ตราสัญลักษณ์มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่เห็นกันนั้น ไม่ว่าจะปรากฏอยู่ที่ชุดเครื่องแบบนิสิต/นักศึกษา ตามหนังสือหรือเอกสารต่าง ๆ รวมถึงใบปริญญา นอกจากทำให้เราได้รู้ว่าคือมหาวิทยาลัยอะไรแล้ว น้อง ๆ รู้กันไหมว่าตราสัญลักษณ์แต่ละที่นั้นมีความหมายหรือความเป็นมาอย่างไร ทำไมถึงใช้สัญลักษณ์นี้ วันนี้พี่ปลูกรวบรวมรูปตราสัญลักษณ์ 10 ม.รัฐ พร้อมเล่าถึงความหมายที่หลายคนยังไม่เคยรู้ !
พระเกี้ยว เป็นสัญลักษณ์ที่ชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยภูมิใจ สืบเนื่องจากชื่อของมหาวิทยาลัยได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นพระบรมราชาอนุสาวรีย์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้พระราชทานกำเนิดมหาวิทยาลัยนี้ "พระเกี้ยว" เป็นศิราภรณ์ประดับพระเกศาหรือพระเศียรของพระราชโอรสและพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ คำว่า เกี้ยว ถ้าเป็นคำนามแปลว่า เครื่องประดับศีรษะหรือเครื่องสวมจุก ถ้าเป็นคำกริยาแปลว่า ผูกรัดหรือพัน
จุฬาลงกรณ์ แปลว่า เครื่องประดับศีรษะหรือจุลมงกุฎ จุลมงกุฎ หมายถึง พระราชโอรสของสมเด็จฯเจ้าฟ้ามงกุฎฯ หรือ พระจอมเกล้าน้อย อันเกี่ยวโยงถึงพระปรมาภิไธยในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระนามาภิไธยเดิม คือสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎฯ
ธรรมจักร หมายถึง สถาบันแห่งนี้ยึดถือคติธรรมของพุทธศาสนาเป็นหลักกล่อมเกลาบัณฑิต กึ่งกลางธรรมจักร คือ พานรัฐธรรมนูญ หมายถึง การยึดมั่น เชิดชูรัฐธรรมนูญ เป็นหลักการที่ทางมหาวิทยาลัยยึดถือ และประพฤติปฏิบัติเสมอมา โดยลักษณะตราสัญลักษณ์เป็นรูปธรรมจักรสีเหลืองทอง ตัดเส้นด้วยสีแดง ทั้งหมด 12 แฉก โดยมีพานรัฐธรรมนูญสีแดงสลับเหลืองอยู่กึ่งกลาง ที่ขอบธรรมจักรมีอักษรสีแดงจารึก "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" หรือ "ม.ธ." อยู่ทางด้านบน กับ "THAMMASAT UNIVERSITY" หรือ "T.U." อยู่ทางด้านล่าง และระหว่างทั้งสองคำจะมีลายกนกสีแดงคั่นอยู่
พระพิรุณทรงนาค เป็นเครื่องหมายทางราชการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และเป็นเทพแห่งฝน ที่ทรงนำความสมบูรณ์มาให้แก่พืชพรรณธัญญาหาร ท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (รศ.ดร.วิโรจ อิ่มพิทักษ์) จึงดำริให้ทุกวิทยาเขต มีพระพิรุณทรงนาคประดิษฐานไว้เพื่อเป็นเอกลักษณ์ เชิดชูมหาวิทยาลัย และเป็นแหล่งศูนย์รวมจิตใจของบุคลากรและนิสิต
โดยลักษณะตราสัญลักษณ์เป็นรูปวงกลม มีรูปพระพิรุณทรงนาคอยู่กึ่งกลาง ล้อมรอบด้วยกลีบบัวคว่ำและกลีบบัวหงายและมีข้อความว่า “มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2486” ล้อมรอบเป็นชั้นนอกสุด
ตรามหาวิทยาลัยมหิดล ประกอบไปด้วย พระมหาพิชัยมงกุฎ ภายใต้จักรกับตรีศูล และอักษร ม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 พระมหาพิชัยมงกุฎ คือ ศิราภรณ์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำคัญ แสดงว่า ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ จักร กับ ตรีศูล คือ ตราเครื่องหมายประจำพระบรมราชวงศ์จักรี พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทย อักษร “ม” มาจากคำว่า “มหิดล”
โดยลักษณะตราสัญลักษณ์เป็นรูปวงกลม ตราส่วนพระองค์ของพระราชบิดามีสีเหลืองทอง บนพื้นที่วงกลมสีน้ำเงินประจำมหาวิทยาลัย ล้อมรอบด้วยข้อความภาษาบาลี ตัวอักษรไทย “อตฺตานํ อุปมํ กเร”และชื่อมหาลัยมีสีทอง องค์ประกอบทั้งหมดอยู่ในเส้นกรอบวงกลมสีทอง ซึ่งอยู่ขอบนอกสุดของตราสัญลักษณ์
พระพิฆเนศวร เป็นเทพเจ้าแห่งศิลปวิทยาการและการประพันธ์ โดยลักษณะพระหัตถ์ขวาบนถือตรีศูล พระหัตถ์ขวาล่างถืองาช้าง พระหัตถ์ซ้ายบนถือปาศะ (เชือก) พระหัตถ์ซ้ายล่างถือครอบน้ำ ประทับบนลวดลายกนกลักษณะคล้ายเมฆ ภายใต้มีอักษรว่า "มหาวิทยาลัยศิลปากร" ประกาศใช้เมื่อ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2494 ซึ่งคล้ายคลึงกับกรมศิลปากร
ตรากราฟ ได้มาจากกราฟที่เขียนแทนสมการทางคณิตศาสตร์ y = ex หมายถึง การเพิ่มหรือการงอกงาม ตรงกับปรัชญาของมหาวิทยาลัยว่า “การศึกษาคือความเจริญงอกงาม” (สิกฺขา วิรุฬฺหิ สมฺปตฺตา)
สัญลักษณ์ช้างชูคบเพลิง ตามความหมายคือ ช้าง เป็นสัตว์ประจำชาติที่มีคุณค่าสูงมากในภาคเหนือ จึงเป็นสัญลักษณ์ของภาคเหนือ การก้าวย่างของช้าง หมายถึง ความเจริญก้าวหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง คบเพลิง หมายถึง ความสว่างไสวแห่งปัญญาและวิชาการ รัศมีแปดแฉกที่อยู่บนคบเพลิง หมายถึง คณะทั้งแปดที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จัดตั้งขึ้นตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดอกสักที่อยู่คั่นกลางทั้งด้านซ้ายและด้านขวา เป็นสัญลักษณ์ต้นไม้ทางเศรษฐกิจของภาคเหนือ หมายถึง ความมั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์ คำบาลีด้านบน อตฺตานํ ทมยนฺติ ปณฺฑิตา เป็นพุทธภาษิตและเป็นภาษิตประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความหมายว่า บัณฑิตทั้งหลายย่อมฝึกตน พ.ศ. 2507 เป็นปีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ มีพระบรมราชานุญาต ให้อัญเชิญ พระนามาภิไธย ส.ว. ประกอบเป็นตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีและเป็นสิริมงคล แก่มหาวิทยาลัย โดยตราสัญลักษณ์ดังกล่าวมี เลข ๘ และเลข ๙ ประกอบอยู่ด้วย โดยมีความหมายถึง ทรงเป็นพระราชชนนีของพระมหากษัตริย์ 2 พระองค์ คือรัชกาลที่ ๘ และรัชกาลที่ ๙ และ ได้อัญเชิญ ฉัตร 7 ชั้น มาเป็นเครื่องหมายประกอบพระเกียรติยศ ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และมีดอกลำดวน และใบไม้ประดับ อันแสดงถึงความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัย ที่สนองพระราชปณิธาน ปลูกป่าและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยไม่หยุดยั้ง
ตราสัญลักษณ์นี้ถูกใช้มาตั้งแต่ก่อตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นรูปพระธาตุพนม ที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำมหาวิทยาลัยขอนแก่น ทั้งสองข้างของพระธาตุพนมมีเทวดาอัญเชิญมิ่งมงคลเข้าหาพระธาตุพนม มีความหมายคือ เป็นการนำมิ่งขวัญสิริมงคลสู่มหาวิทยาลัย ด้านล่างของพระธาตุพนม เป็นชื่อมหาวิทยาลัยขอนแก่นสลักบนขอนไม้ ซึ่งขอนไม้เป็นเอกลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของ จังหวัดขอนแก่น ซุ้มเรือนแก้วทั้ง 3 ช่อง สื่อความหมายถึง คุณธรรม 3 ประการ ได้แก่ วิทยา คือ ความรู้ดี จริยา คือ ความประพฤติดี และปัญญา คือ ความฉลาดอันเกิดจากการเรียนดีและคิดดี
ตราสัญลักษณ์ประกอบไปด้วย มหาพิชัยมงกุฏ คือ ศิราภรณ์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำคัญแสดงว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์ จักรกับตรีศูล คือ ตราเครื่องหมายประจำราชวงศ์จักรี ม.อ. คือ อักษรย่อพระนามเดิมสมเด็จพระบรมราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช สงขลานครินทร์ คือ พระอิสริยยศที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ โปรดเกล้าฯ สถาปนา สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช เป็นเจ้าฟ้าต่างกรมในพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ เพื่อเป็นเกียรติแก่เมืองสงขลา เสมือนทรงเป็นเจ้าแห่งนครสงขลา เมื่อ พ.ศ. 2446