แต่อันที่จริงแล้ว ก่อนที่จะไปถึงช่วงวัยนั้น ครูพิมอยากจะชวนคุณพ่อคุณแม่มาทำความเข้าใจเด็ก ๆ ในช่วง “ก่อนเข้าวัยรุ่น หรือ Pre-teen” กันก่อนนะคะ เพราะหากเราทำความเข้าใจลูก ๆ และเตรียมความพร้อมไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เด็ก ๆ ก็จะเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นได้อย่างราบรื่นและลดปัญหาต่าง ๆ ไปได้มากทีเดียวเลยล่ะค่ะ ถ้าพร้อมแล้ว ก็มาทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ของลูก ๆ ในวัยนี้ไปด้วยกันเลยนะคะ
เด็กในช่วงก่อนวัยรุ่น คือเด็กที่มีอายุระหว่าง 10-13 ปีโดยประมาณค่ะ สำหรับพัฒนาการทางอารมณ์และสังคมของเด็ก ๆ ในช่วงอายุนี้นั้น ตามทฤษฎี Psychosocial development ของ Erik H. Erikson นั้นจะอยู่ในขั้นที่เรียกว่า ขั้นอุตสาหะกับความรู้สึกมีปมด้อย (Industry vs Inferiority) ความหมายก็คือ เด็กในช่วงอายุนี้นั้น จะมีทางแยกอยู่ 2 ทาง ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และโอกาสต่าง ๆ ที่ได้รับ
หากได้รับโอกาสในการสร้างสรรค์และพยายามทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง ก็จะทำให้เกิดการพัฒนาบุคลิกภาพในเชิงบวก คือ มีความมานะเพียรพยายามที่จะแสวงหาสิ่งที่ท้าทายความสามารถ สติปัญญา และทักษะของตนเอง แต่หากประสบการณ์ที่ได้รับเป็นไปในทางตรงกันข้าม ก็จะทำให้เด็กในวัยนี้มีความรู้สึกไม่มีคุณค่า ขาดความมั่นใจในความสามารถของตนเอง อาจต้องถอยกลับไปสู่วัยทารกอีกเพื่อหลีกเลี่ยงภาระอันต้องรับผิดชอบ เราจึงอาจจะเห็นเด็ก ๆ ในช่วงวัยนี้กลับไปทำตัวเป็นเด็ก ขาดความรับผิดชอบ ไม่สนใจตนเองได้นั่นเองค่ะ
ในช่วงวัยนี้ เป็นช่วงรอยต่อระหว่างความเป็นเด็ก กับการก้าวเข้าสู่วัยรุ่นที่มีฮอร์โมนพุ่งพล่าน สิ่งที่โดดเด่นในช่วงวัยนี้ จึงเป็นเรื่องความสัมพันธ์กับเพื่อนเป็นหลัก เพื่อนสำหรับเด็กในวัยนี้ ถือว่ามีอิทธิพลต่อทักษะทางสังคมและอารมณ์ของเด็ก ๆ อย่างมาก และเป็นช่วงที่มีการเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่นสูง เริ่มรู้จักประเมินความสามารถของตนเอง และสามารถยอมรับข้อด้อยของตนเองได้ หากอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ไม่กดดันจนเกินไป
1) ชอบการอยู่เป็นกลุ่ม ชอบกิจกรรมที่เป็นลักษณะการร่วมมือกัน
2) เวลาส่วนใหญ่จะใช้ไปกับการสร้างเพื่อน สร้างทีม หรือการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนในวัยใกล้ ๆ กัน
3) เริ่มที่จะค้นหาเพื่อนที่จะเป็นเพื่อนสนิทของกันและกันจริง ๆ
4) แม้จะอยากมีกลุ่ม แต่ก็มีความต้องการที่จะพัฒนาตนเองให้เติบโตขึ้นในแง่มุมต่าง ๆ ด้วย และมีความต้องการที่จะเป็นผู้นำ ไม่อยากให้ใครมาออกคำสั่ง แต่อยากเป็นผู้ออกคำสั่งหรือเสนอความคิดเห็นด้วยตัวเอง
5) เริ่มใช้ทักษะการแก้ปัญหา ทักษะการโน้มน้าว และการเจรจาต่อรองกับกลุ่มเพื่อน
6) เริ่มสนใจที่จะทำกิจกรรมหรือมีความชื่นชอบพิเศษที่ต้องใช้เวลากับสิ่งนั้นนาน ๆ (มีโปรเจคระยะยาวในความคิด)
7) เริ่มที่จะประเมินตนเองกับผู้อื่น เริ่มเข้าใจความสามารถที่แท้จริงของตัวเอง
8) เริ่มที่จะมีความคิดแบบเอาชนะ อยากเป็นที่หนึ่งหรืออยากทำให้ดีที่สุดตามที่คาดหวังไว้กับตัวเอง
9) เริ่มมีความอ่อนไหวทางอารมณ์ง่ายขึ้น และอาจจะมีบางอารมณ์ที่แสดงออกเกินความเป็นจริง (โดยไม่รู้ตัว)
10) อาจจะกลับมาเขินอาย/ไม่กล้าแสดงออกต่อหน้าสาธารณะ คล้ายวัยเด็ก
ครูพิม ณัฏฐณี สุขปรีดี
นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพเด็กเล็กและการเลี้ยงลูกเชิงบวก