เด็ก ๆ รู้จักและเคยรับประทานอาหารหรือไม่ อาหารเหล่านั้นใครเป็นผู้ผลิตและผลิตมาจากอะไร ผู้ผลิตอาหารส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรมีอาชีพในการทำสวน ทำไร่ ทำนา และเลี้ยงสัตว์ มีผลิตผลการเกษตรหลายชนิดที่ผลิตแล้วรับประทานไม่หมดจึงจำเป็นต้องถนอมรักษาเก็บไว้รับประทานให้ได้นานที่สุด เช่น ปลาช่อนแล่แล้วตากแดดเป็นปลาช่อนแห้ง หมู เนื้อ แล่เป็นชิ้นบาง ๆ หมักเกลือแล้วตากแดดให้แห้งหรือนำไปรมควันที่เกิดจากการเผาชานอ้อยหรือกากมะพร้าว ไข่เป็ดนำไปทำเป็นไข่เค็ม ไข่เยี่ยวม้า ผักสด เช่น ผักกาด ผักเสี้ยน แตงกวา หอม กระเทียม ขิงสด นำไปดองในน้ำเกลือที่ผสมน้ำส้มเล็กน้อยจะเติมน้ำตาลลงไปด้วยก็ได้
ผลไม้บางชนิด เช่น มะม่วง ฝรั่ง มะนาว นำไปดองในน้ำเกลือเป็นผลไม้ดอง ส่วนทุเรียน กล้วย ขนุน สับปะรด กวนกับน้ำตาลทำเป็นผลไม้กวน ผลบางชนิดนำไปแช่อิ่มในน้ำเชื่อมที่เข้มข้น เช่น มะละกอ ฟัก ผลบางชนิดนำไปเชื่อมในน้ำตาลหรือนำไปทอดแล้วฉาบน้ำตาลที่เข้มข้น เช่น กล้วย เผือก มัน ผลบางชนิดนำไปคั่วกับทรายหรือทอดในน้ำมัน เช่น เกาลัด มะม่วงหิมพานต์ และถั่วลิสง เป็นต้น อาหารที่เด็กควรรับประทานถ้าเป็นอาหารจำพวกเนื้อหรือผักบางชนิดควรทำให้สุกเสียก่อนส่วนผลไม้นั้นควรรับประทานผลไม้สด
อาหารที่แปรรูปแล้ว เช่น ไส้กรอก ข้าวเกรียบกุ้ง-ปลา ผลไม้กวน นมถั่วเหลือง นมเปรี้ยว ไอศกรีมนั้นเด็กรับประทานได้โดยไม่มีอันตราย สิ่งที่ควรระวังและไม่ควรรับประทานก็ คือ อาหารและขนมที่ใส่สีสวยงาม เช่น น้ำหวาน ลูกกวาด ขนมชั้น วุ้น เยลลี่ และอื่น ๆ เพราะถ้าผู้ผลิตไม่ใช้สีผสมอาหารจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้
เป็นวิธีการที่ง่าย ๆ และปฏิบัติต่อ ๆ กันมา ผลิตผลบางอย่างจะเก็บไว้ในลักษณะสดที่ทำให้อยู่ได้นานเท่าที่จะเป็นไปได้ บางอย่างจะแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารชนิดใหม่ที่สามารถเก็บไว้รับประทานได้นาน
วิธีถนอมอาหารที่ใช้กันในสมัยก่อน มีหลายวิธีดังนี้
๑. ผึ่งลมให้อากาศถ่ายเทสะดวก เช่น หอม กระเทียม จะเก็บไว้ได้นานโดยไม่เน่าเสีย
๒. เนื้อสัตว์ เช่น เนื้อวัว หมู ปลา แล่ให้บางนำไปคลุกเกลือแล้วตากแดดให้แห้งถ้าเป็นกุ้งนำไปต้มหรือนึ่งเสียก่อนแล้วจึงตากแห้ง
๓. นำไปรมควันที่ได้จากการเผาฟาง ชานอ้อย หรือกากมะพร้าว เช่น ไก่ ไส้กรอก เป็นต้น
๔. เชื่อมในน้ำตาลที่เข้มข้นหรือกวนให้เข้ากับน้ำตาลและกะทิทำเป็นผลไม้กวน
๕. หมักดองในน้ำเกลือน้ำส้มผสมน้ำตาลเล็กน้อย
๖. แช่ในน้ำมัน เช่น ปลาทู ปลาอินทรี
๗. คั่วกับทราย เช่น เมล็ดเกาลัด ถั่วลิสงที่ยังไม่ได้กะเทาะเปลือก
๑. เก็บได้นานไว้สำหรับรับประทานนอกฤดูกาล
๒. ส่งเป็นสินค้าออกไปขายต่างประเทศทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นสินค้าที่จะส่งไปขายต่างประเทศนั้นจะต้องมีคุณภาพดีและมีปริมาณมากพอสมควร ภาชนะที่บรรจุจะต้องเหมาะสมไม่ทำให้ผลิตผลเสียหายง่าย
๓. การแปรรูปอาหารจะได้ผลิตภัณฑ์ที่มีรูปรสต่าง ๆ สะดวกในการรับประทานได้ทันที เช่น ซุปผงหรือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเมื่อนำไปต้มกับน้ำจะรับประทานได้ทันทีมีรสและกลิ่นเป็นที่ถูกใจผู้บริโภค
๔. สามารถเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการลงไปในผลิตภัณฑ์แปรรูปชนิดใหม่ได้ตามต้องการ วิธีการถนอมอาหารในปัจจุบันแตกต่างจากในสมัยก่อนมากเนื่องจากปัจจุบันมีเครื่องมือที่ดีและมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย
คือ
๑. การใช้ความร้อนสูงสำหรับผลิตภัณฑ์ที่บรรจุในกระป๋องหรือขวดแก้ว
๒. การใช้ความเย็นจัดโดยบรรจุผลิตภัณฑ์ในถุง กล่อง พลาสติก หรือกระดาษ แล้วนำไปแช่แข็ง
๓. การทำให้แห้งด้วยเครื่องมืออบแห้งโดยเฉพาะจะได้ผลิตภัณฑ์อาหารอบแห้งชนิดต่าง ๆ
๔. การหมักดองโดยใช้จุลินทรีย์ช่วย
๔. การใช้รังสีฉายผ่านอาหารในระดับที่มีความปลอดภัยในการบริโภคและรังสีนั้นไม่ทำให้คุณค่าทางโภชนาการเปลี่ยนแปลงไป
สำหรับรายละเอียดในการถนอมอาหารด้วยวิธีการทันสมัยในปัจจุบัน ดังได้กล่าวมาแล้วรวมทั้งการแปรรูปอาหารต่าง ๆ ซึ่งมีกรรมวิธีหลากหลายนั้นจะได้กล่าวให้ละเอียดต่อไป