Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

จากครูสู่ผู้อำนวยการเรียนรู้ (From Teacher to Facilitator)

Posted By Plook Teacher | 04 ต.ค. 59
67,074 Views

  Favorite

 

เหตุใดครูผู้สอนต้องเปลี่ยนบทบาท

        การปรับเปลี่ยนบทบาทของครูครั้งสำคัญ เกิดขึ้นเมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 จากเดิมที่ครูเป็นศูนย์กลางการจัดการเรียนการสอน ( teacher-centered) มาสู่ผู้เรียนเป็นสำคัญ (student-centered) ปัจจุบันก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ( digital era) ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ การเข้าถึงข้อมูลความรู้และเรื่องราวต่างๆที่ผู้เรียนสามารถค้นคว้าเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง ครูจึงไม่ใช่ผู้รู้ของผู้เรียนอีก ต่อไป ครูจึงต้องเปลี่ยนบทบาทจากครูผู้สอน ( teacher) มาเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ ( facilitator) โดยเน้นให้ผู้เรียนมีวิธีหาความรู้ในโลกแห่งความรู้อันมากมายมหาศาลที่ไม่อาจเรียนรู้ได้หมด

ครูในยุคดิจิทัลไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่มีความรู้ เก่งที่สุดหรือประสบการณ์มากที่สุด แต่ต้องเป็นผู้ที่ “เข้าใจ” และ “เข้าถึง” ผู้เรียนผ่านการถาม การฟัง การสังเกต การสังเคราะห์ข้อมูล สร้างความไว้วางใจ ความรู้สึกมั่นใจและแรงบันดาลใจในการที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนเองให้กับศิษย์


บทบาทใหม่ของครูผู้สอนคือการเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้

7 บทบาทของครูที่เป็น “ผู้อำนวยการเรียนรู้” ที่ดี มีดังนี้
        1. เป็นผู้จัดบรรยากาศการเรียนรู้ เช่น การจัดชั้นเรียน สื่อ / วัสดุอุปกรณ์แสงสว่าง ระบบเสียง
        2. เป็นผู้แนะแนวทางการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนได้ค้นคว้าหาความรู้และสร้างความรู้ด้วยตนเองได้เต็มศักยภาพ
        3. เป็นผู้เสริมแรงหรือสร้างแรงบันดาลใจ เพื่อให้ผู้เรียนมั่นใจและพัฒนาตนเองเห็นคุณค่าและความหมายของการเรียนรู้
        4. เป็นผู้ใช้คำถามเป็นเครื่องมือในการพัฒนาผู้เรียน
        5. เป็นผู้ประเมิน ให้ข้อมูลป้อนกลับ (feedback) เพื่อให้ผู้เรียนทราบผลการเรียนรู้ของตน
        6. เป็นผู้เรียนรู้ไปพร้อมกับศิษย์ ในการศึกษาความรู้เรื่องใหม่ ๆ หรือพัฒนานวัตกรรม
        7. เป็นผู้วิจัย ศึกษาปัญหาในชั้นเรียนและแก้ปัญหาโดยการทำวิจัยปฏิบัติการ

 

ข้อแตกต่างของการเป็นครูผู้สอนและผู้อำนวยการเรียนรู้

 

ครูผู้สอน

ผู้อำนวยการเรียนรู้

ครูเตรียมการสอน กิจกรรม และอุปกรณ์ที่ต้องใช้ ครูเตรียมประเด็นในการกระตุ้นความสนใจผู้เรียน
ครูคัดเลือกความรู้ให้ผู้เรียน ทำใบความรู้ให้ ครูเปิดโอกาสให้เด็กค้นหาความรู้จากแหล่งที่ตนเองสนใจ และครูคอยช่วยให้คำแนะนำ
ครูบอกความรู้แก่ผู้เรียน บอกขั้นตอนการทำงานทั้งหมด ครูช่วยแนะนำวิธีการค้นคว้าหาความรู้ กระตุ้นให้ผู้เรียนพัฒนาการทำงานของตน
ครูกำหนดจุดประสงค์ และจัดกิจกรรมเพื่อบรรลุจุดประสงค์ ครูกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดคำถามแห่งการเรียนรู้ และค้นหาคำตอบของคำถามนั้น
ครูสอนวิชา เน้นความรู้วิชา ครูช่วยผู้เรียนเรียนรู้สอนคน, ฝึกทักษะสร้างแรงบันดาลใจและทักษะการเรียนรู้
เน้นบทบาทสอนตามหลักสูตร ตามตำรา ครูสอนคนเดียว เน้นการออกแบบการเรียนรู้ร่วมกัน ครูทำงานเป็นทีม บูรณาการวิชาที่สอนร่วมกัน
การสอบเน้นความรู้ในวิชา การสอบเน้นการประเมินทักษะและกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน
การวัดผลเน้นตัดสินผลการเรียนได้หรือตก  การวัดผลเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนจนเต็มศักยภาพ

 


ทักษะสำคัญของครูผู้จะทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการเรียนรู้

        ครูผู้เป็นผู้อำนวยการเรียนรู้เปรียบเสมือนกระจกเงาให้นักเรียนสะท้อนตัวตน เกิดการตระหนักรู้ ค้นพบตนเอง และก้าวข้ามพ้นกับดักการเรียนรู้ ทักษะสำคัญในการเป็นผู้อำนวยการการเรียนรู้ของครู มีดังนี้

        1) การใช้คำถาม การใช้คำถามที่ดีจะทำให้นักเรียนเข้าใจตนเองอยากเปลี่ยนแปลงตนเองและมีเป้าหมายในการเรียนรู้มากขึ้น
        2) การรับฟังอย่างตั้งใจ คือ การฟังความสนใจในเรื่องที่นักเรียนสื่อสาร ไม่ขัดจังหวะไม่สอดแทรก หรือแสดงความคิดเห็นใด ๆ ที่เป็นอุปสรรคในการนำเสนอความรู้ของนักเรียน การแสดงความสนใจฟัง จะทำให้นักเรียนรู้สึกผ่อนคลายและเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น
        3) การให้ข้อมูลป้อนกลับ ควรใช้ภาษาเชิงบวก และให้ข้อคิดที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน เช่น ชื่นชมข้อดี จูงใจให้นักเรียนเห็นข้อดีของตัวเอง และคิดว่าการแก้ไขปรับปรุงการเรียนรู้เป็นเรื่องท้าทายความสามารถ

 

ครูกับการใช้นวัตกรรม

        การศึกษามีความเป็นพลวัต (Dynamics) ครูจึงมีความจำเป็นที่ต้องสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการจัดการเรียนรู้อยู่เสมอ ดังนั้นครูจึงควรศึกษาและใช้นวัตกรรม ทั้งที่เป็นนวัตกรรมร่วมสมัยและนวัตกรรมตามบริบท เมื่อใช้จนเกิดความชำนาญ ครูก็จะสามารถเป็น “ผู้สร้าง” นวัตกรรมการเรียนรู้ด้วยตนเองได้

 

นวัตกรรม ( Innovation) หมายถึง สิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นจากการใช้ความรู้ และความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาขึ้น ซึ่งอาจจะมีลักษณะเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ บริการใหม่หรือกระบวนการใหม่ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์หลักเกณฑ์การพิจารณาว่าสิ่งใดเป็นนวัตกรรม คือ

        1) เป็นสิ่งใหม่ทั้งหมดหรือบางส่วน
        2) มีการพิสูจน์ด้วยการวิจัยว่าจะช่วยให้ดำเนินงานมีประสิทธิภาพสูงขึ้น และ
        3) ยังไม่เป็นส่วนหนึ่งในระบบงานปัจจุบัน

 

นวัตกรรมร่วมสมัย หมายถึง นวัตกรรมสำคัญที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในวงการการศึกษาปัจจุบัน เช่น

        - การเรียนรู้แบบห้องเรียนกลับด้าน (flipped classroom) เป็นการจัดการเรียนรู้ลักษณะหนึ่งซึ่งเปลี่ยนจากครูบรรยายเนื้อหาในห้องเรียนไปเป็นการสร้าง หรือแนะนำสื่อการเรียนรู้ให้นักเรียนกลับไปศึกษาที่บ้าน แล้วเปลี่ยนกิจกรรมในห้องเรียนให้เป็นการทำกิจกรรมต่าง ๆ จากบทเรียนที่นักเรียนได้ศึกษามาแล้ว เพื่อฝึกทักษะ ฝึกแก้ปัญหา สร้างปฏิสัมพันธ์ภายในห้องเรียน รวมถึงการนำความรู้ไปใช้นับว่าเป็นนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับการพัฒนาทักษะผู้เรียนในศตวรรษที่ 21

        - การเรียนรู้แบบออนไลน์หรือ e-learning เป็นการศึกษาเรียนรู้ผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์อินเทอร์เน็ต (Internet) หรืออินทราเน็ต (Intranet) เป็นการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ผู้เรียนจะได้เรียนตามความสามารถและความสนใจของตน เนื้อหาของบทเรียนประกอบด้วยข้อความ รูปภาพเสียง วิดีโอและมัลติมีเดียอื่น ๆ จะถูกส่งไปยังผู้เรียนผ่าน Web Browser ผู้เรียน ผู้สอน และเพื่อนร่วมชั้นเรียนทุกคน สามารถติดต่อ ปรึกษา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันได้ เช่นเดียวกับการเรียนในชั้นเรียนปกติ โดยอาศัยเครื่องมือการติดต่อสื่อสารที่ทันสมัย ( e-mail, web-board, chat) จึงเป็นการเรียนรู้สำหรับทุกคน ที่เรียนได้ทุกเวลา และทุกสถานที่ (Learning for all : anyone, anywhere and anytime)

        - การจัดการเรียนรู้แบบเพิ่มพลังสมอง ( brain-based learning) เป็นการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้สมองทั้งสองซีกซ้ายและซีกขวาเกิดการเรียนรู้อย่างสมดุลและสอดคล้องกับสติปัญญาของผู้เรียน โดยใช้กระบวนการและวิธีการที่หลากหลายอย่างเหมาะสม

 

นวัตกรรมตามบริบทเนื้อหา หมายถึง นวัตกรรมตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่ครูควรศึกษาเพื่อนำไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ได้ตรงบริบทของตน ดังตัวอย่าง

ภาษาอังกฤษ

ผลของการสอนการอ่านภาษาอังกฤษโดยใช้กรอบแนวคิด “แอคทีฟ” ที่มีต่อความสามารถในการอ่านและกลยุทธ์การอ่านของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 4 (ปิยภัทร เรืองโรจน์, 2556)

วิทยาศาสตร์

ผลของการใช้วงจรการเรียนรู้ 5E ร่วมกับเทคนิคการใช้คำถามตามแนวคิดของออสบอร์นที่มีต่อทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ขั้นบูรณาการและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น (วราวรรณ แสงอยู่, 2556)

คณิตศาสตร์

ผลของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยกลวิธีเอฟโอพีเอสที่มีต่อความสามารถในการให้เหตุผลทางคณิตศาสตร์และการใช้ตัวแทนความคิดทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 2 (สาวิตรี มูลสุวรรณ, 2557)

ศิลปศึกษา

ผลของการจัดกิจกรรมศิลปะตามแนวคิดของแฮร์โรว์ที่มีต่อความสามารถในการปั้นของเด็กอายุ 9-11 ปี (สุมิตรา อุ่นเปีย, 2556)

สุขศึกษาและพลศึกษา

ผลของการจัดการเรียนรู้พลศึกษาตามแนวคิดนีโอฮิวแมนนิสที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น (นันทนัช นรภักดิ์สุนทร, 2555)

ภาษาไทย

ผลของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาไทยโดยใช้โมเดลกราฟฟิติที่มีต่อความสามารถในการอ่านเพื่อความเข้าใจและทักษะการร่วมมือของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 2 (ประภาสินี ปิงใจ, 2555)

สังคมศึกษา

ผลของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบนำตนเองที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสังคมศึกษาและความพึงพอใจต่อการเรียนรู้ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 (ชัยภัทร ศรีขจร, 2552)

 

การจัดการเรียนการสอนในฐานะผู้อำนวยการเรียนรู้

“ You cannot teach a man anything ; you can only help him discover it within himself ” - Galileo
 “ คุณไม่สามารถสอนใครได้ทุกอย่าง ; คุณทำได้เพียงช่วยให้เขาได้ค้นพบเกิดความเข้าใจจากภายในด้วยตัวเขาเอง ” - กาลิเลโอ

 

        การจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับแนวการปฏิรูปการณ์ศึกษาที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญนั้น ครูต้องลดบทบาทและความสำคัญของตนเองลง ผู้สอนจะต้องเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้อำนวยความสะดวก และต้องใช้เทคนิคการสอนที่หลากหลายเพื่อให้สามารถตอบสนองผู้เรียนที่มีความสามารถหลากหลายได้ โดยมุ่งเน้นในการพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 แก่ผู้เรียนเพื่อให้เป็นบุคคลที่เป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งต้องการแรงงานที่มีคุณสมบัติแห่งการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง

 

        ในการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ครูจะต้องคำนึงถึงความสนใจ ความต้องการ และแรงจูงใจ ที่จะทำให้ผู้เรียนพัฒนาเต็มศักยภาพ รู้จักคิด วิเคราะห์ มีส่วนร่วม และรู้จักแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง 

 

        ในการที่ครูจะจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้มีทักษะในการแสวงหาและสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเองนั้น จำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนบทบาทของตนเองมาเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ ผู้อำนวยความสะดวกให้นักเรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองอย่างแท้จริง และรับบทบาทใหม่ดังนี้

 

        1) ผู้จัดระบบการเรียนการสอน เริ่มตั้งแต่การศึกษาหลักสูตร ตลอดจนวางแผนการเรียนการสอน การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เลือก ผลิตและใช้สื่อการเรียนการสอนวัดผลและประเมินผล และรวมไปถึงการจัดระเบียบวินัยในชั้นเรียน
        2) ผู้จัดบรรยากาศหรือสภาพแวดล้อมของการเรียนรู้ด้านกายภาพ ได้แก่ การจัดชั้นเรียน วัสดุอุปกรณ์ แสงสว่าง ระบบเสียงให้นักเรียนรู้สึกสบายและอยากเรียน ส่วนด้านจิตวิทยา ได้แก่ การจัดชั้นเรียนให้ผู้เรียนมีโอกาสทำกิจกรรมร่วมกัน กล้าคิด กล้าทำ ให้โอกาสผู้เรียนได้ประสบความสำเร็จทุกคน 
        3) ผู้ชี้นำหรือแนะแนวทาง เพื่อให้ผู้เรียนได้ค้นคว้าหาความรู้โดยการสังเกต การสำรวจ การทดลอง ซึ่งเป็นวิธีการให้ผู้เรียนสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง
        4) ผู้สังเกตพฤติกรรมของผู้เรียน เพื่อพร้อมที่จะเข้าใจ ช่วยเหลือ ส่งเสริม สนับสนุน เพื่อให้ผู้ได้เรียนรู้ได้อย่างราบรื่น
        5) ผู้เสริมแรง เพื่อให้ผู้เรียนแสดงพฤติกรรมที่ครูต้องการ และเป็นการย้ำให้ผู้เรียนมั่นใจในการกระทำของตนเอง จะได้พัฒนาตนเองให้ดียิ่งขึ้น โดยเลือกโอกาสในการเสริมแรงให้เหมาะสม
        6) ผู้ถามคำถาม เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนคิด และใช้คำถามเป็นเครื่องมือในการพัฒนาสติปัญญาของผู้เรียน
        7) ผู้ให้ข้อมูลย้อนกลับ เมื่อผู้เรียนลงมือปฏิบัติย่อมต้องการทราบผลการกระทำของตน


การวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาในชั้นเรียน

        การวิจัยในชั้นเรียน คือ การวิจัยที่ทำโดยครูผู้สอนในชั้นเรียน เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนและนำผลมาใช้ในการปรับปรุงพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้เรียน เป็นการวิจัยที่ต้องทำอย่างรวดเร็ว นำผลไปใช้ทันทีและสะท้อนข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติงานต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันของตนเองและกลุ่มผู้ร่วมงานในโรงเรียน โดยการวิพากษ์ อภิปราย แลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับแนวทางที่ได้ปฏิบัติและผลที่เกิดขึ้นเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ทั้งครูและผู้เรียน (สุวิมล ว่องวาณิช, 2548) วัตถุประสงค์สำคัญของการวิจัยในชั้นเรียนจึงเป็นการศึกษาสถานการณ์ที่เป็นปัญหาในการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียน เพื่อให้ครูได้พิจารณาทบทวนการจัดการเรียนรู้ของตนอย่างเป็นระบบ

 

ลักษณะสำคัญของวิจัยในชั้นเรียน คือ การดำเนินงานที่เป็นวงจรต่อเนื่องที่ครูต้องดำเนินการตลอดเวลาเพื่อแก้ไขปัญหาและหาข้อค้นพบ รวมถึงแนวทางในการพัฒนาการเรียนการสอน ได้แก่

 

        1) การวางแผน (plan) คือ การกำหนดแนวทางหรือประเด็นปัญหาที่ต้องการปรับปรุงแก้ไขหรือพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น
        2) การปฏิบัติ (act) ดำเนินการตามแผนที่กำหนด
        3) การสังเกต (observe) คือ การสังเกตผลการปฏิบัติงานในระหว่างที่ดำเนินการตามแผนที่กำหนด
        4) การพิจารณาไตร่ตรอง (reflection) คือ การคิดไตร่ตรองเพื่อประเมินผลการปฏิบัติงาน และปรับปรุงแก้ไขการดำเนินงานครั้งต่อไป

 

        การทำวิจัยในชั้นเรียนหากครูใช้นวัตกรรม ก็จะสามารถพัฒนาผู้เรียนได้ตรงจุดและส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการจัดการเรียนรู้มากกว่าการกำหนดนโยบาย


ปัญหา อุปสรรคและแนวทางแก้ไขในการพัฒนาครูสู่ผู้อำนวยการเรียนรู้

ปัญหาและอุปสรรคต่อการทำหน้าที่ผู้อำนวยการเรียนรู้ของครู
        - ครูเคยชินกับรูปแบบการสอนแบบเดิม
        - ครูมีความคิดว่าเด็กนักเรียนยังเป็นเด็กและต้องได้รับการแนะนำสั่งสอนของครู

        - ครูหลายท่านรู้สึกว่าการบอกความรู้นั้นประหยัดเวลากว่าซึ่งอาจจะเป็นจริงได้ถ้านักเรียนเป็นเหมือนคอมพิวเตอร์ซึ่งสามารถรับข้อมูลที่ใส่เข้าไปโดยตรงได้ทั้งหมด
        - การวางแผนการจัดการเรียนรู้แบบเดิมนั้นง่าย ประเมินผลและสังเกตได้ง่าย
        - นักวิจัยในอดีตเคยนำเสนอแนะไว้ว่าครูผู้สอนควรเรียนรู้รูปแบบการสอนที่เป็นสไตล์ของตนเองแล้วยึดแนวทางนั้นไว้
        - สำหรับครูบางท่านอาจรู้สึกกังวล ไม่สบายใจกับการปล่อยให้เด็กเรียนรู้ด้วยตนเอง เพราะรู้สึกสูญเสียความสำคัญและอำนาจปกครองแนวทางการแก้ไข
        - ในเชิงนโยบายควรต้องมีการปรับแก้ให้ตรงกันในเรื่องของเกณฑ์การประเมินคุณภาพโรงเรียนและวิทยฐานะของครูให้ตรงกับการบทบาทและการทำหน้าที่ของครู
        - ต้องปรับทัศนคติและความเข้าใจของครูว่าความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบันต้องการแรงงานคุณภาพที่มีคุณลักษณะเช่นใด เพื่อให้ครูเข้าใจบทบาทของตนเองว่าควรต้องปรับเปลี่ยนอย่างไรเพื่อให้สามารถสร้างนักเรียนที่มีลักษณะเป็นที่ต้องการของประชาคมโลก
        - ครูควรได้มีประสบการณ์ในการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ด้วยเทคนิคการจัดการเรียนรู้แบบต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับผลการวิจัยที่พบว่าครูส่วนใหญ่มักสอนโดยวิธีการที่ตนเองเคยเรียนแล้วได้ผล เนื่องจากประสบการณ์การเรียนรู้ของครูส่งผลโดยตรงต่อพฤติกรรมการสอนของครู


การอบรมประเภทที่อธิบายวิธีการสอนไม่เพียงพอ ต้องให้ครูได้มีประสบการณ์ตรง

คำถามเพื่อนำไปสู่ Action Learning
1. คำกล่าวที่ว่า “ศิษย์ดีเพราะมีครู ครูดีเพราะมีศิษย์” ท่านคิดว่ามีความเกี่ยวข้องกับบทบาทของครูที่ต้องเปลี่ยนแปลงจากครูผู้สอนสู่ผู้อำนวยการเรียนรู้ อย่างไรบ้าง เพราะเหตุใด
2. อุปสรรคสำคัญที่ท่านคิดว่า ครูยังไม่พร้อมหรือไม่สามารถเปลี่ยนบทบาทของตนเองจากครูผู้สอนเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ มีอะไรบ้าง และท่านคิดว่าสถานศึกษาควรมีแนวทางบริหารจัดการอย่างไร เพื่อส่งเสริมให้ครูเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ในชั้นเรียนมากขึ้น
3. ทักษะสำคัญที่ครูในฐานะผู้อำนวยการเรียนรู้ จำเป็นต้องมีหรือได้รับการพัฒนาให้มากขึ้น คือทักษะใดบ้างเพราะเหตุใด และแนวทางการพัฒนาควรเป็นอย่างไร 

 

แหล่งศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม
วิจารณ์ พานิช. การสร้างการเรียนรู้สู่ศตวรรษที่21. https://www.scbfoundation.com 
วิจารณ์ พานิช. ครูเพื่อศิษย์สร้างห้องเรียนกลับทาง. https://www.scbfoundation.com
วิจารณ์ พานิช. วิถีการสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 21. https://www.scbfoundation.com
วิจารณ์ พานิช. สนุกกับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21. https://www.scbfoundation.com
สุวิมล ว่องวาณิช. (2548). การวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน. พิมพ์ครั้งที่ 8. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 
Kulish, L. S. (2014). Instructional Coaching Model.The Shaker Heights City School District.
Stellwagen, J. B. (1997). The Teacher as Coach: Re-Thinking a Popular Educational Paradigm,
The Clearing House, Vol.70, No. 5 (May - Jun., 1997), pp. 271-273

 

KPIs
1. ครูมีการปรับและพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนตามแนวคิด "ผู้อำนวยการเรียนรู้" เหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษาของตน
2. ครูสามารถแนะนำ เป็นตัวอย่างที่ดี ในการตระหนักและปรับบทบาทของตนสู่การเป็น "ผู้อำนวยการเรียนรู้" ให้กับเพื่อนครูได้อย่างน้อย 3 ท่าน
3. ครูผู้ถูกแนะนำแนวคิด "ผู้อำนวยการเรียนรู้" ไปประยุกต์ใช้กับห้องเรียนของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพในภาคเรียนถัดไป อย่างน้อย 1 ภาคการศึกษา
4. ครูมีการศึกษาปัญหาและจัดทำโครงการวิจัยในชั้นเรียนอย่างง่าย โดยใช้กระบวนการ PAOR ในการแก้ไขปัญหา อย่างน้อย 1 โครงการ/ภาคเรียน

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow