แม้ว่าจุดเริ่มต้นจะมุ่งหวังเพื่อผลทางการแพทย์ แต่ฤทธิ์ที่ได้จากการใช้มันยั่วยวนเกินกว่าจะทนได้ มันจึงกลายเป็นสารเสพติดที่ต้องได้รับการควบคุม และกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายในที่สุด คุณอาจจะเคยได้ยินหรือเห็นคำเตือนข้างฉลากของกระปุกกาว หลอดกาว หรือถังกาว ที่ใช้ในงานประดิษฐ์หรืองานก่อสร้าง ตลอดจนสีชนิดต่าง ๆ ว่า ห้ามสูดดม อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อร่างกายถาวรได้ เหมือนกับกรณีที่เกิดขึ้นกับคนงานที่ปูกระเบื้องสระว่ายน้ำในยุค 90 ซึ่งมีคนพบว่าพวกเขานอนหมดสติอยู่ที่ก้นสระน้ำ หลังจากถูกนำส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลแล้วพบว่า เมื่อเขาฟื้นขึ้นมาเขาก็จำไม่ได้เลยว่าเกิดอะไรขึ้น และไปทำอะไรมา หลังจากสืบสวนถามไถ่ไปสักพักค่อยรู้ว่าพวกเขาปูกระเบื้องที่พื้นสระน้ำ และคงสูดดมกลิ่นกาวเป็นเวลานานโดยไม่รู้ตัว
การสูดดมกลิ่นกาวหรือสีเข้าไปอาจจะทำให้คุณรู้สึกดีในระยะสั้น แต่ทำให้เกิดผลกระทบในระยะยาว อาการชัก หายใจติดขัด หมดสติ หรือเสียชีวิตได้ สารประกอบที่อยู่ในสีและกาวซึ่งทำให้เกิดผลกระทบนี้คือ โทลูอีน (Toluene) หรือเมทิลเบนซิน หรือฟีนิลมีเทน เป็นสารตั้งต้นทางอุตสาหกรรมและตัวทำละลายที่มักใช้ในสีทาบ้าน สีเพื่องานอุตสาหกรรม และกาวต่าง ๆ รวมถึงเป็นสารตั้งต้นของสารประกอบอะโรมาติกทางอุตสาหกรรม มันเป็นสารระเหยที่ส่งผลต่อร่างกายในกรณีนี้ แต่ส่งผลกระทบน้อยกว่าเบนซีนที่ใช้เป็นตัวทำละลายและสารตั้งต้นเช่นเดียวกัน
ความน่ากลัวของสารโทลูอีนไม่มีผลต่อร่างกายเราเท่านั้น มันยังสลายตัวได้ยากในธรรมชาติ โทลูอีนสามารถระเหยและลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศได้นานถึง 76 ปีก่อนจะสลายไป การทำงานของสารโทลูอีนในระยะแรกเมื่อเข้าสู่ร่างกายคือ การกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารโดพามีน (Dopamine) ออกมามากขึ้น และนั่นทำให้รู้สึกพึงพอใจ มีความสุข แต่ก็ตามมาด้วยอาการวิงเวียน กังวล สับสน แน่นอนว่ามันเป็นสารเสพติด คุณต้องได้รับมันซ้ำเมื่อมันเริ่มจะหมดฤทธิ์ เพื่อให้รู้สึกพึงใจและมีความสุขต่อไป แต่การได้รับในปริมาณที่มากขึ้นก็จะทำให้อาการรุนแรงมากขึ้น
แม้ว่าคุณจะได้รับสารโทลูอีนเข้าสู่ร่างกายครั้งละเพียงเล็กน้อย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่ทำอันตรายต่อร่างกาย เพราะสารนี้สามารถสะสมอยู่ในร่างกายได้ นอกจากระบบทางเดินหายใจ หลอดเลือดฝอยจะถูกทำลายแล้ว โทลูอีนยังทำให้เซลล์ประสาทเสียหาย ถึงอย่างนั้นมันก็ยังได้รับความนิยมในกลุ่มเยาวชน เนื่องจากราคาของมันถูกและสามารถเข้าถึงได้ง่าย
พิษจากการดมกาวหรือการสูดดมโทลูอีนทำให้หน่วยงานของรัฐออกมาตรการจำกัดปริมาณการใช้สารในอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงข้อกำหนดถึงความรุนแรงและอันตรายอันอาจจะเกิดจากการได้รับสารเข้าไปในปริมาณต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น หากได้รับสารโทลูอีนเข้าไปในร่างกายในปริมาณ 200 ppm (parts-per-million) ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ แต่หากมากกว่า 500 ppm ถือว่าเป็นอันตรายต่อชีวิตและต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน และเนื่องจากคนเราแต่ละคนมีความแตกต่างกัน และไวต่อสารเคมีแตกต่างกัน เราจึงได้รับผลกระทบจากสารระเหยหรือสารเคมีในระดับที่แตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่างเช่น บางคนได้กลิ่นเพียงเล็กน้อยอาจจะเวียนหัว คลื่นไส้ หรือแม้แต่รู้สึกแสบตา แสบผิว แสบจมูก บางคนอาจจะเกิดอาการลมชักเนื่องจากสูดดมกลิ่นของสารระเหยเหล่านี้ในระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม แม้จะรู้ว่ามันมีอันตรายต่อร่างกายไม่ว่าจะในระยะสั้นหรือระยะยาว แต่โทลูอีนก็ยังเป็นสารที่นิยมใช้ในกระบวนการอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ดังนั้น เราอาจจะหลีกหนีการใช้งานของสารเคมีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกาว สี หรือแม้แต่สารละลายเหล่านี้ได้ยาก แต่เราก็สามารถป้องกันตัวเราเองได้ หากจำเป็นต้องเข้าไปสัมผัสหรือทำงานกับสารเหล่านี้ ก็ควรใช้หน้ากากเพื่อป้องกันการสูดดมและได้รับเอาสารโทลูอีนเข้าไปเกินมาตรฐาน