Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

Child center เหมาะกับการเรียนการสอนแบบใด

Posted By Plook Teacher | 24 ส.ค. 61
132,010 Views

  Favorite

โดย นายนรรัชต์  ฝันเชียร

 

        การจัดการเรียนรู้โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (Child Center Learning ) คือรูปแบบการจัดการเรียนรู้รูปแบบหนึ่ง ที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนเกิดองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง ผ่านสื่อและวิธีการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายตามความสนใจของผู้เรียน โดยมีครูเป็นผู้สนับสนุนและอำนวยความสะดวก ซึ่งต่างจากกระบวนการจัดการเรียนรู้ทั่วไปที่เน้นให้เด็กศึกษาหาความรู้จากการสอนของครูโดยตรง แนวการจัดการเรียนรู้รูปแบบนี้เกิดขึ้นจากความเชื่อพื้นฐานที่ว่า ผู้เรียนทุกคนสามารถที่จะเรียนรู้และพัฒนาได้ตามของตัวเอง แต่แตกต่างที่ความต้องการ ความสนใจและความถนัด รวมไปถึงทักษะต่างๆ ดังนั้นการจัดการศึกษาจึงไม่ควรที่จะเป็นไปในแนวทางเดียว ควรมีความหลากหลายและตอบสนองได้กับเด็กทุกกลุ่ม

 

        ซึ่งข้อดีของการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบ Child Center นั้น คือการที่ผู้เรียนสามารถค้นคว้าหาความรู้จนนำไปสู่การเกิดองค์ความรู้ได้ด้วยตัวเอง ตามความเหมาะสมและความต้องการของเขา ซึ่งจะแตกต่างกับการจัดการศึกษาในรูปแบบทั่วไป ที่ครูเป็นผู้วางแผนการจัดการเรียนรู้ทั้งหมด แต่อย่างไรก็ดี การจัดการเรียนรู้ในรูปแบบผู้เรียนเป็นสำคัญนี้ ครูผู้สอนจะต้องเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ และเรียนรู้ทักษะความรู้ใหม่ๆอย่างสม่ำเสมอ รวมไปถึงต้องรู้จังหวะในการสอดแทรกสิ่งที่ต้องการสอนเข้าไปในการเรียนรู้ของพวกเขา เพราะการกำกับดูแลของครูในการจัดการเรียนรู้ตามแบบผู้เรียนเป็นสำคัญ ถือเป็นตัวแปรหนึ่งในการส่งเสริมให้การจัดการศึกษารูปแบบนี้มีประสิทธิภาพ

 

ภาพ : shutterstock.com

 

        ถ้าเป็นบุคคลที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการการศึกษาของไทย จะเห็นได้ว่ารูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญนั้น  เป็นแนวการจัดการเรียนรู้ที่ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงในการส่งเสริมการจัดการศึกษา มาตั้งแต่ยุคเริ่มต้นปฏิรูปการศึกษาใหม่ๆ  โดยได้มีการระบุไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ในส่วนของแนวจัดการการศึกษาไว้ดังนี้

 

“มาตราที่ 22 การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ”

 

        ซึ่งในปัจจุบัน จะเห็นว่า ประเทศไทยเราได้ให้ความสำคัญกับการจัดการการศึกษาในรูปแบบนี้ค่อนข้างมาก แต่อย่างไรก็ดี ถึงแม้เราจะนำแนวการจัดการเรียนรู้แบบนี้มาใช้นานแล้ว แต่ผลสัมฤทธิ์ที่ออกออกมากลับไม่ดีเท่าที่ควร ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการที่ครูผู้สอนมีความเข้าใจในการจัดการเรียนรู้แบบผู้เรียนเป็นสำคัญตามช่วงชั้นต่างๆที่ไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถสนับสนุนให้ผู้เรียนเกิดองค์ความรู้ในการเรียนรู้ได้ตามแนวทางนี้ได้ อีกทั้งการศึกษาในระบบของไทยไม่ตอบโจทย์ให้เกิดการเรียนรู้แบบผู้เรียนเป็นสำคัญเท่าที่ควร เช่น มีวิชาที่ต้องเรียนต่อสัปดาห์มากเกินไป มีนักเรียนต่อห้องมากเกินไป มีสื่อไม่เพียงพอ รวมไปถึงการจัดสรรเวลาเรียนที่ไม่สอดคล้องกับแนวการเรียนรู้ สิ่งเหล่านี้จึงข้อจำกัดที่ทำให้แนวการเรียนรู้แบบผู้เรียนเป็นสำคัญนั้น ไม่ประสบความสำเร็จในวงกว้าง  

 

        ความจริง การจัดการเรียนรู้แบบผู้เรียนเป็นสำคัญนี้ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับการศึกษาในทุกระดับชั้นไม่ว่าจะเป็น การศึกษาปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา ระดับอุดมศึกษา ตลอดไปจนถึงการศึกษาทางเลือกต่างๆ แต่การจะดำเนินแนวทางให้มีประสิทธิภาพนั้น จะต้องคำนึงถึงคุณสมบัติของแนวการจัดการเรียนรู้รูปแบบนี้ ซึ่งคุณสมบัติเหล่านั้น ได้แก่

 

        1. การจัดการเรียนรู้แบบผู้เรียนเป็นสำคัญนั้น ผู้เรียนจะต้องมีบทบาทรับผิดชอบต่อการเรียนรู้ของตน ตั้งแต่เริ่มต้นจนไปถึงการประเมินผลการเรียนรู้ด้วยตนเอง

        2. สามสิ่งสำคัญที่ครูต้องนำมาพิจารณาในการออกแบบการเรียนรู้คือ เนื้อหาวิชา ประสบการณ์  และความต้องการของผู้เรียน

        3. ครูต้องเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอน

        4. การปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันของผู้เรียน ถือเป็นช่วงเวลาแห่งการพัฒนาทักษะทางสังคมและทำให้ผู้เรียนเกิดความเจริญงอกงามในการเรียนรู้ เกิดองค์ความรู้ใหม่และเรียนรู้ความคิดเห็นของผู้อื่น

        5. ครูต้องทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก จัดหาสื่อและวัสดุ คอยสนับสนุนและแนะนำแนวทางที่เหมาะสม รวมไปถึงการหาจังหวะสอดแทรกเนื้อหาที่ต้องการสื่อลงไปในกิจกรรมของเด็กอย่างชาญฉลาด

        6. การมีสื่อเทคโนโลยีที่หลากหลายในห้องเรียน จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถหยิบใช้เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตามความสนใจของตัวเองได้

        7. การจัดการเรียนรู้แบบผู้เรียนเป็นสำคัญนั้น จะต้องส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาประสบการณ์การเรียนรู้ของผู้เรียนหลายๆ ด้านไปพร้อมกันได้

 

ภาพ : shutterstock.com

 

และจากแนวทางการจัดการเรียนรู้แบบผู้เรียนเป็นสำคัญนี้เอง นักวิชาการศึกษาหลายท่านก็ได้นำไปพัฒนาเป็นนวัตกรรมการสอนในรูปแบบต่างๆ ซึ่งสองรูปแบบที่ยกมานี้ เป็นตัวอย่างของการนำแนวคิดการเรียนรู้แบบผู้เรียนเป็นสำคัญไปประยุกต์ใช้ได้น่าสนใจ

 

        1. การสอนแบบโครงการ (Project Approach) ซึ่งเป็นการจัดการเรียนการสอนรูปแบบหนึ่งที่ให้ผู้เรียนแสวงหาคำตอบจากการเรียนเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพื่อสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง โดยที่ผู้เรียนและครูร่วมกันกำหนดเรื่องที่ต้องการเรียนรู้ ดำเนินการแสวงหาความรู้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์
        2. การสอนแบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง : CIPPA Model ซึ่งเป็นนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ที่ รองศาสตรจารย์ทิศนา แขมมณี อาจารย์จากคณะครุศาสตร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พัฒนาขึ้นจากการรวบรวมและประสานสัมพันธ์ของรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ ได้แก่ (1) แนวคิดการสร้างความรู้ (2) แนวคิดเกี่ยวกับกระบวนการกลุ่มและการเรียนรู้แบบร่วมมือ (3) แนวคิดเกี่ยวกับความพร้อมในการเรียนรู้ (4) แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้กระบวนการ และ (5) แนวคิดเกี่ยวกับการถ่ายโอนการเรียนรู้ จนทำให้เกิดเป็นรูปแบบการจัดการเรียนการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางในลักษณะใหม่ที่เรียกว่า ซิปปา โมเดล

 

ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า การจัดการเรียนรู้แบบผู้เรียนเป็นสำคัญนั้น แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสามารถจัดได้เต็มรูปแบบ แต่อย่างไรก็ดี ทุกโรงเรียนก็พยายามจะพัฒนาการศึกษาโดยใช้แนวทางนี้มาโดยตลอด ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ประสบความสำเร็จอย่างชัดเจน แต่ก็ถือว่าช่วยพลิกโฉมการศึกษาไทยให้ตระหนักผู้เรียนมากขึ้นจนมาถึงปัจจุบัน และพร้อมจะพัฒนาต่อไปในอนาคต

 

เอกสารอ้างอิง

https://childcenter-edu.blogspot.com/2009/11/blog-post.html

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow