วันเข้าพรรษา บ้างว่าเป็นวันแม่ของพระพุทธศาสนา เพราะ
เป็นช่วงที่พระสงฆ์ต้องดำเนินตามพระวินัย คือ จำวัดอยู่ที่วัดนั้น ๆ เป็นเวลา ๓ เดือน
เป็นช่วงที่ พระพุทธเจ้าทรงขึ้นไปจำพรรษาบนเทวโลก ชั้นดาวดึงส์ เพื่อโปรดพระพุทธมารดา พระนางสิริมหามายา ที่สิ้นพระชนม์ไปแล้ว
แม้พระนางสิริมหามายาจะไม่มีโอกาสได้ฟูมฟักเลี้ยงดู “เจ้าชายสิทธัตถะ” แต่ก็ทรงพระคุณอันยิ่งใหญ่ไพศาลในฐานะแม่ผู้ให้กำเนิด
ดังนั้นในพรรษาที่ ๗ หลังจากพระพุทธองค์ตรัสรู้แล้ว จึงเสด็จไปจำพรรษา ณ ดาวดึงส์เทวโลก เพื่อเทศนาโปรดพระพุทธมารดา ซึ่งขณะนั้นพระมารดาอยู่ในเพศของเทพบุตร คือ เป็นชายบนสวรรค์ชั้นดุสิต ตลอดพรรษา
ซึ่งในการโปรดพระพุทธมารดาตลอดเข้าพรรษา ๓ เดือนครั้งนั้น ได้กำเนิดคำสอนที่พิเศษ "พระอภิธรรม” (แปลว่า ธรรมชั้นยอด หรือธรรมที่มากกว่าธรรม) จำนวน ๗ คัมภีร์ ที่พระสงฆ์ใช้สวดในพิธีศพในทุกวันนี้
โดยทรงรำลึกถึงพระคุณของพระมารดา ในทุกภพชาติที่ยิ่งใหญ่นัก มากจนเกินกว่าจะสอนเพียง พระวินัยปิฎก และพระสุตตันปิฎก
ซึ่งการที่บุตรทำให้พ่อแม่ บังเกิดดวงตาเห็นธรรม ถือได้ว่า ทำหน้าที่บุตรสมบูรณ์ที่สุด
เทวดานั้นมีระดับชั้น โดยเทวดาชั้นสูงกว่าสามารถลงมายังสวรรค์ชั้นต่ำกว่าได้ แต่เทวดาจากสวรรค์ชั้นล่าง ๆ จะไม่สามารถข้ามขึ้นไปสู่สวรรค์ชั้นสูงได้
ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงเลือกเทศนา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อันเป็นสวรรค์ชั้นล่างสุด เพื่อให้เทวดาในทุกชั้นฟ้าสามารถมาร่วมสดับพระอภิธรรมได้
เหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงไม่เสด็จไปเทศนาบนสวรรค์ชั้นดุสิต
ภายหลังจากเทศนาโปรดพระพุทธมารดาตลอดถ้วนทั้งพรรษา ๓ เดือนแล้ว พระพุทธองค์จึงเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ด้วยบันไดแก้ว เคียงข้างขนาบมาด้วยพระอินทร์พระพรหม และหมู่เทวดาที่มาส่งเสด็จ
ซึ่งแม้ในปัจจุบัน เหตุการณ์ครั้งนั้น ยังคงถูกจำลองไว้ทุกปีหลังจากออกพรรษา ในประเพณีที่เรียกกันว่า “ตักบาตรเทโว”