“มาฆบูชา” ย่อมาจากคำว่า “มาฆปุรณมีบูชา” แปลว่า “การบูชาพระในวันเพ็ญ เดือน 3” ตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 (หรือ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ในปีอธิกมาส)
เป็นวันสำคัญอันดับสองทางพุทธศาสนา รองจากวันวิสาขบูชา และมีหลากหลายเหตุการณ์สำคัญทางพุทธศาสนาเกิดขึ้น
แต่เหตุการณ์ใดบ้าง ที่ทำให้วันมาฆบูชานี้ ได้ชื่อในภายหลังว่า เป็นวันแสดงความรักด้วยใจบริสุทธิ์และแสดงความสามัคคี รวมถึงเป็นวันแห่งความกตัญญู
นอกจากความสำคัญที่เป็นครั้งแรก ที่พระพุทธศาสนาได้มีการวางรากฐาน อย่างเป็นทางการผ่านโอวาทปาฎิโมกข์ และถือเป็นการประชุมสาวกขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นครั้งแรก แสดงถึงสัญลักษณ์ของความรักสามัคคี ของเหล่าพระสงฆ์ทั้ง 1,250 รูป ที่สามัคคีร่วมใจ มารวมตัวกันโดยมิได้นัดหมาย ทั้งที่ ในยุคพุทธกาลนั้น ขาดความสะดวกของอุปกรณ์สื่อสารใด ๆ
โดยหตุการณ์สำคัญ"วันจาตุรงคสันนิบาต" หรือ วันที่มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ 4 เนื่องจากมี "องค์ประกอบอัศจรรย์ 4 ประการ" คือ
พระสงฆ์ 1,250 รูปที่พระพุทธองค์ได้ส่งไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาตามแว่นแคว้นต่างๆ ได้กลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้าอย่างพร้อมเพรียงกันโดยมิได้นัดหมาย ซึ่งนับว่า โอกาสเกิดขึ้นยากมาก ในยุคสมัยที่ ขาดอุปกรณ์สื่อสารและถนนหนทางไม่สะดวกและห่างไกลกัน
พระสงฆ์ทั้งหมดล้วนเป็นเอหิภิกขุที่พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ด้วยพระองค์เองทั้งสิ้น ซึ่งเรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา
พระสงฆ์ทั้งหมดล้วนเป็นพระอรหันต์ คือผู้ได้อภิญญา 6 ข้อ กล่าวคือ แสดงฤทธิ์ได้ มีหูทิพย์ ตาทิพย์ ระลึกชาติได้ กำหนดรู้ใจผู้อื่นได้ และมีญาณหยั่งรู้ในธรรมอันเป็นที่สิ้นแห่งกิเลสทั้งหลาย
วันที่พระสงฆ์ทั้งหมดมาชุมนุมกันนี้ตรงกับวันเพ็ญเดือนมาฆะ (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3)
นอกจากนี้ วันมาฆบูชายังเป็นวันที่พระสารีบุตร บรรลุอรหัตผล ที่ถ้ำสุกรขาตา หลังจากบวชได้ 15 วัน (หลังพระโมคคัลลานะ ซึ่งใช้เวลา 7 วันบรรลุอรหัตผล)
พระสารีบุตรได้ชื่อว่า มีความกตัญญูอย่างสูง เพราะเมื่อท่านได้มีดวงตาเห็นธรรมครั้งแรก บรรลุเป็นพระโสดาบันโดยพระอัสสชินั้น ท่านจะนอนหันศีรษะไปทิศทางที่พระอัสสชิอยู่เสมอ เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทิตา และทั้งพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ต่างได้รับการยกย่องเป็นพระอัครสาวกทั้งซ้ายและขวา