Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เทคนิครับมือ เด็กอมข้าว

Posted By Plook Parenting | 19 พ.ค. 65
7,972 Views

  Favorite

ปัญหาลูกอมข้าว มักพบได้ในเด็กอายุ 1-5 ขวบ คุณพ่อคุณแม่ควรหาสาเหตุให้เจอ จะได้หาทางรับมือและแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้อง

 

การอมข้าว คือพฤติกรรมที่เด็กกินข้าวแล้วไม่ยอมเคี้ยว หรือเคี้ยวแต่ไม่ยอมกลืน พบได้บ่อยตั้งแต่เด็กเริ่มกินอาหารอื่นนอกเหนือจากนมแม่ คือ ตั้งแต่อายุ 1-5 ขวบ หากปล่อยให้เด็กอมข้าวบ่อย ๆ หรือทำจนติดเป็นนิสัย อาจส่งผลกระทบทั้งต่อพัฒนาการร่างกาย จิตใจ ไปจนถึงสมองได้

 

ภาพ : Shutterstock

 

สาเหตุที่เด็กอมข้าว

1. เด็กยังไม่หิว

อาจเพราะมื้ออาหารอยู่ใกล้กับมื้อที่ลูกเพิ่งกินนมไป หรือลูกกินขนม ผลไม้ น้ำหวาน ก่อนหน้าที่จะกินข้าว ส่งผลให้ลูกยังอิ่มและไม่อยากอาหาร

2. เด็กต่อต้าน

อาจเป็นเพราะคุณพ่อคุณแม่กดดันให้เขากินข้าว ทั้งที่เขาไม่อยากกินหรือยังไม่หิว เด็กจึงต่อต้านด้วยการอมข้าวไว้ไม่ยอมกลืน

3. อาหารไม่น่ากิน

อีกหนึ่งสาเหตุที่ลูกอมข้าว ไม่อยากกินข้าว อาจเนื่องมาจากอาหารไม่น่ากิน ไม่ว่าจะเป็นหน้าตาของอาหาร กลิ่น รสชาติ บรรยากาศ ไปจนถึงการจัดโต๊ะอาหาร

4. ขาดการฝึกการกินข้าวอย่างถูกวิธี

บางครั้งเด็กเล็กอาจจะยังไม่เข้าใจว่าเมื่อกินข้าวแล้วต้องทำอย่างไรต่อ ต้องเคี้ยวอย่างไร จึงส่งผลให้เขาอ้าปากกินข้าวแต่ไม่ได้เคี้ยว

5. มีสิ่งเรียกร้องความสนใจ

การที่เด็กอมข้าว อาจมีสาเหตุมาจากมีสิ่งกระตุ้นความสนใจของเขาจนทำให้เขาไม่เคี้ยวข้าว เพราะกำลังจดจ่ออยู่กับสิ่ง ๆ นั้นก็เป็นได้

 

ภาพ : Shutterstock

 

วิธีรับมือ

1. จัดตารางเวลากินของลูกให้ดี

คุณพ่อคุณแม่ควรจัดตารางเวลากินของลูกให้ห่างกันประมาณ 3-4 ชั่วโมง เพื่อให้กระเพาะของลูกย่อยอาหารที่กินข้าวไปหมดก่อน จึงกินอาหารมื้อต่อไปได้ และ

2. ควรฝึกวินัยการกินของลูกให้ตรงต่อเวลา

คุณพ่อคุณแม่ควรพูดคุยตกลงกับลูกว่าเราจะกินข้าวกันกี่โมงบ้าง และคุณพ่อคุณแม่ควรมากินข้าวพร้อมกับลูก เพื่อสร้างความเข้าใจกับเขาว่านี่คือเวลากินข้าว หากคุณพ่อคุณแม่เห็นลูกอมข้าวเมื่อไหร่ให้รีบเตือน บอกว่าถ้าไม่กินจะเก็บ และถ้าเก็บแล้วลูกจะได้กินอีกทีมื้อต่อไป โดยพ่อแม่ต้องทำตามที่พูดอย่างเคร่งครัดด้วย

3. เก็บสิ่งเรียกร้องความสนใจให้พ้นสายตา

เช่น โทรทัศน์ สมาร์ทโฟน เพราะจะทำให้ลูกเสียสมาธิจนไม่ยอมกินข้าว และอมข้าวในที่สุด

4. สร้างบรรยากาศบนโต๊ะอาหาร

การสร้างบรรยากาศบนโต๊ะอาหารให้มีกลิ่นหอม ๆ มีจานชามน่ารักชวนกิน อาหารก็หน้าตาน่ากิน จะส่งผลให้เด็กเกิดความอยากอาหาร และมีทัศนคติที่ดีต่อการกินอาหาร ยิ่งได้กินร่วมกับคุณพ่อคุณแม่ เด็กจะยิ่งมีความสุขในการกินมากขึ้น

5. ฝึกลูกกินข้าวอย่างถูกวิธี

การฝึกเคี้ยว ทำได้ด้วยการนั่งกินข้าวไปพร้อม ๆ กับลูก ในขณะที่คุณพ่อคุณแม่ป้อนข้าวลูกเสร็จแล้ว ให้ตักข้าวใส่ปากด้วย และเคี้ยวให้เขาดูอย่างสุภาพ ค่อย ๆ เคี้ยวเพื่อให้ลูกทำตาม

 

เด็กอมข้าวเป็นปัญหาที่หลายบ้านพบเจอ แต่ก็สามารถหาทางรับมือได้ไม่ยาก หัวใจหลักของการรับมือเด็กอมข้าวคือการทิ้งระยะการกินข้าวให้เด็กรู้สึกหิว และสร้างบรรยากาศบนโต๊ะอาหารให้เหมาะกับการกิน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะกระตุ้นความอยากอาหารของลูกได้อัตโนมัติ

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow