"ฟิสิกส์หน้าที่ของมันคือ การพยายามหาพฤติกรรมของธรรมชาติในระดับมูลฐาน ผ่านทางการอธิบายด้วยสมการคณิตศาสตร์ ตั้งแต่สิ่งที่เราคุ้นเคยดีอย่างอธิบายการปล่อยของจากที่สูง ไปจนถึงพฤติกรรมประหลาด ๆ และซับซ้อน อย่างวิวัฒนาการของจักรวาล" อยากเข้าใจฟิสิกส์ให้มากขึ้น สาขาที่เรียนด้านนี้โดยฉพาะ เรียนอะไรบ้าง บทความนี้เราจะมาเจาะลึกสาขาฟิสิกส์กับ “พี่ฮาวาย” ชวกรณ์ มณีรัตน์ นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะมาเล่าให้ฟังถึงการเรียนสาขาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ ในรั้วจุฬาฯ
ประมาณ ม. 6 เราได้ไปดูหนังเรื่อง interstellar ซึ่งเป็นหนัง sci-fi ในหนังมีการเอาวิทยาศาสตร์มาใช้ซึ่งเป็นหลักฟิสิกส์ที่ได้รับการพิสูจน์ เช่น เวลาที่ไม่เท่ากันของแต่ละสถานที่ ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าเราจะหาหนังสืออ่านเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ที่ไหน เลยค้นหาดูในอินเทอร์เน็ตและพบว่าถ้าเราสนใจต้องไปอ่านเรื่องของ “ทฤษฎีสัมพัทธภาพ” ทีนี้เราได้ไปอ่านหนังสือเรื่อง “Elegant universe” ซึ่งเป็นหนังสือที่ให้คนทั่วไปอ่านไม่มีสมการยาก ๆ เป็นหนังสืออ่านเล่นที่แปลมาจากต่างประเทศ เวลาที่เราได้อ่านอะไรพวกนี้ เราจะรู้สึกตื่นเต้นและสนุกมาก ๆ บวกกับวิธีหรือแนวคิดที่มาของทฤษฎีประหลาด ๆ เหล่านี้ เราจึงคิดว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่เรารัก เราเลยเลือกเข้ามาเรียนในสาขานี้เลย
เป็นคำถามที่ยากมาก ๆ ก่อนอื่นเลยคือเราต้องเข้าใจก่อนว่าหน้าที่ของนักวิทยาศาสตร์ คือพยายามอธิบายธรรมชาติ และก็จะมีสาขาแบ่งออกไป เช่น ชีวะก็จะอธิบายเรื่องของกายภาพ ร่างกาย พฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ เคมีก็จะสนใจคุณสมบัติต่าง ๆ ของสสารหรือปฏิกริยารูปแบบหรือเงื่อนไขต่าง ๆ
ส่วนฟิสิกส์หน้าที่ของมันคือ การพยายามหาพฤติกรรมของธรรมชาติในระดับมูลฐาน ผ่านทางการอธิบายด้วยสมการคณิตศาสตร์ ตั้งแต่สิ่งที่เราคุ้นเคยดีอย่างอธิบายการปล่อยของจากที่สูง ไปจนถึงพฤติกรรมประหลาด ๆ และซับซ้อน อย่างวิวัฒนาการของจักรวาล ซึ่งในทางงานวิจัยจริง ๆ แล้ว ฟิสิกส์แบ่งย่อยไปอีกเยอะมาก เช่น Condensed matter physics, Bio physics, Mathematical physics หรือ High energy physics
ยกตัวอย่างเช่น High energy physics หรือ ฟิสิกส์พลังงานสูง โดยปกติแล้ว มนุษย์เรามักจะคุ้นชินกับพฤติกรรมของธรรมชาติโดยทั่วไป เช่น เวลาเราเตะลูกบอลไป ชนกำแพง แล้วเด้งกลับมา หรือบางทีกำแพงอาจจะเป็นรอยบ้าง เราเรียกสิ่งนี้ว่า Classical Physics แต่พอเราสนใจของที่เล็กลงมาก ๆ ในระดับอะตอม ระดับที่เราไม่สามารถส่องกล้องดูได้ มันดันมีพฤติกรรมที่ไม่เหมือนกับของที่เราคุ้นเคย ลูกบอลในระดับเล็กๆของเรา บางทีมันอาจจะทะลุเข้าไปในกำแพง และไปโผล่อีกฟากก็ได้ สิ่งเหล่านี้ เราเรียกมันว่า Quantum physics และยิ่งพลังงานของอนุภาคสูงมากเท่าไหร่พฤติกรรมยิ่งประหลาดไปมากขึ้นเท่านั้น
ปี 1 ก็จะเรียนวิชาพื้นฐานทั้งหมด ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ แคลคูลัส แบบพื้นฐาน เหมือนกันทั้งคณะ
ปี 2 จะเริ่มเข้าวิชาของภาค แต่เป็นวิชาที่เป็นพื้นฐานในการต่อยอดสายเฉพาะทาง เช่น math phys ที่จะเรียนเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ที่จะใช้ในฟิสิกส์หลัก ๆ ทั้งหมด หรือ quantum mechanics ที่จะเรียนเกี่ยวกับทฤษฎีควอนตัม ซึ่งเป็นทฤษฎีที่จำเป็นมาก ในการเข้าใจทฤษฎีฟิสิกส์ในระดับ fundamental
ปี 3 จะเริ่มเป็นวิชาเฉพาะทางมากขึ้น เหมือนให้นิสิตเริ่มค้นหาตัวเอง ว่าสนใจสายไหนเป็นพิเศษเช่น วิชา optics เรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมของแสงและการประยุกต์ใช้ในอุปกรณ์สำคัญ ๆ ต่าง ๆ หรือ particles physics ที่เรียนเกี่ยวกับอนุภาคพื้นฐานทั้งหมด แบบคร่าว ๆ และกลไกของการเกิดแรงทั้งหมด จากทฤษฎีที่พื้นฐานที่สุด อย่าง quantum และใน ปี 3 นี้เอง ก็จะเริ่มเปิดวิชาให้เลือกลงทะเบียนเองมากขึ้น ก็คือจะเป็นวิชาที่เฉพาะสายจริง ๆ เช่น field theory สำหรับคนที่สนใจจะทำงานด้านฟิสิกส์อนุภาคมูลฐานต่อ
สำหรับปี 4 วิชาส่วนใหญ่ก็จะเปิดให้นิสิตเลือกลงเอง ตามความสนใจ แต่จะมีวิชาหลักคือ senior project ที่เป็นวิชาให้นิสิตทำโปรเจคจบ
สำหรับคณะวิทยาศาสตร์ของจุฬาฯ เราจะโดนบังคับเลือกสาขาตั้งแต่สมัครเข้าเรียนเลย แต่ก็จะได้เรียนวิชาบังคับเหมือนกันทุกสาขาในตอนปี 1 อยู่ดี พอเข้าปี 2 ค่อยเข้าไปเรียนวิชาในสาขาของตัวเองมากยิ่งขึ้น โดยส่วนใหญ่แล้ววิชาที่เราเรียนก็จะมีทั้ง แล็บและเลคเชอร์ปนกันไปในแต่ละปี แต่พอปีสี่เด็กส่วนมากก็เริ่มจะไปหาอาจารย์เฉพาะทางเพื่อปรึกษาถึงสาขาย่อยที่ตัวเองสนใจ งานวิจัยกับแล็บก็เริ่มเฉพาะทางมากขึ้น Senior project หรือโปรเจคจบก็จะให้เราทำโปรเจคเฉพาะทางของเราไปเลย เราจะได้เรียนรู้หนักๆในสาขาย่อยของฟิสิกส์คือตอนป.โท ป.เอก หมดเลย
ในส่วนภาควิชาฟิสิกส์ไม่ได้บังคับฝึกงานแต่ส่วนใหญ่เด็กจะไปหาที่ฝึกงานเอง ส่วนมากในจุฬาฯ มีโครงการจากหลายประเทศยื่นมาให้ เวลาไปฝึกงานก็จะแล้วแต่สาขาที่ตนเองเรียน เช่น บางสาขาก็จะไปดูพวกอุปกรณ์เครื่องมือว่าประเทศแต่ละประเทศมีเครื่องมืออะไรอยู่บ้าง เรียนรู้วิธีการใช้งาน เพื่อนำกลับมาพัฒนาสาขา นั้น ๆ ในประเทศเรา
เราชอบเรื่อง Cosmology หรือจักรวาลวิทยามากที่สุด เป็นวิชาที่เรียนเกี่ยวกับ evolution of the universe หรือการวิวัฒนการของจักรวาล เรียนว่าจักรวาลแต่ละช่วงมีการพัฒนายังไงบ้าง ย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของจักรวาล เช่น Big-bang Theory ความสวยงามของวิชานี้คือมันสามารถอธิบายการเกิดขึ้นของตัวจักรวาลเองได้โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้สร้าง แต่ใช้หลักการฟิสิกส์ ที่เราค้นพบมันผ่านการที่กาลิเลโอปล่อยของจากที่สูงแล้วตกพร้อมกัน การสังเกตุของนิวตันผ่านลูกแอปเปิ้ลที่ตกจากต้น และความฉลาดของไอน์สไตน์ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่การนั่งจินตนาการอย่างไม่มีที่มาที่ไป มันเป็นเหมือนการเปิดโลกใหม่ของมวลมนุษย์ อีกอย่างคือวิชา cosmology ยังไม่ตายหายไปเพราะมีหลายคำถามที่ยังไม่ได้ตอบ และเป็นหน้าที่ของนักวิทยาศาสตร์ที่ต้องค้นหาคำอธิบายต่อไป มันทำให้เรารู้ได้ว่ามนุษย์ไปได้ไกลมากกว่าที่อยู่เพียงบนโลกมาก
ตัวอย่างที่ฝึกงาน ก็จะมีทั้งในและต่างประเทศ ตัวอย่างในประเทศเช่นหน่วยพิสูจน์หลักฐานของกรมตำรวจ ตัวอย่างฝึกงานต่างประเทศเช่น ฝึกงานที่ kaist ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยชั้นนำของเกาหลี ทาง kaist ก็จะเปิดโอกาสให้หลายสาขา ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในงานด้านต่าง ๆ เช่น เรียนรู้อุปกรณ์ เครื่องมือสำคัญๆต่าง ๆ ที่จะนำมาพัฒนางานวิจัยของไทยได้ หรือฝึกการทำวิจัยจริง ๆ จากอาจารย์ที่มีประสบการณ์ ได้ฝึกคิด ฝึกตั้งคำถาม และเรียนรู้ที่จะหาวิธีในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ทางฟิสิกส์
งานหลากหลายมาก ๆ แต่แบ่งหลัก ๆ ได้สองทาง คือเป็นงานด้าน pure science หรือ การวิจัยหาความรู้ใหม่ หรือสองคือ applied science หรือการนำความรู้มาประยุกต์ใช้ เช่นการทำมือถือ touch screen ที่หน้าจอโค้งได้ นักฟิสิกส์เองก็เป็นหนึ่งในทีมทำโปรเจคร่วมกับวิศวะและวิทยาศาสตร์สาขาอื่น ๆ เพื่อช่วยกันสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ แต่ส่วนตัวเราเองเราคิดว่าเราคงไปทางสาย pure science เป็นนักวิจัยฟิสิกส์ทฤษฎี
เราเชื่อว่าน้องๆที่พูดได้ว่าอยากเข้ามาเรียนคณะวิทยาศาสตร์ แสดงว่าก็คงมี passion และการตัดสินใจมาดีระดับหนึ่งแล้ว เราเลยขอพูดในอีกด้านนึงละกันว่าการเป็นนักวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย มีอุปสรรคและข้อจำกัดหลายอย่างมากตั้งแต่เรื่องเรียน คนรอบข้าง การได้รับการสนับสนุน เพราะเราต้องยอมรับว่า ประเทศไทยไม่ได้สนับสนุนด้าน pure science ขนาดนั้น รวมถึงในด้านการทำงานด้วยเช่นกัน เราเลยอยากจะบอกว่า ถ้าเลือกที่จะเข้ามาเรียนที่สายนี้แล้ว อาจจะต้องเจอกับความสับสนในชีวิตอีกเยอะ
การทำงานจะมีในหลายองค์กรณ์มาก สำหรับภาคเอกชนก็คือหลาย ๆ บริษัทที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ก็อาจจะต้องการคนในบางสาย ส่วนถ้าเป็นภาครัฐ งานด้านวิจัยก็ค่อนข้างเป็นงานหลัก สถาบันวิจัยสำคัญ ๆ ในไทยก็จะมีเช่น สถาบันวิจัยแสงซิงโครตรอน วิทยาลัยเพื่อการค้นคว้าระดับรากฐาน (IF) เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่ คนก็มักจะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยแล้วก็ทำวิจัยไปด้วย
สุดท้ายนี้พี่ฮาวายได้ฝากถึงสิ่งสำคัญที่ไม่ควรลืมสำหรับน้อง ๆ ที่อยากเข้ามาเรียนในคณะนี้ว่า “จงใช้เหตุผลว่าชอบ ซึ่งบางทีอาจจะเป็นเหตุผลเพียงข้อเดียวของเราที่ทำให้เราอยากทำงานหรืออยากเรียนด้านนี้ต่อไป เพื่อเป็นการเตือนเราเสมอ ว่าเรามาทำอะไรอยู่” นั่นเองค่ะ
รอบที่ 1 Portfolio
รอบที่ 2 โครงการความสามารถพิเศษ
รอบที่ 3 รับตรงร่วมกัน
ใช้ GAT 20% | วิชาสามัญ 4 วิชา คณิต 1 20% | เคมี 20% | ชีววิทยา 20% | ฟิสิกส์ 20%
รอบที่ 4 Admissions
ใช้ GPAX 20% | O-NET 30% | GAT 10% | PAT 1 10% | PAT 2 30%
เรื่อง : พิชญา วัชโรดมประเสริฐ