Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ความสำคัญของใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู

Posted By Plook Teacher | 01 ต.ค. 63
25,400 Views

  Favorite

ในสังคมปัจจุบันที่คำนึงถึงคุณภาพในการทำงาน ใบประกอบวิชาชีพถือเป็นใบอนุญาตสำคัญในการทำงานของบุคคล ซึ่งจำเป็นต้องมีในการทำงานอย่างหนึ่งอย่างใด ที่จะต้องอาศัยทักษะ ความรู้ ความเข้าใจและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และเป็นอาชีพที่มีผลกระทบโดยตรงต่อผู้ใช้บริการ เช่น แพทย์ที่จะต้องมีใบประกอบโรคศิลป์ สำหรับการรักษาหรือการผ่าตัด  ทนายความที่ต้องมีใบอนุญาตให้เป็นทนายความสำหรับว่าความ  หรือ สถาปนิกที่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม สำหรับ การออกแบบบ้านและอาคาร เป็นต้น ซึ่งใบประกอบวิชาชีพนี้นับเป็นเครื่องรับรองและยืนยันให้กับผู้ใช้บริการ ว่าได้รับการบริการที่ถูกต้องตามหลักการและจรรยาบรรณวิชาชีพนั้น และยังเป็นใบการรันตีความสามารถของบุคคล ซึ่งมีผลต่อการกำหนดเงินค่าจ้างและค่าวิชาชีพและรวมไปถึงสวัสดิการที่เหมาะสมอีกด้วย ซึ่งแน่นอน ด้วยความที่ครูผู้สอนในโรงเรียนนั้น คืออาชีพหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการให้การศึกษาและพัฒนาเด็กและเยาวชน จึงเป็นอาชีพหนึ่งที่ต้องได้รับการควบคุมและกำกับดูแลอย่างเหมาะสม จึงเป็นที่มาของการที่ครูผู้สอนนั้นต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู

 

ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูนั้น เป็นส่วนหนึ่งของใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษาที่อยู่ในความดูแลของคุรุสภา ซึ่งใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษาทั้งหมดนั้น ประกอบด้วย ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู สำหรับครูผู้สอนทั่วไป  ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา สำหรับผู้บริหารโรงเรียนและวิทยาลัยต่าง ๆ  ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารการศึกษา สำหรับผู้บริหารในหน่วยด้านการศึกษาที่นอกเหนือจากโรงเรียนและวิทยาลัย และใบอนุญาตประกอบวิชาชีพบุคลากรทางการศึกษาอื่น สำหรับ บุคลากรทางการศึกษาที่เป็นไปตามกฎหมายกำหนด โดยมีขึ้นตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 ซึ่งกำหนดไว้อย่างชัดเจนในมาตรา 43 ที่ระบุว่า ให้วิชาชีพครู ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้บริหารการศึกษาเป็นวิชาชีพควบคุมตามพระราชบัญญัตินี้

ภาพ : คุรุสภา
ภาพ : คุรุสภา
ภาพ : คุรุสภา

 

การกำหนดวิชาชีพควบคุมอื่นให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบวิชาชีพควบคุม โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่กรณีอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

      - ผู้ที่เข้ามาให้ความรู้แก่ผู้เรียนในสถานศึกษาเป็นครั้งคราวในฐานะวิทยากรพิเศษทางการศึกษา
      - ผู้ที่ไม่ได้ประกอบวิชาชีพหลักทางด้านการเรียนการสอนแต่ในบางครั้งต้องทำหน้าที่สอนด้วย
      - นักเรียน นักศึกษา หรือผู้รับการฝึกอบรมหรือผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติการสอน ซึ่งทำการฝึกหัดหรืออบรมในความควบคุมของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาซึ่งเป็นผู้ให้การศึกษาหรือฝึกอบรม ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด
      - ผู้ที่จัดการศึกษาตามอัธยาศัย
      - ผู้ที่ทำหน้าที่สอนในศูนย์การเรียนตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ หรือสถานที่เรียนที่หน่วยงานจัดการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ โรงพยาบาล สถาบันทางการแพทย์ สถานสงเคราะห์ และสถาบันสังคมอื่นเป็นผู้จัด
      - คณาจารย์ ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้บริหารการศึกษาในระดับอุดมศึกษาระดับปริญญาทั้งของรัฐและเอกชน
      - ผู้บริหารการศึกษาระดับเหนือเขตพื้นที่การศึกษา
      - บุคคลอื่นตามที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด

 

โดยการขอใบประกอบวิชาชีพทางด้านการศึกษานั้น ผู้ขอใบประกอบต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ มีวุฒิทางการศึกษาหรือเทียบเท่าที่ทางคุรุสภารับรอง ผ่านการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาตามหลักสูตรปริญญาทางการศึกษาเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี และผ่านเกณฑ์การประเมินปฏิบัติการสอนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด ไม่มีลักษณะต้องห้าม คือ ไม่มีประวัติประพฤติเสื่อมเสีย ไม่เป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ และต้องไปเคยต้องโทษจำคุกในคดีที่ที่มีผลกระทบกับวิชาชีพ ซึ่งใบประกอบวิชาชีพนั้นจะต้องทำการต่ออายุทุกๆ 5 ปี ตามหลักเกณฑ์ของคุรุสภา

 

ผู้ที่รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษานั้น จะต้องประพฤติตนตามมาตรฐานวิชาชีพ ซึ่งได้แก่ มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ  มาตรฐานการปฏิบัติงาน  และ มาตรฐานการปฏิบัติตน และตามจรรยาบรรณวิชาชีพที่มีกำหนดในข้อบังคับของคุรุสภา ซึ่งการปฏิบัติตนไม่เหมาะสมหรือฝ่าฝืนข้อบังคับนั้นมีผลทำให้ถูกยกเลิกใบอนุญาต และสำหรับครูผู้สอนที่ไม่มีใบอนุญาต และไม่ได้ยื่นเรื่องขอ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

นักศึกษาที่จบหลักสูตรครู เช่น ครุศาสตร์บัณฑิตและศึกษาศาสตร์บัณฑิต จะมีสิทธิยื่นขอใบประกอบวิชาชีพ ซึ่งสมัยก่อนนั้น ในการสอบตำแหน่งครูผู้ช่วยในหน่วยงานของรัฐ ผู้สอบจะต้องมีใบประกอบวิชาชีพครูก่อนถึงจะมาสอบได้ แต่ปัจจุบันด้วยความที่ประเทศต้องการคนที่มีความรู้ความสามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาจำนวนมาก โดยเฉพาะในสาขาขาดแคลน จึงได้ผ่อนปรนให้ ผู้ที่ยังไม่มีใบประกอบวิชาชีพครู สามารถสอบในตำแหน่งครูผู้ช่วยได้ในบางตำแหน่ง ซึ่งเมื่อได้รับการบรรจุแต่งตั้ง จะต้องขอหนังสืออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาชั่วคราว ซึ่งมีอายุ 2 ปี โดยขออนุญาตได้ไม่เกิน 3 ครั้ง และต้องพัฒนาตัวเองเพื่อให้ได้ใบประกอบวิชาชีพตามตามหลักเกณฑ์และกำหนดเวลาที่คุรุสภากำหนด

 

ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูนั้นมีความสำคัญอย่างมากกับการรักษามาตรฐานทางการศึกษา เพราะการถือเป็นใบอนุญาตที่รับรองความพร้อมของบุคคลในการปฏิบัติหน้าที่ครูผู้สอน ซึ่งช่วยการันตีให้ผู้รับบริการมีความมั่นใจว่าได้รับบริการจากบุคคลที่มีทักษะ ความรู้ และความสามารถ โดยตรงตามสายงาน  ไม่ได้แอบอ้างหรืออุปโลกน์ขึ้นมา ซึ่งนอกจากจะได้รับบริการที่ถูกต้องตามหลักวิชาการแล้ว ยังได้รับการคุ้มครองอีกด้วย เพราะผู้ให้บริการที่เป็นครูผู้สอนจะต้องรักษาและครองตนไว้ตามมาตรฐานวิชาชีพ เพราะถ้าฝ่าฝืนหรือกระทำผิดข้อบังคับ จะทำให้ถูกยึดใบอนุญาตและถูกดำเนินคดีในเรื่องของวิชาชีพที่มากกว่าคนปกติ

 

นอกจากนี้ใบประกอบวิชาชีพนั้น เนื่องจากมีหน่วยงานคุรุสภากำกับดูแล จึงช่วยให้ครูผู้สอนที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ มีอำนาจในการต่อรองในเรื่องต่าง ๆ กับภาครัฐ ที่เกี่ยวข้องกับครูผู้สอน ช่วยให้ครูผู้สอนมีสวัสดิภาพและสวัสดิการต่าง ๆ ที่ดีขึ้น และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น การเพิ่มสวัสดิการต่าง ๆ ให้กับครูผู้สอน หรือ การปรับเงินเดือน เป็นต้น

 

ดังนั้นการเป็นครูผู้สอนโดยไม่มีใบประกอบวิชาชีพครู นอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังเป็นการหลอกลวงผู้รับบริการ ซึ่งก็คือ บรรดานักเรียนและพ่อแม่ผู้ปกครองที่คาดหวังจะได้รับการบริการที่ถูกต้องตามแนวทางวิชาชีพและหลักการศึกษา จะอ้างว่าเป็นคนเก่งมีความสามารถ ไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตไม่ได้ เพราะปัจจุบันทางคุรุสภาก็มีแนวทางให้ผู้ที่ไม่ได้จบสายการศึกษามาโดยตรงได้รับใบประกอบวิชาชีพได้ เพียงแค่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของคุรุสภาก็มีสิทธิได้รับใบอนุญาต เฉกเช่นเดียวกับผู้ที่จบสายการศึกษาแล้ว ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นอะไร

 

อย่าลืมว่าการเป็นครู ไม่ใช่มีวิชาความรู้อย่างเดียวจะเป็นครูที่ดีได้ จะต้องมีคุณธรรมและความประพฤติที่ดีเพื่อเป็นแบบอย่างให้กับนักเรียนอีกด้วย ดังนั้น แค่ขอใบอนุญาต โดยทำให้มันถูกต้อง คงไม่ยากเกินไปใช่ไหม หรือจะรอให้วันหนึ่งวันใดโดนตรวจสอบจนเรื่องแดงให้นักเรียนรู้ว่าครูที่สอนเขานั้นเป็นครูเถื่อนผิดกฎหมาย จนเอาไปพูดกันทั่ว ก็สุดแท้แต่นะครับ

 

เรียบเรียงโดย : นรรัชต์  ฝันเชียร

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow