Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

กว่าจะเป็นแม่ : พระพุทธมารดา กับ ปฐมบท ตำแหน่งยิ่งใหญ่ ที่มิได้เป็นกันได้ง่าย

Posted By มหัทธโน | 10 ส.ค. 65
13,152 Views

  Favorite

พระพุทธมารดา ตำแหน่งนี้ใหญ่หลวงนัก

ผู้หญิงคนหนึ่ง ที่ได้รับสิทธิพิเศษเหนือบรรดาแม่ทั้งหลาย ได้เกิดเป็นถึงพระพุทธมารดา แต่ไม่มีโอกาสได้ชมพระบารมีของพระโอรส

โดยพระพุทธมารดาต้องสิ้นพระชนม์ในอีก 7 วันต่อมาทันที หลังจากให้ประสูติแล้ว

 

นับว่าเป็นพระพุทธบุญคุณอันยิ่งใหญ่ หาใครเสมอเหมือนได้ยาก

เพราะหากโลกนี้ปราศจาก “พระนางสิริมหามายาพุทธมารดา” พระพุทธเจ้าก็คงไม่อาจอุบัติขึ้น

เชื่อกันว่า
พุทธมารดา คือ บุคคลที่สั่งสมบุญบารมีร่วมกับพระโพธิสัตว์มา แล้วตั้งความปรารถนาไว้เพื่อเป็น “พุทธมารดา”

 

แต่กว่าจะเป็นพระพุทธมารดา ตำแหน่งที่ไม่ได้เป็นกันได้ง่าย ๆ

และเพื่อคงความบริสุทธิ์ของพระครรภ์ ไม่สามารถตั้งพระครรภ์อื่น ๆ ได้อีก โดยต้องมีความมุ่งมัั่นในเจตนารมย์ของการมุ่งดำรงตนเป็นพระพุทธมารดา มหาพระพุทธคุณอันยิ่งใหญ่ สั่งสมมา
 

คุณสมบัติของพระพุทธมารดา

ในอรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน โสณเถรวรรคที่ ๕ อัปปายุกาสูตร และปฐมบท ของการตั้งใจดำรงตนเป็นพระพุทธมารดา ย้อนอดีตชาติของพระนางสิริมหามายา  

ตามพุทธประวัติกล่าวว่า
ก่อนที่พระโพธิสัตว์จะจุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตไปบังเกิดในพระชาติสุดท้าย ที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ได้ทรงพิจารณาดูสิ่งสำคัญ ๕ ประการ เรียกว่า
“ปัญจมหาวิโลกนะ” ได้แก่

๑. กาลเวลา ทรงพิจารณาว่า อายุของมนุษย์ไม่สั้นกว่าร้อยปี ไม่ยาวเกินแสนปี
๒. ทวีป ทรงพิจารณาว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายเกิดในชมพูทวีป
๓. ประเทศ ทรงพิจารณาว่า จะอุบัติในมัธยมประเทศ คือประเทศกลาง ที่เมืองกบิลพัสดุ์
๔. ตระกูล ทรงพิจารณาว่า จะอุบัติเฉพาะในตระกูลกษัตริย์หรือพราหมณ์เท่านั้น (แต่ในกาลนั้นตระกูลกษัตริย์ประเสริฐที่สุด) จึงทรงเลือกพระเจ้าสุทโธทนะแห่งกรุงกบิลพัสดุ์ เป็นพุทธบิดา
๕. มารดา ทรงพิจารณาว่า พระนางสิริมหามายามีศีล ๕ บริสุทธิ์ ได้บำเพ็ญบารมีธรรมมาตลอดแสนกัลป์ 

พระนางสิริมหามายาเป็นราชธิดา ในพระเจ้าอัญชนะ แห่งกรุงเทวทหะ แคว้นโกลิยะ ทรงเป็นขัตติยนารีที่บริบูรณ์ด้วยเบญจกัลยาณี มีลักษณะอันเป็นสิริมงคล ทรงอภิเษกสมรสกับพระเจ้าสุทโธทนะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ
 

ที่มา : www.dhammajak.net


สุบินนิมิตก่อนตั้งพระครรภ์

ในวันอาสาฬหะ เพ็ญเดือน ๘ เมื่อพระนางสิริมหามายาทรงบริจาคทานตามปกติ แล้วเสวยโภชนาหาร ทรงสมาทานอุโบสถศีล ดังเช่นเคยถือปฏิบัติมา ครั้นเสด็จเข้าสู่ห้องบรรทมตั้งแต่ยามต้นแห่งราตรี เมื่อใกล้รุ่งสางพระนางทรงสุบินนิมิต(ฝัน) ว่า

ท้าวจตุมหาราชทั้ง ๔ คือ ท้าวธตรฐ ท้าววิรุฬหก ท้าววิรูปักษ์ และท้าวกุเวร มายกพระองค์ไปพร้อมทั้งแท่นบรรทม แล้วนำไปยังป่าหิมพานต์ วางลงบนแผ่นหินใหญ่ใต้ต้นรัง

ขณะนั้นมีนางเทพธิดามาทูลเชิญพระองค์ให้เสด็จไปสรงน้ำในสระอโนดาต ชำระมลทินพระวรกายแล้วให้เปลี่ยนเครื่องทรงมาใช้ของทิพย์ทั้งหมด ลูบไล้ด้วยของหอมและประดับด้วยดอกไม้ทิพย์ แล้วทูลเชิญพระนางให้เสด็จเข้าบรรทมในวิมานทองอันประดิษฐานอยู่บนยอดภูเขาเงิน ซึ่งในที่ใกล้กันนั้นมีภูเขาทองปรากฏอยู่

จู่ ๆ ก็มีพญาช้างเผือกเชือกหนึ่งลงมาจากภูเขาทอง มุ่งตรงมายังห้องบรรทมของพระนาง ชูงวงถือดอกบัวขาวกลิ่นหอมฟุ้งไปทั่ววิมาน ทำประทักษิณ (เดินเวียนขวา) พระนางครบ ๓ รอบ แล้วก็เข้ามาสู่พระอุทร (ท้อง) เบื้องขวา ในขณะที่ทรงสุบินนิมิตนั้น พระโพธิสัตว์ก็เสด็จลงปฏิสนธิสู่ครรภ์ของพระนาง

ครั้นรุ่งเช้า พระนางสิริมหามายาได้กราบทูลเล่าสุบินนิมิต ถวายพระเจ้าสุทโธทนะให้ทรงทราบ พระองค์จึงรับสั่งให้เชิญพราหมณ์ปาโมกข์โหราจารย์ทั้งหลายเข้าเฝ้า 
พราหมณ์ปุโรหิต โหราจารย์ทั้งหลาย ผู้เชี่ยวชาญในคัมภีร์ไตรเพท ฟังสุบินนิมิตนั้นแล้วกราบทูลว่า

“ขอเดชะ พระสุบินนิมิตของพระราชเทวีนี้ เป็นมงคลนิมิตอันประเสริฐยิ่ง พระองค์จะได้พระโอรสที่เลิศประเสริฐกว่าบุรุษทั้งหลาย มีบุญญาธิการยิ่งใหญ่ มีอานุภาพมาก จะได้เป็นที่พึ่งของสรรพสัตว์ หาผู้เสมอเหมือนมิได้

 

ถ้าสถิตอยู่ในเพศฆราวาส จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้เกรียงไกร

แต่ถ้าออกบรรพชาจะได้ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลก พระเจ้าข้า”

เมื่อพระนางทรงครรภ์ครบถ้วนสิบเดือนแล้ว จึงปรารถนาจะเสด็จไปคลอดยังราชสกุลเดิม คือ กรุงเทวทหะ

โดยถือตามลัทธิประเพณีเดิมว่า ภรรยาจะไม่คลอดบุตรในเรือนของฝ่ายสามี จึงกราบทูลขออนุญาตจากพระราชสวามี

ครั้นพระเจ้าสุทโธทนะทรงอนุญาตแล้ว ในวันเพ็ญเดือนวิสาขมาส ยามรุ่งสาง พระนางประทับบนเสลี่ยงทอง แวดล้อมด้วยหมู่พระสนมกำนัล และราชบริพาร เสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ มุ่งสู่กรุงเทวทหะ เมื่อเข้าสู่เขตป่าลุมพินีวัน ราชอุยานระหว่างเมืองทั้งสอง หมู่อำมาตย์เสนาทั้งหลายจึงจัดสถานที่ประทับยังใต้ต้นสาละอันร่มรื่น

พระนางทรงสำราญพระทัยที่ได้ชมธรรมชาติราชอุทยาน และปรารถนาจะเอื้อมพระหัตถ์จับกิ่งสาละที่ห้อยย้อยลงมา แต่เมื่อพระหัตถ์สัมผัสเหนี่ยวกิ่งสาละ ก็เกิดลมกัมมัชวาต (อาการปวดครรภ์ใกล้ประสูติ) ข้าราชบริพารทั้งหลายจึงรีบผูกม่านแวดล้อมใต้ต้นสาละนั้น พระนางทรงประทับยืนหันหลังอิงต้นสาละ พระหัตถ์ขวาเหนี่ยวกิ่งสาละ หันพระพักตร์ทอดพระเนตรไปทางทิศบูรพา ครั้นเวลาสายใกล้เที่ยง อันประกอบด้วยวิสาขฤกษ์ในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ พระนางสิริมหามายาได้ประสูติพระโอรส ประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะครบทุกประการ

เมื่อพระกุมารโพธิสัตว์ประสูติจากครรภ์ ยังมิทันถึงพื้นปฐพี ท้าวมหาพรหมจากชั้นสุทธาวาส ก็มารอรับพระวรกายด้วยข่ายทอง

ขณะนั้นท่อน้ำอุ่นน้ำเย็นก็หลั่งลงมาจากอากาศ โสรจสรงองค์พระมารดาและพระกุมารโพธิสัตว์ ลำดับนั้นดอกบัวก็ผุดปรากฏขึ้นมารองรับพระบาท ในขณะที่พระกุมารโพธิสัตว์ประทับยืนเหนือพื้นปฐพี แล้วทอดพระเนตรไปทั่วทุกทิศ ไม่เห็นมีผู้ใดจะมีบุญบารมีเสมอด้วยพระองค์ จึงหันพระพักตร์ไปยังทิศอุดร เสด็จดำเนินด้วยพระบาทไป ๗ ก้าว แล้วทรงเปล่งอาสภิวาจาบันลือสีหนาท ด้วยพระสุรเสียงอันไพเราะดุจเสียงท้าวมหาพรหมว่า

“เราเป็นผู้เลิศ เป็นผู้เจริญ เป็นผู้ประเสริฐสุดในโลก การเกิดของเราครั้งนี้ เป็นครั้งสุดท้าย การเกิดใหม่ไม่มีอีกแล้ว”

 

ความสำคัญของพระพุทธมารดา

มิสามารถให้ใครอื่นมาอุบัติในพระครรภ์นี้ได้อีก

ด้วยพระพุทธคุณอันยิ่งใหญ่ ที่ให้กำเนิดพระโพธิสัตว์ผู้บริสุทธิ์ จึงมิควรตั้งพระครรภ์ผู้ใดอีก ด้วยอานุภาพอันยิ่งใหญ่อันหาประมาณมิได้ จึงต้องสิ้นพระชนม์ภายใน ๑๐ เดือน ๗ วัน

และด้วยด้วยบุญอันยิ่งใหญ่ แห่งการเป็นพระพุทธมารดาจึงส่งผลให้อุบัติเป็นเทวดาเสวยทิพยสมบัติบนสวรรค์ชั้นดุสิต

 

ที่มา : www.dhammajak.net

กว่าจะมาเป็น พระพุทธมารดา

ปฐมอดีตชาติ ของการดำรงตนเพื่อเป็นพระพุทธมารดา ผู้ยิ่งใหญ่

เบื้องหลังกว่า พระนางสิริมหามายา จะได้เป็นพระพุทธมารดา ย้อนสู่ พระชาติแรกของพระนางที่เริ่มตั้งจิตอธิษฐานเป็นพระพุทธมารดา

ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา ชื่อว่า “สัมภารวิบาก”  (“สมภาร” หมายถึงการสะสม วิบาก แปลว่า “ผล” ดังนั้นจึงแปลว่า “ผลแห่งการสะสม”) 

โดยคัมภีร์นี้ จะรวบรวมพระชาติต่าง ๆ ของพระพุทธเจ้าไว้ ตั้งแต่พระชาติที่พระองค์มีจิตปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า จนกระทั่งพระชาติ ที่เป็นสุเมธดาบส และได้รับพุทธพยากรณ์จากพระทีปังกรพุทธเจ้า


โดยปฐมบทของพระชาติของพระพุทธเจ้า นับตั้งแต่ตั้งจิตปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าได้เล่ากล่าว ถึงการมีเจตน์จำนงเป็นพระพุทธมารดา

เรื่องมีอยู่ว่า

ครั้งพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นชายยากเข็ญ พ่อแม่ก็อยากให้แต่งงาน แต่ไม่ยอมแต่งงาน เพราะอยากอยู่ดูแลพ่อแม่ไปตลอดชีวิตของตน

จนเมื่อพ่อจากไป พระโพธิสัตว์ต้องเลี้ยงดูแม่ที่แก่ชราลงทุกที จึงไปสมัครทำงานกับพ่อค้าสำเภาแล้วทำงานมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งได้รับเลือกเป็นนายเรือสำเภา พระโพธิสัตว์ต้องไปแดนไกล ด้วยความเป็นห่วงแม่จึงพาแม่ขึ้นเรือไปด้วย

 

แต่ต่อมา เรือสำเภาเผชิญกับพายุจนอัปปาง พระโพธิสัตว์แหวกน้ำเอาชีวิตรอด แต่นึกได้ว่าตนมีแม่มาด้วย จึงว่ายน้ำตามหาจนพบแม่เกาะกระดานไม้ลอยอยู่ จึง ให้แม่เกาะที่หลังของตน แล้วพาว่ายข้ามมหาสมุทร
 

ที่มา : www.dhammajak.net

 

ฝ่ายท้าวมหาพรหมที่มีทิพยญาณได้แปลกใจว่า เหตุใด จึงไม่มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นบนโลกมานาน จึงเสด็จจากวิมานพรหมลงมายังโลกมนุษย์ และพบนายเรือกำลังว่ายข้ามมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ ซึ่งผิดวิสัยคนธรรมดา ซ้ำยังมีแม่เกาะมาด้วย

ท้าวมหาพรหมจึงส่งกระแสจิต ให้พระโพธิสัตว์บังเกิดจิต ตั้งพระมหาปณิธานน้อมจิต ปรารถนาพระโพธิญาณ
 

เมื่อลูกอยากเป็น แม่ก็ขอติดตามช่วยเหลือลูกไปทุกชาติ

นายเรือกำลังแหวกว่ายอยู่นั้น บังเกิดจิตอยากช่วยสรรพสัตว์ จึงเปล่งวาจาว่า

“เราตรัสรู้แล้ว เราก็อยากให้ผู้อื่นรู้ด้วย

เราหลุดพ้นแล้ว ก็อยากให้ผู้อื่นหลุดพ้นด้วย

เราข้ามได้แล้ว เราก็อยากให้ผู้อื่นข้ามได้ด้วย”

 

เมื่อพระโพธิสัตว์เปล่งวาจาเป็นสัจอธิษฐานดังนี้ แม่ซึ่งเกาะอยู่ที่หลังได้ยิน ก็บังเกิดจิตโสมนัสยิ่ง จึงเปล่งวาจา ว่า

"หากบุตรชายปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ นำพาเวไนยสัตว์ไปสู่ฝั่ง เราก็ขอเป็นพระพุทธมารดา"

 

หลังจากนั้นมาแม่ของนายเรือจึงเกิดเป็นมารดาของพระโพธิสัตว์มาหลายภพหลายชาติ จนกระทั่งพระชาติสุดท้ายเป็นพระนางสิริมหามายา

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • มหัทธโน
  • 4 Followers
  • Follow