ในวันนี้ Art Basel Hong Kong 2021 ก้าวข้ามผ่านมรสุมลูกนี้ จุดประกายไอเดีย และเดินหน้าจัดงานแบบไฮบริด ผสานพลังระหว่างออนไลน์และออฟไลน์สำเร็จได้อย่างไร?
หลังการจัดงานในปี 2020 ต้องถูกยกเลิกไปอย่างกระทันหัน งานศิลปะระดับโลกอย่าง Art Basel Hong Kong ก็มีการปรับตัวครั้งใหญ่ พร้อมวางแผนรับมือข้อจำกัดในยุค Social Distancing ทุกรูปแบบ ผันตัวสู่การจัดแสดงงานแบบไฮบริดในเดือนพฤษภาคม 2021 โดยดึงช่องทางดิจิทัลมาเป็นฟันเฟืองสำคัญ ในการให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของนักสะสม แกลเลอรีต่าง ๆ และผู้ชมงานศิลป์มาเป็นอันดับแรกได้สำเร็จ
Marc Spiegler ผู้อำนวยการใหญ่ทั่วโลกประจำงาน Art Basel ได้ให้ความคิดเห็นไว้ว่า “เราทุกคนต่างก็หวังให้จุดที่เรายืนอยู่ในตอนนี้เป็นการสิ้นสุดลงของการแพร่ระบาดเสียที แต่แท้ที่จริงแล้ว ณ ขณะนี้คือจุดเริ่มต้นของโลกใบใหม่แห่งวงการศิลปะต่างหาก
วันใดที่เราหลุดพ้นจากการแพร่ระบาดมาได้ในที่สุด การปรับตัวเข้าสู่รูปแบบดิจิทัล จะทำให้มีการจัดแสดงผลงานทางศิลปะที่เป็นแบบผสมผสานมากขึ้นกว่าเดิม คือยังคงรักษาคุณค่าของการได้มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและการชมงานศิลปะแบบจับต้องได้ไว้ แต่ในทางกลับกันแพลตฟอร์มออนไลน์ก็จะสามารถถ่ายทอดความยิ่งใหญ่ของงานไปสู่ผู้ที่ไม่สามารถเดินทางมาเข้าร่วมได้เช่นกัน”
Art Basel Hong Kong 2021 – ผันตัวสู่โลกดิจิทัล ลอยตัวเหนือการแพร่ระบาด
- ห้องชมงานศิลป์ออนไลน์ (Online Viewing Room)
- การจัดงานแบบไฮบริด ผสานพลังออฟไลน์และออนไลน์
เป็นที่ทราบกันดีว่าวงการศิลปะนั้นยังมีความ “หัวเก่า” ในการสื่อสารและแสดงออก แต่วันนี้งาน Art Basel กลับกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดเพื่อปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน ดังที่ Adeline Ooi ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียของ Art Basel ได้เล่าถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ว่า “การเปลี่ยนแปลงไปสู่ช่องทางดิจิทัลได้เริ่มขึ้นมาตั้งแต่ปี 2020 ทุกคนต้องผันตัวสู่โลกออนไลน์เพื่ออยู่รอด Art Basel เองก็ได้สร้าง ‘ห้องชมงานศิลป์ออนไลน์’ (Online Viewing Room) เพื่อให้แกลเลอรีได้นำเสนองานศิลป์ให้ผู้สนใจได้เข้าชมออนไลน์แบบละเอียด ในยามที่ไม่อาจเดินทางมาจัดแสดงงานได้ด้วยตัวเอง โดยแพลตฟอร์มมีการพัฒนาและได้รับการตอบรับที่ดีจากแกลเลอรีทั่วโลกที่เข้าร่วมจำนวนมาก”
นอกจากการเพิ่มช่องทางการรับชมออนไลน์แล้ว Art Basel Hong Kong 2021 ยังคงเปิดให้มีการเข้าชมงานจริง โดยมีมาตรการด้านความปลอดภัยครบถ้วน ได้แก่ การที่ทุกคนต้องสวมหน้ากาก การลดจำนวนผู้เข้าชมงานลง การตรวจหาเชื้อ COVID-19 ในเจ้าหน้าที่ทุกคน โดยจะต้องมีผลตรวจเป็นลบเท่านั้นจึงจะได้รับอนุญาตให้มีส่วนร่วมในการจัดงาน และมีการปรับขยายพื้นที่จัดงานให้กว้างขึ้นเพื่อเพิ่มระยะห่างระหว่างผู้เข้าชม
สิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาสำหรับการเข้าชมงานจริง คือ โซลูชันแบบไฮบริด ที่ Art Basel Hong Kong 2021 เสนอให้แกลเลอรีต่าง ๆ ซึ่งอยู่นอกฮ่องกง และไม่สามารถเดินทางมาได้หรืออาจจะไม่ต้องการถูกกักตัวถึง 14 วัน คือการจัดบูธผ่านระบบดาวเทียม ให้แกลเลอรีเหล่านั้นส่งงานศิลปะมายังฮ่องกง โดย Art Basel Hong Kong จะจัดหาผู้ช่วยมาดูแลบูธหน้างานให้แทน ส่วนผู้ชมงานก็จะสามารถเชื่อมต่อกับแกลเลอรีได้ผ่านรหัสคิวอาร์ (QR Code) ที่มีจัดไว้ให้กับทุกบูธ เพียงสแกนรหัสคิวอาร์ด้วยโทรศัพท์ แกลเลอรีเจ้าของบูธก็จะสามารถพูดคุยและนำเสนอผลงานกับผู้ชมงานได้โดยตรงผ่านวิดีโอคอลทันที และยังมีการไลฟ์สดเที่ยวงานออนไลน์ที่ผู้ชมทั่วโลกสามารถร่วมได้อีกด้วย
ความสำเร็จของ Art Basel Hong Kong 2021 – ความเปลี่ยนแปลงก้าวแรก...ที่ต่อยอดถึงอนาคต
- งานศิลปะแบบเข้าชมงานจริง ที่ได้กลับมาจัดเป็นงานแรก ๆ
- มีการเลือกซื้องานศิลป์ผ่านห้องชมออนไลน์
- Here To Stay...นวัตกรรมที่กลายเป็นความถาวร
งานแสดงศิลปะเป็นตัวทำรายได้หลักของแกลเลอรีทั่วโลก ซึ่งคิดเป็น 26% ของต้นทุนการดำเนินงานทั้งหมด โดยถึงแม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมงานสูง งานจัดแสดงผลงานก็ยังคงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของตลาดงานศิลป์ ซึ่งแกลเลอรีต่างๆ เล่าว่าโอกาสการได้เข้าถึงตัวนักสะสมตามสถานที่ออกงานสำคัญต่างๆ คือโอกาสการจำหน่ายผลงาน และถือเป็นเหตุผลหลักในการเข้าร่วมงานของทุกแกลเลอรี
Yvonne Zhou ผู้อำนวยการของแกลเลอรี Karma ที่เข้าร่วม Art Basel Hong Kong 2021 ผ่านเฟซไทม์จากนิวยอร์ก กล่าวว่า “Art Basel Hong Kong 2021 ถือเป็นหนึ่งในงานศิลปะแบบเข้าชมผลงานจริงได้ ที่ได้กลับมาจัดเป็นงานแรก ๆ และเป็นเรื่องดีมากที่ แม้ว่าแกลเลอรีอย่างพวกเราจะไปฮ่องกงไม่ได้ แต่ผู้ชมก็ยังได้สัมผัสกับความงดงามของผลงานจริงๆ โดยมีนักศึกษาฝึกงานช่วยสื่อสารกับลูกค้า ผู้ที่สนใจงานศิลปะที่หน้าบูธ และถ่ายทอดสิ่งที่ลูกค้าต้องการให้กับเราซึ่งตอนนี้อยู่ที่นิวยอร์ก เพื่อให้เราได้นำเสนอผ่านวีดีโอคอลด้วยตัวเอง”
แม้ว่ากิจกรรมไลฟ์สดไปทั่วโลกจะไม่ค่อยครึกครื้นเท่าใดนักด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาด แต่นักสะสมที่มีกำลังซื้อก็ยังคงเลือกซื้องานศิลปะผ่านทั้งช่องทางจัดแสดงงานและผ่านห้องชมออนไลน์ นอกจากนี้ นักสะสมหลาย ๆ ท่านยังมีความยินดีที่จะเดินทางมาร่วมงานจัดแสดงศิลปะด้วยตนเองในช่วงปลายปี 2021 อีกด้วย
ท่ามกลางความท้าทายที่เกิดจากการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง Marc Spiegler ผู้อำนวยการใหญ่ทั่วโลกประจำ Art Basel ยังคงมองอนาคตของธุรกิจศิลปะในแง่ดี พร้อมคาดการณ์ไว้ว่าบางนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในปีนี้ จะกลายเป็นองค์ประกอบการจัดงานถาวรในปีต่อๆ ไป และได้กล่าวปิดท้ายว่า “สำหรับงานปีหน้า เราหวังว่าผู้คนทั่วโลกจะสามารถเข้าร่วมได้ เพราะเราตั้งเป้าว่า Art Basel Hong Kong 2022 จะเป็นงานที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียและเป็นงานที่สามารถเข้าถึงทุกคนทั่วทุกที่ได้ในระดับดิจิทัล”
ดังที่ Leo Xu ผู้อำนวยการอาวุโส แห่งแกลเลอรี David Zwirner ได้กล่าวไว้ว่า “ความแตกต่างที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีไม่ใช่เป็นแค่เรื่องของการยกงานออฟไลน์ไปไว้บนออนไลน์ แต่จริงๆ แล้วเป็นการใช้ข้อมูลในการขยายฐานลูกค้าและทำให้การสื่อสารทั่วโลกเป็นไปได้อย่างราบรื่น”
แม้ว่าการชมงานแบบออฟไลน์และออนไลน์ดูจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่โลกศิลปะก็ได้สอดรับความเป็นไฮบริดนี้เพื่อที่จะก้าวต่อไปได้อย่างมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นการออกบูธผ่านระบบดาวเทียม ห้องชมงานศิลป์ออนไลน์ หรือผู้ช่วยยกระดับประสบการณ์ ก็ล้วนพร้อมเนรมิตโลกใบใหม่แห่งศิลปะ เพื่อพร้อมรับอนาคตที่เราต่างรู้ว่าจะเป็นไปในรูปแบบไหน