Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ทฤษฎีหมวก 6 ใบ กับการส่งเสริมให้นักเรียนคิดวิเคราะห์แยกแยะ

Posted By Plook Teacher | 22 เม.ย. 62
209,668 Views

  Favorite

นรรัชต์  ฝันเชียร

             การคิด เป็นกลไกของสมองอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อมนุษย์สัมผัสกับสิ่งแวดล้อมรอบตัว อันเป็นกลไกที่ดำเนินอยู่ตลอดเวลาและเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์  ซึ่งกลไกนี้มีผลต่อการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ การแปลความหมาย การสรุป การสร้างแนวความคิดรวบยอด การจำแนกความแตกต่าง การจัดกลุ่มและการวิเคราะห์ข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่ได้รับ ตลอดจนนำไปสู่การประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมหรือสถานการณ์นั้น ๆ ได้

 

             ปัจจุบันมีนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมความคิดเกิดขึ้นมาอย่างมากมาย  ซึ่งเรื่องที่หยิบยกขึ้นมานี้ก็เป็นหนึ่งในหลาย ๆ ทฤษฎีที่ช่วยส่งเสริมทักษะกระบวนการคิดอย่างได้ผล จนมีการนำไปประยุกต์ใช้กันอย่างมากมาย  ซึ่งทฤษฎีที่หยิบยกมาในครั้งนี้ก็คือ ทฤษฎีหมวก 6 ใบ (Six Thinking Hats)

 

ทฤษฎีหมวก 6 ใบ

             ดร. เอ็ดเวิร์ด เดอ โบ โน (Dr. Edward de Bono) ศาสตราจารย์ด้านการคิดชาวอิตาลี ได้ศึกษาและคิดค้นวิธีคิด (Thinking Method) เพื่อช่วยให้มนุษย์มีการคิดที่มีประสิทธิภาพสร้างสรรค์และครอบคลุมรอบด้านยิ่งขึ้น เขาเสนอวิธีคิดแบบ "Six Thinking Hats" หรือการคิดแบบหมวกหกใบ

 

             "Six Thinking Hats" หรือการคิดแบบหมวกหกใบ เป็นวิธีคิดที่มีมุมมองแบบ "รอบด้าน" คือเน้นการคิดที่ครอบคลุมเพื่อไม่ให้เกิดการตกหล่นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เป็นการจัดระเบียบการคิด ทำให้การคิดมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยใช้หมวก 6 ใบเป็นตัวนำเสนอทางเลือกที่เป็นไปได้ตามมุมมองต่างๆ ของปัญหา โดยหมวกแต่ละใบจะแทนพลังของการคิดจะมุ่งเน้นไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งเป็นการเฉพาะ  ซึ่งจะทำให้ความเห็นและความคิดสามารถแสดงออกได้อย่างอิสระ มีความครอบคลุม ลดความขัดแย้งที่ไม่จำเป็น และยังสามารถดึงเอาศักยภาพของแต่ละคนมาใช้ได้อย่างเหมาะสมอีกด้วย

 

             ซึ่งการดำเนินระบบการคิดแบบหมวกหกใบนั้น ผู้ใช้ความคิดจะต้องสมมุติตัวเองว่ากำลังสวมหมวกทีละใบ ซึ่งหมวกแต่ละใบนั้นจะแทนมุมมองความคิดที่แตกต่างกัน ซึ่งเมื่อสมมุติตัวเองสวมหมวกทั้ง 6 ใบแล้ว จะทำให้เรื่องที่กำลังพิจารณาได้ข้อสรุปที่เหมาะสมและครอบคลุม โดยหมวกทั้ง 6 ใบนั้นประกอบด้วย

 
ภาพ : shutterstock.com

White Hat หมวกสีขาว หมายถึง ข้อเท็จจริงที่เป็นกลาง การให้ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับผลการศึกษาวิจัยหรือตัวเลขต่าง ๆ การที่ผู้คิดสวมหมวกสีขาวนั่นหมายความว่าผู้คิดกำลังต้องการข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงและเป็นกลางโดยปราศจากความรู้สึก ทัศนคติและความคิดเห็นต่าง ๆ ของผู้ร่วมประชุม

 

ภาพ : shutterstock.com

Red Hat หมวกสีแดง หมายถึงการแสดงออกตามอารมณ์และความรู้สึก รวมไปถึงสัญชาตญาณและลางสังหรณ์ต่าง ๆ  เมื่อผู้คิดสวมหมวกสีนี้ จะเป็นการกำหนดให้ผู้คิดสามารถแสดงความรู้สึกกับเรื่องดังกล่าว ว่าชอบหรือไม่ชอบ ดีหรือไม่ดี โดยไม่ต้องคำนึงถึงเหตุผลต่าง ๆ

 
ภาพ : shutterstock.com

Black Hat หมวกสีดำ หมายถึงความคิดเชิงลบ การปฏิเสธ เป็นการบอกถึงสิ่งที่ไม่เหมาะสม สิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติ จุดด้อย อุปสรรคและข้อจำกัดต่าง ๆ โดยมีเหตุผลประกอบ ซึ่งเมื่อผู้คิดใส่หมวกสีดำนั่นหมายความว่าผู้คิดจำเป็นต้องชี้ว่าสิ่งใดผิด สิ่งใดไม่สอดคล้องและสิ่งใดใช้ไม่ได้ เพื่อช่วยให้การปฏิบัติตามแนวคิดไม่เกิดควาสูญเปล่าหรือสูญเสียโดยไม่จำเป็น

ภาพ : shutterstocl.com

Yellow Hat หมวกสีเหลือง เป็นตัวแทนของการมองโลกในแง่ดี การคิดถึงจุดเด่น โอกาส สิ่งที่เป็นประโยชน์ ในเชิงบวก ที่ผสมผสานความสงสัยใคร่รู้ ความสุข และความต้องการที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ให้เกิดขึ้น อย่างมีความหวัง เมื่อกำหนดให้ผู้คิดสวมหมวกสีนี้ นั่นหมายความว่าผู้คิดต้องการข้อมูลที่เป็นความหวังในแง่ดี ที่เป็นจุดเด่นและโอกาสที่สามารถนำมาพัฒนาได้

ภาพ : shutterstock.com

Green Hat หมวกสีเขียว เป็นตัวแทนของความเจริญงอกงาม ความคิดริเริ่มใหม่ ๆ ความคิดสร้างสรรค์ การคิดนอกกรอบ โดยใช้ประสบการณ์ของตัวเอง  การสวมใส่หมวกสีเขียวของผู้คิด คือการที่ผู้คิดดำเนินความคิดต่อเรื่องราวต่าง ๆ โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์และความคิดริเริ่มใหม่ ๆเพื่อนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

ภาพ : shutterstock.com

Blue Hat หมวกสีน้ำเงิน หมายถึงการควบคุมและการบริหารกระบวนการคิดต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องของความคิดรวบยอด ข้อสรุป การยุติข้อขัดแย้ง การมองเห็นภาพและการดำเนินการที่มีขั้นตอนเป็นระบบ เมื่อผู้คิดใช้หมวกน้ำเงิน นั่นหมายความว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างเป็นระบบระเบียบ เพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจน  หมวกสีน้ำเงินจึงมีบทบาทของหัวหน้า ทำหน้าที่ควบคุมบทบาทของสมาชิก ควบคุมการดำเนินการประชุม การอภิปราย รวมถึงควบคุมการใช้กระบวนการคิด การสรุปผล เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ

 

             จะสังเกตเห็นว่า หมวกทั้ง 6 ใบนั้น มีรูปแบบของการใช้ความคิดที่แตกต่างกัน ซึ่ง การใช้หมวกทั้ง 6 ใบนี้จะทำให้การพิจารณาเรื่องต่าง ๆ สามารถหาข้อสรุปได้อย่างรวดเร็วและรอบด้านมากขึ้น

 

ประโยชน์ของทฤษฎีหมวก 6 ใบ

             ทฤษฎีหมวก 6 ใบนี้ ได้มีการนำไปประยุกต์ในองค์กรเอกชนกันอย่างมาย เพราะเป็นแนวคิดที่ช่วยลดเวลาการประชุมตามปกติลงไปได้หลายเปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว ซึ่งประโยชน์ของการนำทฤษฎีหมวก 6 ใบมาประยุกต์ใช้นั้น มีดังนี้

1.ช่วยให้ทุกคนโฟกัสเรื่องราวแต่ละเรื่องไปในทิศทางเดียวกันซึ่งจะช่วยเพิ่มพลังความคิดมากยิ่งขึ้น
2. ลดเวลาที่ใช้ในการประชุมร่วมกัน เนื่องจากทุกคนคิดไปในทิศทางเดียวกัน จึงไม่เสียเวลาไปกับการโต้เถียงต่างๆที่หาจุดจบได้ยาก
3. ลดอัตตา ซึ่งที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้ร่วมประชุมด้วยกัน

4. ทำให้มีเวลาสำหรับการคิดหาทางแก้ไขหรือพัฒนาอย่างสร้างสรรค์

5. ช่วยให้ผู้ที่นำทฤษฎีนี้ไปประยุกต์ใช้ มีกระบวนการคิดที่แยบยลมากขึ้น

 

การนำทฤษฎีหมวก 6 ใบมาส่งเสริมการคิดของนักเรียน

การประชุมโดยใช้แนวคิดแบบหมวก 6 ใบ

             การประชุมโดยนำทฤษฎีหมวก 6 ใบมาใช้ควบคุมการประชุมจะช่วยให้การประชุมสามารถดำเนินไปได้ด้วยดี และได้รับรายละเอียดครบถ้วนไม่ตกหล่น เช่น เริ่มต้นจากการสวมหมวกสีน้ำเงิน เพื่อบอกถึงสาเหตุและเป้าหมายของการประชุมครั้งนี้ จากนั้นสวมหมวกสีขาวเพื่อให้ข้อมูลต่างๆอย่างเป็นกลาง  ใช้สีเหลืองเพื่อหาข้อดีและจุดเด่น และสีดำเพื่อหาข้อจัดและอุปสรรค์ จากนั้นใช้สีเขียว เพื่อหาแนวทางแก้ไขอย่างสร้างสสรค์ และเช็คความพึงพอใจจากวิธีนั้น โดยใช้สีแดง เป็นต้น

 

การสร้าง Main Map

             คือ นำทฤษฎีหมวก 6 ใบ มาประยุกต์ใช้เป็นแกนในการคิด Main Map เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆได้ครบถ้วน เช่น ในการเขียน Main Map เรื่องการเพาะปลูก สีน้ำเงินคือการกำหนดเป้าหมายของเรื่องว่าเราจะกล่าวถึงเรื่องการเพาะปลูกแบบใดและในลักษณะใด สีขาวคือข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการเพาะปลูก  สีแดงคือ ความรู้สึกอยากปลูกอะไรบ้าง สีดำคือ ข้อจำกัดและความเสี่ยงต่างๆในการปลูกพืช พืชใดปลูกได้ไม่ได้ สีเหลือง บอกถึงประโยชน์ของการเพาะปลูก สีเขียว แนวทางการเพาะปลูกที่สร้างสรรค์ต่างๆ เป็นต้น

 

การใช้บทบาทสมมุติ

             ลองสุ่มหรือเลือกให้นักเรียนแต่ละคนสวมหมวกด้วยสีแตกต่างกัน แล้วลองให้พวกขาแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่กำหนดนั้นตามสีของหมวก จากนั้นลองให้นักเรียนสลับหมวกกัน วิธีจะช่วยให้นักเรียนมีประสบการณ์ในการใช้กลไกความคิดที่แตกต่างๆกัน ตามสีของหมวก ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการพัฒนากระบวนการคิดของนักเรียนให้แตกฉานและหลากหลายมากยิ่งขึ้น

 

             ทฤษฎีหมวก 6 ใบนี้ นับว่าเป็นทฤษฎีที่มีประโยชน์อย่างมาก เพราะสามารถนำไปประยุกต์ได้หลากหลาย การให้นักเรียนเรียนรู้เกี่ยวกับแนวคิดหมวก 6 ใบ จะช่วยให้พวกเขามีกระบวนการคิดที่ดีและรอบคอบ  ซึ่งการพัฒนาทักษะนี้เป็นผลดีต่อนักเรียนทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพราะถ้าเขาสามารถใช้ทฤษฎีหมวก 6 ใบได้อย่างคล่องแคล่ง เรื่องของการคิดวิเคราะห์ แยกแยะที่มีในหลักสูตรก็เป็นเรื่องที่ง่ายดายเลยก็ได้

 

เอกสารอ้างอิง

http://oteamwork.blogspot.com/2016/01/6.html

https://www.gotoknow.org/posts/297126

https://www.gotoknow.org/posts/386999

https://sites.google.com/site/thvsdihmwk6bi/prayochn-khxng-kar-khid-baeb-hmwk-6-bi

http://www.pisitzhong.com/%E0%B8%84%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%A7%E0%B8%816%E0%B9%83%E0%B8%9A/

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow