Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เมื่อการศึกษาไทยไม่สอดคล้องกับมุมมองการหางานทำ

Posted By Plook Teacher | 01 ก.ย. 63
6,488 Views

  Favorite

จุดมุ่งหมายที่สำคัญอย่างหนึ่งของการศึกษา คือ การมุ่งผลิตบุคลากรเพื่อตอบสนองกับความต้องการของตลาดแรงงาน ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรที่ปัจจุบันสถาบันการศึกษาต่าง ๆ จะต้องพัฒนาหลักสูตรให้ตอบสนองกับโลกการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะเป็นผลดีต่อตลาดแรงงานที่จะได้มีบุคลากรที่ตรงกับสายงานมากขึ้น

ทุกปีประเทศไทยจะมีบัณฑิตจบใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานไม่ต่ำกว่า 500,000 คน และจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในเรื่องของภาวะการทำงานของประชากร ในช่วง ปี 2562 พบว่า จากไตรมาสแรกจนถึงไตรมาสที่ 3 มีอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.98 มาเป็นร้อยละ 1.04 โดยนับจากจำนวนอัตรากำลังแรงงานของประเทศของผู้มีความพร้อมในการทำงานไม่ว่าจะเป็นคนทำงานแล้ว เริ่มต้นทำงาน หรือแม้แต่เด็กจบใหม่ ซึ่งมีถึง 38 ล้านกว่าคนเลยทีเดียว

 

จากอัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ สาเหตุส่วนใหญ่ตามที่กองวิจัยแรงงานได้วิเคราะห์ออกมานั้น มีด้วยกันอยู่ 2 สาเหตุหลักคือ

      1. สาเหตุจากการเลิกจ้างของภาคเอกชนต่าง ๆ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากสภาพเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาคเอกชนต้องปรับตัวให้อยู่รอดกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยได้มีการนำมาตรการต่าง ๆ มาใช้ ไม่ว่าจะการย้ายฐานการผลิต การเปลี่ยนจากกำลังคนเป็นการใช้เครื่องจักร หรือ การปรับขนาดบริษัทให้มีขนาดเล็กลง เป็นต้น ซึ่งมาตรการเหล่านี้ ส่งผลให้เกิดการเลิกจ้างแรงงานจำนวนมาก และส่งผลให้เกิดการว่างงานมากขึ้น

      2. สาเหตุจากการลาออกของลูกจ้างแรงงาน ซึ่งมีด้วยกันอยู่หลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น การที่ลูกจ้างต้องการเปลี่ยนงานใหม่ การหมดสัญญาจ้าง การต้องการออกไปประกอบอาชีพอิสระหรือไปดูแลครอบครัว เกษียณอายุ  หรือแม้แต่การไม่รู้สึกอยากทำงาน เป็นต้น

 

      จากข้อมูลเหล่านี้ จะเห็นได้ว่า นอกจากปัจจัยทางเศษฐกิจและสังคมแล้ว ปัจจัยที่เกิดจากตัวลูกจ้างเองก็เป็นสิ่งที่ส่งผลให้เกิดอัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะกับนักศึกษาจบใหม่ หรือกลุ่มที่ทำงานได้ไม่นานนัก มักมีความต้องการที่จะเปลี่ยนงานอยู่บ่อยครั้ง และมักจะมีโอกาสว่างงานสูงกว่ากลุ่มคนทำงานในระดับอื่น ๆ
 

      ซึ่งเหตุผลที่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากกลุ่มเด็กจบใหม่หรือคนที่เริ่มต้นทำงานนั้น ถ้าพิจารณาตามหลักประชากรศาสตร์แล้ว ในปัจจุบันจะอยู่ในช่วงของ Generation Z ที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง มีความอดทนต่ำ ทำอะไรตามความตั้งใจของตัวเอง  มีความสามารถด้านดิจิทัล รู้จักคิดและใคร่ครวญสิ่งต่าง ๆ โดยอิงจากข้อมูลและสถิติเป็นหลัก รู้จักยอมรับความแตกต่าง และคำนึงถึงความเสมอภาค จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่แรงงานในกลุ่มนี้มักจะลาออกอยู่บ่อยครั้ง เมื่อรู้สึกว่างานนั้นไม่เหมาะกับตัวเองหรือมีลู่ทางใหม่ที่ดีกว่า และมักจะแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา แม้แต่ในเรื่องของการศึกษา
 

      กลุ่ม Generation Z มักจะมองว่าระบบการศึกษาที่ผ่านมานั้น ไม่ตอบโจทย์กับการหางานทำในยุคสมัยนี้ โดยผลการสำรวจออนไลน์ขององค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ UNICEF ที่ได้สำรวจเยาวชนจำนวน 40,000 คน ใน 150 ประเทศ ผ่านแพลตฟอร์ม U-Report พบว่าเยาวชนส่วนใหญ่มองว่าการศึกษาในปัจจุบันนั้นไม่มีการเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นต่อการหางานทำ ซึ่งหนึ่งในสามของเยาวชนที่ตอบแบบสำรวจนี้ มองว่าโครงการฝึกทักษะและอาชีพที่ได้ให้เรียนนั้นไม่ตรงกับความต้องการของตนเอง และกว่าหนึ่งในสามของผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่างานที่อยากทำไม่สามารถหาได้ในชุมชนที่ตนเองอาศัยอยู่
 

      และเมื่อถามต่อไปว่าทักษะใดที่เยาวชนต้องการเรียนรู้เพื่อช่วยให้ได้งานทำในอีก 10 ปีข้างหน้านั้นเยาวชนส่วนใหญ่มองว่า ทักษะที่สำคัญนั้นมีด้วยกัน 3 ทักษะคือ ทักษะความเป็นผู้นำ  ทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์และนวัตกรรม และทักษะด้านการประมวลผลข้อมูลและสารสนเทศ
 

      ผลสำรวจเหล่านี้แม้จะเป็นการให้ข้อมูลโดยเยาวชนจากหลายประเทศ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นข้อมูลสำคัญที่ควรนำมาพิจารณาในการปรับปรุงระบบการศึกษา โดยเฉพาะกับการศึกษาไทยนั้น แทบจะใม่ได้ส่งเสริมทักษะตามที่เยาวชนต้องการนี้เลย และแม้แต่ทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ระบบการศึกษาไทยก็ได้กล่าวถึงในเรื่องนี้น้อยมาก เมื่อเทียบกับประเทศที่เป็นผู้นำด้านการศึกษาอื่น ๆ
 

      การศึกษาไทยมีความไม่สอดคล้องกับการหางานทำเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านของปริมาณ ที่มักจะส่งเสริมการเรียนให้กับผู้เรียนได้ไม่สมดุลกับความต้องการของตลาดแรงงาน เพราะด้วยภาคเอกชนที่ต้องการแรงงานมากขึ้น แต่กลับพบว่าแรงงานสายอาชีพที่จำเป็นนั้นขาดแคลนเนื่องจากว่ามีจำนวนนักเรียนที่น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ส่วนในระดับมหาวิทยาลัย ระบบการศึกษาพยายามผลักดันให้ผู้เรียนเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยจำนวนมาก ทั้ง ๆ ที่ภาคเอกชนไม่ได้ขาดแคลนบุคลากรในส่วนนี้เท่าไหร่นัก สิ่งนี้ทำให้ผู้เรียนที่จบมาบางส่วนจึงหางานได้ยาก บางส่วนต้องไปทำงานต่ำกว่าวุฒิที่ตัวเองจบมา หรือไม่ก็ทำงานไม่ตรงกับสิ่งที่ตัวเองเรียน
 

      นอกจากนี้ยังมีเรื่องของคุณภาพ ที่พบว่า พนักงานจบใหม่หลายคน มีระดับทักษะที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ขาดการฝึกฝนทักษะที่สำคัญต่าง ๆ เช่น ทักษะทางภาษา ทักษะการใช้เทคโนโลยี และทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ทำให้ทำงานได้ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังของนายจ้าง
 

      การที่สถาบันการศึกษาหลายแห่งมองที่เม็ดเงินที่จะได้รับจากการสมัครเรียนของผู้เรียน มากกว่าที่จะคำนึงถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจและตลาดแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นการรับผู้เรียนเกินอัตรา การเปิดคณะวิชาที่เป็นที่ต้องการผู้เรียนโดยไม่คำนึงถึงอัตราแรงงานที่เหมาะสม สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดบัณฑิตจำนวนมากในสายงาน ซึ่งบางครั้งก็ไม่มีอัตราการจ้างงานที่เพียงพอ ซึ่งทำให้เกิดการว่างงานมากขึ้น นอกจากนี้อัตราการเลือกเรียนสายสังคมศาสตร์กับวิทยาศาสตร์ที่ไม่สอดคล้องกันก็ส่งผลกระทบต่ออัตราการจ้างงานด้วย เพราะขณะที่งานในสายสังคมศาสตร์นั้นหาได้ยากและต้องแข่งขันกันสูง งานในสายวิทยาศาสตร์กลับขาดแคลนบุคลากรอย่างหนัก ซึ่งเป็นผลจากการเลือกเรียนของผู้เรียนที่มักจะเรียนในสายสังคมศาสตร์มากกว่าที่จะเรียนในสายวิทยาศาสตร์
 

      สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาของการศึกษาที่ส่งผลต่อการมีงานทำของผู้เรียนซึ่ง ไม่ได้เกิดแต่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่กำลังเกิดขึ้นได้ทั่วโลก โดยหลายประเทศได้มีการตื่นตัวในเรื่องนี้และเริ่มปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจัง เพื่อผลิตบุคลากรให้สอดคล้องกับตลาดแรงงานยุคใหม่และมีศักยภาพเพียงพอที่จะแข่งขันกับนานาประเทศ แต่บางประเทศก็ยังคงช้ากว่าที่คิด
 

      ในขณะที่ประเทศไทยยังคงยึดติดกับแนวทางการศึกษาแบบเดิม ๆ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นเรื่องคุ้นเคย แต่การศึกษาแบบเดิมนั้นก็ไม่เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต ถึงเวลาแล้วที่ระบบการศึกษาต้องปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยและสอดคล้องกับตลาดแรงงานในอนาคต เพื่อให้เรายังคงแข่งขันกับประเทศอื่นได้ โดยไม่โดนพวกเขาแย่งงานในประเทศไปจนหมด เพราะถ้าถึงอย่างนั้นจริง ๆ อัตราการว่างงานคงมากกว่านี้หลายเท่านัก

 

เรียบเรียงโดย : นรรัชต์  ฝันเชียร

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow