Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

21 มีนาคม ‘วันป่าไม้โลก’

Posted By trueplookpanya | 21 มี.ค. 66
2,067 Views

  Favorite

ป่าไม้ เป็นที่อยู่อาศัยของสรรพชีวิตน้อยใหญ่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

เป็นแหล่งวัตถุดิบอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรคสำหรับมนุษย์ แต่มนุษย์กับไม่เห็นความสำคัญของป่าไม้ ยังมีการบุกรุกทำลายป่า แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม ถึงแม้ปัจจุบันจะมีการปลูกป่าทดแทนมากมาย แต่กว่าจะเติบโตทดแทนส่วนที่ถูกทำลายไป เรา อาจจะเสียอะไรมากกว่าที่คิด

ภาพจากการประกวดภาพถ่ายอนุรักษ์ธรรมชาติ ‘สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ’
โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และเครือเจริญโภคภัณฑ์
ภาพเข้ารอบ ประเภทป่ามีคุณ ภาพทิวทัศน์ ระดับบุคคลทั่วไป ประจำปี 2565
ชื่อภาพ : ความงดงามของผืนป่าใต้
โดย : นายจิระพงษ์ วงศ์วิวัฒน์
สถานที่ : ผาอโศก จ.นราธิวาส

ป่าในประเทศไทยสามารถจำแนกได้เป็น 2 ชนิดใหญ่ ๆ คือ ป่าไม่ผลัดใบ (Evergreen forest) และป่าผลัดใบ (Deciduous forest)

ป่าไม่ผลัดใบ เป็นป่าที่มีเรือนยอดเขียวชอุ่มตลอดปี จำแนกออกเป็นชนิดใหญ่ ๆ ได้ 4 ชนิด ได้แก่

ป่าดิบเขตร้อน (Tropical evergreen forest) ประกอบด้วย

  • ป่าดิบชื้น (Tropical rain forest) พบตามภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ของประเทศ ที่มีระดับสูงตั้งแต่ระดับเดียวกันกับน้ำทะเลจนถึงระดับ 100 เมตร มีปริมาณน้ำฝนตกไม่น้อยกว่า 2,500 มิลลิเมตร ต่อปี
  • ป่าดิบแล้ง (Dry evergreen forest) พบอยู่ทั่วไปตามภาคต่าง ๆ ของประเทศ
    ตามบริเวณที่ราบและหุบเขา ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 100-500 เมตร มีปริมาณน้ำฝนระหว่าง 1,000-2,000 มิลลิเมตร ต่อปี
  • ป่าดิบเขา (Hill evergreen forest) พบอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000 เมตรขึ้นไปที่มีกระจัดกระจายอยู่ตามภาคต่าง ๆ ของประเทศ มีปริมาณน้ำฝนระหว่าง 1,500-2,000 มิลลิเมตร ต่อปี

ป่าสน (Coniferous forest) พบการกระจายเป็นหย่อม ๆ ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตกเฉียงใต้ ที่สูงจากระดับน้ำทะเล 200-1,600 เมตร (ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สูงประมาณ 30 เมตร) ปริมาณน้ำฝนระหว่าง 1,000-1,500 มิลลิเมตร

 

ป่าพรุหรือป่าบึง (Swamp forest) ประกอบด้วย

  • ป่าพรุ (Fresh-water swamp forest) เป็นป่าที่มีน้ำท่วมขังในบางช่วงหรือขังตลอดปี มักพบกระจายทั่วไปทุกภาค พบมากทางภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ ที่สูงจากระดับน้ำทะเล 10-500 เมตร
  • ป่าชายเลน (Mangrove forest) เป็นป่าที่น้ำทะเลท่วมถึง พบตามชายฝั่งที่เป็น
    แหล่งสะสมดินเลนทั่ว ๆ ไป อยู่ระดับเดียวกับน้ำทะเลเป็นส่วนใหญ่ ปริมาณน้ำฝนระหว่าง 1,500-4,000 มิลลิเมตร ต่อปี

ป่าชายหาด (Beach forest) เป็นป่าที่อยู่ตามชายฝั่งทะเลที่มีดินเป็นกรวดทรายและ
โขดหิน สูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน ๕๐ เมตร มีไอเค็มกระจายถึง ปริมาณน้ำฝนใกล้เคียงกับป่าชายเลน

ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับชนิดของป่าไม้ ได้แก่ ลมฟ้าอากาศ ชนิดของดินหิน ความสูงเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง และชีวปัจจัย สามารถแบ่งชนิดป่าไม่ผลัดใบของประเทศไทยเป็น 14 ชนิด  ได้แก่

1.    ป่าดิบชื้น (Tropical evergreen rain forest หรือ Tropical rain forest)

2.    ป่าดิบแล้ง (Seasonal rain forest หรือ Semi-evergreen forest หรือ Dry evergreen forest)

3.    ป่าดิบเขาต่ำ (Lower montane rain forest)

4.    ป่าไม้ก่อ (Lower montane oak forest)

5.    ป่าไม้ก่อ-ไม้สน (Lower montane pine-oak forest)

6.    ป่าไม้สนเขา (Lower montane coniferous forest)

7.    ป่าละเมาะเขาต่ำ (Lower montane scrub)

8.    ป่าดิบเขาสูงหรือป่าเมฆ (Upper montane rain forest หรือ Cloud forest)

9.    ป่าละเมาะเขาสูง (Upper montane scrub)

10. แอ่งพรุภูเขา (Montane peat bog หรือ Sphagnum bog)

11. ป่าชายเลนหรือป่าโกงกาง (Mangrove forest)

12. ป่าพรุ (Peat swamp forest)

13. ป่าบึงน้ำจืดหรือป่าบุ่ง-ทาม (Freshwater swamp forest)

14. สังคมพืชชายหาด (Strand vegetation) ตามหาดทราย (Sand strand) และโขดหิน (Rock strand)

ป่าผลัดใบ เป็นป่าที่มีองค์ประกอบพืชพรรณเป็นพรรณไม้ผลัดใบ พบทั่วไปในทุกภาคยกเว้นภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงใต้ (จันทบุรี-ตราด) ป่าผลัดใบสามารถจำแนกเป็น 3 ชนิด ตามองค์ประกอบพืชพรรณ ดังนี้

  • ป่าเบญจพรรณหรือป่าผลัดใบผสม (Mixed deciduous forest) พบทั่ว ๆ ไปตามภาคต่าง ๆ ของประเทศที่เป็นที่ราบหรือตามเนินขาที่สูงจากระดับน้ำทะเลระหว่าง 50-600 เมตร ดินเป็นได้ตั้งแต่ดินเหนียว ดินร่วน จนถึงดินลูกรัง ปริมาณน้ำฝนไม่เกิน 1,000 มิลลิเมตร ต่อปี
  • ป่าเต็งรัง ป่าแพะ ป่าแดง หรือป่าโคก (Deciduous dipterocarp forest หรือ Dry dipterocarp forest) พบทั่วไปตามภาคต่าง ๆ ของประเทศที่เป็นที่ราบหรือตามเนินเขาที่สูงจากระดับน้ำทะเล 100-600 เมตร ดินมักเป็นดินทรายและดินลูกรัง มีปริมาณน้ำฝนไม่เกิน 1,000 มิลลิเมตร ต่อปี
  • ป่าหญ้า (Savanna forest) เป็นป่าที่เกิดภายหลังจากที่ป่าธรรมชาติอื่น ๆ ดังกล่าวข้างต้น ได้ถูกทำลายไปหมด ดินมีสภาพเสื่อมโทรมจนต้นไม้ไม่อาจขึ้นหรือเจริญงอกงามต่อไปได้ พวกหญ้าต่าง ๆ จึงขึ้นมาแทนที่ พบได้ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกของไทย

ในขณะที่ การแบ่งชนิดของป่าโดยพิจารณาจากสภาพภูมิประเทศ ลมฟ้าอากาศ และชีวปัจจัยตามธวัชชัย (2555) สามารถแบ่งชนิดของป่าผลัดใบ ได้ 3 ชนิด คือ

1.    ป่าเบญจพรรณ, ป่าผสมผลัดใบ (Mixed deciduous forest)

2.    ป่าเต็งรัง (Deciduous dipterocarp forest)

3.    ป่าเต็งรัง-ไม้สน (Pine-deciduous dipterocarp forest)

จะเห็นได้ว่าป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ย่อมมีความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้นด้วย

อยากให้ทุกคนร่วมแรงร่วมใจช่วยกันปลูก ช่วยกันดูแล ช่วยกันรักษา เพื่อให้ป่าไม้เป็นแหล่งอากาศ เป็นแหล่งอาหาร เป็นที่อยู่ให้สิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่สืบไป

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก: กลไกการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารความหลากหลายทางชีวภาพ

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • trueplookpanya
  • 0 Followers
  • Follow