Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

สมบัติของน้ำ

Posted By sanomaru | 25 มิ.ย. 61
124,630 Views

  Favorite

น้ำเป็นสารประกอบที่เรารู้จักกันดี เพราะมันอยู่ทั้งในร่างกายของเราและรอบตัวเรา โดยร่างกายของเราประกอบไปด้วยน้ำถึงประมาณ 65% ส่วนโลกของเราก็ประกอบไปด้วยน้ำถึงประมาณ 70% ขณะที่รอบตัวเราไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือในบรรยากาศก็ล้วนมีน้ำเป็นองค์ประกอบอยู่

 

H2O คือ สูตรโมเลกุลของน้ำที่ใช้กันทั่วไปในทางเคมี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าน้ำ 1 โมเลกุล ประกอบไปด้วยไฮโดรเจน 2 อะตอม และออกซิเจน 1 อะตอม ในชีวิตประจำวันของเราสามารถพบเห็นน้ำได้ทั้งสามสถานะ คือ ของแข็ง ของเหลว และก๊าซ

 

 

ชื่ออื่น ๆ ของน้ำ

นอกจากคำว่า "น้ำ" ที่เรารู้จักกันดีแล้ว น้ำยังมีชื่ออื่น ๆ อีกหลากหลาย เช่น
- ไดไฮโดรเจน มอนอกไซด์ (Dihydrogen monoxide)
- ไฮโดรเจนไฮดรอกไซด์ (Hydrogen hydroxide)
- ไดไฮโดรเจนออกไซด์ (Dihydrogen oxide)
- ไฮโดรเจนมอนอกไซด์ (Hydrogen monoxide)
- ไฮดรอล (Hydrol)

 

 

สมบัติของน้ำ

- โดยทั่วไปน้ำบริสุทธิ์จะไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และไม่มีรสชาติ
- โมเลกุลของน้ำสามารถดูดซับรังสีอินฟราเรด อัลตราไวโอเลต และคลื่นรังสีไมโครเวฟได้
- มวลโมเลกุลของน้ำอยู่ที่ 18.01528 กรัมต่อโมล (g/mol)
- น้ำมีจุดเยือกแข็งอยู่ที่ 0 องศาเซลเซียส และจุดเดือดอยู่ที่ 100 องศาเซลเซียส ณ อุณหภูมิห้อง
- ความหนาแน่นของน้ำขณะที่อยู่ในสถานะของเหลว คือ 1,000 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (kg/m^3) ซึ่งเป็นค่าความหนาแน่นที่สูงสุดของน้ำโดยอยู่ ณ อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส ส่วนในสถานะของแข็งจะมีความหนาแน่น 917 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และเนื่องจากน้ำแข็งมีความหนาแน่นน้อยกว่าน้ำ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมน้ำแข็งจึงลอยน้ำได้นั่นเอง
- มีดัชนีหักเหของแสงอยู่ที่ 1.3330
- น้ำเป็นแอมโฟเทอริก (Amphoteric) หรือมีสภาพเป็นได้ทั้งกรดและเบสหรือเป็นกลาง โดยมีค่า pH อยู่ที่ 7
- มีโครงสร้างผลึกเป็นรูปหกเหลี่ยม
- ไฮโดรเจน 2 อะตอม และออกซิเจน 1 อะตอม ใน 1 โมเลกุลของน้ำ เชื่อมต่อกันด้วยพันธะโควาเลนต์ ซึ่งทำมุม 105 องศาต่อกัน และแต่ละโมเลกุลของน้ำก็เชื่อมต่อกันด้วยพันธะไฮโดรเจน

ภาพ : Shutterstock

 

- เป็นสารประกอบที่มีขั้ว จึงสามารถละลายสารละลายที่มีขั้วและไอออนิก รวมถึงสารละลายกรด แอลกอฮอล์ และเกลือได้ดี แต่จะไม่สามารถละลายหรือละลายได้น้อยเมื่อผสมกับสารละลายไม่มีขั้วหรือสารประกอบอินทรีย์ เช่น แวกซ์
- เป็นตัวทำละลายที่ดีหรือเรียกได้ว่าเป็นตัวทำละลายสากล
- น้ำแสดงให้เห็นถึงปรากฏการณ์แคพิลลารีได้ เพราะมันมีแรงเชื่อมแน่น (Cohesion) และแรงยึดติด (Adhesion) ที่แข็งแรง
- น้ำมีความร้อนจำเพาะ 4.184 จูล/กรัม/องศาเซลเซียส หมายถึง การทำให้น้ำ 1 กรัม มีอุณหภูมิสูงขึ้น 1 องศาเซลเซียส จะต้องใช้พลังงาน 4.184 จูล
- น้ำมีความร้อนแฝงของการกลายเป็นไอ 2,257 กิโลจูลต่อกิโลกรัม โดยความร้อนแฝงของการกลายเป็นไอ หมายถึง ปริมาณพลังงานความร้อนที่ใช้ในการเปลี่ยนสถานะของน้ำจากของเหลวให้กลายเป็นไอ โดยอุณหภูมิของน้ำยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง
- น้ำนับเป็นสารประกอบที่มีความร้อนแฝงของการกลายเป็นไอและความร้อนจำเพาะสูง ซึ่งสมบัติข้อนี้ทำให้น้ำมีความทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิที่รุนแรง และเป็นสิ่งสำคัญต่อการอยู่รอดของสายพันธุ์ต่าง ๆ ต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • sanomaru
  • 17 Followers
  • Follow