นรรัชต์ ฝันเชียร
แนวคิดการจัดการเรียนรู้แบบวอลดอร์ฟนี้ เกิดภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จากการที่ เอมิล มอลต์ เจ้าของโรงงานยาสูบวอลดอร์ฟ แอสโทเรีย ในเมืองสตุทท์การ์ด ได้เชิญ รูดอล์ฟ สไตเนอร์ นักปรัชญาที่มีชื่อเสียง ณ ขณะนั้นมาบรรยายพิเศษให้คนงานที่โรงงานยาสูบ ซึ่งเขารู้สึกประทับใจกับแนวคิดของสไตเนอร์เกี่ยวกับการสร้างสังคมใหม่ จึงได้เชิญสไตเนอร์มาเปิดโรงเรียนตามปรัชญาของเขา โดยเบื้องต้นจะเป็นโรงเรียนสำหรับลูกหลานคนงานในโรงเรียน ทั้งนี้ เมื่อสไตเนอร์รับที่จะเปิดโรงเรียนที่บริเวณโรงงานของเขา สไตเนอร์ก็ได้มีเงื่อนไขให้เอมิล 4 ข้อ อันเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของโรงเรียนดังนี้
1. โรงเรียนนี้ต้องเป็นโรงเรียนที่เปิดกว้างสำหรับเด็กทุกคน
2. โรงเรียนนี้ต้องเป็นโรงเรียนสหที่เด็กผู้หญิงและผู้ชายเรียนร่วมกัน
3. เป็นโรงเรียนที่จัดการศึกษาต่อเนื่อง 12 ปี
4. ครูและบุคลากรของโรงเรียนต้องอยู่ภายใต้ความดูแลของโรงเรียน จะต้องไม่มีการแทรกแซงจากรัฐหรือแม้แต่นายทุน
ซึ่งเอมิลยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว จนนำมาสู่การเปิดโรงเรียนแห่งแรกในบริเวณโรงงานวอลดอร์ฟตามแนวคิดของสไตเนอร์ เมื่อวันที่ 7 กันยายน ค.ศ.1919 และเป็นจุดเริ่มต้นของแนวการจัดการศึกษาแบบวอลดอร์ฟมาจนถึงปัจจุบัน
แนวการจัดการเรียนรู้แบบวอลดอร์ฟนั้น มีรากฐานมาจากมนุษยปรัชญา (Anthroposophy) ซึ่งมองว่าความเป็นมนุษย์นั้นประกอบด้วย 3 มิติคือ
มิติรูปกาย (Body) คือรูปร่างของมนุษย์ แสดงออกมาผ่านการกระทำ โดยเป็นไปตามเจตจำนงของตัวเอง
มิติจิตใจ (Soul) คือการมองโลกในจิตใจของตัวเอง แสดงออกผ่านความรู้สึก เพื่อตอบสนองความงามและเป็นพื้นฐานความเป็นมนุษย์
มิติจิตสำนึกและจิตวิญญาณ (Spirit) คือการตระหนักรู้ในตัวเอง แสดงออกผ่านการคิดและการใช้ปัญญา เพื่อเข้าใจสัจจะธรรมและความเป็นจริงของโลก
ซึ่งทั้ง 3 มิตินี้มีการเชื่อมโยงสอดคล้องซึ่งกันและกัน ดังนั้น การอบรมเลี้ยงดูสั่งสอนจากพ่อแม่ ผู้ปกครองและครู คือสิ่งที่ช่วยให้การเชื่อมโยงนั้นสมบูรณ์ ส่งผลให้บรรลุถึง ความดี (Good) ความงาม (Beauty) ความจริง (Truth) บนโลก
ดร.รูดอร์ฟ สไตเนอร์ อธิบายว่า การจัดการเรียนรู้แบบวอลดอร์ฟนั้นคือการส่งเสริมการเรียนรู้โดยเน้นให้เด็กเติบโตเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์มากกว่าการสอนหนังสือ โดยครูในแนวคิดแบบวอลดอร์ฟนั้นต้องเข้าใจเด็กตามธรรมชาติ (Natural Childhood) และภาวะกึ่งฝัน (Dreamy stated) ที่มีอยู่ในวัยเด็ก ซึ่งเป็นการปะปนกันระหว่างโลกแห่งความฝันและโลกแห่ความจริง ดังนั้นการศึกษาจึงควรเป็นการปลุกเด็กให้ตื่นขึ้นอย่างช้าๆ บนโลก โดยการเชื่อมโยงเด็กกับโลกแห่งความจริงทีละน้อย ผ่านการตระเตรียมสิ่งแวดล้อม ห้องเรียน อาคารสถานที่ ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้ และของเล่นของเด็ก รวมถึงการนำพลังธรรมชาติของโลก เช่น ดิน น้ำ ลม ไฟ มาประสานในการจัดกิจกรรม เพื่อให้เด็กได้เข้าถึงธรรมชาติอันแท้จริงของโลก แนวคิดแบบวอลดอร์ฟนั้น ให้ความสำคัญกับพัฒนาการของมนุษย์ โดยเน้นตั้งแต่ 0-21 ปี โดยสามารถแบ่งขั้นพัฒนาการได้ 3 ขั้น ขั้นละ 7 ปี ดังนี้
แรกเกิด-7 ปี : เรียนรู้ด้วยการกระทำ ดังนั้น การสอนต้องเน้นให้เด็กมุ่งมั่นตั้งใจกับการกระทำความดี
7-14 ปี : เรียนรู้จากความประทับใจ ดังนั้น การสอนต้องเน้นให้เด็กรู้สึกถึงความงาม
14 -21 ปี : เรียนรู้จากการคิด ดังนั้น การสอนต้องเน้นให้เด็กคิด จนเกิดปัญญา เห็นสัจธรรมและความจริงในโลก
สำหรับรูปแบบการจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดแบบวอลดอร์ฟนั้น เราสามารถนำมาส่งเสริมหรือจัดการชั้นเรียนให้สอดคล้องกับแนวคิดนี้ได้ ดังนี้
1. มีการจัดทำแผนการสอน และตารางประจำวันโดยวางแผนกิจกรรมในห้องเรียนตามแบบแผนสอดคล้องกับจังหวะชีวิตของเด็กอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้นักเรียนสามารถคาดการณ์และรู้สึกมีความมั่นคงในจิตใจ
2. มีการทบทวนหรือทำกิจกรรมซ้ำ ตามความต้องการของเด็ก ซึ่งจะช่วยส่งเสริมพลังแห่งเจตจำนงให้เด็กมีความแนวแน่มากขึ้น ซึ่งเมื่อเด็กได้ทำกิจกรรมซ้ำจนพอใจหรือชำนาญและก็จะเริ่มหันไปหากิจกรรมใหม่ๆเอง ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ
3. ครูต้องเป็นแบบอย่างต่อความดีงามให้เด็ก โดยการแสดงความรัก เคารพ และศรัทธาต่อชีวิต ธรรมชาติและโลกรอบตัว
4. จัดสภาพแวดล้อม โดยมุ่งเน้นความเป็นธรรมชาติ มีการจัดต้นไม้ ดอกไม้ และให้แสงจากธรรมชาติสอดส่องเข้ามาในห้องอย่างพอเหมาะ ซึ่งสภาพแวดล้อมเช่นนี้จะเอื้อต่อการเรียนรู้ ช่วยให้เด็กรู้สึกสงบ มีสมาธิ และเรียนรู้ได้ดี
5. ควรมีเวลาให้เด็กสำคัญการเล่นสร้างสรรค์หรือเล่นอิสระ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากตามแนวคิดนี้ เพราะเป็นหนทางสำคัญที่เด็กจะเรียนรู้โลกและชีวิต
6. สื่อการเรียนรู้ในห้องเรียน ควรเป็นวัสดุธรรมดาที่หาจากธรรมชาติที่ไม่ใช่สื่อหรือของเล่นสำเร็จรูป เช่น ท่อนไม้ กิ่งไม้ เศษผ้า ขวดน้ำ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะกระตุ้นให้เด็กได้ใช้จินตนาการในการเล่น และเป็นการเชื่อมโยงเด็กเข้ากับโลกผ่านวัสดุที่หาได้ทั่วไป
7. มีกิจกรรมวงกลมให้เด็กได้เคลื่อนไหวประกอบเพลงร่วมกัน แบบยูริธมี (Eurythmy) ที่แปลว่าเสียงพูดหรือดนตรีที่มองเห็น โดยมีครูเป็นผู้นำกิจกรรม
8. มีการเล่านิทานเพื่อการกระตุ้นให้เด็กเกิดการพัฒนาด้วยจินตนาการของตนเอง โดยเน้นการเล่าปากเปล่า หรือใช้สื่อประกอบการเล่าน้อยชิ้น เพื่อไม่ไปปิดกั้นจินตนาการของเด็ก
แนวการจัดการเรียนรู้แบบวอลดอร์ฟนี้ นับเป็นแนวการจัดการเรียนรู้หนึ่งที่มีความน่าสนใจ เพราะแม้ว่าจะผ่านมาหลายสิบปีแล้ว แต่ก็ยังสามารถตอบสนองการพัฒนาการศึกษา โดยเฉพาะในรูปแบบการศึกษายุคใหม่ที่เน้นให้ผู้เรียนมีความเป็นตัวของตัวเองและมีความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างดี และยังส่งเสริมให้ผู้เรียนมีจิตใจที่ดีและรักธรรมชาติได้อีกด้วย จึงนับได้ว่าเป็นแนวการจัดการเรียนรู้ที่ถึงแม้ว่าจะดูเก่าไปหน่อยแต่ก็มีความเก๋าที่น่าเรียนรู้ไม่น้อยเลยทีเดียว
เอกสารอ้างอิง
http://taamkru.com/th/%E0%B8%A7%E0%B8%AD%E0%B8%A5%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%9F/
http://resource.thaihealth.or.th/library/10969