Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

สวดมนต์ & นั่งสมาธิให้ผลดีต่างกันอย่างไร?

Posted By มหัทธโน | 29 พ.ย. 61
37,372 Views

  Favorite

 

สวดมนต์ & นั่งสมาธิให้ผลดีต่างกันอย่างไร?

มารู้จักการสวดมนต์ และการทำสมาธิ ว่า ต่างกันอย่างไร มีข้อดีข้อเสียต่างกันอย่างไร และ ผลวิจัยรับรองว่า เป็นเช่นไรกันค่ะ 

 

ภาพ : สามเณรปลูกปัญญาธรรม


การสวดมนต์ คือ อะไร ? 

การสวดมนต์ เป็นข้อวัตรอันเป็นหลักใจของชาวพุทธ เป็นบุญกิจ บุญกิริยาที่ถือปฏิบัติสืบ ๆ กันมา นับตั้งแต่สมัยพุทธกาล เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ถือกันว่าเป็นเรื่องสำคัญของชีวิต โดยเฉพาะในส่วนของพระภิกษุสงฆ์สามเณร นักบวช นักบุญทั้งหลาย จะให้ขาดตกบกพร่องในข้อวัตร กิจวัตรส่วนนี้ไม่ได้เด็ดขาด เพราะถือเป็นการสาธยายบทธรรมที่พระบรมศาสดาทรงประกาศให้ชาวโลกทราบ แม้ผู้สวดเองจะไม่ทราบความหมาย แต่ช่วยเพิ่มพูนด้านศรัทธาเป็นเหตุเป็นปัจจัย  เปรียบเหมือนได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเฉพาะพระพักตร์เป็นการแสดงตน ปฏิญาณตนยอมรับนับถือ เคารพ ศรัทธา บูชา ขอขมาต่อพระองค์​

 

บทสวดแต่ละบท

เรียกว่า พระปริตร แปลว่า เครื่องคุ้มครองอันประเสริฐ 

ประกอบไปด้วย บทพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็มี เป็นบทสรรเสริญคุณแห่งพระรัตนตรัยก็มี และเป็นบทอวยชัยให้พรก็มี บางบทได้นำมาจากพระไตรปิฎก บางบทเป็นบทที่ท่านได้แต่งขึ้นใหม่ในภายหลัง 

 

ข้อดีของการสวดมนต์ 

1. เพื่อเป็นการสรรเสริญคุณ

บทสวดบางบทที่ใช้สวดนั้น เช่น บทอิติปิ โส ฯลฯ ภควาติฯ ชาวพุทธในสมัยพุทธกาล นิยมใช้สวดเพื่อสรรเสริญคุณพระพุทธเจ้ากัน

ส่วนที่ แต่งขึ้นใหม่ในยุคหลังก็นิยมนำเอามาเพื่อสวดสรรเสริญพระคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอรหันต์สงฆ์สาวก 

 

2. เพื่อเป็นต้นทุนเจริญศรัทธา

เพิ่มพูน พอกพูน เติมเต็มพลังแห่งศรัทธา ความเชื่อ ความเลื่อมใสที่มีต่อคุณพระรัตนตรัย ว่าเป็นที่พึ่งสรณะ 
 

3. เพื่อเป็นการแผ่จิตเมตตา

การสวดมนต์ในแต่ละครั้งนั้น ถือว่าเป็นการแผ่พลังเมตตาจิต ผ่านบทสวดมนต์ในแต่ละบท ซึ่งเชื่อว่า ศักดิ์สิทธิ์ มีความขลัง มีฤทธิ์ มีเดช มีอำนาจ มีความบริสุทธิ์อยู่ในตัว

บทสวดแต่ละบทนั้นเป็นเสมือนตัวเชื่อมต่อเป็นเครื่องมือ เป็นอุปกรณ์ เป็นสื่อ ส่งสัญญาณ แปรสภาพให้เป็นพลังงานพิเศษ ผ่านกระแสเสียงกระแสจิต จากจิตสู่จิตเกิดเป็นบุญเป็นกุศล

 

เป็นการส่งต่อพลังความรักความปรารถนาดี ความเมตตาปรานี ความสุข ความปลอดภัย ส่งให้ มอบให้ อุทิศให้ แผ่ให้ ให้แด่เหล่าเทวดา มนุษย์ อมนุษย์สรรพสัตว์ สรรพวิญญาณทั้งหลาย ทุกภพทุกภูมิทั่วโลกทั่วจักรวาล ตลอดถึงท่านผู้มีพระคุณ เพื่อนฝูงมิตรสหายครอบครัววงศ์ตระกูล เพื่อนร่วมสุขร่วมทุกข์ เพื่อนร่วมโลกทั้งมิตรและศัตรู ไม่เลือกชนชั้นวรรณะภาษา  

 

4. เพื่อเป็นการฝึกสมาธิ

การทำสมาธินั้นมีหลายรูปแบบ หลายวิธี การสวดมนต์ก็เป็นการทำสมาธิอีกวิธีหนึ่ง ที่จะทำให้เกิดความสงบได้

 เพราะขณะที่สวดนั้น ผู้สวดต้องมีความตั้งใจแน่วแน่ มีสติดี สามารถน้อมนึกบทสวดที่จดจำไว้ นำมาสวดได้ไม่ให้ผิด แต่ละตอนที่สวด จิตในขณะนั้นย่อมรวมตัว ดับความฟุ้งซ่านลง เกิดเป็นสมาธิได้เป็นอย่างดี

 

5. เพื่อเป็นการอบรมขันติให้แกร่งกล้า

การนั่งพนมมือก็ดี การนั่งคุกเข่า นั่งขัดสมาธิ นั่งพับเพียบก็ดี เวลาที่ใช้ในการสวดก็ดี ต้องใช้เวลานานพอสมควร ผู้สวดนั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีความอดทนอดกลั้นสูงทีเดียว  ย่อมทำให้ขันติธรรม คือ ความอดทนเจริญขึ้น เกิดขึ้น ความอดทนถือว่าเป็นหนึ่งหลักธรรมที่สำคัญมากในพระพุทธศาสนา

 

6. เพื่อเป็นการรักษาพระธรรม

บทสวดมนต์บางบท เป็นพระพุทธพจน์ที่สำคัญ เช่น บทพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เป็นต้น เป็นหลักธรรมสำคัญ ที่จะต้องจดจำให้ได้ เพื่อรักษาไว้ ผู้สวดจะต้องท่องจำให้ได้ขึ้นใจ แล้วนำมาสวดสาธยาย เพื่อเป็นการทบทวนอยู่เป็นประจำ เพื่อกันลืม กันหลง กันเสื่อม ได้ชื่อว่า เป็นการรักษาพระธรรมคำสั่งสอนไว้ไม่ให้สูญหาย ลบเลือน  

 

7. เพื่อเป็นการกำจัดบาปอกุศล

ในการสวดมนต์แต่ละครั้งนั้น ย่อมเป็นการช่วยกำจัดข่มซึ่งนิวรณ์ธรรม อันได้แก่
1) กามฉันทะ ความติดในสุข
2) พยาบาท ความหงุดหงิดไม่พอใจ
3) อุทธัจจะกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญ
4) ถีนมิทธะ ความง่วงซึม หดหู่
5) วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย

และยังกำจัดอกุศลธรรมต่างๆ มีความโลภ ความโกรธ ความหลง ความเห็นผิด ความถือตัวถือตน ความเกียจคร้านให้เบาบางจางหายหมดไปได้
 

ภาพ : สามเณรปลูกปัญญาธรรม


8. เพื่อความเป็นมงคลแก่ชีวิต

การสวดมนต์จัดเป็นทั้งบุญกิริยา ทาน บารมี และไตรสิกขา ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา 
- ขณะสวดมีกายวาจาเรียบร้อย มีความระมัดระวังสำรวมดี เรียกว่า ศีล
- ขณะสวดมีจิตเป็นสมาธิตั้งมั่น
- ขณะสวดจิตน้อมนึกพิจารณาไปตาม เห็นสัจธรรมความจริงของชีวิต เรียกว่า ปัญญา
ขณะสวดเป็นการเจริญเมตตาภาวนา จิตเบิกบาน เลิกจองเวรจองกรรม ก็จัดเป็น ทาน
- ขณะสวดมีความเพียร มีความอดทน มีสัจจะ มีความตั้งใจ จิตห่างออกจากกาม จิตเป็นกลาง ก็จัดเป็น บารมี

 

9. เพื่อเป็นการทำจิตให้สว่างไสวเกิดปัญญา

การสวดมนต์ เป็นวิธีที่จะช่วยชำระ ชะล้าง ทำความสะอาด ความสกปรกรกใจที่ตกตะกอนนอนเนื่องแปดเปื้อนอยู่ในจิตใจ ให้เป็นจิตใจที่สะอาด บริสุทธิ์ สว่างไสวได้ กลายเป็น
จิตที่สุขง่าย ทุกข์ยาก อยู่ที่ไหนก็อยู่ได้ มีความสุขทุกเวลา ปล่อยวางปัญหาง่าย ไม่ยึดติดกับทุกข์ที่เจอ เพราะเป็นจิตที่มีพลัง มีปัญญา ย่อมนำพาพัฒนาชีวิตตนเอง และบุคคลอื่นให้มีความสุขความเจริญได้

 

10. เพื่อเป็นการช่วยรักษาโรคภัย

การสวดมนต์นั้นสามารถช่วยบำบัด ช่วยรักษา ช่วยป้องกันโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ได้ ยิ่งโรคที่เกี่ยวเนื่องด้วยกับสภาพจิตใจยิ่งได้ผลดีมาก แม้กระทั่งอุปสรรค เคราะห์กรรม ปัญหาชีวิตก็ช่วยให้ผ่านพ้นได้ด้วยดี

 

มีข้อควรสังเกตว่า คนที่ชอบสวดมนต์อยู่เป็นประจำนั้น เวลามีทุกข์ ประสบปัญหาชีวิต มักจะมีทุกข์ มีปัญหาอยู่ไม่นานนัก ทุกข์และปัญหาที่เกิดขึ้นมักจะจบลงคลี่คลายลง เพราะใจไม่ฟุ้งซ่านจึงมีสติ คิดหาทางแก้ไขได้ถูกต้องรวดเร็ว มากกว่าคนที่ไม่ชอบสวดมนต์  

 

11. เพื่อเป็นเหตุให้ได้สมบัติบุญ

สมบัติที่กล่าวนี้ ไม่ได้หมายถึงทรัพย์สมบัติ คือ แก้ว แหวน เงิน ทอง เรือกสวน ไร่นา รถรา บ้านเรือนแต่อย่างใดไม่
แต่หมายถึง อริยทรัพย์ อริยสมบัติ มีมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ นิพพานสมบัติ อันเป็นเป้าหมายของทุกคนที่เกิดมาเป็นมนุษย์ 


ส่วนสมบัติ คือ แก้ว แหวน เงินทองนั้น ล้วนแต่เป็นของแถมที่อาจจะเกิดขึ้นก็ได้ ไม่เกิดขึ้นก็ได้ ไม่ควรตั้งความปรารถนาให้เกิดขึ้นจากการสวดมนต์ เพราะจะเป็นการสวด
ที่ผิดหลักบุญ หลักกุศล หลักธรรม หลักกรรม

----------------------------------------

การนั่งสมาธิ หรือ การทำสมาธิ

การทำสมาธินั้นปฏิบัติกันมานานนับพันปี โดยแรกเริ่มจะเป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันทางศาสนา ตามหลักคำสอนหรือความเชื่อของแต่ละศาสนา ซึ่งปัจจุบันการทำสมาธินั้นแพร่หลายไปทั่วโลก โดยนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน เช่น ลดความเครียด หรือช่วยผ่อนคลายทั้งกายและใจ รวมถึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนและการการทำงาน

 

ภาพ: สามเณรปลูกปัญญาธรรม


 

นั่งสมาธิ หรือการทำสมาธิ คือการฝึกปฏิบัติที่ใช้ความตั้งมั่น จดจ่อ และแน่วแน่อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ปฏิบัติเกิดความสงบ เกิดความรู้สึกตัวหรือมีสติในการใช้ชีวิตมากขึ้น เป๋็นอาการที่พยายามทำจิตให้ตั้งมั่น มีความมั่งคงของจิต ทำให้จิตมีกำลังเพิ่มขึ้น ทำให้มีสติมีเวลาคิดอะไรได้มากขึ้น ช่วยให้ใจไม่ร้อน อารมย์เย็นขึ้น

 

ประเภทของการทำสมาธิ หรือกรรมฐานในการทำสมาธิ

มี 2 อย่างคือ 
สมถะกรรมฐาน
การนั่งสมาธิที่เขาทำกันทั่ว ๆ ไปเพื่อให้จิตใจสงบ ตั้งมั่น 
สมถะกรรมฐานก็เป็นสิ่งที่ทำและสอนกันได้ง่าย

วิปัสนากรรมฐาน 
การมารู้กายรู้ใจตามที่เป็นจริงตาม อนิจจัง ไม่เที่ยง - ทุกขัง เป็นทุกข์ - อนัตตา ไม่มีตัวตน ควบคุมไม่ได้    

ทั้งสองอย่าง ได้บุญมาก เพราะเป็นการฝกฝนลงไปที่จิตใจโดยตรง 

โดยเมื่อปฏิบัติวิปัสสนาถึงที่สุดแล้วสามารถส่งผลได้ถึงนิพพาน  ในขณะที่สมถะกรรมฐาน ส่งผลได้สูงสุดคือระดับพรหมโลก
----------------------------------------

ผลการวิจัยเรื่องของการสวดมนต์และทำสมาธิ ว่าเกี่ยวข้องอย่างไร และทำอย่างไรจึงเห็นผลสูงสุด  

ที่มาภาพ ; เว็บจิตสบาย


- ที่มาของข้อมูลการวิจัย วารสารวิทยาศาสตร์การกีฬาและสุขภาพ ปีที่ 15 ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม-สิงหาคม 2557) หน้าที่ 89-99 Cr.ผศ.ทัศนีย์รัตน์  แววสว่างวงศ์
สืบค้นจาก http://www.spsc.chula.ac.th/backupnew/web_older/main2007/journal/15-2.pdf

 

การทดลอง

ได้มีการทำการทดลองกับนิสิตจุฬา ฯ จำนวน 60 คน โดยให้สวดมนต์ 30 คน และทำสมาธิ 30 คน ชาย-หญิงอย่างละ 15 คน และทำการวัดคลื่นสมองทีละคนในขณะสวดมนต์ 30 นาที และผู้ทำสมาธิ 30 นาที

 

หลังจากที่มีการบันทึกการทำงานของสมองตลอดระยะเวลา 30 นาที ผลปรากฎ ว่าทั้ง 30 คน มีผลดังนี้ 

1) ในการสวดมนต์ทีละคน ได้ผลเหมือนกัน คือ

นาทีที่ 0-5 นาทีแรกจิตยังซัดส่าย

พอนาทีที่ 5-10,10-15,15-20,20-25,25-30 คลื่นสมองจะบอกถึงการดิ่งของจิตที่สงบจนจบ ต่อเนื่องถึงหลังการทดลองอีกระยะหนึ่ง

 

2) ในการทำสมาธิจะได้ผลดีที่สุดอยู่ที่

นาทีที่ 0-5 พอเข้านาทีที่ 5-10,10-15,15-20... จบจนการทดลองจิตจะซัดส่าย คลื่นสมองจะไม่นิ่ง อันเนื่องจากมีนิวรณ์ 5 เข้ามาเป็นเครื่องกั้นการทำงานของจิตต่อการทำสมาธิ

ดังนั้นแสดงให้เห็นว่า จิตที่ยังมีนิวรณ์ 5 อยู่เช่นนี้ย่อมจะไม่สามารถเป็นสมาธิได้ ต้องฝึกเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอจะสามารถกำจัดนิวรณ์ได้

ซึ่งการทดลองนี้สอดคล้องกับมาตรฐานสัญญาณคลื่นสมองอัลฟ่าผ่อนคลายเมื่อหลับตาลงซึ่ง เป็นช่วงที่ดีที่สุดในระยะแรก

 

สรุปผลการทดลอง 

การสวดมนต์ทำสมาธิ ที่มีผลดีต่อคลื่นสมองมากที่สุด คือ การสวดมนต์ก่อนทำสมาธิ 

เพราะเมื่อเราสวดมนต์ก่อน จิตเราจะจดจ่อกับ บทสวดมนต์อยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดการ เปลี่ยนแปลงของคลื่นสมองอัลฟ่าเกิดขึ้นและคงอยู่ได้อย่างต่อเนื่องจนหลังการ ทดลองอีก 5 นาที จากนั้นได้มีการทำสมาธิ ซึ่งจะเป็นช่วงที่เข้าสู่ การทำสมาธิ ได้อย่างต่อเนื่องดีขึ้นกว่า การไม่สวดมนต์ก่อนทำสมาธิ และเเมื่อฝึกฝนบ่อย ๆ นิวรณ์ 5 ตัวอุปสรรคสำหรับการทำสมาธิ ก็จะหมดไปได้ในที่สุด

----------------------------------------


"สวดมนต์กับนั่งสมาธิ ได้ผลดีต่างกันอย่างไร"

กรณี ที่ 1 : หากมีการลองสวดมนต์ทุกวัน

ในช่วงแรกนั้น จิตใจก็อาจจะว้าวุ่น ไม่ค่อยอยู่กับเนื้อกับตัว แต่เมื่อได้ทำการสวดบ่อย ๆ ทำประจำ พบว่าสวดไปเรื่อย ๆ แล้วทำให้ใจสงบ ใจสบาย มีสติดีขึ้น สมองจดจำ และสามารถลำดับความสำคัญของสิ่งที่ต้องทำได้ดีขึ้น 

 

กรณีที่ 2 :  หากมีการทำสมาธิทุกวัน 

 การทำสมาธินั้นช่วยลดความเครียด หรือช่วยผ่อนคลายทั้งกายและใจ รวมถึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนและการการทำงาน

เมื่อเทียบกับการสวดมนต์แล้ว การนั่งสมาธิจะมีสมาธิมากกว่า เกิดความสุขภายในมากมายกันคนละแบบ เหมือนมีความสุขแบบแผ่ออกไป ในขณะที่การสวดมนต์เหมือนดึงดูดสิ่งดี ๆ เข้ามา
 

กรณีที่ 3 : เมื่อมีการสวดมนต์และต่อด้วยการนั่งสมาธิ

ช่วยทำให้ใจเย็นมากขึ้น ระงับความโกรธได้ มีสติระลึกรู้ได้ดี งานการหรือการอ่านหนังสือ การเรียนรู้ต่าง ๆ จะออกมาดี เพราะสมองมีการลำดับความคิดได้เป็นระบบ เพราะไม่ฟุ้งซ่านจากนิวรณ์ ทำให้สามารถลำดับความสำคัญงาน หรือการอ่านหนังสือได้ดี ทำเสร็จเร็วขึ้น จำแม่นขึ้น เพราะมีสติ และสมองปลอดโปร่งดี ตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ได้ดี และเร็วมาก 


ข้อดีในด้านของการได้บุญในทางศาสนาพุทธ 

บุญ ในทางศาสนาพุทธ คือ ความสุขใจ และการสั่งสมบุญคือ สั่งสมความสุขในใจ 

ยิ่งทำบุญและได้พบกับเนื้อนาบุญ ผู้ชี้สอนทางสว่างนั่นคือ การเจริญความเห็นถูก ด้วยการศึกษาเรียนรู้ จากคำสอนในพุทธศาสนา
และสอนการพิจารณา ไตรลักษณ์ เพื่อความเบื่อหน่ายคลายกำหนัด ละความชั่ว และทำความดีให้ถึงพร้อม

 

ดั่งคำกล่าวว่า ถ้าโจรมีเงิน โจรจะบริจาคทานก็ทำได้
แต่จะให้โจรทำสมาธิทำจิตให้บริสุทธิ์นั้นยาก
การทำสมาธิถึงได้บุญมากกว่า การทำทาน 

 

ธรรมะคำสั่งสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มีเครื่องมือชนิดใดสามารถมาวัดประสิทธิภาพวัดความจริงได้ เป็นเรื่องเหนือวิทยาศาสตร์ ต้องวัดผลด้วยการปฏิบัติเอง

“ สิบปากว่า สิบตาเห็น ไม่เท่าเราลงมือทำเอง” มันเป็นปัจจัตตัง คือ รู้ได้เฉพาะตน จึงพึงทดลองเอง เห็นผลเอง 

----------------------------------------

 

 

แหล่งข้อมูล
- สวดมนต์ & นั่งสมาธิให้ผลดีต่างกันอย่างไร? สืบค้นจาก https://pantip.com/topic/36026577 เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 61
- สวดมนต์กับนั่งสมาธิ อะไรได้บุญมากกว่ากันครับ? สืบค้นจาก https://pantip.com/topic/36251469 เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 61
- สืบค้นจาก http://www.borvorndhammasathan.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=429428 เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 61
- อานิสงส์การสวดมนต์ ไหว้พระ นั่งสมาธิ สืบค้นจาก https://talk.mthai.com/inbox/59888.html
- อ้างอิง http://www.spsc.chula.ac.th/backupnew/web_older/main2007/journal/15-2.pdf วารสารวิทยาศาสตร์การกีฬาและสุขภาพ ปีที่ 15 ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม-สิงหาคม 2557) Cr.ผศ.ทัศนีย์รัตน์ แววสว่างวงศ์
- ที่มา วารสารวิทยาศาสตร์การกีฬาและสุขภาพ ปีที่ 15 ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม-สิงหาคม 2557) หน้าที่ 89-99 สืบค้นจาก http://www.spsc.chula.ac.th/backupnew/web_older/main2007/journal/15-2.pdf
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • มหัทธโน
  • 4 Followers
  • Follow