Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เหตุใดจึงมีการสวดพระอภิธรรมในงานศพ

Posted By มหัทธโน | 22 ธ.ค. 60
40,956 Views

  Favorite

การสวดพระอภิธรรมในงานศพ
โดย ดร. นะโม
 

๑. พระอภิธรรม คืออะไร?

พระอภิธรรม แปลว่า ธรรมอันประเสริฐ ธรรมอันยิ่ง ธรรมที่อยู่แท้จริงปราศจากสมมุติ เนื้อความในพระอภิธรรมเกือบทั้งหมด จะกล่าวถึงปรมัตถธรรมล้วน ๆ หมายถึงธรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง หรือมีความสำคัญมาก พระอภิธรรมเป็นปรมัตถธรรม คือธรรมขั้นสูง
 

พระอภิธรรม เรียกให้เต็มว่า พระอภิธรรมปิฎก เป็น  ๑ ใน ๓ แห่งพระไตรปิฎก ได้แก่ พระวินัยปิฎก พระสูตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก

 

๒. พระอภิธรรม ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง?

พระอภิธรรมปิฎกมีอยู่ทั้งสิ้น ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แบ่งออกเป็น ๗ คัมภีร์ เรียกว่า พระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ ที่ใช้สวดในงานศพ ได้แก่
 

๑. คัมภีร์ธัมมสังคณี ว่าด้วยธรรมะที่ประมวลไว้เป็นหมวดเป็นกลุ่ม เรียกว่า กัณฑ์ มี ๔ กัณฑ์ ที่ใช้สวดในงานศพ คือ มาติกา (กุสลา ธัมมา อกุสลา ธัมมา อัพยากตา ธัมมา ฯ)
 

๒. คัมภีร์วิภังค์ แสดงการจำแนกปรมัตถธรรมออกเป็นข้อ ๆ  แบ่งออกเป็น ๑๘ วิภังค์ เช่น จำแนกขันธ์ หมายถึง ขันธ์ ๕ อันประกอบด้วย รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ เรียกว่า ขันธวิภังค์
 

๓. คัมภีร์ธาตุกถา แสดงการจัดหมวดหมู่ของปรมัตถธรรม โดยสงเคราะห์ด้วย ธาตุ (ธรรมชาติที่ทรงไว้ซึ่งสภาพของตน)
 

๔. คัมภีร์ปุคคลบัญญัติ ว่าด้วยบัญญัติ ๖ ประการและแสดงรายละเอียดเฉพาะบัญญัติที่เกี่ยวกับบุคคล
 

๕. คัมภีร์กถาวัตถุ ว่าด้วยคำถามคำตอบประมาณ ๒๑๙ หัวข้อ ที่ถือเป็นหลักในการตัดสินพระธรรมวินัย
 

๖. คัมภีร์ยมก ในคัมภีร์นี้จะยกหัวข้อปรมัตถธรรมขึ้นวินิจฉัยด้วยวิธีถามตอบ โดยตั้งคำถามย้อนกันเป็นคู่ ๆ
 

๗. คัมภีร์มหาปัฏฐาน  แสดงเหตุปัจจัยและแสดงความสัมพันธ์อันเป็นเหตุ เป็นผลที่อิงอาศัยซึ่งกันและกันแห่งปรมัตถธรรมทั้งปวงโดยพิสดาร (เหตุ ปัจจโย ฯ ที่ใช้สวดต่อจาก กุสลา ธัมมา ฯ ในงานศพ)
 

เรียกโดยย่อว่า คือ สัง  วิ  ธา  ปุ  กะ  ยะ  ปะ  (คาถาหัวใจพระอภิธรรม)

 

๓. ใจความสำคัญของพระอภิธรรม กล่าวถึงเรื่องอะไรบ้าง?

พระอภิธรรม  ว่าด้วยเรื่องของปรมัตถธรรม มี ๔ ประการ อันได้แก่ 
๑. จิต  
๒. เจตสิก  
๓. รูป และ 
๔. นิพพาน  

เป็นสภาวธรรม ล้วน ๆ  ทางพระอภิธรรมถือว่าบุคคลนั้นไม่มี มีแต่สิ่งซึ่งเป็นที่ประชุมกันของ จิต เจตสิก รูป เท่านั้น ส่วนที่เรียกชื่อว่า  นาย ก. นาย ข. นั้นเรียกโดยสมมุติโวหารเท่านั้น  

สรุปแล้ว พระอภิธรรมก็คือ ธรรมะหมวดที่ ๓  ในพระไตรปิฎกที่สอนให้รู้จักธรรมชาติอันแท้จริง ที่มีอยู่ในตัวเราและสัตว์ทั้งหลาย อันได้แก่ จิต เจตสิก รูป และรู้จักธรรมชาติอันแท้จริงที่มีอยู่ในตัวเราและสัตว์ทั้งหลายอันได้แก่ จิต เจตสิก รูป และรู้จักพระนิพพาน ซึ่งเป็นจุดหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา
 

ธรรมชาติทั้ง ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน นี้เรียกว่า  ปรมัตถธรรม หากสรูปลงได้  ๒ ประการ คือ ๑. รูป ๒. นาม (จิต  เจตสิก  นิพพาน) หรือ ร่างกาย กับ จิตใจ  นั่นเอง

 

๔. เหตุใดจึงมีการสวดพระอภิธรรมในงานศพ?

 ในครั้งพุทธกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อครั้งเสด็จไปโปรดพุทธมารดา  ได้ทรงแสดงพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ เพื่อตอบแทนพระคุณของมารดา ที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์  (พระพุทธมารดาจุติที่สวรรค์ชั้นดุสิต เป็นสวรรค์ชั้นที่สูงกว่าดาวดึงส์)  เป็นสวรรค์ชั้นกลาง ๆ  เทวดาชั้นต่ำก็สามารถขั้นไปฟังธรรมได้  ชั้นที่สูงกว่าก็ลงมาฟังธรรมได้ ทำให้เหล่าเทวดาทั้งหลายได้บรรลุธรรมพร้อมกัน มีพระโสดาบันเป็นเบื้องต่ำ  และอนาคามีเป็นเบื้องสูง ทรงใช้เวลาในการแสดงธรรม ๓ เดือน (๑ พรรษา)


ปัจจุบันพระสงฆ์ใช้ธรรมะหมวดอภิธรรมเป็นบทสวดเนื่องในการสวดอภิธรรมศพ  เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นสัจธรรมของชีวิตว่า โดยปรมัตถธรรมแท้จริงแล้ว  ชีวิตประกอบด้วยธรรมชาติ ๒ ส่วน คือ ส่วนที่เป็นรูป คือ ร่างกาย อันประกอบด้วยธรรมชาติ ๔ อย่าง คือ ดิน  น้ำ ลม  ไฟ  (ธาตุ ๔)  กับส่วนที่เป็นนาม คือ จิต เจตสิก  (ขันธ์ ๕ : เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)   

ถ้าเห็นสัจธรรมของชีวิตตามธรรมชาติด้วยปัญญาญาณ ย่อมบรรลุถึงพระนิพพาน การดับกิเลสคือการดับทุกข์ได้  ดังนั้น การสวดพระอภิธรรมในงานศพ ย่อมมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เห็นความจริงของชีวิต ตามธรรมชาติหรือธรรมดาดังกล่าวนั้น

 

๕. เหตุใดจึงนิยมนิมนต์พระ ๔ รูป เท่านั้น  ในการสวดพระอภิธรรมในงานศพ?

เนื่องจากพระอภิธรรม โดยสรุป  กล่าวถึงหลักสำคัญ ๔ ประการ คือ ๑. จิต  ๒. เจตสิก  ๓. รูป  และ  ๔. นิพพาน  ดังนั้น จึงนิยมนิมนต์พระ  ๔  รูป  เท่าจำนวนหลักธรรมดังกล่าว  และพระจำนวน ๔  รูป  ก็ครบองค์สงฆ์พอดี
 

ส่วนทำนองในการสวดพระอภิธรรม ก็มีความแตกต่างกันไป  เช่น ทำนองหลวง  ทำนองของภูมิภาคท้องถิ่น  รวมทั้งบทสวดภาษาบาลี และการสวดแปลเป็นภาษาไทย  ก็ขึ้นอยู่กับขนบธรรมเนียมประเพณีของแต่ละท้องถิ่นหรือภูมิภาคด้วยเช่นกัน

 

(๑๘  มิถุนายน ๕๖)

อ้างอิง

พระธรรมปิฎก. พระไตรปิฎก สิ่งที่ชาวพุทธควรรู้,    ๒๕๔๘  หน้า   ๔๔ – ๔๘.

พระธรรมปิฎก.   พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม,     ๒๕๔๖  หน้า   ๗๔.

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • มหัทธโน
  • 4 Followers
  • Follow