่างไม่ควรเป็นทิศตะวันออกและทิศตะวันตก เนื่องจากจะทำให้แดดส่องเข้ามาแรงเกินไป ทิศทางการตั้งโต๊ะ ก็ไม่ควรที่จะหันหน้าหรือหันหลังให้หน้าต่าง เพราะการหันหน้าให้หน้าต่างจะเกิดแสงที่มากเกิน การหันหลังจะทำให้เกิดเงาจนมองไม่เห็นหรือถ้ามีคอมพิวเตอร์จะทำให้หน้าจอเกิดการสะท้อน จึงควรจัดโต๊ะให้หันข้างเพื่อรับแสงได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้การบริหารอาคารสถานที่ที่ดีคือ การบริหารจัดการให้มีการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ต่าง ๆ ของอาคารสถานที่อย่างมีประสิทธิภาพและตอบสนองการใช้งานได้หลายรูปแบบ
ด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล
คนยังเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาในทุกด้าน อัตรากำลัง รวมถึงคุณภาพในแต่ละคน ย่อมเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาสถานศึกษา ดังนั้นฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคลจึงถือเป็นอีกหน่วยงานที่ต้องสร้างแนวคิดทุกเรื่องที่กล่าวมาให้เกิดประโยชน์ เป้าหมายของการบริหารทรัพยากรบุคคล ( Human Resource Management : HRM) มีวัตถุประสงค์หลัก 4 วัตถุประสงค์ คือ การสรรหา การพัฒนา การรักษาไว้ และการใช้ประโยชน์ ทั้งสี่ข้อนี้จำเป็นต้องทำอย่างเป็นระบบ ต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างแท้จริง
ทรัพยากรบุคคลของโรงเรียน ไม่ใช่มีเพียงครูเท่านั้น แต่รวมถึงบุคลากรทางการศึกษา นักเรียนผู้ปกครอง และชุมชน ที่สามารถกลายเป็นทรัพยากรที่สำคัญในการขับเคลื่อนส่วนต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดีฉะนั้นขั้นตอนการสรรหาต้องพิจารณาดูจากงานที่จะให้ เช่น ด้านวิชาการก็สรรหาผู้ที่มีความรู้ความสามารถในเรื่องนั้น ๆ ด้านงบประมาณอาจหาจากผู้ที่อาวุโสหรือเป็นที่รู้จักในชุมชน ติดต่อหน่วยงานต่าง ๆ ได้ ในหลายครั้งงบประมาณภายนอกได้จากบุคคลที่อยู่ด้านศาสนา เนื่องจากมีผู้ติดต่อเข้ามาทำบุญ
งบประมาณ นับว่าเป็นสิ่งที่เป็นปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาอย่างมาก ผู้บริหารสถานศึกษาเกือบทุกท่านเมื่อพูดถึงการพัฒนาจะจบลงที่ปัญหาที่ว่า ไม่มีงบประมาณหรือไม่มีคนทำ แต่แท้จริงแล้ว หลายครั้งผู้บริหารสถานศึกษาสามารถประยุกต์สิ่งรอบตัวมาใช้ในการพัฒนาได้ เช่น โรงเรียนไม่มีสระว่ายน้ำ ก็อาจติดต่อกับหน่วยงานเช่น ห้างสรรพสินค้าเวลาเรียนว่ายน้ำ อาจไปเวลาที่คนไม่มาก มีสัดส่วนก็ทำให้สามารถดำเนินการจัดกิจกรรมตามที่ตั้งไว้ หรือการประยุกต์อุปกรณ์ใกล้ตัวมาใช้ เช่น การนำเสนออย่างมืออาชีพ ผู้บรรยายจะไม่ใช้มือชี้ ครูก็ไม่จำเป็นต้องใช้เลเซอร์ (Laser Pointer) ในการชี้ไปที่คอมพิวเตอร์ อาจใช้ปากกาที่ไม่ใช้แล้ว พันปลายให้มีสีที่เด่นชัดในการทดแทนได้
เรื่องอาคารสถานที่ ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่มักจะกล่าวว่า สร้างไปแล้วทำอะไรไม่ได้ หรือสถานที่มีจำกัด ในที่นี้ก็อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนสถานที่ให้เข้ากับบริบทมากขึ้น อาจมีการรวมห้องบางห้อง ขยับขยาย หรือเปลี่ยนห้องเพื่อความเหมาะสมในการสร้างสภาพแวดล้อม หรือแม้แต่ปัญหาที่ว่าแสงแดดเข้าอาคารเรียนมากเกินไป ปรับทิศอาคารไม่ได้ ก็อาจใช้วิธีการปลูกต้นไม้ใหญ่ที่ให้ร่มเงาแทนก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาความปลอดภัยของต้นไม้ที่ปลูกว่ารากนั้นทำลายโครงสร้างอาคารหรือไม่ กิ่งไม้เปราะหักง่ายหรือไม่ เป็นต้นไม้ที่ทำลายดินหรือพืชอื่นหรือไม่ รวมถึงเมื่อมีลมพายุพัดแรง จะหักแล้วทำให้อาคารเกิดความเสียหายหรือไม่ หลายครั้งงบประมาณภายนอกได้จากบุคคลที่อยู่ด้านศาสนา เนื่องจากมีผู้ติดต่อเข้ามาทำบุญ
ฉะนั้นการบริหารจัดการเหล่านี้อาจนำหลักเศรษฐศาสตร์มาประยุกต์ใช้ได้ กล่าวคือ การบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดไปใช้ประโยชน์ได้สูงสุด เพื่อตอบสนองความต้องการและเพื่อให้เกิดความพึงพอใจสูงสุดของผู้รับบริการจากสถานศึกษา โดยทรัพยากรเหล่านี้มิได้หมายถึงสิ่งที่ไม่มีชีวิตอย่างเดียว แต่รวมถึงทรัพยากรที่มีชีวิตด้วยเช่นกัน