Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เจาะลึกเส้นทาง “โครงการโอลิมปิกวิชาการ”

Posted By Plook TCAS | 13 ก.ค. 60
47,284 Views

  Favorite

          โอลิมปิกวิชาการ ถือเป็นโครงการด้านวิชาการที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักเป็นอย่างมาก ที่รวบรวมเด็กไทยที่มีความฉลาดจากหลายสาขาวิชาเอาไว้มากมาย และเป็นโครงการที่พัฒนาและเพิ่มทักษะทางวิชาการให้กับเยาวชนไทย ซึ่งจะเห็นได้จากผลงานที่เด็กไทยสร้างชื่อเสียงกวาดรางวัลระดับโลกมากมาย ซึ่งเป็นเครื่องการันตีความสามารถว่าเยาวชนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก
 

          โอลิมปิกวิชาการ คือโครงการของกลุ่มการแข่งขันระดับชาติในสาขาต่าง ๆ ทางวิทยาศาสตร์ ในแต่ละปีจะคัดเลือกผู้เข้าร่วมแข่งขันจากนักเรียนมัธยมปลายที่ร่วมโครงการ มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษาในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) ที่ได้ผ่านกระบวนการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระดับประเทศ ในสาขาวิชาคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี คอมพิวเตอร์และชีววิทยา และดาราศาสตร์ โดยคัดเลือกสุดยอดเด็กเก่งที่สุดในสาขาวิชาต่าง ๆ มาแข่งขันกันเพื่อคัดผู้มีความรู้เข้าสู่โครงการ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) มาเตรียมตัวฟิตความพร้อมเพื่อทำการแข่งขันฟาดฟันสติปัญญากันกับเด็กเก่งจากทั่วโลก ในการแข่งขันโอลิมปิกระหว่างประเทศ แน่นอนว่าประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขันและคว้ารางวัลกลับมาเสมอ และด้วยความสามารถเหล่านี้ทำให้มหาวิทยาลัยในไทยหลายที่มีความต้องการปั้นนักศึกษาคุณภาพ จึงทำให้มีการเปิดรับพร้อมมอบสิทธิพิเศษทางการศึกษารวมถึงทุนการศึกษา ผ่านโครงการโอลิมปิกวิชาการในการเข้าศึกษาระดับมหาวิทยาลัยมากมาย ที่ได้รับความสนใจจากเด็กไทยทั่วทั้งประเทศ
 

การก้าวเข้ามาเป็นเด็กโอลิมปิกวิชาการ

          เส้นทางการจะเป็นเด็กโอลิมปิกวิชาการนั้น แน่นอนว่าพื้นฐานสำคัญต้องเริ่มจากการเรียนที่ดี เพื่อปูทางสำหรับการเริ่มต้นในการเข้าร่วมค่าย สอวน. เพื่อร่วมเป็นเด็กในโครงการ โดย สอวน. จะมีหลายศูนย์อยู่ทั่วประเทศ สามารถเลือกที่จะเข้า สอวน. ศูนย์ไหนก็ได้โดยขึ้นอยู่กับพื้นที่ของโรงเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ เมื่อสมัครเข้าโครงการ ถ้าอยากเข้าค่าย สอวน. ก็จะต้องสอบคัดเลือกเพื่อเข้าค่าย สอวน. ค่าย 1 เมื่อสอบผ่านการคัดเลือกแล้วก็สามารถเข้าร่วมค่าย สอวน. ค่าย 1 ได้ และจะมีการจัดสอบคัดเลือกอีกเพื่อเข้าร่วมค่าย 2
          เมื่อผ่านการเข้าร่วมเรียนรู้จากทั้ง 2 ค่ายของ สอวน. แล้ว หลังจากนั้นก็สามารถสอบแข่งขันกับเด็กที่ผ่านการเข้าค่ายเพื่อคัดเลือกเป็นตัวแทนจากศูนย์ ไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการในระดับชาติ เมื่อผ่านการคัดเลือกแล้วจะต้องสอบแข่งขันในระดับชาติ แต่ละศูนย์จะเวียนกันเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน และมีรางวัลเหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง ซึ่งผู้ที่เป็นหนึ่งในการสอบแข่งขันจะมีสิทธิ์เข้าค่าย สสวท. เมื่อเข้าร่วมโครงการแล้ว ค่าย สสวท. จะมีการจัดสอบภาคทฤษฎีทั้งหมด 2 ครั้ง ผู้ที่ได้คะแนนสูง ๆ จะมีสิทธิ์ในการสอบภาคปฏิบัติ เพื่อคัดเลือกผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดในแต่ละสาขาวิชาไปเป็นตัวแทนประเทศไทยในการแข่งขันโอลิมปิกระหว่างประเทศ


เหตุผลที่เด็กอยากเข้าร่วมแข่งโอลิมปิกวิชาการ

          เด็กส่วนใหญ่ที่เลือกเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการนั้น ล้วนมาจากความต้องการในการเดินตามความฝันที่ตนเองหวังไว้ และตามมาด้วยเรื่องสิทธิพิเศษต่าง ๆ ที่จะได้ตามมานั้นเอง ซึ่งนอกจากความพิเศษที่ตามมาแล้วยังได้ทั้งความรู้และฝึกทักษะทางวิชาการที่มีนอกเหนือจากการเรียนในชั้นเรียนจากการร่วมค่ายต่าง ๆ อีกด้วย โดยเด็กที่เข้าร่วมโครงการมองเห็นถึงอนาคตที่จะเกิดขึ้น ทั้งมีความต้องการจะได้ทุนไปเรียนต่อต่างประเทศ อยากได้โควตาเพื่อเข้าศึกษาในคณะในฝัน รวมทั้งการเข้าศึกษาต่อในโครงการต่าง ๆ ในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งเปิดรับโดยไม่ต้องทำการสอบแข่งขัน รวมทั้งการเข้าร่วมโครงการรับทุนการศึกษาต่าง ๆ ในการศึกษา ทั้งหมดนี้จึงอาจถือเป็นเหตุผลหลัก ๆ ที่เด็กนักเรียนส่วนใหญ่ให้ความสนใจในการเข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ


สิทธิพิเศษของเด็กโอลิมปิกวิชาการ

          สำหรับสิทธิพิเศษที่นักเรียนในโครงการโอลิมปิกวิชาการจะได้รับ คือ นักเรียนที่เป็นตัวแทนประเทศจะได้รับทุนศึกษาต่อต่างประเทศในสาขาที่แข่งขันจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากรัฐบาล รวมถึงศึกษางานวิจัยในระดับหลังจบปริญญาเอก ส่วนนักเรียนที่ผ่านการอบรมค่าย 2 ของ สอวน.จะได้รับสิทธิเข้าศึกษาคณะที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ รวมทั้งคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศไทยที่มีการเปิดรับสมัคร และเด็กที่ผ่านโครงการนี้ยังมีเงินอุดหนุนจากภาคเอกชน รวมทั้งมีทุนการศึกษามอบให้อีกด้วย   ซึ่งสิทธิพิเศษเหล่านี้ล้วนเป็นแรงผลักดัน และของขวัญชิ้นโตสำหรับเด็กนักเรียนทั่วประเทศไทย ในการพัฒนาตนเองด้านวิชาการและการศึกษาเพื่อเข้าร่วมโครงการและสอบแข่งขันเพื่อหวังจะได้รับสิทธิพิเศษเหล่านี้ สำหรับการเข้าศึกษาต่อในอนาคต


“ชีววิทยา” สาขายอดฮิตที่นักเรียนแห่งสมัครกันนับหมื่น

          ในแต่ละปีจะมีการเปิดรับสมัครเด็กนักเรียนที่สนใจร่วมโครงการจากทั่วประเทศ ซึ่งจะเปิดรับสมัครในหลายสาขาวิชา แต่สาขาชีววิทยาถือเป็นวิชาที่มีจำนวนนักเรียนสมัครเข้ามามากที่สุดในประเทศ สำหรับสาขารองลงมาคือคณิตศาสตร์ เคมีและฟิสิกส์ ส่วนสาขาคอมพิวเตอร์มีผู้สมัครน้อยที่สุด เป็นเพราะผู้แข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกต้องเก่งคณิตศาสตร์ แต่คนที่เก่งคณิตศาสตร์มักจะเลือกสอบแข่งขันในวิชาคณิตศาสตร์ ส่วนเหตุผลที่เด็กสมัครสาขาชีววิทยามากเป็นอันดับหนึ่งนั้น คงหนีไม่พ้นค่านิยมและความใฝ่ฝันในการเข้าศึกษาต่อคณะแพทยศาสตร์ และคณะที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ นั้นเอง เพราะอาชีพที่อยู่ในหลักสูตรวิทยาศาสตร์นั้น ถือว่าได้รับการยอมรับจากสังคม และได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครองเป็นอย่างดี รวมทั้งเป็นอาชีพที่มีความมั่นคงในการทำงาน และได้รับค่าตอบแทนด้านรายได้ที่คุ้มค่า แม้ว่าจะต้องแลกมาด้วยความพยายาม ทุ่มเทในการเรียนและฝึกฝนหาความรู้เป็นอย่างมาก แต่ก็ได้รับความสนใจจากเด็กนักเรียนมัธยมทั่วประเทศที่ต้องการศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย


โครงการ สอวน. และ สสวท. ต่างกันอย่างไร

          สอวน. คือ โครงการส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ มีการจัดค่ายการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายทั่วประเทศ ที่มีความสามารถทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ มีโอกาสได้รับการพัฒนาและเรียนรู้ด้านคณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ เคมี ชีววิทยา ฟิสิกส์ และดาราศาสตร์ ตามความถนัดและความสนใจ ซึ่งจะมีการจัดค่าย สอวน. เพื่อคัดเลือกเด็กจากทั่วประเทศเข้ามาร่วมเป็นหนึ่งในค่ายการเรียนรู้ และสอบคัดเลือกเพื่อเฟ้นหาเด็กเก่งไปแข่งโอลิมปิกวิชาการ และสอบแข่งขันคัดสุดยอดเด็กเก่งจากทั่วประเทศไปรวมกับโครงการ สสวท. ต่อไป

          สสวท. คือ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่คัดเลือกเด็กเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้และฝึกฝน ซึ่งความต่างของการเรียนรู้ในค่าย สสวท. นั้นเนื้อหาที่เรียนค่อนข้างยากและเจาะลึกมากกว่าค่าย สอวน. เพราะต้องฝึกเด็กสำหรับการแข่งขันระหว่างประเทศนั้นเอง สสวท. เป็นโครงการที่ต่อเนื่องมาจาก สอวน. ที่สอบคัดเลือกเด็กที่มีคะแนนสูงในอันดับต้นจากค่าย สอวน. ในการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระดับชาติ เพื่อฝึกฝนเด็กที่มีความรู้เหล่านี้ในการเป็นตัวแทนประเทศไปแข่งขันโอลิมปิกระหว่างประเทศ

          สรุปการจะเข้าร่วมเป็นเด็กในโครงการ สสวท. ได้นั้นต้องผ่านการเข้าค่าย สอวน. มาก่อน ซึ่งจะต้องสมัครเข้าร่วมค่าย สอวน. ในทุกค่าย และสอบแข่งขันเพื่อคัดเลือกผู้ชนะจากทุกศูนย์ มาแข่งขันกัน และสอบคัดเลือกผู้ที่มีคะแนนสูงสุด เพื่อเข้าแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระดับชาติ ผู้ที่มีคะแนนสูงสุดติดอันดับในแต่ละสาขาวิชา จะได้ร่วมเป็นหนึ่งในโครงการ สสวท. เพื่อเข้าฝึกฝนและพัฒนาความรู้ ความสามารถ ในการเตรียมตัวเพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันโอลิมปิกระหว่างประเทศนั้นเอง


โอลิมปิกวิชาการสู่รั้วมหาวิทยาลัย

          อย่างที่ทราบกันแล้วว่าการจะเป็นเด็กโอลิมปิกวิชาการได้นั้นไม่เรื่องง่าย เด็กที่จะเข้าร่วมโครงการต้องผ่านการฝึกฝนและสอบคัดเลือกหลายครั้ง แน่นอนว่าความพยายามที่ทำมาย่อมไม่สูญเปล่า การพยายามที่เต็มย่อมสมควรได้รับผลตอบแทน เด็กที่ผ่านการเข้าค่ายโอลิมปิกวิชาการมาแล้วนั้น แม้บางคนจะไม่ผ่านเข้ารอบเป็นหนึ่งในโครงการ สสวท. เพื่อเป็นตัวแทนของประเทศเข้าแข่งขัน แต่ความตั้งใจและการเรียนรู้ที่ผ่านมา ก็การันตีได้ว่าเด็กกลุ่มนี้มีความสามารถระดับหัวกระทิ ซึ่งมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศมีความต้องการนักศึกษาที่มีคุณภาพมาร่วมสถาบัน จึงทำให้หลายมหาวิทยาลัยเปิดโครงการต่าง ๆ ในคณะ/สาขาวิชาที่เกี่ยวข้องด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ เพื่อเปิดรับเด็กหัวกระทิที่ผ่านการเข้าค่าย สอวน. เข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา

          เด็กที่ผ่านโครงการ สอวน. สามารถรับสิทธิพิเศษเข้าศึกษาผ่านโครงการต่าง ๆ ที่เปิดรับเด็กที่ผ่านการเข้าค่ายโครงการดังกล่าวมาก่อน ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จะมีสิทธิพิเศษเข้าศึกษาได้โดยไม่ต้องสอบเข้าแข่งขัน สามารถยื่นหลักฐานการผ่านค่าย สอวน. แก่มหาวิทยาลัยเพื่อเข้าศึกษาตามคณะ/สาขาวิชาที่สนใจ นอกจากนี้ยังมีโอกาสขอรับทุนตามโครงการต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยได้อีกด้วย ส่วนเด็กที่ผ่านโครงการ สสวท. นอกจากจะได้รับสิทธิพิเศษที่ได้จากการผ่านค่าย สอวน. แล้ว เด็กกลุ่มนี้ยังได้รับทั้งทุนการศึกษาในมหาวิทยาลัย ทุนเรียนต่อต่างประเทศ หรือแม้กระทั่งทุนศึกษาและทำวิจัยในระดับสูงอีกมากมาย เรียกว่าโครงการ สอวน. และ สสวท. นั้นเปรียบเสมือนใบเบิกทางด้านการศึกษาที่ดีแก่นักเรียนที่จะศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย ให้ได้รับสิทธิและการพิจารณาพิเศษมากกว่าเด็กนักเรียนธรรมดาที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการจากทั่วประเทศ โดยไม่ต้องเสียเวลาฟาดฟันสอบแข่งขันกับคนทั้งประเทศเพิ่มอีกแล้ว เพราะปลายทางมีสถาบันการศึกษาเปิดประตูรอรับอยู่แล้วนั้นเอง แต่ยังไงก็ตามกว่าจะได้รับสิทธิพิเศษเหล่านี้ในการเข้ามหาวิทยาลัยนั้น ก็ต้องแลกมาด้วยความขยัน อดทน ฝึกฝน และตั้งใจอย่างเต็มที่ เพื่ออนาคตที่หวังไว้ในการศึกษาในมหาวิทยาลัย


ศูนย์ สอวน. ทั่วประเทศ

ศูนย์ สอวน.(ส่วนภูมิภาค)

  • มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

  • มหาวิทยาลัยนเรศวร

  • มหาวิทยาลัยขอนแก่น

  • มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

  • ศูนย์ สอวน.วิชาคณิตศาสตร์ โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย

  • มหาวิทยาลัยบูรพา

  • มหาวิทยาลัยศิลปากร

  • มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

  • ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

  • มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี

  • มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

  • มหาวิทยาลัยทักษิณ

  • มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

  • โรงเรียนเตรียมทหาร

  • โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์

  • โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์

ศูนย์ สอวน. (ส่วน กทม.)

  • โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย

  • โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

  • โรงเรียนเทพศิรินทร์

  • โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)

  • โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

  • คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศูนย์ สอวน. (ส่วน กทม.) มหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง

  • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

  • มหาวิทยาลัยมหิดล

  • มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

  • มหาวิทยาลัยรามคำแหง

  • มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

  • สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี


ฤดูกาลการสมัครค่าย สอวน.

ค่าย 1

ศูนย์ สอวน. กรุงเทพมหานคร เปิดรับสมัครสอบคัดเลือกเพื่อเข้าค่าย 1 ประมาณเดือนสิงหาคม
ศูนย์ สอวน. ภูมิภาค เปิดรับสมัครไม่ตรงกับศูนย์ กทม.สามารถดูรายละเอียดการรับสมัครได้ที่เว็บไซต์ ศูนย์ สอวน. ภูมิภาคทั่วประเทศ

กำหนดการเข้าค่าย

ค่าย 1 จะอบรมประมาณเดือน ตุลาคม พฤศจิกายน
ค่าย 2 นักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกจากค่าย 1 จะเข้าอบรมค่าย 2 ประมาณเดือนมีนาคม เมษายน


ฤดูกาลเเข่งขันโอลิมปิกวิชาการระดับชาติ

  • ชีววิทยาโอลิมปิกระดับชาติ เดือนเมษายน

  • ดาราศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ เดือนพฤษภาคม

  • คณิตศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ เดือนพฤษภาคม

  • ฟิสิกส์โอลิมปิกระดับชาติ เดือนมิถุนายน

  • เคมีโอลิมปิกระดับชาติ เดือนมิถุนายน

  • คอมพิวเตอร์โอลิมปิกระดับชาติ เดือนมิถุนายน


มหาวิทยาลัยที่เปิดโครงการรับตรง ผู้ผ่านค่าย สอวน.

  • มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

  • มหาวิทยาลัยขอนแก่น

  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

  • สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

  • มหาวิทยาลัยมหิดล

  • มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

  • มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

  • มหาวิทยาลัยทักษิณ

  • มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

     

มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษาในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) สืบค้นจาก https://www.posn.or.th

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สืบค้นจาก https://www.ipst.ac.th

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow