Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

สำรวจให้ดีว่านักเรียนของเราภาวะมารยาททางสังคมบกพร่องหรือไม่

Posted By Plook Teacher | 05 พ.ค. 64
7,690 Views

  Favorite

การแสดงออกเพื่อตอบสนองต่อสังคมของคนเรานั้น มีอยู่ด้วยกันอย่างหลากหลาย ซึ่งเป็นผลมาจากประสบการณ์และการเลี้ยงดู ซึ่งทำให้ตัวเรามีอุปนิสัยและการสนองตอบต่อสังคมแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ซึ่งโดยมากแล้ว ตามปกติคนเรามักจะแสดงออกต่อสังคมและคนรอบข้างด้วยความสุภาพ อ่อนน้อม  รู้จักขอบคุณในสิ่งที่ผู้อื่นทำให้ และขอโทษในสิ่งที่ทำผิด เพราะถือเป็นพฤติกรรมที่ช่วยให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีกับบุคคลอื่น แต่ก็มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่บกพร่องในเรื่องดังกล่าว จนกลายเป็นผู้มีภาวะมารยาททางสังคมบกพร่องได้

 

ภาวะมารยาททางสังคมบกพร่อง คือ พฤติกรรมของบุคคลที่ไม่สนใจมารยาทพื้นฐานในสังคม และมองว่าสิ่งเหล่านี้ไม่สำคัญ พวกเขาเลือกที่จะแสดงออกตามอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง สามารถโมโหและโกรธอย่างรุนแรงในเรื่องที่ไม่พอใจ หรือแสดงความสะใจอย่างโจ่งแจ้งในความสูญเสียของบุคคลอีกที่ตัวเองไม่ชอบ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ ทำให้เกิดสัมพันธภาพที่ไม่ดีกับบุคคลอื่น และทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเข้าสังคมและทำงานร่วมกับบุคคลอื่นได้ และส่งผลให้บุคคลอื่นไม่อยากคบค้าสมาคมอีกด้วย

 

สำหรับผลของการเกิดภาวะทางสังคมบกพร่องนั้น เป็นผลมาจากประสบการณ์ชีวิตของแต่ละบุคคลและการเลี้ยงดูของครอบครัว ที่อาจไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องมารยาทมากนักหรือไม่ได้ใส่ใจในเรื่องนี้เลย ทำให้ผู้ที่ประสบปัญหาภาวะนี้กลายเป็นผู้ที่มีความบกพร่องดังกล่าว ซึ่งสามารถแบ่งอาการออกได้เป็น 3 ระดับคือ

ระดับเริ่มต้น

ผู้ป่วยจะมีอาการนิ่งเฉย และไม่ตอบสนองและไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง แต่ถ้าพบเจอสิ่งเร้าทางลบ หรือสิ่งกระตุ้นที่ไม่พึงพอใจ จะมีอาการสนองตอบอย่างรุนแรงทันที

ระดับปานกลาง

ผู้ป่วยจะไม่แสดงมารยาทพื้นฐาน เช่น การขอบคุณ ขอโทษ ทักทาย ยิ้ม หรือตอบคำถามทั่วไปในชีวิตประจำวัน ไม่ให้ความร่วมมือกับงานที่เป็นส่วนรวม ไม่สามารถแสดงความเห็นอกเห็นใจ หรือมีน้ำใจต่อผู้อื่นได้ หากปราศจากผลประโยชน์ตอบแทน รวมถึงมีการแสดงออกอย่างก้าวร้าวต่อบุคคลอื่นมากกว่าปกติ

ระดับรุนแรง

ผู้ป่วยจะมีอาการต่อต้านสังคมอย่างเห็นได้ชัด ความเข้าใจตามเหตุผลจะหายไป ความเห็นแก่ตัวจะเข้ามาแทนที่ หน้าตาบึ้งตึง อวดตัว โกรธเคืองตลอดเวลาในทุกสถานการณ์ บุคลิกภาพเปลี่ยนไปโดยแสดงออกโดยไม่สนใจสังคม และมักจะพึงพอใจในการดูถูกเหยียดหยามผู้อื่น

 

ภาวะมารยาททางสังคมบกพร่อง มักสัมพันธ์กับบุคคลที่ชอบคิดว่าตัวเองดีเด่นกว่าคนอื่น ชอบเป็นจุดสำคัญและเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง ทำให้บุคคลเหล่านี้รู้สึกว่าตัวเองนั้นไม่จำเป็นต้องมีมารยาทหรือรู้จักกาลเทศะใด ๆ เพราะคิดว่าเป็นหน้าที่ของคนอื่นต่างหากที่ต้องปฏิบัติกับตน นอกจากนี้ก็ยังสัมพันธ์กับบุคคลที่มีปมด้อย รู้สึกดูถูกตัวเอง ซึ่งบุคคลประเภทนี้จะปรารถนาให้บุคคลอื่นรู้สึกเช่นเดียวกับตน โดยพยายามผลักความรู้สึกแย่ของตนนั้นไปให้กับคนอื่น

 

ปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าของเครือข่ายสังคมออนไลน์ ทำให้ความสัมพันธ์ของบุคคลมีโอกาสใกล้ชิดกันมากขึ้นด้วยการสื่อสารผ่านหน้าจอ แต่ถึงแม้สิ่งนี้จะเป็นเรื่องดี แต่ก็มีสิ่งที่เป็นดาบสองคม ด้วยเช่นเดียวกัน เพราะบางคนอาจซึบซับเรื่องราวของผู้อื่น ผ่านสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า จนเกิดความอิจฉา และอยากทำให้คนอื่นรู้สึกแบบเดียวกับตน นอกจากนี้สื่อต่าง ๆ ที่แสดงออกมาถึงลักษณะของสังคมที่บกพร่อง แม้จะมีขึ้นเพื่อให้คนถกเถียงกันเพื่อประโยชน์อะไรบางอย่าง แต่เมื่อมันมีสิ่งเหล่านี้มากขึ้น ตรรกะและเหตุผลต่าง ๆ ที่เคยไปก็จะเกิดการความบิดเบี้ยวไป และทำให้การกระทำที่เคยถูกมองว่าไร้มารยาทนั้น อาจกลับกลายเป็นเรื่องปกติที่สร้างความชินชาได้

 

ด้วยความที่ในโรงเรียนนั้นมีนักเรียนอยู่ร่วมกันอย่างหลากหลาย ทำให้พวกเขามีปฏิสัมพันธ์มนรูปแบบต่าง ๆ มากมาย ซึ่งแน่นอนว่า นักเรียนบางคนก็อาจมีภาวะมารยาททางสังคมบกพร่องได้ ซึ่งถ้านักเรียนที่ป่วยเป็นภาวะนี้ไม่ได้รับการเหลียวแลหรือบำบัดอย่างเหมาะสม ก็อาจจะส่งผลเสียต่อการดำเนินชีวิตในระยะยาว เพราะอาจจะส่งผลให้นักเรียนป่วยเป็นโรคภาวะมารยาททางสังคมบกพร่องอย่างหนัก และไม่อาจใช้ชีวิตร่วมกับบุคคลอื่นได้

 

ดังนั้นเพื่อให้สามารถระบุตัวนักเรียนที่กำลังประสบปัญหาในเรื่องนี้ ครูผู้สอนอาจต้องสังเกตนักเรียนของตัวเองว่าเข้าข่ายหัวข้อเหล่านี้หรือไม่

         1. มีความั่นใจในตัวเองที่มากเกินไป ชอบบังคับให้เพื่อนทำตาม และไม่ฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
         2. รู้สึกว่าตัวเองแย่และมีปมด้อย
         3. ไม่แสดงมารยาทพื้นฐาน เช่น ขอโทษ ขอบคุณ หรือทักทายในโอกาสต่าง ๆ อย่างเหมาะสมกับบุคคล
         4. อิจฉาริษยาสิ่งที่คนอื่นมี หรือรู้สึกไม่พอใจในความสำเร็วของผู้อื่น
         5. แสดงออกอย่างก้าวร้าวต่อบุคคลอื่น ทั้งโดยตรงและการแสดงผ่านสังคมออนไลน์ โดยไม่สนว่าเป็นใคร
         6. มีปัญหากับกฎระเบียบต่าง ๆ อย่างรุนแรง ไม่อยากปฏิบัติตาม ไม่อยากถูกบังคับ
         7.  คิดว่าตัวเองถูกเสมอ
         8. รู้สึกเฉย ๆ กับ เรื่องแย่ ๆ ของผู้อื่น หรืออาจแสดงออกด้วยการเย้ยหยันประชดประชัน
         9. ชอบอยู่คนเดียว ไม่ร่วมงานกลุ่มกับเพื่อน ไม่ช่วยเหลือเพื่อน
         10. ขาดการแบ่งปัน ไม่ใส่ใจคนรอบข้าง คิดถึงแต่ประโยชน์ของตัวเอง

 

ลองสังเกตให้ดีว่านักเรียนในความดูแลนั้น มีใครเข้าข่ายในหัวข้อเหล่านี้อยู่บ้างหรือไม่ ถ้ามี โปรดดึงเขาออกมาพูดคุย แนะนำและให้คำปรึกษาที่ดี เพื่อให้นักเรียนที่เข้าข่ายนั้นได้มองเห็นตัวเอง และปรับปรุงพฤติกรรมของตัวเองให้ดีขึ้น ส่วนในกรณีที่นักเรียนมีอาการหนักก็ควรที่จะปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญ เพื่อหาแนวทางในการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้นักเรียนกลับมามีพฤติกรรมที่ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีอย่างมากต่ออนาคตของพวกเขา

 

เรียบเรียงโดย : นรรัชต์  ฝันเชียร

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow