บ้านศิลปิน อยู่ริมคลองบางหลวง (คลองชักพระ) ซึ่งก็คือคลองที่ต่อมาจากบางกอกใหญ่ ซึ่งเชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยาตรงป้อมวิไชยประสิทธิ์ใกล้ ๆ วัดอรุณฯ กับวัดกัลยาณมิตรนั่นละค่ะ เที่ยวมาเช้านี้นั่ง MRT ลงสถานีบางไผ่ แล้วเดินเข้าไปทางซอยวัดทองศาลางามราว 500 เมตร หรือจะนั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้างก็ 10 บาทเท่านั้น
ตลาดน้ำจะเริ่มตั้งแต่วัดกำแพงบางจาก วัดโบราณที่ชาวบ้านเล่าต่อกันมาว่าน่าจะมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว และก็ซ่อมแซมเป็นระยะ ๆ ในรูปบนซ้ายนี้เป็นพระอุโบสถที่มีลายปูนปั้นประดับเป็นซุ้มประตูหน้าต่างอย่างผสมผสานกลิ่นอายศิลปะไทย จีน และตะวันตก ส่วนทางซ้ายคือแผนที่ท่องเที่ยวบนตู้ไปรษณีย์เก่าค่ะ
พอเดินเข้ามาทางริมน้ำก็จะเจอตลาดค่ะ ในรูปบนนี้เป็นบรรยากาศในร้านครัวคุณอ๋อย คลองบางหลวงค่ะ
ไม่แน่ใจว่าคือพนักงานต้อนรับหรือเปล่านะคะ แต่น่ารักมาก ๆ เลยค่ะ
เมนูอาหารมีหลากหลายมากมาย ที่ขึ้นชื่อเลยก็คือขนมจีนน้ำยาปลาช่อนค่ะ
ข้าง ๆ ร้านเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ชุมชนกำแพงทองพัฒนา ตลาดน้ำคลองบางหลวง ซึ่งมีการจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้เก่าแก่ของชาวบ้านในชุมชนค่ะ
ไม่ว่าจะเป็นปิ่นโต ตะเกียงเจ้าพายุ หม้อขนมจีน ไห กระโถน กระติก หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างวิทยุและเครื่องเล่นเทป ฯลฯ
นอกจากนี้ก็มีตู้พระธรรม และหีบพระธรรมเก่าแก่ ลงรักปิดทองอย่างงดงามจัดแสดงด้วย อย่าลืมปิดแฟลชและระวังไม่ไปโดนวัตถุจัดแสดงด้วยนะคะ ของบางชิ้นไม่ได้อยู่ในตู้ ตั้งเรียงรายให้ได้ดูกันอย่างใกล้ชิด เราก็ช่วย ๆ กันรักษาอีกทางหนึ่งค่ะ
ในภาพบนนี้เป็นเครื่องเบญจรงค์ลายน้ำทอง มีอักษรพระปรมาภิไธยย่อ จปร ด้วยค่ะ
นอกจากนี้ก็มีเครื่องลายคราม
เครื่องใช้โลหะ ช้อนทั้งแบบประณีตและแบบทั่วไปที่นิยมใช้กันในโรงอาหารของโรงเรียนเมื่อราว 20 กว่าปีที่แล้ว
ออกจากพิพิธภัณฑ์ก็เดินมาทางซ้ายตามทางริมคลองเก๋ ๆ นี้ไปได้เลยค่ะ บรรยากาศดีมาก ๆ เลย
ฝั่งตรงข้ามเป็นอาคารบ้านเรือน บ้างก็เป็นร้านค้า หรือที่พักริมคลอง มีท่าน้ำเล็ก ๆ ด้วย ให้ความรู้สึกของชุมชนอันแสนสงบ เอ๊ะ นี่เรายังอยู่ใน กทม. หรือเปล่านะ
ข้ามสะพานที่ทอดเหนือคลองสาขาเล็ก ๆ นี้ไป ก็จะถึงบ้านศิลปินแล้วค่ะ แต่ก่อนถึงก็แวะชมวิว ถ่ายรูปกันก่อนได้นะคะ มีชานเล็ก ๆ ยื่นไปตรงปลายสะพานด้วยค่ะ
แค่ขั้นบันได้ก็น่ารักแล้ว
มีแผนที่แสดงแหล่งชิม ช้อป ใช้ มากมายหลายสิบแห่ง และบอกเล่าประวัติที่มาของคลองบางหลวงที่มีอีกชื่อว่า คลองชักพระ เพราะตั้งแต่อดีตจวบจนทุกวันนี้ ในช่วงปลายปีจะมีประเพณีชักพระผ่านมาในคลองนี้ให้ชาวบ้านได้ทำบุญกันค่ะ โดยย่านนี้ 3 วัดเรียงกันคือ วัดทองศาลางาม วัดกำแพงบางจาก และวัดคูหาสวรรค์วรวิหาร
ตลาดเล็ก ๆ แห่งนี้เดินง่ายเป็นเส้นตรงไปกลับทางเดียว สุดทางที่วัดคูหาสวรรค์วรวิหาร หรือชื่อเดิมคือ "วัดศาลาสี่หน้า" ในภาพบน ซึ่งก็คือศาลาไทยทรงจตุรมุขค่ะ ชาวบ้านสันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาแล้ว และจาก Facebook "วัดคูหาสวรรค์วรวิหาร แขวงคูหาสวรรค์ เขตภาษีเจริญ กทม.โทร.02-458-1842" ให้ข้อมูลว่า วัดนี้ได้รับวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2320 ซึ่งจะตรงกับสมัยกรุงธนบุรีด้วยค่ะ
เดินผ่านท่าเรือเข้ามาจะเป็นย่านร้านค้าริมน้ำ มีทั้งของจิปาถะที่ใช้ในชีวิตประจำวันและก็มีร้านอาหารเล็ก ๆ ร้านเครื่องดื่มบรรยากาศน่านั่ง แม่ค้าพ่อค้าอัธยาศัยดี อย่างร้านที่ขอแวะดับกระหายร้านแรกนี้คือร้านไอศกรีมโบราณค่ะ มีทั้งแบบโคนแบบใส่แก้ว
น้ำมะพร้าวเผาเย็น ๆ ถุงละ 20 บาท 3 ถุง 50 บาท
หรือจะเลือกมะพร้าวน้ำหอมลูกโตจากบ้านแพ้วที่น้ำเยอะมากจนล้นออกมาในถาด เนื้อนุ่ม อย่างในภาพบนนี้ก็ได้นะคะ หอมชื่นใจ นั่งกินดื่มริมคลองได้บรรยากาศดีทีเดียวค่ะ
เมนูเด็ดห้ามพลาดของร้านนี้ก็หนีไม่พ้นไอศกรีมโบราณค่ะ แม่ค้าบอกว่าทำเอง มีเนื้อมะพร้าวนุ่ม ๆ ขูดเป็นเส้นอยู่ในไอศกรีมเนื้อเนียน และนอกจากเครื่องทั่ว ๆ ไปอย่างลูกชิด ข้าวเหนียว ฟักทองเชื่อม แล้วก็ยังมีถั่วแดงต้มให้โปรตีนเบา ๆ กับฝอยทองที่ได้ยินว่าเป็นฝีมือเพื่อนของคุณแม่ค้าที่นำมาผสมผสานกันอย่างลงตัวด้วยค่ะ
พอนั่งชิว ๆ ให้ลมพัดเย็น ๆ สักพักก็เห็นว่าในน้ำมีปลาว่ายอยู่หลายตัวเลยค่ะ ตอนที่พวกมันมาใกล้ผิวน้ำจะเห็นหลังดำ ๆ ไว ๆ เลยเดินไปซื้ออาหารปลาที่ร้านขายของชำของคุณป้าคนหนึ่งที่อยู่ใกล้ ๆ กันมาเลี้ยง นั่งดูพวกมันรุมตอดอาหารจนน้ำกระเซ็นก็เพลินไป เสร็จแล้วเอาขวดกลับไปคืน ป้าเขาจะได้รียูสต่อได้ด้วย
แล้วก็เดินขึ้นสะพานวัดใจค่ะ เป็นสะพานเล็ก ๆ ค่อนข้างสูง มีฝั่งที่เรียบสำหรับจักรยานและมอเตอร์ไซค์ แล้วก็ฝั่งที่เป็นขั้นบันไดให้คนเดิน ต้องคอยระวังด้วยว่าขณะที่เราขึ้นไปจากฝั่งนี้ ก็อาจมีคนสวนมาจากฝั่งโน้นได้เหมือนกัน จะได้หลีกทันค่ะ แต่วิวนี้คุ้มเลยค่ะ ถ้าทุกคลองในบ้านเราสวยอย่างนี้นี่แจ่มเลยนะคะ
ลงมามีร้านขายก๋วยเตี๋ยว ผัดไทย และข้าวเหนียวมะม่วง อาหารหวานที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติส่วนใหญ่มักจะไม่พลาดเมื่อมาเยือนราชอาณาจักรไทย อันอุดมด้วยผลไม้เมืองร้อนและอาหารมากมาย
จากนั้นก็ข้ามกลับมายังตลาดฝั่งเดิมอีกครั้ง บรรยากาศชุมชน กลิ่นอายของวันวานดังในภาพบนค่ะ รูปซ้ายเป็นชาวบ้านที่ตั้งโต๊ะขายเครื่องประดับชิ้นเล็ก ๆ รูปกลางคือร้านตัดผมเก่าสมัยคุณพ่อคุณแม่ยังเด็ก ส่วนรูปขวานี้เป็นทั้งร้านขายของที่ระลึก งานศิลปะ และมีบริการนวดแผนไทยด้วยนะคะ
แต่ละร้านมักจะมีชานระเบียงยื่นออกไปริมคลองค่ะ บางบ้านก็มีเรือน้อยผูกไว้ตรงใต้ถุนด้วย นี่ก็เป็นอีกมุมถ่ายภาพยอดฮิตที่ใคร ๆ ก็นิยมกันเมื่อมาเยือนคลองบางหลวงแห่งนี้
ในรูปบนนี้ทางซ้ายคืออาหารปลา ทางขวาคืออาหารคน ส้มตำ เมนูขึ้นชื่อของไทย ที่มีให้กินในแทบทุกที่ ทุกจังหวัด เพียงแต่จะต่างกันในส่วนผสมหลักเท่านั้นเอง ไม่ว่าจะเป็นข้าวมันส้มตำ ตำไทย ตำปูปลาร้า ตำปูม้า ตำบูดู ตำน้ำปู
ร้านกระเป๋า เสื้อผ้า เครื่องประดับ
ขนมไทยกระทงเล็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็นขนมต้ม ขนมกล้วย ขนมเปียกปูน ขนมบ้าบิ่น ฯลฯ
ร้านของเล่น ปิ่นโต และภาชนะต่าง ๆ มากมาย
มีคาเฟ่เก๋ ๆ ประดับประดาด้วยไม้กระถางเล็ก ๆ เรียงรายริมน้ำ
แล้วเราก็มาถึงบ้านศิลปินกันแล้วค่ะ แม้ว่าที่นี่จะเปิดทุกวัน แต่เวลาไม่ตรงกันนะคะ ดูจากในภาพบนได้เลย และวันเสาร์-อาทิตย์จะคึกคักที่สุดเลยค่ะ
อีกหนึ่งมุมเท่ ๆ ที่มีนายแบบเป็นหุ่นคนเชิดหุ่นละครเล็กอยู่ตรงริมน้ำ ระหว่างวันก็จะมีเรือหางยาวจากแถวท่าเตียน ท่าช้าง ท่าพระจันทร์ ท่าสาทร ฯลฯ พานักท่องเที่ยวแล่นผ่านมาชื่นชมกันเป็นระยะ ๆ
หุ่นคุณลุงพุงพลุ้ยตัวขาวนี้ก็เป็นอีกสัญลักษณ์ที่ใครผ่านไปใครมามักจะแวะขอถ่ายรูปคู่ด้วยสักหน่อย
เดินเล่นดูนั่นดูนี่และถ่ายรูปเพลินจนเกือบบ่ายโมงแล้ว ที่บ้านศิลปินแห่งนี้มีการแสดงให้ชมตอนบ่ายสองเสียด้วย กลัวจะกลับมาไม่ทัน ขอถอดรองเท้าและแวะกินข้าวแกงอร่อย ๆ อาหารไทยพื้นบ้านที่นี่เลยก็แล้วกันค่ะ
ข้าวสวยร้อน ๆ หมูทอด ชะอมกับมะเขือยาวชุบไข่ทอด ราดน้ำพริกกะปิหอม ๆ จานนี้ 40 บาทเท่านั้นค่ะ
เครื่องดื่มก็มีให้เลือก ทั้งแบบที่มีคาเฟอีนและเครื่องดื่มสมุนไพรแบบไทย ๆ
ส่วนของหวานก็มีไอติมโฮมเมดสารพัดรสให้เลือก ไม่ว่าจะเป็นมะม่วง เสาวรส สตรอว์เบอร์รี่ กีวี่ วานิลา นมน้ำผึ้ง ฯลฯ ถ้วยละ 35 บาทค่ะ
อิ่มท้องแล้วจะไปเข้าห้องน้ำก็อยู่ทางซ้ายมือของภาพบนค่ะ มีรองเท้าแตะให้เปลี่ยนสวมด้วย ส่วนอ่างล้างมือนั้นก็สร้างสรรค์จากโอ่งดินและอ่างแก้วเข้ากับบรรยากาศในบ้านไม้เก่าแก่ของตะกูล “รักสำหรวจ”
ที่ต่อมามีศิลปินคือคุณชุมพล อักพันธานนท์ และเพื่อน ๆ มาซื้อ มาซ่อมแซมจนได้รับรางวัลจากสมาคมสถาปนิกสยาม และปัจจุบันเป็นที่ทำงาน ที่จัดแสดงผลงานศิลปะภาพวาด ภาพถ่าย ขายชา กาแฟ ของที่ระลึก รวมทั้งมีลานวัฒนธรรมเพื่อการอนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปะการแสดงหุ่นละครเล็กและนาฏศิลป์ไทยด้วย โดยเปิดให้เข้าชมฟรีค่ะ ผู้มาเยือนอย่างเรา ๆ ก็ร่วมสนับสนุนได้ด้วยการหย่อนทิปให้นักแสดง อุดหนุนสินค้า และบริจาคสมทบทุนบูรณะบ้านได้นะคะ
พอใกล้เวลาบ่ายสองปุ๊บ พื้นที่หน้าลานวัฒนธรรม กลางเรือนที่มีฉากหลังเป็นพระเจดีย์โบราณแบบย่อมุมไม้สิบสองที่ตั้งตระหง่านอยู่กลางบ้านมาแต่เก่าก่อน ก็เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวผู้มาเยือน ม้านั่งเต็มแล้วก็นั่งรอดูกันกับได้เลย น้อง ๆ เยาวชนจาก คณะสิปปธรรมคำนาย กำลังเริ่มการแสดงแล้ว ตั้งแต่การแนะนำสถานที่ การแต่งกายของนักแสดงนาฏศิลป์ไทยที่พิถีพิถัน รวมไปถึงรายการที่จะทำการแสดงต่อไป
สำหรับการแสดงหุ่นละครเล็กนี้ ผู้แสดงจะต้องได้รับการหัดโขนมาก่อนด้วยนะคะ ซึ่งการหัดโขนนี้นอกจากจะเป็นการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของไทยแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมสุขภาพด้วย เพราะท่าฝึกหัดต่าง ๆ ต้องใช้การเคลื่อนไหว อาศัยความยืดหยุ่นของร่างกาย และสมาธิของผู้แสดงอย่างยิ่งยวดเลยค่ะ
ก่อนการแสดงทุกครั้งก็จะมีการไหว้ครู ซึ่งเป็นการรำลึกและแสดงความเคารพ และให้เกียรติผู้มีพระคุณที่ได้ให้ความรู้อันเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพและดำเนินชีวิต น้อง ๆ บอกว่าระหว่างประกอบพิธีนี้ ผู้ชมก็สามารถระลึกถึงครูของตนเองไปด้วยพร้อม ๆ กันได้นะคะ กรอบรูปที่ตั้งอยู่กับหุ่นและหัวโขนด้านซ้ายของภาพบนนี้คือ ครูแกร ศัพทวนิช ผู้ให้กำเนิดการแสดงหุ่นละครเล็ก ครูของครูสาครและทายาททั้งเก้าแห่งคณะโจหลุยส์ ซึ่งก็เป็นครูของครูผู้สอนเยาวชนผู้เชิดหุ่นละครเล็กคณะนี้อีกที
การแสดงชุดแรกเป็นการรำละครเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ภาคปลาย (ต่อจาก ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ) ตอนพลายบัวเกี้ยวนางตานี เล่าเรื่องเมื่อพลายบัว ลูกของพระไวย (พลายงาม) หลานขุนแผน เดินทางผ่านดงกล้วยตานี พบนางตานี ซึ่งเป็นวิญญาณสาวที่สิงสถิตอยู่ในต้นกล้วยตานี ปรากฏกายเป็นหญิงงามมาพูดคุยด้วย พลายบัวเห็นนางมีฤทธิ์ก็เลยเกี้ยวพามาเป็นบริวาร
ถัดมาเป็นการแสดงการเชิดหุ่นละครเล็กซึ่งต้องมีผู้เชิดร่วมกัน 3 คน คนแรกควบคุมศีรษะและมือขวา คนถัดมาควบคุมเท้าทั้งสอง และคนสุดท้ายควบคุมมือซ้าย จะขาดคนใดไปหรือแตกความสามัคคีกันไม่ได้ มีการทดลองเชิญนักท่องเที่ยวมาลองเชิดดูด้วยค่ะ
จากนั้นจึงเป็นการแสดงไฮไลต์สำคัญของวันนี้ ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันสวรรคตของล้นเกล้าฯ ร.9 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ ของล้นเกล้าฯ ร.10 และยังทรงเป็นพ่อผู้ยิ่งใหญ่ในความทรงจำของชาวไทยเสมอมา ทางคณะผู้แสดงจึงจัดแสดงหุ่นละครเล็กผสมโขน ตอน มัจฉานุพบพ่อ เล่าเรื่องราวตอนที่หนุมานจะไปช่วยพระรามที่ถูกขังอยู่ที่เมืองบาดาล แล้วระหว่างทางได้เจอมัจฉานุ ลูกชายของตนกับนางสุพรรณมัจฉาในที่สุด
ดูการแสดงจบแล้วก็เดินขึ้นมาชั้น 2 ห้องแรกตรงบันไดมีหัวโขนและภาพปูชนียบุคคลแห่งบ้านศิลปินหลังนี้
ห้องถัดมาเป็นเหมือนแกลอรี่แสดงผลงานศิลปะต่าง ๆ ของศิลปิน
มีโต๊ะทำงานบรรยากาศสวย ๆ ด้วย
ถัดมาอีกห้องก็มีงานประติมากรรมต่าง ๆ ประดับประดาไว้ มุมถ่ายรูปเพียบเลยทีเดียว
สร้างแรงบันดาลใจกระตุ้นต่อมความคิดสร้างสรรค์กันมาแล้ว ก็ได้เวลาลงมาแสดงฝีมือ ที่นี่มีกิจกรรม DIY งานศิลปะต่าง ๆ ให้ร่วมสนุกด้วยนะคะ อย่างในภาพบนนี้เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติกำลังร้อยกำไลข้อมือจากลูกปัดหลากสีอย่างตั้งอกตั้งใจ ใครอยากร้อยก็ร่วมสนุกได้เส้นละ 30 บาทเท่านั้นค่ะ
ส่วนเด็ก ๆ ก็ชื่นชอบการเพ้นต์หน้ากาก จริง ๆ มีหุ่นเล็ก ๆ และเข็มกลัด กระจก แม่เหล็กติดตู้เย็น+ที่เปิดขวดให้ทำด้วยนะคะ
แต่ถ้าไม่มีเวลาจะเลือกซื้อเอาก็ได้ค่ะ จริง ๆ วันที่ไปมีเวลานะคะ แต่ไม่ค่อยมั่นใจในฝีมือตัวเองสักเท่าไร พอร้อยกำไลให้หลาน ๆ เสร็จ เลยมาเลือกซื้องานสวย ๆ จากศิลปินมืออาชีพกลับไปแทนค่ะ
ขากลับเที่ยวนี้เดินลัดเลาะริมคลองมาทางวัดทองศาลางามได้นะคะ เสาร์-อาทิตย์ มีเรือของกทม. รับส่งถึงสถานี BTS บางหว้าเลยค่ะ ตอนนี้ยังทดลองให้บริการฟรีอยู่นะคะ ตั้งแต่ 8.00 – 17.00 น. ชั่วโมงละลำค่ะ
ฝนตกลงมาในคลองพอดี ต้นไม้ริมคลองก็เขียวสดชื่นเชียว จริง ๆ กทม. มีเรือบริการสายบางหว้า-ท่าช้างด้วยนะคะ แล่นในคลองบางกอกใหญ่ทุกวันเลยค่ะ ตั้งแต่ 6.00 – 19.00 น. ชั่วโมงเร่งด่วนออกทุกครึ่งชั่วโมง ส่วน 9.00-15.00 น. ออกทุกชั่วโมงค่ะ
ขึ้นท่าเรือบางหว้ามาแล้วก็เดินตามน้องปลาสีขาว ๆ บนพื้นไปยังทางเชื่อมสู่รถไฟฟ้า BTS ได้เลย ขามาใครจะมาทางนี้ลง BTS สถานีบางหว้า มาทางออกที่ 3 และ 4 แล้วก็เดินต่อไปด้านในอีกนิด ตามลูกศรในภาพล่างนี้ได้เลยนะคะ มากินลมชมวิวนั่งชิวกันได้ที่ถิ่นเก่าแม่พลอย ชุมชนเล็ก ๆ ที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายของศิลปะและประวัติศาสตร์ในกรุงเทพมหานคร