Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

Way to say: การแนะนำตัวพื้นฐานในภาษาอังกฤษ

Posted By Plook Creator | 24 มิ.ย. 63
53,293 Views

  Favorite

การสนทนาภาษาอังกฤษขั้นพื้นฐาน เมื่อทักทายกันแล้ว คราวนี้จะแนะนำตัวเอง โดยบอกข้อมูลส่วนตัวบางอย่าง เช่น ชื่อ วันเกิด การทำงาน งานอดิเรก ความสนใจ ซึ่งจำเป็นในการสานสัมพันธ์กับบุคคลอื่น อีกทั้งการแนะนำตัวยังเป็นส่วนหนึ่งที่พบในการสอบวัดระดับทางภาษาอังกฤษในระดับต้นอีกด้วย ดังนั้นมาเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และทบทวนการแนะนำตัวในภาษาอังกฤษกันค่ะ


การแนะนำชื่อตนเอง

วิธีแนะนำชื่ออย่างเป็นทางการ

การแนะนำชื่อตนเองอย่างเป็นทางการ จะเริ่มต้นด้วยคำทักทายที่เป็นทางการและตามด้วยชื่อ-นามสกุล

โครงสร้าง Hello, my name is …Name… + Family name.

Ex. Hello, my name is Sompong Jaidee.
(สวัสดีครับ ผมชื่อ สมพงษ์ ใจดี)

โดยเราสามารถอธิบายเกี่ยวกับชื่อเพิ่มเติมได้ว่า Jaidee is my family name and Sompong is my given name. (ใจดีคือนามสกุลและสมพงษ์คือชื่อครับ)
ซึ่งปกติในวัฒนธรรมภาษาไทยเราจะเรียกชื่อกันเช่น คุณสมพงษ์ แต่ในวัฒนธรรมภาษาอังกฤษมักจะเรียกนามสกุล เช่น มิสเตอร์ใจดี


วิธีแนะนำชื่ออย่างไม่เป็นทางการ

โดยปกติการแนะนำตัวจะเริ่มต้นด้วยคำทักทายและตามด้วยบอกชื่อของตนเอง

โครงสร้าง Hi, I’m + …Name…

Ex. Hi, I’m Parina.
(สวัสดี ฉันปารีนา)

ความรู้เพิ่มเติม: คำศัพท์ภาษาอังกฤษเกี่ยวกับ ชื่อ และ นามสกุล
ชื่อ : first name, given name, forename (ไม่นิยมใช้ในการสนทนา แต่ใช้ในการเขียน), Christian name (ชื่อของคริสต์เตียน)

นามสกุล : last name, surname, family name

นอกจากนี้ชาวตะวันตก (ยุโรปและอเมริกา) จะมีคนที่มีชื่อกลาง (middle name) ด้วย เช่น สตาร์ฮอลลีวู้ดอย่าง แบรด พิตต์ ที่มีชื่อเต็มว่า วิลเลียม แบรดลีย์ พิตต์ (William Bradley Pitt) ซึ่ง แบรด เป็นชื่อฉบับย่อของชื่อกลาง แบรดลีย์ หรือบางครั้ง อาจย่อชื่อกลางเหลือเพียงอักษรตัวแรกของชื่อ เรียกว่า middle initial เช่น George W. Bush (จอร์จ ดับเบิลยู บุช) W เป็น middle initial ของชื่อกลาง Walker

สำหรับคนไทยอย่างเราจะมีชื่อเล่น Nickname เช่น หมาก เป็นชื่อเล่นของ ปริญ สุภารัตน์ นักแสดงชื่อดังของไทย

หลังกจากทักทายแนะนำตัวแล้ว จะพูดว่า Nice to meet you. ซึ่งใช้ได้ทั้งในการสนทนาทั่วไปและในการพูดคุยทางธุรกิจ


การแนะนำบ้านเกิดและอายุ

การบอกที่มา บ้านเกิด และอายุ สามารถใช้วลีเหล่านี้
I’m from Bangkok, Thailand.
(ฉันมาจากกรุงเทพ ประเทศไทย)

I was born in Saraburi but I grew up in Bangkok.
(ฉันเกิดที่สระบุรีแต่โตที่กรุงเทพ)

การบอกวันเกิด จะใช้โครงสร้าง I was born + on + เดือน + วัน + in ปีเกิด
I was born on December 7th in 1978.
(ฉันเกิดวันที่ 7 ธันวาคม ปี 1978)

การบอกอายุสามารถพูดได้ว่า
I am 33 years old.
(ฉันอายุ 32 ปี)

Today is my thirty-two birthday.
(วันนี้เป็นวันเกิดอายุ 32 ปีของฉัน)

I will be 40 years old.
(ฉันอายุ 40 ปีแล้ว)

อย่างไรก็ตาม ในการแนะนำตัวหากไม่ถูกถามเรื่องอายุก็ไม่จำเป็นต้องบอกก็ได้ เนื่องจากชาวตะวันตกไม่ได้ให้น้ำหนักในเรื่องอายุมากกว่านัก


การแนะนำสถานะและโครงสร้างครอบครัว

การแนะนำตัวเองบางครั้งเราจำเป็นต้องบอกถึงสถานะและพูดถึงสมาชิกในครอบครัว โดยสามารถใช้วลีเหล่านี้ได้
I’m still single.
(ฉันยังโสด)

I’m married.
(ฉันแต่งงานแล้ว)

I’m planning to get married next year.
(ฉันมีโครงการแต่งงานปีหน้า)

I used to be married.
(ฉันเคยแต่งงาน)

There’re five people in my family.
(ครอบครัวของฉันมีสมาชิก 5 คน)

I have a son and two daughters.
(ฉันมีลูกชายหนึ่งคนและลูกสาวสองคน)

I live with my parents.
(ฉันอาศัยอยู่กับพ่อแม่)

I live with my wife and my daughter in Bangkok.
(ผมอาศัยอยู่ที่กรุงเทพกับภรรยาและลูกสาว)


การแนะนำเกี่ยวกับเรื่องงาน

การบอกเกี่ยวกับเรื่องงานหรืออาชีพจะใช้โครงสร้าง I am + a/an อาชีพ
I am a teacher.
(ฉันเป็นครู)

I am an engineer.
(ผมเป็นวิศวกร)

สามารถติดตามอ่านคำศัพท์ภาษาอังกฤษเกี่ยวกับอาชีพต่าง ๆ ได้ที่
>>> รวมคำศัพท์ภาษาอังกฤษเกี่ยวกับอาชีพและตำแหน่งงาน
>>> คำศัพท์ภาษาอังกฤษเกี่ยวกับอาชีพ จำง่าย ๆ แยกตามคำลงท้าย

ในกรณีที่ต้องการบอกว่าทำงานที่ไหน จะใช้โครงสร้าง I work for + a/an ประเภทของอุตสาหกรรม + company
I work for an IT related company.
(ฉันทำงานที่บริษัทเกี่ยวกับไอที)

I work for a construction company.
(ผมทำงานที่บริษัทก่อสร้าง)

หากอยากพูดถึงหน้าที่รับผิดชอบจะใช้วลี in charge of และ be responsible for
I am in charge of this project.
I am responsible for this project.
(ผมเป็นคนรับผิดชอบโปรเจ็คนี้)


การแนะนำเกี่ยวกับงานอดิเรก

การบอกเรื่องงานอดิเรกเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยในการแนะนำตัว เพราะถ้ามีเรื่องที่ชอบทำเหมือนหรือสอดคล้องกัน อาจได้สานสัมพันธ์เป็นเพื่อนกันได้
การพูดเกี่ยวกับงานอดิเรกหรือความสนใจส่วนใหญ่มักใช้คำเหล่านี้ like + Gerund (ชอบ…..), V.to be interested in …. (สนใจ....), as a hobby …. (...เป็นงานอดิเรก)

I like playing football.
(ผมชอบเล่นฟุตบอล)

I like watching movies.
(ฉันชอบดูหนัง)

อย่าลืม! การบอกว่า ชอบทำอะไรนั้นจ้ะใช้ โครงสร้าง like + Gerund (V.ing)

I am interested in gardening.
(ฉันสนใจการทำสวน)

I play the kalimba as a hobby.
(ฉันเล่นคาลิมบาเป็นงานอดิเรก)


คำถามสำหรับถามข้อมูลอีกฝ่าย

เมื่อเราบอกข้อมูลส่วนตัวของตัวเองแล้ว การถามข้อมูลของอีกฝ่ายเป็นการแสดงถึงความสนใจที่มีต่ออีกฝ่าย ยิ่งจะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์

ตัวอย่างคำถามเพื่อถามข้อมูลอีกฝ่าย
What is your name? (คุณชื่ออะไร)
Where are you from? (คุณมาจากไหน)
How old are you? (คุณอายุเท่าไหร่)
When is your birthday? (วันเกิดของคุณคือเมื่อไหร่)
What do you do? (คุณทำงานอะไร)
What do you like to do in your free time? (เวลาว่างคุณชอบทำอะไร)

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 44 Followers
  • Follow